งานพันธุ์บุรีรัมย์จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของงานคือ การให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมงานเกี่ยวกับกัญชาในแง่มุมต่างๆ ทั้ง การแพทย์ เศรษฐกิจ และเกษตรกรรม

บรรยากาศภายในงานนับว่ามีการผสมผสานระหว่างรสชาติของวิชาการ ศิลปะ ดนตรี และความต่างระหว่างวัยได้อย่างกลมกลืน ไม่แปลกเลย ถ้าเพื่อนคุณกำลังเลือกเสื้อมัดย้อมจากร้านบุปผาชนแห่งหนึ่งอยู่ แต่ทางซ้ายของเขาเป็นคุณตาสองคนที่กำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้น้ำมันกัญชาอย่างออกรส และไม่ห่างออกไป กลุ่มวัยรุ่นกำลังเลือกซื้อของกินจากร้านรวงต่างๆ ที่เรียงรายอยู่ภายในงาน

 

ตั้งแต่ 19 เมษายน – 21 เมษายน หากคุณเดินทางมาร่วมงาน ‘พันธุ์บุรีรัมย์’ คุณจะถูกโอบกอดด้วย เวทีวิชาการเกี่ยวกับกัญชาเพื่อการแพทย์ เวิร์คชอปสกัดน้ำมันกัญชา สินค้าแฮนด์เมดของเหล่าบุปผาชน และอาหารอีกนับร้อยชนิด

พรรดิ

พรรดิกับพ่อเดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อมาร่วมงาน ‘พันธุ์บุรีรัมย์’ และมาขอใบนิรโทษกรรมการครอบครองกัญชา พ่อของเขาป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ทำให้ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ เมื่อยาแผนปัจจุบันเริ่มไม่สามารถบรรเทาอาการป่วยเรื้อรังจากโรคให้หายดีขึ้น พรรดิจึงหันมาศึกษาการแพทย์ทางเลือก

พรรดิเริ่มปลูกและศึกษาวิธีการกลั่นน้ำมันกัญชาใช้ด้วยตัวเอง หลังจากนั้น เขาเลิกพาพ่อไปหาหมอ เลิกใช้ยาแผนปัจจุบันและหันมาใช้น้ำมันกัญชาเป็นหลัก ก่อนจากกันเขาทิ้งท้ายว่า เขาไม่แน่ใจหรอกว่าอาการของพ่อของเขาดีขึ้นไหม เพราะพ่อเลิกไปโรงพยาบาลปกติแล้ว แต่อย่างน้อยตอนนี้พ่อก็ดูมีความสุขดี แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

พิบูลย์ ยุติพันคา – เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ (หนองบัวลำภู)

ศักดิ์ศิลป์ สิงห์บุรมย์ – เครือข่ายศิลปะดนตรี ภาคอีสาน (ขอนแก่น)

ธีระพงษ์ พนมมคุปถัมภ์  – เครือข่ายศิลปะดนตรี ภาคอีสาน (กาฬสินธุ์)

ทั้งสามคนเดินทางมาถึงตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อเล่นดนตรีภายในงานพันธุ์บุรีรัมย์ พวกเขาเริ่มต้นบทสนทนากับเราด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเหล้าและบุหรี่ถูกกฎหมาย แต่กัญชากลับผิดกฎหมาย คนสูบกัญชาไม่เคยออกไปทำร้ายใคร มีแต่เล่นดนตรี เขียนเพลง วาดรูป

โต้ง (พิบูลย์) บอกเราว่า เขาเองเป็นคนหนึ่งที่รู้รสชาติของการเมาและขับดี  เขาจึงอยากชวนให้ทุกคนหันมาใช้กัญชามากกว่า เพราะอย่างมากก็แค่เมาแล้วหลับไป ไม่รบกวนใคร ทุกวันนี้ เขาเองก็ใช้น้ำมันกัญชาเป็นประจำ เพราะมันทำให้เขามีสุขภาพจิตและสุขภาพกายแข็งแรง เขาบอกว่าเขาหยดวันละหยดก่อนเข้านอนในเวลา 18.30 น. และ ตื่นเวลา 3.30 น.ทุกวัน มันช่วยให้เขาสดใสกระปรี้กระเปร่าเหมือนหนุ่ม

ทั้งสามคนหวังว่าวันหนึ่งการใช้กัญชาจะไปไกลกว่าแค่ในเชิงการแพทย์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสังคมไทย แม้แต่ตาสีตาสาก็รู้เรื่องกัญชาดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังหวังให้องค์กรสาธารณสุขมาช่วยเสริมความรู้ในแง่ของการแพทย์ให้แก่ประชาชน

พวกเขายังต้องการผลักดันให้เครือข่ายผู้พิการทั่วประเทศรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกและสกัดน้ำมันกัญชาอีกด้วย

พระ

คนป่วยจะไม่ใช้ได้อย่างไร มันไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรอก มันเป็นสมุนไพร เราใช้น้ำมันกัญชา 2 อาทิตย์ ความดันเราลดจาก 180 ลงมาเหลือ 130 ลดมาตั้ง 50 กว่าๆ

โอ๊ต

“ผมเข้ามาตรงนี้เพราะครอบครัว พี่ผมเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย แม่ผมป่วยหนัก ตอนนั้นกัญชาเหมือนเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่เรามองเห็น เราจึงเลือกหยั่งขาข้างหนึ่งเสี่ยงคุก เสี่ยงตะราง”

โอ๊ตเป็นหนึ่งในผู้หันมาพึ่งน้ำมันกัญชาตั้งแต่ช่วงที่สังคมยังตีตรากัญชาในฐานะยาเสพติด เขายอมรับว่า ช่วงนั้น เขายอมลงไปในโลกใต้ดิน ท้าทายกฎหมาย เพื่อตามหาน้ำมันกัญชา เพื่อนำมาเยียวยาความป่วยไข้ของคนในครอบครัว

ทุกวันนี้เขาเป็นหนึ่งในหัวขบวนของกลุ่มแพทย์ทางเลือก คอยแนะนำ ให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ที่ต้องการหันมาใช้น้ำมันกัญชา เขาระบายว่า “คำถามแรกที่เรามักโดนถามคือ ใช้แล้วมันไม่ติดเหรอ?” ซึ่งเขามองว่าคำถามแบบนี้ไม่ถูกต้องนัก เขาและเครือข่ายพร้อมที่แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจทุกคน แต่ต้องไม่ลืมที่จะขวนขวายหาความรู้เองด้วย เขาไม่ต้องการให้ทุกคนเชื่อไปเสียหมดถึงสรรพคุณต่างๆ ของกัญชา โดยลืมชั่งตวงด้วยวิจารณญาณของตน

“ถ้าหากคุณเลือกจะใช้มัน คุณต้องมีศรัทธาในมันก่อน” เขาทิ้งท้ายไว้เช่นนี้

สุภัคกานต์ คงธนบุตร – อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย

เธอเคยสูญเสียสามีจากอาการโอเวอร์โดสยา เธอจึงเบนเข็มให้เริ่มหันมาศึกษาแพทย์ทางเลือกและใช้น้ำมันกัญชาอย่างจริงจัง เธอแบ่งปันประสบการณ์ให้เราฟังว่า ตอนนี้เธอใช้น้ำมันกัญชามากว่า 6 เดือน เบาหวาน ความดัน ดีขึ้นมาก ร่างกายแข็งแรง จนทุกวันนี้เธอไม่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกแล้ว สิ่งเดียวที่เธอเป็นห่วงคือ ทุกวันนี้เธอหยอดน้ำมันกัญชาเยอะขึ้น จนหมดหลอดไวเหลือเกิน

Tags: , ,