ผู้อ่านในไทยคงได้ติดตามข่าวกันบ้างว่า เมื่อเสาร์ที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2018) มีการเดินขบวนชุมนุมที่ถือเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญปรากฏการณ์หนึ่งของสหรัฐอเมริกา ทั้งเพราะจำนวนและขอบเขตพื้นที่ของผู้ชุมนุมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก และทั้งเพราะลักษณะของกลุ่มผู้ร่วมเดินขบวนที่มีเด็กเล็กและวัยรุ่นมาเข้าร่วมจำนวนมากยิ่งขับเน้นความสำคัญของการเดินขบวนครั้งนี้ เพราะทำให้เห็นว่า ความสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ประเด็นการเรียกร้องเท่านั้น แต่ยังน่าสนใจว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ที่ผู้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน เป็นเด็กที่มีอายุก่อนวัยอุดมศึกษา กลุ่มผู้นำและจัดการการประท้วงก็คือเด็กนักเรียนที่ยังอยู่เพียงชั้นมัธยมปลาย

การเดินขบวน March for Our Lives มีขึ้นเพื่อกดดันให้สภาคองเกรสออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวด เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเรียกร้องใหม่ในสังคมอเมริกัน เพราะอเมริกันชน นักการเมือง และสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association – NRA) ถกเถียงเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 2542 ที่ Columbine High School การยิงกราดในโรงเรียนอนุบาลที่พร่ำบอกกันว่า ‘never again’ (จะไม่เกิดขึ้นเอง) แต่ก็ตามมาด้วยการสังหารหมู่ที่ไนท์คลับที่เมืองออร์แลนโดเมื่อสองปีก่อน และการสังหารหมู่กลางคอนเสิร์ตที่เมืองลาสเวกัสเมื่อปี2017 ที่มีจำนวนคนตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 58 คน

จนล่าสุด วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายนิโคลัส ครูซ (Nicolas Cruz) อายุ 19 ปี ถือปืนไรเฟิล AR-15 ซึ่งเป็นปืนแบบ  semi-automatic weapon บุกเข้ามายิงในโรงเรียน มาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ในเมืองพาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา ทำให้มีนักเรียนและอาจารย์เสียชีวิตจำนวน 17 คนและบาดเจ็บ 17 คน

ครูซใช้ความอลหม่านหลบหนีออกจากโรงเรียนโดยแฝงตัวไปพร้อมกับนักเรียนคนอื่นๆ พอออกจากโรงเรียนได้ ก็แวะไปซื้อน้ำอัดลมกินที่ร้านซับเวย์ในวอลมาร์ต ก่อนจะถูกตำรวจจับในเวลาต่อมา

ครูซเคยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนนี้ ก่อนจะถูกไล่ออกเพราะมีปัญหาเรื่องขาดวินัยและกำลังอยู่ระหว่างการบำบัดรักษาทางจิต ปัญหาหนึ่งคือ แม้เขาจะมีอาการป่วยทางจิต แต่กลับสามารถซื้อและครอบครองอาวุธปืนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่ในครั้งนี้  

ภาพจากการชุมนุมที่วอชิงตัน
(โดย REUTERS/Aaron P. Bernstein)

March for Our Lives การชุมนุมทั่วสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่นำโดยนักเรียนมัธยมปลาย

หลังจากเกิดโศกนาฏกรรม กลุ่มนักเรียนม.ปลายที่นำโดย เอ็มมา กอนซาเลส (Emma Gonzales) เดวิด ฮอกก์ (David Hogg) แคมเมรอน แคสกี (Cameron Kasky) และอีกหลายคน ซึ่งเป็นนักเรียนที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ได้ออกตระเวนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ด้วยความเศร้าและเหนื่อยหน่ายกับสถานการณ์ในประเทศที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

และด้วยพลังแห่งความหวังและความกระตือรือร้นอย่างเต็มเปี่ยมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกัน จึงทำให้เกิด March for Our Lives ขึ้นมา

ส่วนสมาคมไรเฟิลแห่งชาติไม่ต้องการให้มีกฏหมายที่เข้มงวดมาควบคุมการถือครองอาวุธปืน จึงออกมาดีสเครดิตนักเรียนเหล่านี้ว่า ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการขับเคลื่อนการเรียกร้อง

เรามาลองดูข้อเรียกร้องของพวกเขาว่าคืออะไร และการเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนี้ จะมีผลระยะยาวต่อทางการเมืองสหรัฐฯ อย่างไร

ภาพจากเวที ขณะเอ็มม่า กอนซาเลซ นักเรียนที่รอดชีวิตจากเหตุยิงที่โรงเรียน มาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส
ปราศรัยในกรุงวอชิงตัน ดีซี (ภาพถ่ายโดย REUTERS/Jonathan Ernst)

ข้อเรียกร้องในการควบคุมอาวุธปืน

ประการแรก คือต้องการให้เพิ่มอายุของคนที่สามารถซื้อและครอบครองอาวุธปืนจาก 18 ปี เป็น 21 ปี

ปัจจุบันคนที่มีอายุ 18 ปีตามกฎหมายรัฐบาลกลาง สามารถซื้อปืนไรเฟิลและปืนสั้นได้ ซึ่งก็หมายถึงเด็กที่อยู่ชั้นม.6 ก็สามารถซื้ออาวุธปืนอย่าง AR-15 ที่นิยมใช้สังหารหมู่มาครอบครองได้

ข้อเรียกร้องนี้ ทีแรกดูจะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่สมาคมไรเฟิลแห่งชาติไม่เห็นด้วยในการเพิ่มอายุคนซื้อ

ประการที่สอง ต้องการให้มีการตรวจประวัติของผู้ซื้อปืนอย่างละเอียด และทำโทษหน่วยงานรัฐที่ไม่ส่งข้อมูล เช่นอาการป่วยทางจิตให้กับเอฟบีไอ

นอกจากความไม่สมบูรณ์ของระบบข้อมูลแล้ว ยังมีช่องโหว่อื่นๆ ในทางปฏิบัติ เช่น ในขั้นตอนการตรวจประวัติผ่านฐานข้อมูลของเอฟบีไอ (National Instant Criminal Background Check System – NICS) จะได้รับการอนุมัติเพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าไม่ได้รับคำตอบในสามวัน ก็ถือว่าได้รับการอนุมัติโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ตามงานแสดงปืนต่างๆ ก็สามารถซื้อปืนได้โดยไม่ต้องเช็คประวัติก่อน ช่องโหว่เหล่านี้เหมือนทุกฝ่ายจะเห็นด้วยว่าควรปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลของผู้ป่วยทางจิต

แต่นักการเมืองฟากพรรครีพับลิกันและสมาคมไรเฟิลแห่งชาติก็ยังไม่ให้ความสนใจในการแก้ไขให้เช็คประวัติก่อนซื้อปืนในงานแสดงปืน และยังมีปัญหาของการซื้อปืนแบบส่วนตัวที่ไม่ต้องผ่านการตรวจเช็คประวัติก่อน ซึ่งก็เป็นอีกช่องโหว่หนึ่ง

ประการที่สาม ต้องการให้มีการออกฏหมายห้ามซื้อขายอาวุธทางทหารให้กับพลเรือนเช่นปืนกลแบบ fully automatic ที่ขึ้นลูกเองอัตโนมัติ เพียงกดไกปืนค้างไว้ ลูกก็จะยิงออกมาจนหมดแม็กเหมือนในหนังสงคราม (ปืนชนิดนี้มีกฏหมายควบคุมอย่างเข้มข้นและมีราคาแพงคนธรรมดาจึงไม่สามารถครอบครองได้ง่าย)

ปืนที่ผู้ชุมนุมเทความสนใจไปอยู่ที่ปืนชนิด AR-15 ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการใช้สังหารหมู่ เป็นปืนแบบ semi-automatic หมายถึงปืนที่ขึ้นลูกอัตโนมัติ แต่ต้องกดไกปืนทุกนัด ซึ่งจะยิงได้ช้ากว่าปืนแบบ fully automatic แต่ปืนชนิดนี้สามารถถูกดัดแปลงให้กลายเป็นปืนกลได้เมื่อติดส่วนประกอบอีกชิ้นที่เรียกว่า bump stocks ซึ่งชิ้นส่วนนี้ขายได้ถูกกฎหมายให้กับพลเรือนทั่วไป ฉะนั้น ชิ้นส่วนนี้จึงสามารถทำให้ปืน semi-automatic กลายเป็น fully automatic ได้ในทันที เพียงแค่ซื้อ bump stocks มาประกอบเพิ่มในราคาแค่ 400 เหรียญ ซึ่งการยิงกราดที่ลาสเวกัสเมื่อปีที่แล้วที่มีคนตายมากที่สุด ก็ใช้ bump stocks มาประกอบกับปืน AR-15 ในการสังหาร

ข้อเรียกร้องในการห้ามขาย bump stocks ดูจะได้รับการสนับสนุนจากทรัมป์ แต่การห้ามขายปืนอย่าง AR-15 นั้น ถูกพรรครีพับลิกัน สมาคมไรเฟิลแห่งชาติ และทรัมป์โจมตีว่าเป็นการทำลายอิสรภาพของคนอเมริกันในการถือครองอาวุธปืนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่สองที่เขียนไว้เมื่อสองร้อยปีก่อน ซึ่งเป็นข้ออ้างหลักในการยับยั้งการออกกฏหมายควบคุมอาวุธปืนอยู่ตลอดมา

ฝ่ายพรรครีพับลิกันโต้แย้งว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของคนอเมริกันในการครอบครองอาวุธปืน ไม่ว่าจะเป็นปืนชนิดใดก็ตาม อีกฝ่ายที่มาชุมนุมก็เห็นว่า อาวุธปืนที่ใช้ทางการทหาร ไม่จำเป็นต้องซื้อไว้ป้องกันตัวหรือมีไว้เพื่อการกีฬาหรือหย่อนใจ  รวมทั้งข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้สองร้อยปีก่อนนั้น ไม่สามารถตีความง่ายๆ ตามตัวหนังสือโดยไม่ดูบริบทของสังคมในปัจจุบัน เพราะเมื่อสองร้อยปีก่อนไม่มีปืนแบบ semi- และ fully automatic และปืนก็ไม่ได้หาง่ายขายไวเหมือนแบบปัจจุบัน ดังนั้น แม้เรื่องสิทธิเสรีภาพจะเป็นจุดแข็งของสังคมอเมริกัน แต่ในทางกลับกัน ก็กลายมาเป็นจุดอ่อนในการรักษาชีวิตของคนบริสุทธิ์ที่ต้องมาตายเพราะการอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพของการมีปืนไว้ครอบครอง

ภาพการชุมนุมจาก Sacramento ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย
(โดย REUTERS/Bob Strong)

 

ประการที่สี่ ต้องการให้นักการเมืองทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมเครต (ส่วนใหญ่เป็นพรรครีพับลิกัน) ที่เคยรับเงินจากสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ ปฏิเสธไม่รับเงินสนับสนุนอีกต่อไป

ซึ่งบนเวทีสนทนาของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่จัดขึ้นระหว่างนักเรียนและครูจาก Stoneman Douglas นักการเมืองของทั้งสองพรรค และสมาคมไรเฟิล มีผู้นำนักเรียนที่ชื่อว่าแคสกีถามวุฒิสมาชิกจากรัฐฟลอริดา มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) ว่า จะไม่รับเงินจากสมาคมไรเฟิลได้หรือไม่ รูบิโอไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ในอดีตเขาเองก็เคยรับเงินจากสมาคมนี้มาแล้วกว่าล้านเหรียญ การสนทนาในครั้งนั้นเสมือนกับฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นักเรียนลุกขึ้นมารณรงค์ต่อต้านนักการเมืองที่รับเงินจากสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ

ภาพผู้ชุมนุม ใน New York City
(โดย REUTERS/Shannon Stapleton)

ผลระยะยาว?

หลายคนตั้งคำถามว่า กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนี้จะไปได้ไกลแค่ไหนกันเชียว การดีเบตเรื่องปืนมีมานมนาน แต่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจริงจัง เพราะข้ออ้างตามรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพคนอเมริกันในการครอบครองปืนมีน้ำหนักมากกว่ามาโดยตลอด แล้วครั้งนี้จะทำอะไรได้

นักเรียนเหล่านั้นก็ทราบดี ผู้ไปเดินขบวน ซึ่งผู้เขียนก็พาลูกไปร่วมชุมนุมด้วยเหมือนกับพ่อแม่คนอื่นในวันนั้นก็ทราบดี ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในวันนั้น และดูแล้วไม่ใช่เพียงสัญญาปากเปล่า คือการรอคอยของเยาวชนเหล่านั้นในการใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อโหวตให้คนที่ไม่เห็นด้วยออกไปจากสภาล่างและสภาบน

ดังนั้น การประท้วงครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเรียกร้องเรื่องการควบคุมอาวุธปืนเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการสร้างและกระตุ้นการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยของคนอเมริกันรุ่นใหม่ ซึ่งปกติแล้วจะเป็นกลุ่มที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในสัดส่วนที่น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ

แม้ว่าผู้นำนักเรียนและเด็กที่ไปร่วมเดินขบวนจำนวนมากอาจยังไม่สามารถโหวตได้ภายในปีสองปีนี้ เพราะอายุยังไม่ถึง แต่ March for Our Lives ทำให้พวกเขาตระหนักถึงผลของการเลือกตั้งที่มีอิทธิพลโดยตรงในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขา ฉะนั้น เมื่อคนที่อยู่ในสภาไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง สิ่งที่ทำได้คือรอจนกว่าจะอายุจะถึงแล้วจึง ‘Vote them out’ (โหวตให้พวกนี้ออกไป) นี่คือสโลแกนที่อยู่ภายใต้เหตุผลและการกระทำผ่านวิถีทางประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องเรื่องกฏหมายควบคุมปืน

ตอนนี้ นักเรียนม.ปลายเหล่านั้น ได้เปลี่ยนสถานภาพของตนเองให้กลายมาเป็นนักกิจกรรมทางสังคม พวกเขาอาจทดลองใช้สนามเลือกตั้งกลางปีในเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะถึงให้เป็นพื้นที่ในการรณรงค์ต่อต้านผู้สมัครที่ไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องของพวกเขา และเมื่อพวกเขามีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ คลื่นลูกใหม่เหล่านี้อาจเป็นกลุ่มประชากรที่เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การเคลื่อนไหวทางสังคมของเด็กและเยาวชนในวันนี้จึงไม่ควรถูกมองข้ามเป็นอันขาด

ผู้ชุมนุม the March for Our Lives เต็มท้องถนนที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
(ภาพถ่ายมุมสูงจากพิพิธภัณฑ์ Newsuem โดย REUTERS/Leah Millis)

Tags: , , , , , , , , , , ,