ความน่าสนใจหรือการตีค่าหนังสารคดีเรื่องหนึ่งๆ ว่า ‘ดี’ นั้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ถ้าว่ากันอย่างมักง่าย ปัจจัยเหล่านั้นสามารถถูกทอนลงมาได้ว่า สารคดีเรื่องนั้นดีเพราะมีเทคนิคการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่น่าติดตาม หรือมี ‘ซับเจ็กต์’ (เนื้อหาหรือตัวบุคคลที่สารคดีเล่าเรื่องถึง) ที่น่าสนใจในตัวมันเองอยู่แล้ว (ซึ่งแน่นอนว่ามีสารคดีไม่น้อยเช่นกันที่ได้รับคำชื่นชม ทั้งในแง่เทคนิคและตัวซับเจ็กต์)

ในกรณีของสารคดีชื่อดังของปี 1992 จากแคนาดาอย่าง Manufacturing Consent: Noam Chomsky and the Media นั้น ดูเหมือนว่าวิธีการเล่าเรื่องและร้อยเรียงเนื้อหาของสองผู้กำกับฯ มาร์ก แอชบาร์ และปีเตอร์ วินโทนิก ไม่ได้ถึงขั้นหวือหวานัก (หากวัดจากมาตรฐานปัจจุบัน) แต่โนม ชอมสกี ผู้เป็นซับเจ็กต์ของหนัง และแง่คิดต่างๆ ของเขานั่นเอง ที่ทำให้หนังน่าสนใจขั้นตื่นตะลึงด้วยซ้ำ จนเรียกได้ว่าตลอดเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงของหนัง คนดูถูกเชื้อเชิญและท้าทายให้ต้องครุ่นคิดตามอย่างสนุกสนาน

ว่าแต่ โนม ชอมสกี ผู้นี้คือใครกัน?

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักชอมสกีดี หรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินชื่อของเขามาบ้าง เขาคือนักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลายต่อหลายคนยกย่องกันให้เป็นหนึ่งในนักคิดที่สำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาให้กำเนิดทฤษฎีทางภาษาว่าด้วยโครงสร้างหรือกฎของไวยากรณ์อันเป็นสากล โดยถกเถียงว่าในเมื่อเราสามารถหาโครงสร้างพื้นฐานของไวยากรณ์ในภาษามนุษย์ทุกๆ ภาษาได้ โครงสร้างเหล่านี้ย่อมติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด และย่อมบ่งชี้ถึงระบบการทำความเข้าใจและตีความโลกภายนอกของมนุษย์อันซับซ้อนเช่นกัน

เมื่อความรู้ด้านภาษาเผยถึงความรู้เรื่องการใช้ปัญญาของมนุษย์ ตรงนี้เองที่สารคดีชี้ชวนให้คนดูมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างงานวิชาการและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชอมสกี เพราะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารพูดคุยในชีวิตประจำวันก็ถือเป็นการใช้งานส่วนสร้างสรรค์ในสมองได้อย่างน่าอัศจรรย์แล้ว มนุษย์จึงมีศักยภาพอันงดงามที่ไม่ควรถูกจำกัดหรือตีกรอบโดยสถาบันทางสังคมใดๆ ไม่น่าแปลกใจที่ชอมสกีเป็นปากเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด

สารคดีเรื่องนี้ขยายข้อถกเถียงมาจากหนังสือ Manufacturing Consent: The Political Economy of the Mass Media (1988) ที่ชอมสกีเขียนร่วมกับ เอ็ดเวิร์ด เอส เฮอร์แมน วิพากษ์วิจารณ์สื่อในอเมริกาอย่างถึงพริกถึงขิง สะท้อนให้เห็นวิธีควบคุมความคิดในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ความที่อเมริกามีวัฒนธรรมสื่อที่แข็งแรง อำนาจในการชักใยหรือป้อนข้อมูลให้กับคนหมู่มากจึงตกอยู่ในมือสื่อ หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังสื่ออีกที ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็มักเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ต่างๆ กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้เป็นผู้ตัดสินใจว่าชีวิตทางสังคมของผู้คนควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อให้ตนเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด

จากเดิมที่เราเชื่อว่าสื่อที่มีพลังนั้นไม่เพียงแต่เสนอข่าวประจำวัน หากยังต้องแสดงความคิดเห็นไปจนตรวจสอบวิพากษ์รัฐหรือผู้มีอำนาจ แต่เมื่อสื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมของผู้มีอำนาจไปเอง สื่อจึงเป็นผู้ตั้งกรอบความคิดโดยทั่วไปให้กับสังคม ควบคุมว่าความคิดใดสามารถนำเสนอผ่านจอโทรทัศน์ได้ ราวกับกำหนดให้ผู้คนสามารถคิดได้เฉพาะแต่ในกรอบเหล่านั้น ทั้งยังโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ให้ผู้คนเล่นตามบทที่ถูกกำหนดมาโดยให้ภาพมายาว่าได้เลือกเอง และเบี่ยงเบนความสนใจพวกเขาออกจากประเด็นที่มีนัยสำคัญ ให้ไปวุ่นอยู่แต่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ชอมสกีมักใช้คำว่า ‘marginalize’ (ทำให้ไม่มีความสำคัญ หรือทำให้อยู่ตรงชายขอบ) เมื่อพูดถึงสิ่งที่สื่อทำกับผู้คน นั่นคือสื่อทำให้ ‘คนหมู่มาก’ กลายเป็น ‘คนชายขอบ’ ที่ต้องถูกคนหมู่น้อยอย่างชนชั้นนำจูงจมูกและเอารัดเอาเปรียบ เป็นการประดิษฐ์สร้างความยินยอม (manufacture of consent) ที่จะถูกควบคุม และสร้างภาพลวงตาที่จำเป็น (necessary illusion) ต่อการกล่อมเกลาในพวกเขาอยู่ภายใต้อาณัติและขาดความกระตือรือร้นสงสัย

แน่นอนว่าชอมสกีต้องปะทะกับความเห็นค้านมากมายดังที่ในสารคดีแสดงให้เห็นอยู่หลายช่วงตอน แต่สิ่งที่คนดูหลายๆ คนก็อาจรู้สึกค้านอยู่ในใจด้วยเช่นกันก็คือ ข้อวิพากษ์ของชอมสกีนั้นฟังดูราวกับทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ลวงโลกยังไงชอบกล ซึ่งชอมสกีก็โต้ว่าการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจและสถาบันสังคมโดยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนี้ ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยเหมือนทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ แน่นอน (ตัวอย่างสำคัญที่หนังสำรวจอย่างยาวนานช่วงกลางเรื่อง คือการนำเสนอข่าวของ The New York Times ในกรณีที่อินโดนีเซียเข้าไปยึดครองและเข่นฆ่าประชาชนในติมอร์ตะวันออก ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับการนำเสนอข่าวฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มเขมรแดงในกัมพูชา ซึ่งชอมสกีวิจารณ์ว่าเป็นการเพิกเฉยต่อการวิพากษ์พันธมิตรของรัฐในช่วงเวลานั้นนั่นเอง)

การหล่อเลี้ยงให้ผู้คนอยู่ในฟองน้ำที่มีเฉพาะข้อมูลบางอย่างที่สามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปได้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมพวกเขาให้อยู่ในครรลอง อาจไม่ต่างอะไรจากปลายกระบอกปืนในรัฐเผด็จการเลยก็ได้ กระนั้นการวิพากษ์สื่อและผู้มีอำนาจในรัฐอย่างตรงไปตรงมาของชอมสกี ก็เป็นสิ่งพึงกระทำแล้วในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าประชาธิปไตยในช่วงเวลาของชอมสกีใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบนัก การออกมาสร้างข้อถกเถียงหรือบทสนทนาในทำนองนี้จึงเป็นการขับเคลื่อนให้สังคมหันมาตระหนักถึงระบบที่คอยควบคุมให้ผู้คนมีมุมมองเกี่ยวกับโลกที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ประชาธิปไตยได้ก้าวไปอีกขั้น เพื่อที่มันจะไม่เป็นระบบที่ถูกใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจเท่านั้น

แต่ก็อย่าลืมว่าสารคดีเรื่องนี้สร้างตั้งแต่ปี 1992 หากเรามองมันผ่านเลนส์ของโลกปัจจุบัน การต่อสู้ของชอมสกีที่เราเห็นในหนังก็ดูเหมือนจะยิ่งสัมพันธ์กับประชาธิปไตยในยุคทรัมป์ขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุด ภายใต้ถ้อยแถลงความคิดอันคมคายชอมสกีก็ยังเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีศักยภาพพอที่จะมองเห็นความจริง แล้วออกมาหยัดยืนเพื่อความจริงได้ และความหวังว่าวันหนึ่งมนุษย์จะเป็นได้มากกว่าฟันเฟืองขับเคลื่อนกลไกที่ไม่ได้ยังประโยชน์อะไรให้กับตัวเรา

Tags: , , ,