*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*

‘ความไม่เป็นส่วนหนึ่ง’ ถูกหยิบยกมานำเสนอบ่อยครั้งขึ้นในภาพยนตร์ไทยทั้งในระดับนักศึกษาไปจนถึงหนังระดับทุนข้ามชาติ อย่างเช่นโปรเจคต์ภาพยนตร์ร่วมทุนอย่าง Ten Years Thailand มีส่วนที่พูดถึงความไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสังคมที่ดำรงอยู่หลายระดับ อาทิ ทหารพลขับกับแกลเลอรีศิลปะ มนุษย์ในเมืองแมว อันสะท้อนสภาพความนึกคิดของตัวละครและภาพยนตร์ต่อสังคม หรือภาพยนตร์วัยรุ่นที่เข้าฉายเมื่อเร็วๆ นี้อย่าง Where We Belong ของคงเดช จาตุรันต์รัศมีก็กล่าวถึงภาวะของเด็กวัยรุ่นกำลังสำรวจที่ทางของตัวเองที่เธอกำลังรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของมัน

กระเบนราหู ของพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง คือภาพยนตร์ไทยที่ว่าด้วย ‘ความไม่เป็นส่วนหนึ่ง’ ของคนแปลกหน้าผู้มาเยือนกับผู้ที่ถือตัวว่าเป็นเจ้าของถิ่น ภายใต้บรรยากาศอุตสาหกรรมประมงแถบทะเลชายแดนไทย และกระเบนราหูตัวนี้ก็เดินทางในฐานะตัวแทนภาพยนตร์ไทยไปรับรางวัลระดับนานาชาติรวมแล้วถึง 11 รางวัล

“แด่ชาวโรฮิงญา” คือสิ่งที่ กระเบนราหู โยนใส่ผู้ชมตั้งแต่ก่อนเห็นเนื้อหนังใด ต่อด้วยเรื่องราวของ ชายชาวประมงคนหนึ่งที่บังเอิญพบชายแปลกหน้านอนในป่าโกงกาง เขาแบกร่างเปื้อนโคลนดำขึ้นซาเล้งกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ชายแปลกหน้าไม่เอ่ยเสียงใดแม้แต่ชื่อของตัวเอง ชายชาวประมงจึงตั้งชื่อเขาว่า ‘ธงไชย’ ตามนักร้องดังอมตะอย่าง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย

ชาวประมงสอนให้ธงไชยเริ่มใช้ชีวิตที่เหมือนเกิดใหม่ อยู่ร่วมหลังคากินข้าวร่วมหม้อ จนวันหนึ่งชาวประมงออกเรือประมงและไม่กลับมาที่ฝั่งอีกเลย “มันถูกอวนลากลงทะเลไปแล้ว” นายหัวให้เหตุผลอย่างนั้นกับธงไชย (หรือไอ้ใบ้ ตามคำเขาเรียก) 

พุทธิพงษ์เล่าใน Q&A รอบปฐมทัศน์ในไทยว่าเดิมทีเขาไม่ได้พุ่งเป้าจะทำหนังเกี่ยวกับโรฮิงญา แต่เป็นหนังเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดน ส่วนประเด็นโรฮิงญานั้นได้มาในช่วงการพัฒนาเรื่อง ซึ่งพื้นที่ชายแดนและโรฮิงญานั้นก็ต่างตะโกนถึงสภาพของการ ‘ไม่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่’ ด้วยกันทั้งคู่

ชายแดนถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์จากรัฐชาติสมัยใหม่ที่เกิดจากตัดแบ่งส่วนพื้นที่ของเจ้าอาณานิคม และปัญหาโรฮิงญาก็เกิดขึ้นจากการตัดส่วนแบ่งชายแดนนี้ระหว่างพม่าและบังคลาเทศ โรฮิงญาไม่สามารถนิยามตัวเข้ากับที่ใดได้เลยในความคิดแบบรัฐชาติสมัยใหม่ เป็นคนเบงกาลีก็ไม่ใช่ เป็นคนพม่าก็ไม่ใช่แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ที่เป็นของพม่าก็ตาม พวกเขาถูกโยนกลับไปกลับมา เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศที่สามอย่างไทยก็ยิ่งแปลกแยกกับพื้นที่และตัวตนขึ้นไปอีก

ในฐานะชาติพันธุ์ โรฮิงญาก็มีความแปลกแยกในตัวเองและสภาพแวดล้อมของตัวหนังอยู่แล้ว ในช่วงเวลาที่ชาวประมงและธงไชยใช้ชีวิตอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน กลับเกิดเคมีความสัมพันธ์ประหลาดบางอย่างระหว่างตัวละคร บ่อยครั้งที่พวกเขาสบตากันและสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด 

ราวกับโลกทั้งใบกลายเป็นของพวกเขาเมื่อบ้านพักคนงานริมทะเลหมุนวนไปด้วยเครื่องไฟสี พวกเขาเหมือนตกในห้วงภวังค์ที่ไม่เคยมีอยู่จริง แต่โลกแห่งความสัมพันธ์ใบนั้นกลับเล็กมากเมื่อเทียบกับชุมชนชาวประมงที่มีแต่ผู้ชาย

ความสัมพันธ์ระหว่างชายชาวประมงกับชายแปลกหน้าผลักให้ความไม่เป็นส่วนหนึ่งนี้กลายเป็น ‘queer’ ทั้งในมิติทางเพศ มิติทางชาติพันธุ์และพื้นที่ ทั้งคู่เป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน เป็นคนแปลกเชื้อชาติและความสัมพันธ์ของพวกเขาก็แปลกออกจากสังคม เป็นความสัมพันธ์อันไร้ชื่อเรียกและไม่มีนิยามในโลกแห่งความหมาย

เสียงอือลอดไรฟันหลังจากหายใจเอาอากาศห้วงสั้นเข้าปอด ชายประมงดำน้ำให้ธงไชยดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ธงไชยก็ไม่สามารถเอาชนะเจ้าถิ่นได้เสียที แต่ในฐานะผู้อยู่มาก่อนกลับตั้งอกตั้งใจประหนึ่งเขาคิดว่าสิ่งคือสิ่งสำคัญ สำคัญกับธงไชยเป็นอย่างมาก

หากเราโฟกัสสายตาไปที่ความแปลกแยกของตัวละครที่เป็นคนแปลกหน้าอย่างเดียว อาจจะทำให้เราตกหล่นอะไรบางอย่างไปว่าความแปลกแยกนั้นไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับคนแปลกหน้าเสมอไป นอกจากธงไชยที่ไม่ปรากฏชื่อดั้งเดิมแล้ว ชายชาวประมงก็เป็นบุคคลนิรนามในหนังเช่นกัน ไม่มีใครรู้ว่าเขาชื่ออะไร แม้ว่าเขาจะปักหลักในพื้นที่ทางกายภาพแต่เขาถูกนับว่ามีตัวตนแค่ไหนในพื้นที่ทางจินตนาการแบบรัฐสมัยใหม่

การหายตัวไป “อย่างไร้ร่องรอย” ของชาวประมงไร้ชื่อเป็นเรื่องที่ไม่ปกติและชวนให้ตั้งคำถามว่าตัวละครที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนพื้นถิ่นนั้นเขาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จริงหรือ? ถ้าเขาถูกยอมรับให้เป็นพลเมืองในฐานะของรัฐจริง การถูกอวนลากหายลงไปในทะเล (ตามที่อ้าง) จะไม่จบที่หายไปเฉยๆ เขาอาจจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายและแปลกแยกไร้ตัวตนในสายตาของรัฐศูนย์กลางเช่นกัน การปรากฏตัวและหายไปของเขา จึงไม่สำคัญขนาดที่ใครจะต้องตระหนักถึงและอธิบายเหตุผล นั่นทำให้ประโยคเล็กๆ ของเขาในตอนท้ายของเรื่องจึงสำคัญว่าทำไมเขาถึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านตัวเองอีกแล้วหลังจากกลับมา เขาหายไปไหนมา? 

ธงไชยใช้ชีวิตลำพังหลังจากที่ชาวประมงหายไปแบบไม่ทิ้งรอยเท้า จนกระทั่งเมื่อเปิดประตูบ้านมาเห็นแสงลอดจากประตูห้องนอน ‘สายใจ’ เมียเก่าของชาวประมงที่ถูกเล่าว่านอกใจหนีตามทหารเรือไปแล้ว เธอกลับมานั่งอยู่ใน ‘บ้านของเขา’

แม้จะเป็นตัวละครที่ดูจะมีชื่อและระบุที่มาได้มากที่สุด แต่สายใจก็ถูกตัวแทนอำนาจจากส่วนกลางอย่างผัวทหารเรือของเธอถีบหัวส่งออกมาหลังจากหนีตามเขาไปหลายปีดีดัก แม้ว่าเธอจะยังร้องเพลงอีสานได้ ยังมีชื่อมีนามของตัวเอง สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐและรับการตรวจครรภ์ได้ แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ทำได้เพียงเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวที่เธอพอจะเอื้อมถึงให้เป็นสิ่งที่เธอคุ้นเคย ก็ช่วยให้พอจะใช้ชีวิตต่อไปได้

พื้นที่ชายแดนของกระเบนราหูจึงอาจเป็นพื้นที่รวบรวมผู้คนชายขอบซึ่งล้วนรู้สึกแปลกแยกและไม่เป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่แบบรัฐสมัยใหม่ในมิติต่างๆ และแสดงให้เห็นถึงความเว้าแหว่งไม่สมบูรณ์ของพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งๆ

ในป่าทิ้งศพซึ่งเต็มไปด้วยพลอยอัฐิยังคงวนเวียนไปด้วยเหล่าผู้รู้สึกแปลกแยกทั้งใต้น้ำ บนดิน และใต้ดิน แม้ว่าเสียงที่เขาเปล่งได้จะเป็นแค่เสียงกู่ที่ไร้ความหมายทางภาษา แต่ยังคงกังวานก้องเพื่อให้ใครสักคนได้ยินเสียงของพวกเขา

Fact Box

กระเบนราหู จะฉายในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2562 และเข้าโรงภาพยนตร์ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2562