แท้จริงแล้วกษัตริย์มาเลเซียเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากน้อยแค่ไหน? มากถึงขั้นที่นักศึกษามาเลเซียกลุ่มหนึ่งมองว่าพระองค์ควรเลิกยุ่งเกี่ยวการเมือง และเป็นเรื่องสมควรหรือไม่เมื่อการออกมาเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา จนทำให้พวกเขาต้องพบกับการขู่ฆ่าหรือถูกขู่ว่าจะข่มขืน?

การกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งของสถาบันกษัตริย์มาเลเซีย เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลาออกแก่กษัตริย์ ความปั่นป่วนทางการเมืองทำให้ประเทศหยุดชะงัก สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละห์ ชะฮ์ (Abdullah Shah) ที่ขึ้นครองราชย์ในปี 2019 เป็น ‘ยังดีเปอร์ตวนอากง’ หรือกษัตริย์ของมาเลเซีย ตามกฎพระราชาธิบดีแบบเวียนดำรงตำแหน่ง โดยผู้ปกครองรัฐมาเลย์ 9 รัฐ จาก 13 รัฐ จะถูกส่งต่ออำนาจกษัตริย์ทุก ๆ 5 ปี จึงเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองด้วยการแต่งตั้ง มูห์ยิดดิน ยัสซิน (Muhyiddin Yassin) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่รอให้สภาลงคะแนนสียง

แม้ภายหลังสภาเกิดการนับคะแนนเสียง แต่นายกฯ ยัสซิน ก็ยังมีเสียงข้างมากแม้จะเกินกึ่งหนึ่งมาแค่เล็กน้อย เน้นย้ำถึงความชอบธรรมในการขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าแตกต่างจากธรรมเนียมเดิมที่กษัตริย์จะเป็นแค่ผู้นำในงานพิธีการ อาทิ เป็นประธานในการสาบานตนรับตำแหน่งรัฐมนตรี หรือพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องขังคดีอาญา

การกระทำดังกล่าวของกษัตริย์มาเลเซียสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง บ้างก็ถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องให้กษัตริย์มาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี บ้างก็มองว่าสิ่งที่พระองค์เป็นเรื่องไม่เหมาะสม หลายคนตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและเสถียรภาพของรัฐบาลแต่งตั้ง ท่ามกลางการแก่งแย่งอำนาจการเมืองที่เห็นได้ชัด เมื่อมีข่าวหลุดมาเป็นระยะว่านักการเมืองมาเลเซียจำนวนไม่น้อย ต่างพยายามทำเรื่องขอเข้าพบกษัตริย์ เพื่อขอส่วนแบ่งอำนาจเหมือนอย่างที่พระองค์มอบให้กับ มูห์ยิดดิน ยัสซิน

นอกจากกษัตริย์จะสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้แล้ว พระองค์ยังมีอำนาจพิจารณาว่าฝ่ายบริหารจะให้นายกฯ คนนี้อยู่ต่อหรือไม่อีกด้วย เนื่องจากกษัตริย์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือปฏิเสธคำร้องขอให้ยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งครั้งใหม่ หากสถานการณ์ของประเทศมาเลเซียเป็นปกติ กษัตริย์จะมีอำนาจเพียงพิธีการเรื่องการยืนยันผลการลงคะแนนหรือให้คำแนะนำแก่รัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์ยังคงได้รับความนิยมล้นหลามจากประชาชน โดยเฉพาะกรณีการสละเงินอุดหนุนประจำตำแหน่งเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม เพื่อให้รัฐบาลนำเงินจำนวนดังกล่าวไปสมทบกับงบประมาณรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19

อีกหนึ่งเหตุการณ์น่าสนใจคือ แถลงการณ์ของสำนักพระราชวังในวันที่ 28 ตุลาคม 2020 ระบุว่า พระมหากษัตริย์แห่งมาเลเซียต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟังคำแนะนำของพระองค์ เพื่อยุติข้อพิพาททางการเมือง จัดลำดับความสำคัญกับสิ่งที่ต้องทำก่อนหลัง โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก สอดคล้องกับพระราชปฏิสันถารเมื่อครั้งเปิดสภาในเดือนพฤษภาคม ด้วยการกล่าวให้ฝ่ายนิติบัญญัติแสดงวุฒิภาวะทางการเมืองออกมา

การเข้ามามีบทบาททางการเมืองก่อให้เกิดคำวิจารณ์ บางคนรู้สึกยินดีที่กษัตริย์เข้ามาเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องรับฟัง แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนได้แสดงความกังวลว่า รัฐบาลมาเลเซียจะกลายเป็นกลุ่มคนที่รับคำสั่งจากคนเพียงคนเดียว และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยิ่งโหมกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละห์ ชะฮ์ ปฏิเสธคำขอของนายกฯ ที่ต้องการให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส จนทำให้ตัวของนายกฯ ยัสซินถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ไม่เด็ดขาดและไร้ความสามารถ ส่วนนักการเมืองฝ่ายค้านก็เรียกร้องให้เขาลาออก

สุดท้ายการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลมาเลเซียก็ได้ทางออก นั่นคือการบังคับใช้คำสั่งควบคุมแบบมีเงื่อนไข (CMCO) ในพื้นที่เกือบทุกรัฐของคาบสมุทรมาเลเซีย ในเวลาใกล้เคียงกับวิกฤตไวรัส สำนักข่าวท้องถิ่นมาเลเซียกับสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอนิ่งโพสต์รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน สมาคมเอกชนในมาเลเซียกว่า 54 กลุ่ม รวมตัวกันร้องเรียนให้รัฐบาลดูแลเรื่องการคุกคามในโลกโซเชียลให้มากขึ้น หลังมีนักศึกษาหลายคนที่ออกมาร้องเรียนให้สถาบันกษัตริย์เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองถูกขู่ฆ่า ถูกขู่ว่าจะสังหารคนในบ้านให้หมด บ้างก็ถูกขู่ว่าจะบุกไปข่มขืนที่บ้าน แต่เมื่อไปแจ้งความเรื่องกลับไปไม่ถึงไหน พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันมาร้องเรียนว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของประชาชน ก็ถือว่าไม่ต่างอะไรกับการสนับสนุนให้คนบางกลุ่มละเมิดกฎหมาย ทำลายระบอบการปกครองของประเทศ

กลุ่มนักศึกษา UMANY (The University Malaya Association of New Youth) ได้เผยแพร่บทความ “ยังดีเปอร์ตวนอากง ไม่ควรแทรกแซงกิจการของชาติ” เนื่องจากมองว่าการเข้ามามีบทบาทมากเกินไป จะละเมิดรัฐธรรมนูญมาเลเซีย เพราะยังดีเปอร์ตวนอากงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ ไม่ใช่นักการเมืองที่ออกนโยบายหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้กลุ่มนักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่บุกบ้านเพื่อยึดคอมพิวเตอร์กับแล็ปท็อป จนต้องออกมาแจ้งกับประชาชนทุกคนว่า บทความของพวกเขาถูกบิดเบือนให้ดูเหมือนว่า นักเรียนนักศึกษากำลังต้องการเรียกร้องให้ประเทศยกเลิกการมียังดีเปอร์ตวนอากง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อแต่อย่างใด สุดท้ายกลุ่มนักศึกษาต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละห์ ชะฮ์ พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีเจตนามุ่งร้ายหรือปลุกระดมให้สังคมเกิดความแตกแยกใด ๆ ทั้งนั้น

 

ที่มา

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/11/01/asia-pacific/politics-diplomacy-asia-pacific/malaysia-king-sultan-abdullah-sultan-ahmad-shah/

https://www.channelnewsasia.com/news/commentary/malaysia-king-agong-anwar-muhyiddin-johor-covid-19-mco-13516310

https://globalvoices.org/2020/11/11/malaysian-student-group-faces-sedition-probe-over-facebook-post-urging-the-king-not-to-interfere-in-politics/

https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3111205/malaysia-student-group-umanys-statement-king-sparks-death

 

Tags: , , , , , ,