มหาเธร์ โมฮัมหมัด ไปพบ ชินโซะ อาเบะ ในวันเดียวกับที่ คิมจองอึน พบ โดนัลด์ ทรัมป์ การเยือนญี่ปุ่นของผู้นำมาเลเซียจึงแทบไม่เป็นข่าว ทั้งๆ ที่มีนัยในมุมภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก

การเลือกเยือนญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน แทนที่จะเดินทางไปจีน ส่งสัญญาณว่าในยุคของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด มาเลเซียจะกระชับไมตรีกับโตเกียว และอาจเย็นชากับปักกิ่ง

คำพูดของผู้นำมาเลเซีย วัย 92 เมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า “เราจะเป็นมิตรกับจีน แต่ไม่จำเป็นต้องตกเป็นหนี้บุญคุณจีน” นับว่าเป็นท่าทีตรงกันข้ามกับนายกฯ คนก่อน นาจิบ ราซัค ซึ่งนำพามาเลเซียใกล้ชิดกับจีนเป็นอย่างมาก

มหาเธร์บอกระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ว่า รู้สึกดีใจมากที่ญี่ปุ่นขานรับนโยบาย Look East หรือ ‘แลบูรพา’ ของมาเลเซียเช่นเคย  

มหาเธร์ โมฮัมหมัด และ ชินโซ อาเบะ ภาพถ่ายเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 โดย Toshifumi Kitamura via REUTERS

นักสังเกตการณ์บอกว่า การที่มหาเธร์ประกาศนโยบาย ‘Look East’ ที่กรุงโตเกียว ส่อถึงทิศทางว่า นับแต่นี้ไป ผู้นำมาเลเซียจะผลักดันการรวมกลุ่มในเอเชียตะวันออกให้เป็นจริงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า

ขณะเดียวกัน มหาเธร์จะยกระดับความร่วมมือกับญี่ปุ่น ดึงทุนญี่ปุ่นเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของมาเลเซีย และลดการพึ่งพาทุนจีนในการพัฒนาประเทศ

ว่ากันว่ากลุ่มอาเซียนขาดผู้นำระดับภูมิภาคมานาน นับแต่หลายคนพ้นเวทีไป อย่าง ซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย ลีกวนยูของสิงคโปร์ ทักษิณ ชินวัตรของไทย

การหวนคืนของมหาเธร์ แม้อาจอยู่ในตำแหน่งไม่นาน ด้วยเงื่อนไขของการเมืองภายใน อาจทำให้ความร่วมมือแบบหลายฝ่ายในภูมิภาค เช่น กลุ่มการค้าเสรีที่เชื่อมประเทศเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเสียที

 

ลดน้ำหนักหนี้จีน

มหาเธร์ต้องการลดการพึ่งพาจีนในการทำโครงการสาธารณูปโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะบรรดาอภิมหาโปรเจกต์ที่ต้องกู้เงินจำนวนมหาศาล เป็นการสร้างหนี้ก้อนมหึมาแก่ประเทศ

ความร่วมมือกับจีนที่มาเลเซียกำลังทบทวนการลงทุนมีหลายโครงการ เช่น โครงการทางรถไฟ East Coast Rail Link มูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือเกือบ 4.5 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือน้ำลึกที่ช่องแคบมะละกา Kuala Linggi International Port มูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือกว่า 9.23 หมื่นล้านบาท

โครงการเหล่านี้แจ้งเกิดในยุคของนาจิบซึ่งเดินนโยบายใกล้ชิดจีน เห็นได้จากการลงทุนทางตรง (FDI) จากจีนที่เพิ่มสัดส่วนจากแค่ 0.8 % ของเอฟดีไอสุทธิเมื่อปี 2008 เป็น 14.4 % ในปี 2016

สำหรับความสัมพันธ์ด้านการค้า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหนึ่งของมาเลเซียนับแต่ปี 2009 และมาเลเซียยังเป็นประเทศผู้รับเงินลงทุนรายใหญ่ที่สุดในโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีนด้วย

ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม มหาเธร์กล่าวโทษรัฐบาลชุดก่อนว่า ทิ้งหนี้ไว้บานเบอะ พร้อมกับประกาศว่าจะรื้อข้อตกลงด้านการเงินของโครงการขนาดใหญ่โดยเจรจากับจีนใหม่ เพื่อแก้ไขภาระหนี้ภาครัฐ

รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ลิ้มกวนเอ็ง กล่าวอ้างว่า รัฐบาลนาจิบตกแต่งตัวเลขหนี้ ที่บอกว่า เมื่อสิ้นปี 2017 มาเลเซียมีหนี้สาธารณะในสัดส่วน 50.8 % ของจีดีพี อันที่จริง มาเลเซียมีหนี้จำนวน 1 ล้านล้านริงกิต หรือเกือบ 8.3 ล้านล้านบาท นับว่าสูงถึง 80.3 % ของจีดีพี

มหาเธร์กล่าวหาว่า หนี้จำนวนมากเกิดขึ้นเพราะนาจิบยักยอกเงินจากกองทุนพัฒนาประเทศ 1Malaysia Development Berhad เอาไปเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัว ขณะเดียวกัน จีนทำข้อตกลงมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะซื้อสินทรัพย์ของวันเอ็มดีบี

รัฐบาลใหม่ตั้งข้อสงสัยว่า พวกบริษัทในเครือของวิสาหกิจจีนช่วยเหลือนาจิบในการปกปิดสถานะการเงินที่ร่อยหรอหดหายของกองทุนวันเอ็มดีบี

มหาเธร์กลัวว่า ถ้าประเทศมีหนี้ล้นพ้นตัว ไม่มีปัญญาชำระคืน มาเลเซียอาจต้องทำข้อตกลงที่ลดทอนอธิปไตยของชาติ ทำนองเดียวกับที่ศรีลังกาต้องยอมให้จีนในฐานะเจ้าหนี้เช่าท่าเรือเป็นเวลา 99 ปี

 

เสริมสัมพันธ์ญี่ปุ่น

อันที่จริง ญี่ปุ่นมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อนจีน โตเกียวให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศในแถบนี้มากมาย ทั้งในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและความร่วมมือทางวิชาการ

ระยะหลังจีนมาแรงมาก นอกจากด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวแล้ว แผนการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และสถาบันการเงินที่มาคู่กัน คือ ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ที่นำโดยจีน ดูจะบดบังรัศมีของญี่ปุ่น

ในมาเลเซีย ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับหนึ่ง เม็ดเงินลงทุนทางตรงเมื่อปี 2017 อยู่ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ว่าไปแล้ว ที่พูดกันว่า มหาเธร์เลือกเยือนญี่ปุ่นในฐานะนายกฯ เป็นชาติแรกนั้น จะว่าจริงก็ไม่เชิง จะว่าผิดก็ไม่ใช่

มหาเธร์ตอบรับคำเชิญไปร่วมการประชุมประจำปีของนิกเกอิตั้งแต่ก่อนชนะเลือกตั้งแล้ว ผู้นำมาเลเซียจึงไปญี่ปุ่น 3 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ แล้วเพิ่มนัดหมายกับผู้นำญี่ปุ่นในวันอังคารที่ 12 มิถุนายน

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ภาพถ่ายเมื่อ 11 มิถุนายน 2018 โดย REUTERS/Issei Kato

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์มองว่า การที่มหาเธร์ยังคงยึดตามกำหนดการเดิมย่อมสะท้อนว่า มาเลเซียจะให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลก่อนคบญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่คบจีนใกล้ชิดกว่า

ในการเยือนเที่ยวนี้ มหาเธร์พูดจากับฝ่ายญี่ปุ่นหลายเรื่อง เช่น เชิญชวนมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นเข้าไปเปิดสาขาในมาเลเซีย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการลงทุน

ประเด็นสำคัญอีกเรื่อง คือ ขอญี่ปุ่นช่วยปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่อนคืนนานให้แก่มาเลเซีย เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งอาเบะรับปากที่จะพิจารณาให้

ถ้าญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มาเลเซียจะลดการพึ่งพาทุนจีนลงไปได้มากทีเดียว

 

สัมพันธ์มาเลเซีย-ญี่ปุ่น และนัยต่อภูมิภาค

ในการเยือนญี่ปุ่น มหาเธร์ปัดฝุ่นแนวคิด แลตะวันออก ที่เคยเสนอเมื่อปี 1982 กลับมาเสนออีกครั้ง วิสัยทัศน์นี้เป็นทั้งนโยบายของประเทศและมโนทัศน์สำหรับภูมิภาค

สาระหลักของ Look East policy เสนอว่า ประเทศในภูมิภาคควรศึกษาตัวแบบการพัฒนาจากชาติตะวันออกด้วยกันเอง มากกว่าที่จะเลียนแบบชาติตะวันตก ประเทศต้นแบบที่น่าเรียนรู้ที่สุด คือ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมการทำงาน ทักษะ และความรู้

ถ้ามาเลเซียกับญี่ปุ่นใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ย่อมมีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกอาเซียนแสดงท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อจีนในกรณีพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้ เพราะการที่จีนแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ทางทะเลในแถบนี้ได้สร้างความเสี่ยงต่อญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นต้องพึ่งพาเส้นทางเดินเรือดังกล่าวในการขนถ่ายน้ำมันและสินค้าเข้าและออกจากญี่ปุ่น

จนถึงวันนี้ กลุ่มอาเซียนยังคงเสียงแตก เพราะบางประเทศมีความสนิทสนมกับจีน เช่น กัมพูชา บางประเทศซึ่งเคยพิพาทกับจีน เช่น ฟิลิปปินส์ ก็หันกลับไปญาติดีกัน ญี่ปุ่นจึงหวังว่า มหาเธร์อาจช่วยประสานให้เกิดเอกภาพในประเด็นนี้ได้

มหาเธร์เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ บอกว่า “เราทราบดีว่า เราไม่สามารถกีดกันไม่ให้จีนเข้ามาในท้องทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เพราะทะเลแถบนี้เป็นทางผ่านของตะวันออกกับตะวันตก แต่ควรให้เป็นเช่นนั้นต่อไป ไม่ใช่ให้ใครเข้าควบคุม ไม่ว่าจีนหรืออเมริกา เราต้องการให้ทุกอย่างเปิดกว้าง ไม่มีข้อจำกัดต่อการเดินเรือ ยกเว้นเรือรบ”

บนเวทีประชุมในหัวข้อ ‘Future of Asia’ ที่โตเกียว มหาเธร์ยังหยิบยกไอเดียอีกอย่างที่เคยเสนอเมื่อปี 1997 ขึ้นมาพูดด้วย นั่นคือ กลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEC) ซึ่งประกอบด้วยประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

แนวคิดนี้เคยหยุดชะงักในอดีตเพราะสหรัฐฯ ต่อต้าน มหาเธร์บอกว่า เวลานี้ อเมริกาไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดขวางการตั้งกลุ่มการค้าเสรีที่มีแต่ประเทศเอเชียเข้าร่วมแล้ว หลังจากทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อตกลงทีพีพี ซึ่งมี 11 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงญี่ปุ่นกับมาเลเซียด้วยนั้น มหาเธร์บอกว่า อยากให้แก้ไขข้อตกลงใหม่ เพราะของเดิมนั้นสหรัฐฯ เป็นคนชง จึงทำให้ประเทศเล็กอย่างมาเลเซียเสียเปรียบ

นับแต่สหรัฐฯ ถอนตัวจากทีพีพี ญี่ปุ่นก้าวเข้ามารับบทหัวเรือใหญ่แทน โตเกียวกำลังผลักดันให้สมาชิกให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงฉบับนี้เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

นักวิเคราะห์บอกว่า การที่มหาเธร์ต้องการให้เจรจาเขียนกฎกติกากันใหม่ คงไม่ถูกใจญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

มหาเธร์เพิ่งหวนคืนเวทีแค่ 6 สัปดาห์ โชว์วิสัยทัศน์เขย่าเอเชียตะวันออกได้ขนาดนี้ นับว่าสมราคาของคำว่าผู้นำภูมิภาค.

 

อ้างอิง:

Tags: , , , ,