ในวันที่แสงแดดผลุบๆ โผล่ๆ ย่านเมืองเก่าแถบเยาวราชมีผู้ชายผมหยิกใส่ถุงเท้าลายฮอตดอกถือกีต้าร์โปร่งเดินไปตามซอยแคบ เขาเกากีต้าร์ไปเรื่อยเปื่อย ร้องเพลงที่ตัวเองเคยแต่งไว้สนุกๆ บ้างตอนเดินผ่านร้านของชำ บางจังหวะค่อยๆ นั่งบนถุงทรายที่วางไว้เป็นแถบริมแม่น้ำ แล้วละเลียดท่อนฮุคของเพลง ‘พจนานุกรม’ ซิงเกิลใหม่ล่าสุดที่เขียนเนื้อและทำนองเอง รวมไปถึงการตัดต่อมิวสิกวิดิโอที่มีปู่และย่าของตัวเองเป็นพระเอกและนางเอกเองด้วย
เอ็ม ยศวัศ สิทธิวงค์ ศิลปินคนแรกของค่าย 12sumrecords (ค่ายเพลงของแสตมป์-อภิวัชร์) ถ่ายทำกำกับเอ็มวีความยาว 5.08 นาทีภายในเวลา 8 ชั่วโมง เขามีสตอรี่บอร์ดและแผนในหัวว่า ต้องถ่ายการจีบกันของคนแก่ยุคนั้นให้ออกมาในรูปแบบไหน มีพลังกับใจแต่ไม่ได้บอกปู่กับย่าไว้ก่อนด้วยว่า หลานกลับบ้านมาทำอะไร ถ้าพลาดท่าก็ไร้แพลนบี
เขาลงเครื่องบินมาที่จังหวัดเชียงราย ยกหูหาพ่อให้ยืมพจนานุกรมจากโรงเรียนที่พ่อทำงานอยู่มาให้หน่อย แล้วก็ด้นสดเหมือนกับที่กำลังเดินถือกีต้าร์เล่นไปตามถนนแบบไม่สนใจใคร กำกับให้ทำอะไรแปลกๆ ก็ทำ
บทสนทนานี้ถึงนำพาเราไปสู่ความละมุนของชายหนุ่มที่จริงจังกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เขาจับทุกอย่างที่กระทบกับความรู้สึกให้เป็นงานได้ ไม่ปล่อยผ่าน เขาบอกว่า ก่อนที่จะเจอพี่แสตมป์ เพลงที่อัดไว้ในมือถือ 20 เพลงล้วนเป็นเพลงไร้สาระทั้งหมดทั้งสิ้น เช่น เพลง ‘น้ำตกคอหมูย่าง’ ‘ยอดมนุษย์’ ‘บ๊อบเท’ หรือแม้กระทั่งเพลง ‘เสาอากาศ’ ซึ่งเป็นซิงเกิลแรกที่ปล่อยออกไปแล้ว
แถมตอนแรก ‘พจนานุกรม’ ก็ไม่ได้มีเอ็มวีด้วยซ้ำ แต่เอ็ม-ยศ วาร์ปตัวเองไปเชียงราย ทำเสร็จหมดก่อนแล้วค่อยบอกแสตมป์ว่า “พี่ เพลงนี้มันมีเอ็มวีด้วยนะ พี่ลองดูว่าโอเคไหม”
ย่า-ปู่ (n.)
ตั้งแต่เมโลดี้ขึ้นไปจนถึงจบเพลง เราไม่ค่อยรู้สึกเลยว่านี่คือมิวสิกวิดีโอ เพราะมันเหมือนภาพยนตร์สั้นแห่งการจีบกันของปู่กับย่ามากกว่า
“เราอยากให้มันเป็นช็อตแรกที่คนดูได้ใช้เวลากับมันหน่อย ส่วนใหญ่โฆษณา 5 วินาทีแรกคือต้องเปรี้ยงแล้วใช่ไหมว่าเกิดไรขึ้น แต่นี่อาจจะเป็นความชอบส่วนตัวของเรา ที่อยากให้คนดูตั้งสติก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีคนเดินลงบันไดมา หิ้วของใส่ในจักรยาน มีพานเหมือนจะไปวัด แล้วเอาพานใส่ในจักรยานออกไป เป็นภาพที่เราเคยเห็นตลอดเลยตั้งแต่ยังเด็ก ปู่จะมาเคาะตั้งแต่ตี 5 แล้วว่า ‘เฮ้ย ไปวัด’ ทุกครั้งที่เรากลับเชียงราย”
เอ็มยศมีโปรเจ็กต์กลับบ้านไปถ่ายรูปปู่กับย่าทุกปี ซึ่งเขาเริ่มมิชชันนี้มาประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ปู่กับย่าจึงเริ่มชินกล้อง คิดว่าหลานจะกลับมาพร้อมถือกล้องตัวนี้มาเก็บบันทึกภาพไว้
ก่อนจองตั๋วมาเชียงรายเขาเปิดปฏิทินดูแล้วว่ามีเวลาสองวันในการถ่ายทำ แล้วตัดสินใจจองตั๋วบินทันที ถ้าได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็กลับกรุงเทพฯ
“เราถ่ายตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงฉากที่ไปวัด พอดูเวลาก็ เอ๊ สิ่งที่ต้องถ่ายหมดแล้วนี่หว่า เลยบอกปู่ว่าไปนอนก่อน ปู่ก็ไปนอนใต้ถุน กินข้าวอะไรของเขาไป เอ็มวีเราใช้แสงธรรมชาติ เลยต้องเลือกว่าตรงไหนควรถ่ายทำ เช่น ซีนแรกปู่จะกินข้าวก่อนจะไปวัด เลยบอกให้ปู่กินเลย เราเอากระดาษไปสอดให้เขาเขียนเป็นหนึ่งซีน ซึ่งแสงลงพอดีเลยรอจังหวะพร้อมที่จะถ่าย พอแดดเริ่มแรงก็ให้ปู่ไปนอน สี่โมงเย็น แสงเริ่มซอฟต์ก็ไปถ่ายที่ทุ่งนา ก็เสร็จแล้วเอ็มวีนี้”
ไม่มีปัญหาอะไรเลยหรือ
“เอ็มวีไม่มีปัญหาเลย เพราะทุกคนที่เห็นงานชิ้นนี้ที่เป็นดราฟต์อยู่เขาอยากช่วยหมด พี่ไก่ ณฐพล บุญประกอบก็มาช่วยดูตัดต่อให้ พี่โปรดิวเซอร์ก็มาช่วยทำสีให้ เลยรู้สึกว่ามันไม่มีปัญหาอะไรเลย แวบแรกที่เรากลัวว่ามันจะไม่เสร็จ สุดท้ายวิธีการมันง่ายมาก แล้ววิธีการตัดต่อก็ไม่ได้ใช้เวลานานขนาดนั้น เพราะเราถ่ายปู่กับย่ามาแค่มากสุดคือ 4 เทค ต่อ 1 ช็อต เพราะเรารู้สึกว่าใจเขาพร้อม แต่ร่างกายเขาไม่เหมือนวัยรุ่นแล้ว เราเลยจะรบกวนเขาไม่กี่เทค
“แต่ถ้าเป็นเรื่องตัวเพลง เนื่องจากเป็นเพลงรักเพลงแรกที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเพลงรักของเรา เราผูกพันในเนื้อหาด้วย เราก็จะรู้สึกไปกับมันมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการการทำงานเหมือนกัน ‘พจนานุกรม’ เป็นเพลงที่มีกีต้าร์ เปียโน ทรัมเป็ต เท่านี้เอง ทำแบบโล่งๆ เครื่องดนตรีหลักอีกชิ้นคือเสียงของเรา เราอัดเสียงสามครั้งเลยเพราะเรารู้สึกว่าอารมณ์มันไม่ได้ กดดันมาก เหมือนพอดนตรีมันโล่ง แล้วเราร้องเพี้ยนนิดนึงมันชัดมากเลย เลยเข้าห้องอัดนานกว่าเพลงอื่นๆ”
โลเคชันคือวัดแถวบ้าน ปู่กับย่าเจอกันจริงๆ ที่ศาลาการเปรียญ เอ็มจึงใช้วิธีพาทั้งสองคนไปอยู่ร่วมในสถานการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยปล่อยให้การแสดงและการอินกับบทเป็นของปู่กับย่าเลยเต็มที่ มีซีนเชิงวัฒนธรรมให้ทั้งสองคนวางดอกไม้ในเครื่องสักการะของภาคเหนือ เสื้อผ้าหน้าผมก็ปล่อยปกติตามที่ปู่กับย่าเป็นอยู่ในทุกวัน
ไม่ได้พยายามจัดการแต่งตัวให้ดูหนุ่มสาวขึ้น ให้เขาเป็นแบบที่เขาเป็นแล้วแค่ปรับคิว กำกับอารมณ์ไปตามธรรมชาติ ด้วยประสบการณ์จากการเป็นตากล้องภาพยนตร์สารคดีมาก่อน เอ็มจึงรู้ลิมิตว่าจุดไหนที่นักแสดงจะรู้สึกไม่สบายใจที่ถูกถ่าย
“เราอยากรู้ว่าจริงๆ แล้วการที่คนเราใช้เวลาร่วมกันจนแก่เฒ่าขนาดนี้ วันแรกมันจะเป็นอย่างไร วันที่เขาปิ๊งกัน มันคือโมเมนต์แห่งประวัติศาสตร์เลยนะ เวลาผ่านไป 50-60 ปีขนาดนี้ เราเลยรู้สึกว่ามันมีพลังเหมือนกันเมื่อได้ไปอยู่ตรงนั้น เรานึกภาพไม่ออกเลยว่าจะจีบกันยังไง เพราะปู่เล่าให้ฟังว่าคนเหนือเขาจะมีความเชื่อที่ว่าไม่ควรการแตะเนื้อต้องตัวกัน การจีบจึงเป็นอะไรที่ยากมาก หรือแม้กระทั่งการบอกความรู้สึกตรงๆ ก็ตาม ฉะนั้นเราว่าการแอบชอบ น่าจะเป็นความน่ารักสมัยก่อน”
เอ็มเกิดและโตที่เชียงราย ภาพในหัวของเขาที่มีต่อปู่กับย่าจึงเป็นวิถีชีวิตและธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นมาแล้วคิดถึงความสัมพันธ์ที่ร้อยโยงกันของญาติและถิ่นที่อยู่ เขาตัดสินใจกำหนดให้ซีนสุดท้ายเป็นทุ่งนา
“เราเห็นปู่ทำนาตั้งแต่เราเกิด และมันเป็นอาชีพที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้ด้วย ตอนนี้ปู่อายุ 85 แล้ว แต่ถ้าเทียบกับปู่กับย่าของเพื่อนเราที่อยู่ในเมือง เขาจะดูไม่เฟี้ยวเท่าปู่เรา ปู่เราเฟี้ยวมาก”
เพราะปู่เฟี้ยว ปู่เลยสามารถแสดงรอยยิ้มได้แข็งแรง และย่าเองก็ดูน่ารักเป็นธรรมชาติเหมือนจีบกันจริงๆ มาก มีอะไรที่ปู่ทำหน้ากล้องแล้วทำให้หลานรู้สึกว้าวไหม
“เราว่าสายตา จริงๆ มีหลายซีนที่เขาทำได้ดีกว่าที่คิด เราเคยเจอนักแสดงที่อายุมากประมาณหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าเป็นการแสด๊งแสดง ปู่เราเป็นคนยิ้มยาก เวลามองสิ่งต่างๆ หน้าเขาจะเหี่ยวเพราะใช้ความคิดอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่านี่คือจุดแข็งของปู่ คือเขาแค่มองก็พอ แต่ว่าย่าเนี่ย สายตาล่อกแล่กมาก เขาจะเขินปู่ มองหน้าไม่ได้เลย มองปุ๊ปหัวเราะตลอด เราเลยให้เขาอยู่เฉยๆ ก่อน ถ่ายโมเมนต์ที่เขามองจริงๆ ตอนสุดท้ายเราเขียนในสตอรี่บอร์ดว่าอยากให้ปู่ยิ้ม ตอนนั้นฝนจะตกแล้ว ท้องฟ้าเริ่มมืด แล้วเขาก็ยิ้ม ยิ้มนิดเดียว แล้วทำได้แค่นั้นจริงๆ”
“แล้วมันสนุกมากเลย โคตรสนุก หลังจากทำเสร็จแล้วก็รู้สึกว่าคนจะเข้าใจได้ไหมว่านี่คือเรื่องราวที่เราอยากสื่อ มันส่วนตัวเกินไปหรือเปล่า เราก็วัด 50:50 เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้กังวลมาก จริงๆ ไม่ได้บอกพี่แสตมป์ก่อนด้วยว่าไปทำ ทำเสร็จแล้วตัดต่อให้เขาดู บอกว่าพี่ เพลงนี้มันมีเอ็มวีแล้วนะ พี่ลองดูว่าโอเคไหม เขาก็พิมพ์กลับมาว่าชอบมากเลย ตื่นเต้น เราก็เลยโอเค ถ้าพี่ ’แตมป์โอเค คนจะชอบมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องของเขา”
ละมุน (adj.)
“เปิดดูคำมากมายในพจนานุกรม แต่ไม่มีสักคำที่ตรงกับความรู้สึกข้างใน”
ไม่รู้ว่าเอ็มยศจะเป็นอะไรมากมายในชีวิตนี้ แต่เมื่อถามว่าเขาเป็นคนที่เล่นละครเวทีได้โดยที่ไม่ต้องเป็นนักแสดง หรือร้องเพลงโดยที่ไม่ต้องเป็นนักร้องก็ได้ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่เลย ไม่เคยนิยามอะไรกับมัน พยายามตะกุยอะไรที่มันใกล้ๆ ไว้ก่อน แวะไปเรื่อยเพราะทุกอย่างมันสนุกไปหมด
หลายคนที่ติดตามผลงานของยศวัศจะรู้ว่าเขาสวมหมวกหลายสิบสไตล์ในการทำงาน ทั้งนักวาดภาพประกอบ กราฟิกดีไซเนอร์ ตากล้องสารคดี ตากล้องไม่สารคดี นักแสดงละครเวที นักกีฬาคาราเต้ระดับแชมป์เหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัย พระเอกเอ็มวีและศิลปินนักร้อง (ที่ตัดต่อเอ็มวีเองด้วยอีก) ณ ปัจจุบัน เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจนหมวกคัดสรรต้องสับสนว่าควรคัดให้เขาไปอยู่บ้านไหนดี
นับตั้งแต่ชีวิตมัธยมยันมหาวิทยาลัย เอ็มเคยอยากไปเรียนกังฟูที่วัดเส้าหลินเพราะอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องเคนจิ หมัดกังฟู จึงเลือกเรียนสายศิลป์-จีน ชอบดูหนังแบบอดหลับอดนอน ดูบิ๊กซีนีม่า แล้วเช่าวีซีดีและดีวีดีมาดูทุกวัน จนได้ทำหนังสั้นเรื่องแรกชื่อ อาหลงสู้ๆ กับเพื่อน เมื่อเข้ามาเรียนคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ก็ได้ลองเล่นละครเวที ทำวงดนตรีสากล และเล่นคาราเต้ไปด้วย
แต่ในทุกๆ เรื่อง เอ็มจะมีวิธีการเล่าที่เป็นเอกลักษณ์ เหมือนจะเรียบๆ ง่ายๆ แต่มีการจัดโครงสร้างให้งานออกมาดูละมุนและมีมุมมองต่อสิ่งเล็กๆ ที่หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกต เช่นการเขียนเพลง ‘เสาอากาศ’ เขาก็เขียนออกมาจากความผูกพันที่มีกับมันในช่วงชีวิตสมัยเรียนปี 1
“เราอินกับทุกอย่างเลยนะ ไม่ใช่แค่ว่าเราเห็นชาเขียวแล้วก็หยิบมาเขียนได้เลย เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมันก่อน อย่างเพลง ‘เสาอากาศ’ เราชอบเพราะว่าตอนนั้นเราอยู่หอพัก เป็นเด็กต่างจังหวัด ดังนั้นมันเหมือนเป็นเพื่อนเราคนเดียวเลย ช่วงนั้นมันไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราเลยชอบดูบอล หนัง ละคร หรือข่าว ซึ่งจะมีข่าวที่ทั้งดีและไม่ดี ตอนที่มีมีข่าวระเบิดที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็เอาไปใส่ในท่อนฮุคว่า ‘มีคนที่ทะเลาะกัน ไม่เคยเข้าใจ”
“เราต้องคิดถึงมันอยู่ในลมหายใจ จนรู้สึกว่าเราอยากจะเล่ามันออกมาจริงๆ อย่างในเพลง ‘พจนานุกรม’ ประโยคที่ว่า ก็เป็นอย่างงี้ไง ก็เลยลำบาก ก็เป็นคำพูดของเราเองเลย”
แสงเช้า จานข้าว ดอกไม้ จักรยานในเอ็มวี ‘พจนานุกรม’ ดูมีชีวิตและมีนัยยะความละมุนที่จริงใจ เสน่ห์แห่งความออร์แกนิกของเขาทำให้เราสนใจว่าจริงๆ แล้ว เขาเป็นคนกล้าแสดงออกหรือเปล่า
“ไม่ใช่ในแง่ของการต้องไปเรียกร้องให้คนมาชื่นชม แต่ในด้านความรู้สึก ถ้าเรารู้สึกยังไง เราสามารถแสดงความรู้สึกนั้นออกไปได้เลยโดยที่ไม่ต้องกลัว เช่น การแสดงความคิดเห็น หรือการที่จะเริ่มทำอะไรสักอย่าง เช่นที่เราบอกพ่อว่าอยากเรียนกังฟูเพราะเรามีเหตุผลของเรา พ่อก็บอกว่ามึงลองดูเลย
“หรือเคยไปเป็นตากล้องถ่ายงานโฆษณาซึ่งต้องถ่ายมด ชื่ออาร์มสตรอง ซึ่งเป็นมดแบบมดเลยอะ มันคุมยากมากเลย มีข้อจำกัดคือไฟแอลอีดีแค่สองตัว เราก็ต้องไปหาอุปกรณ์โดยการถอดปลอกหมอนโรงแรมมาคลุม เพราะปลอกหมอนมันจะมีคุณสมบัติที่เวลาโดนไฟจะกระจายฟุ้ง ทำให้แสงนุ่ม คือจะเอาผ้าห่มมาก็กลัวโรงแรมจะจับได้ (หัวเราะ)”
“เราชอบเห็นมุมอะไรสักอย่างแล้วเห็นพัฒนาการของมัน ส่วนใหญ่งานที่เราชอบจะเป็นงานเชิงเล่าเรื่อง ไม่ใช่งานคอนเซ็ปชวลขนาดนั้น เรื่องส่วนใหญ่มันจะเริ่มจากความสนุกก่อน ซึ่งสิ่งที่ไม่สนุกจะเป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยทำ แล้วเราเดามันไม่ออกว่ามันจะดีหรือไม่ดี เราจะไม่ปิดกั้นโอกาส ก็ด้นๆ ไป”
เพราะอะไรตัวเองถึงปลอดภัยจากความกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา
“เพราะว่าเราเป็นเอ็มคนนี้ที่มาจากเชียงรายน่ะ ไม่มีอะไรจะเสีย การเอาความคาดหวังหรือความชอบของคนอื่นมามันไม่มีประโยชน์ หรือเราไม่ได้มองมันตั้งแต่แรกมั้ง ไม่ได้คิดถึงมันเลยเพราะมันไม่น่าสนใจพอ เราสนใจวิธีเล่าและวิธีการทำงานว่า จะสนุกกับมันยังไงมากกว่า”
ในบรรยากาศที่ฝนเหมือนจะตกแหล่ไม่ตกแหล่ แสงคลุมเครือ เอ็มเล่าเรื่องความบ้าคลั่งในการแสดง การลองที่ไม่มีขอบเขตของเข ความแตกแยกของครอบครัวที่บันดาลใจให้เข้าใจความเป็นมนุษย์และความไม่สมบูรณ์แบบของโลก
“ตอน ม.ปลายครอบครัวเราแยกกัน แต่มันกลับทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น พ่อบอกตอนที่แยกกับแม่ว่า ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์เสมอไปนะ พ่อกับแม่เองก็ไม่ได้สมบูรณ์ ดังนั้นถ้าเอ็มอยากจะทำอะไรในชีวิตต่อจากนี้ให้เลือกเอง ดูจากพ่อกับแม่แล้วกัน เราก็ปลดล็อกเหมือนกันนะ”
นักกีฬาคาราเต้เหรียญทองของมหา’ลัยที่เคยตื่นตี 4 ขึ้นมาซ้อมทุกวันจนติด F วิชาคณะ เคยอยากเรียนสาขารัฐศาสตร์การทูตเพราะเห็นเพื่อนหรือพ่อแม่ทะเลาะกัน เอ็มเลยรู้สึกว่าอยากเป็นคนที่สลายอีโก้ของคนทั้งสองฝั่ง
“แต่เราไม่ตั้งใจเรียนน่ะ เงื่อนไขที่เขาต้องการ เราทำไม่ได้ (หัวเราะ) จริงๆ เราอาจจะรู้สึกท้อกับการทะเลากันของพ่อแม่ เลยอยากให้ทุกคนไม่ทะเลาะกัน มันอาจจะดูโลกสวยนะ แต่มันเป็นแรงขับช่วงนั้น ไม่อยากให้เพื่อนหรือคนรอบข้างรู้สึกเครียดกับมัน”
ช่วงเวลาที่เดินไปเล่นกีต้าร์ไปตามซอยแคบนั้น เขายิ้มให้กล้องและบอกว่า
“นี่เอากีต้าร์มาเดินเล่นไปตามถนนแบบนี้ครั้งแรกเลยนะเนี่ย”
กำจัดข้อจำกัด (v.)
มนุษย์ที่เชื่อมโยงความรู้สึกกับสิ่งของได้ดีแบบเอ็มยศอาจจะมีความทรงจำเป็นหน่วยที่ไม่ค่อยแมสและตกตะกอนก้อนความคิดนั้นจนมันใช้การได้
สมมติว่ามีเหตุการณ์รถชนขึ้น ยศวัศจะไม่เขียนถึงมันทันที เหตุการณ์ผ่านไปสักพักเขาถึงจะเริ่มประมวลว่ารถเลี้ยวเข้ามาทางนี้ ชนกันแรงมาก ป้าคนนั้นยืนมองแล้วแกรอดมาได้ ซึ่งสุดท้ายอาจลงเอยด้วยการเขียนถึงป้า แทนที่จะเป็นฉากรถชน
“เราชอบเพลงเมโลดี้ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเพลงการ์ตูน เพลงเกมเป็นพิเศษ เรารู้สึกว่ามันสนุก ซึ่งเราจะมาตั้งคำถามว่าทำไมเรารู้สึกกับทำนองเหล่านี้ ก็พยายามหาว่าทำไมเราถึงร้องไห้กับโน้ตนี้นะ อย่างเพลง ‘พจนานุกรม’ เวลาทรัมเป็ตมาจะแบบโอ้โห ตั้งแต่ตอนอัดน่ะ เราไม่รู้เหมือนว่าทำไมต้องมี แต่เราอยากให้มันอยู่ตรงนี้น่ะ”
‘พจนานุกรม’ เริ่มต้นมาจากการที่เขาลงเรียนวิชาภาษาไทยการเขียนที่มหา’ลัย แล้วอาจารย์ขึ้นสไลด์โชว์ว่าเป็นตัวอย่างที่ผิดเพราะไม่ได้ใช้คำสละสลวย ให้เขาไปอ่านหนังสือ อ่านพจนานุกรมให้เยอะ เพราะเป็นคนที่คลังคำในหัวน้อยมาก
“ตอนนั้นเราเสียใจเพราะเราตั้งใจเขียนนะเว้ยเฮ้ย มันผิดตรงไหนอะ เพื่อนขำก๊ากกันหมดเลย เลยเป็นปมในใจว่าอยากเขียนเล่าเรื่องพจนานุกรมหรือการใช้คำ แล้วเผอิญว่าตอนนั้นชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ตัวเองรู้สึกว่าไม่เป็นตัวเองเลย ไปรอเขาทำไม ว้าวุ่น แล้วใช้คำอะไรอธิบายความรู้สึกตรงนี้นะ ที่เราชอบไปแล้วแต่ยังไม่ได้เป็นแฟน มันคือคำอะไรในพจนานุกรม เราเริ่มเขียนเพลงนี้ตอนที่เราอายุ 28 พอดี”
นิสัยการเป็นผู้สังเกตการณ์ ชอบค้นหา ชอบทดลอง ทำให้เอ็มยศได้เดินอยู่ในวงกลมกว้างใหญ่ที่อินเตอร์เซ็คความเป็นไปได้ต่อไปเรื่อยๆ
“การทำงานภายใต้ข้อจำกัดมันยาก แต่มันสนุกมากเลย เราจะอยากกระโดดเข้าไปใส่ อยากเอาตัวเองเข้าไปเจอความทุกข์ระทมแบบนั้น (หัวเราะ) เราชอบความรู้สึกนี้ มันทำให้เรากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เหมือนเราจะขึ้นโชว์งานวันแม่แล้วเรากล้าๆ กลัวๆ การที่เราจะตั้งใจทำอะไรสักอย่างแล้วต้องไปส่งครู เพื่อนก็จะเห็นผลงานของเราครั้งแรก
“เวลาที่เราทำเพลงหรืองานที่เป็นสิ่งที่เราปั้นมันขึ้นมาเอง การวาดภาพประกอบเอย หรือการถ่ายเอ็มวีอะไรก็ตาม เราใช้ความรู้สึกนี้มาตลอดเลย”
เหมือนในเอ็มวี ‘พจนานุกรมที่มีเวลาตัดสินใจและถ่ายทำไม่กี่วัน ที่สำคัญมันคือสิ่งที่เขาจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้
“จริงๆ เราไม่คิดว่าจะทำได้เลย แต่พอเริ่มทำมือเราสั่นไปหมดเลย แบบ เฮ้ย นี่มันเจ๋งว่ะ มันไม่ใช่ผลงานน่ะ ผลงานมันคือผลจากการที่เราได้ทำในวันนั้น”
เวลาที่ยศวัศได้ลองทำอะไรที่ห่างหรือไม่ห่างไกลจากสิ่งที่เป็น เอ็มบอกว่าความรู้สึกมันเหมือนการเดินทางจากเชียงรายมากรุงเทพฯ แบกเป้มาเอง เดาไม่ออกเลยว่าในอนาคตจะยังเป็นเอ็มที่มาจากเชียงรายอยู่ไหม อาจจะเปลี่ยนไป จะดีหรือแย่ลงอย่างไรก็ไม่แน่ใจ
“แต่คงจะเป็นคนที่ทำงานภายใต้ความสนุกแบบนี้อยู่ ถ้าเรามีประสบการณ์กับสิ่งสิ่งหนึ่ง แล้วเราอยากทำมันออกมาเป็นงาน ไม่ว่าจะเป็นงานแบบไหนก็ตาม เราก็คงจะยังเป็นเราอยู่ดี”
M Yoss ก็คงจะเป็นคำที่ไม่มีระบุไว้ในพจนานุกรมเหมือนที่เขาไม่รู้ว่าจะนิยามตัวเองหรือสิ่งอื่นๆ ที่ทำออกมาอย่างไร เรามองเขาเล่นกีต้าร์เรื่อยเปื่อยไปตามนิยามความงามของแสงที่ลอดเมฆ ในวันที่ฝนเหมือนจะตก เหมือนจะไม่มีแสง แต่ในวินาทีที่แสงและเสียงกีต้าร์บอบบางคลอมา
“ไม่มีใครบัญญัติไว้ คำคำนี้ที่มีในหัวใจ….”
นั่นคือช่วงเวลาของ Magic hour
ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
Tags: ศิลปิน, ดนตรี, นักร้อง, M Yoss, ยศวัศ สิทธิวงค์, เพลง