อากาศที่เย็นลงเป็นสัญญาณของเทศกาลพักผ่อนและเฉลิมฉลองช่วงปลายปีที่กำลังจะมาถึง ผู้คนจำนวนไม่น้อยคงเริ่มวางแผนใช้เวลาวันลาและวันหยุดไปทำกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่ทำงานมาตลอดทั้งปี

      และคงมีคนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ถือโอกาสจัดการด้านธุรกิจและการเงินให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนจะถึงวันทำการสุดท้ายของปี หนึ่งในนั้นคือการวางแผนหักลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือกองทุน LTF นั่นเอง

    กองทุน LTF นั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากจำนวนกองทุนที่เพิ่มขึ้น จาก 54 กองทุน ในสิ้นปี 2550 เป็น 83 กองทุนในปัจจุบัน ส่วนมูลค่าสินทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นจาก 49,408 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 เป็น 549,240 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และเงินใหม่ที่ซื้อกองทุนเพิ่มขึ้น

  แม้ว่าในปี 2560 มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องระยะเวลาการถือครองกองทุน LTF จากเดิมที่ระยะเวลาการถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน แต่คาดว่า LTF ก็น่าจะยังคงได้รับความนิยมจากผู้มีรายได้และต้องการลดหย่อนภาษีอีกเช่นเคย

    สาเหตุที่กองทุน LTF ได้รับความนิยม น่าจะมีเหตุผลหลายประการ เหตุผลหลักๆ คือ

    1) ใช้ระยะเวลาการถือครองค่อนข้างสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทางการเงินอื่นที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ต้องถือครองจนถึงอายุ 55 หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ต้องมีระยะเวลาการคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ดังนั้น การที่กองทุน LTF กำหนดระยะเวลาการถือครองไว้ที่ 7 ปี และเป็น 7 ปีปฏิทิน ซึ่งหมายความว่าระยะเวลาการถือครองที่สั้นที่สุดอาจจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปีเศษ หากซื้อกองทุนในเดือนธันวาคม และขายคืนกองทุนในเดือนมกราคมของปีที่ 7 เป็นต้น (ก่อนหน้านี้ กำหนดการถือครองคือ 5 ปีปฏิทิน ซึ่งระยะเวลาการถึงครองที่สั้นที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปีเศษเท่านั้น)

 

กองทุน LTF ได้รับความนิยม เหตุผลหลักๆ คือ ใช้ระยะเวลาการถือครองค่อนข้างสั้น การถือครองที่สั้นที่สุดอาจจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปีเศษ

  2) ให้ผลตอนแทนในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับสินค้าทางการเงินประเภทอื่น กล่าวคือ หลังจากปี 2551 ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้บางปีจะติดลบบ้าง แต่โดยรวมแล้วถือว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก กองทุนหุ้นส่วนใหญ่ (รวมถึงกองทุน LTF ด้วย) สามารถสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงมาก ทำให้นักลงทุนที่เคยลงทุนในกองทุน LTF ได้รับประสบการณ์การลงทุนที่ดี กล่าวคือได้ทั้งผลตอบแทนสูงและได้หักลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ยังทำให้คนที่ไม่เคยลงทุนในกองทุน LTF ก็สนใจลงทุนผ่านช่องทางนี้มากยิ่งขึ้น

  3) ความสะดวกในการซื้อ ธนาคารพาณิชย์ส่วนมากมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในเครือที่มีกองทุน LTF เสนอขายอยู่ ทำให้การซื้อกองทุน LTF ทำได้ง่ายๆ ผ่านสาขาของธนาคาร นอกจากนี้ การทำธุรกรรมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและผ่านตัวกลางที่ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนก็เติบโตขึ้น ทำให้ผู้ที่สนใจมีช่องทางเข้าถึง LTF ได้ง่ายและหลากหลายกว่าเดิม

  อย่างไรก็ตาม สินค้าที่สามารถซื้อหาได้สะดวก อาจจะไม่ใช่สินค้าที่ใช่สำหรับเราก็ได้ บางครั้ง การที่จะได้ของสิ่งหนึ่งที่เหมาะกับเรา อาจจะต้องใช้ทั้งแรงกายและการสละเวลาในการตามหา กองทุน LTF ก็คงไม่ต่างกัน

  แล้ว LTF แบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวเรา

  (การลงทุนในกองทุน LTF นั้นมีความเสี่ยงในระดับที่มากพอสมควร เนื่องจาก LTF คือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ดังนั้นจึงมีการลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ผลคือเวลาที่หุ้นขึ้นหรือหุ้นลง มีความเป็นไปได้สูงมากว่าผลตอบแทนของกองทุนจะขึ้น-ลงตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้น แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับกองทุน ซึ่งขนาดของความเสี่ยงหากวัดโดยใช้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ระยะยาวจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี)

  การเลือกกองทุน LTF ที่ใช่ จากกองทุน LTF ที่มีอยู่ทั่งสิ้น 83 กองทุน จากผู้ให้บริการประมาณ 20 รายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลักการสำคัญที่ใช้ในการเลือกเป็นดังนี้

  1) ซื้อของต้องดูคุณภาพ ซื้อกองทุนก็เช่นกัน แต่การวัดคุณภาพของกองทุนนั้นทำได้ไม่ง่าย แต่มีปัจจัยสำคัญดังนี้

    1.1 บริษัท บริษัทที่มีชื่อเสียงการจัดการที่ดีจะสามารถดึงดูดและรักษาผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งการสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย และคงยากยิ่งกว่า ที่เราจะเห็นกองทุนที่มีผลงานดีอย่างต่อเนื่องจากบริษัทและบุคลากรที่ไม่มีเสถียรภาพ

    1.2 Investment process ในการจัดการลงทุน ซึ่งควรที่จะเข้าใจปรัชญาและความเชื่อต่างๆ ของบริษัทและกองทุน (เช่น เชื่อในความมีประสิทธิภาพของตลาดหรือไม่) กระบวนการสร้าง Portfolio (Portfolio construction process) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวนำไปสู่ผลตอบแทนที่จะได้ในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้อาจหาอ่านได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุน หรือเว็บไซต์ของบริษัท

  1.3 ผลตอบแทนและความเสี่ยงในอดีต เป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยใช้พิจารณาเลือกกองทุน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นรูปธรรมและวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ง่าย แต่การใช้ข้อมูลในอดีตอาจไม่สามารถวิเคราะห์ผลตอบแทนในอนาคตได้ สิ่งที่เป็นตัวนำไปสู่ผลตอบแทนในอนาคต (แต่วัดได้ยาก) จะอยู่ในข้อ 1.1 และ 1.2

 

ควรเข้าใจปรัชญาและความเชื่อต่างๆ ของบริษัทและกองทุน และกระบวนการสร้าง Portfolio ซึ่งจะเป็นตัวนำไปสู่ผลตอบแทนในอนาคต

 2) ซื้อของต้องดูสไตล์ ซื้อกองทุนก็เช่นกัน สไตล์ของกองทุนมาจากความเชื่อของบริษัทหรือผู้จัดการกองทุนที่นำความเชื่อนั้นมาดำเนินการ กล่าวคือ หากบริษัทเชื่อว่า ในประเภทของหลักทรัพย์ที่ลงทุนนั้น ตลาดโดยรวมไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีประสิทธิภาพแต่ไม่สมบูรณ์ ภายใต้ความเชื่อนี้ การบริหารจัดการกองทุนเชิงรุก (active management) จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดได้ ในทางกลับกัน หากเชื่อว่าตลาดโดยรวมมีประสิทธิภาพ ทำให้ยากที่จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในระยะยาว บริษัทก็อาจเลือกบริหารจัดการกองทุนเชิงรับ (passive management) ซึ่งมุ่งสร้างผลตอบแทนตามตลาด นอกจากนี้ อาจมีความเชื่อที่ผสมระหว่างสองแนวทาง จนออกมาเป็นการบริหารจัดการประเภทที่เรียกว่า enhanced index ก็ได้ ผลจากความเชื่อที่ต่างกันนี้จะส่งผลให้ผลตอบแทนของแต่ละกองทุนต่างกัน โดยเราสามารถดูข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุน

  3) ซื้อของต้องดูราคา ซื้อกองทุนก็เช่นกัน การซื้อกองทุนรวม LTF รวมถึงกองทุนรวมประเภทอื่นๆ นั้น นักลงทุนต้องจ่ายค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักคือค่าบริหารจัดการกองทุน (management fee) และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุน เช่น ค่ารับฝากทรัพย์สิน ค่าตรวจสอบบัญชี ฯลฯ และบางครั้ง อาจมีค่าธรรมเนียมการขายและการรับซื้อคืน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีผลต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับทั้งสิ้น และราคาส่วนมากจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับมูลค่ากองทุน สิ่งเหล่านี้ นักลงทุนควรให้ความสำคัญ เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีผลมากในการลงทุนระยะยาว

 

การซื้อกองทุนรวม LTF รวมถึงกองทุนรวมประเภทอื่นๆ นั้น นักลงทุนต้องจ่ายค่าใช้จ่ายหลักคือค่าบริหารจัดการกองทุนและค่าดำเนินงานอื่นๆ ซึ่งมีผลมากในการลงทุนระยะยาว

    4) ซื้อของต้องมีข้อมูล ซื้อกองทุนก็เช่นกัน นักลงทุนควรทราบข้อมูลต่างๆ ที่มีผลในการตัดสินใจ ทั้งก่อนที่จะลงทุน และข้อมูลที่จะได้รับเมื่อลงทุนไปแล้ว เพื่อจะได้ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนที่ตัวเองถือครองได้ ข้อมูลส่วนมากมีกฎเกณฑ์ในการเปิดเผยอยู่แล้ว นักลงทุนอาจจะต้องติดตามในประเด็นที่สำคัญข้างต้น

  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกกองทุน คือช่วงเวลาที่จะลงทุน คำแนะนำส่วนมาก ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วย คือ ควรแบ่งเงินทยอยลงทุนระหว่างปี โดยอาจลงทุนเฉลี่ยทุกเดือนแบบ Dollar cost average หรืออาจแบ่งเงินที่ตั้งใจซื้อ LTF เป็น 3-4 ก้อนแล้วทยอยซื้อเป็นงวดๆ ระหว่างปี จะดีกว่าซื้อช่วงปลายปีในคราวเดียว

  ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในลงทุนตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ครับ

 

 

อ้างอิง:
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

Tags: , , , , , ,