เป็นที่ประจักษ์ผ่านหลากเรื่องราวจากหลายวัฒนธรรมความเชื่อว่า ‘ผีผู้หญิง’ มักมีองค์ประกอบของความน่าสะพรึงกลัวบางประการ ที่ทำให้พวกเธอมีศักยภาพในการสร้างความหวาดผวาที่โดดเด่นกว่าผีทั่วๆ ไป 

ไม่ว่าจะเป็นผีสาวโสด ‘ชอ-นยอควีชิน’ ของเกาหลี ตำนานผีสาวปากฉีก หรือผีห้องน้ำ ‘ฮานาโกะซัง’ ของญี่ปุ่น หรือแม้แต่ตำนานผีผู้หญิงของไทยเองก็มีให้กล่าวถึงมากมายจนเลือกไม่ถูก ทั้งผีปอบ ผีกระสือ ผีนางรำ นางนากพระโขนง และผีสาวชุดขาวผมยาวไม่มีชื่อเรียกจากตำนานเมืองชื่อดังหลายเรื่อง

แน่นอนว่าเรื่องราวเกี่ยวกับผีผู้หญิงเหล่านี้ ถูกนำมาตีความใหม่ด้วยมุมมองทางวิชาการอยู่เสมอๆ โดยเชื่อมโยงกับมิติเรื่องเพศผ่านประเด็นชนชั้น ความไม่เท่าเทียมภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ ความเชื่อท้องถิ่น รวมถึงประเด็นซ้อนทับอื่นๆ ที่มีผลต่อการประกอบสร้างตัวตนของผีผู้หญิง

และนั่นคือสิ่งเดียวกับที่ ‘มัตสึดะ อาโอโกะ’ (Matsuda Aoko) ทำ อย่างไรก็ดี เธอไม่ได้ทำมันด้วยวิธีการหยิบยกตำนาน นิทานพื้นบ้าน และเรื่องลี้ลับเหล่านั้นมาเขียนวิพากษ์เพียงเท่านั้น แต่ยังชุบชีวิต ‘ผีร้าย’ เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ด้วยการเล่าเรื่องเดิมผ่านมุมมองและบริบทที่ร่วมสมัยมากขึ้น

ไม่เชื่องแล้วไปไหน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนวลี้ลับเหนือธรรมชาติ ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 17 เรื่อง ถือเป็นหนังสือขนาดไม่สั้นนัก แต่ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่ฉับไว สำนวนบรรยายที่ลื่นไหล และวิธีการร้อยเรียงเรื่องสั้นทั้งหมดให้อยู่ในจักรวาลเดียวได้อย่างแนบสนิท โดยเชื่อมถึงกันผ่านตัวกลางคือบริษัทผลิตกำยานลึกลับแห่งหนึ่ง 

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนต้องมนต์สะกด ให้นั่งอ่านติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่ลุกไปไหนเลยจนจบเล่ม

 

 1. ขัดเกลา

เรื่องราว ‘ขนๆ’ ว่าด้วยมาตรฐานความงามที่คับแคบ และความคาดหวังมากมายที่สังคมญี่ปุ่นมีต่อผู้หญิง

ต้องมีผิวเรียบเนียนไร้ขน ต้องพูดเสียงค่อยไม่ปนสำเนียงท้องถิ่น ต้องน่ารักแต่ในขณะเดียวกันก็เซ็กซี่ ต้องกินน้อยแต่ทำอาหารเก่ง ฯลฯ

โดยสะท้อนผ่านความแตกต่างระหว่างตัวละครดำเนินเรื่องหลัก และตัวละครผีของป้า ผู้เลือกกลับมาเยี่ยมเธอผู้เป็นหลานสาว แทนที่จะไปเยี่ยมลูกชายของตนที่กำลังเศร้าโศกด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง

ข้อเสนอแนะอย่างหนึ่งที่เราอยากเสนอต่อสำนักพิมพ์และผู้แปลในฐานะคนใต้ คือภาษาใต้ที่ปรากฏในเรื่องเพื่อใช้แทนวิธีพูดด้วยสำเนียงคันไซของป้านั้น ยังมีจุดที่ขาดความเป็นธรรมชาติอยู่พอควร แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ถือว่า ‘ขัดเกลา’ เป็นเรื่องสั้นที่เปิดเล่มได้อย่างเกรียงไกรทีเดียว

 2. ฮินะจัง

อาจารย์มัตสึดะได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ มาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับเกอิชาชายคนหนึ่ง เขาตกกระดูกขึ้นมาจากแม่น้ำระหว่างล่องเรือท่องเที่ยว จนทำให้ได้พบกับผีผู้หญิงเจ้าของกระดูกที่ตามมาขอบคุณ

มีกลิ่นอะไรบางอย่างที่แสนคุ้นเคยลอยออกมาตั้งแต่ย่อหน้าแรกของเรื่อง แม้ตอนแรกจะไม่แน่ใจนักว่ามันคือกลิ่นอะไร แต่พออ่านต่อไปอาจารย์มัตสึดะก็เฉลยให้ได้รู้ว่ามันคือ ‘กลิ่นเควียร์’ นั่นเอง

เมื่อรู้ดังนั้น เราพลิกหนังสือหน้าต่อไปด้วยตาลุกวาว

เอาตำนานเก่าแก่มาตีความใหม่ให้เป็นเควียร์หรือ!?

อิตาดาคิมัส!

3. คนขี้หึง

เรื่องสั้นเกี่ยวกับ ‘คุณ’ ภรรยาอารมณ์ร้าย ความปรารถนาอันร้อนแรงที่จะขว้างปาสิ่งของต่างๆ และสามี (ที่เดาว่าน่าจะ) เจ้าชู้ของเธอ อ่านแล้วรู้สึกเข้าถึงได้ง่ายและเชื่อมโยงกับตัวละครอย่างบอกไม่ถูก

ไม่ใช่แค่เพียงเพราะมันถูกเล่าอย่างชาญฉลาดด้วยมุมมองบุรุษที่สองเท่านั้น แต่เพราะภายใต้ค่านิยมผัวเดียวเมียเดียว เราหลายคนอาจเคยเป็นคนรักขี้หึงของใครสักคน แม้จะไม่ถึงขั้นขว้างปาข้าวของใส่จนอีกฝ่ายได้เลือด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกหึงหวง อยากแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ อยากครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว ถือเป็นเครื่องหมายของความรักที่รุนแรงและร้อนเร่ามาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แม้จะถูกเขียนขึ้นด้วยความยาวสั้นกระชับ แต่เนื้อหาที่มีก็มากพอที่จะซุกซ่อนประเด็นต่างๆ เอาไว้ ผ่านการที่เรื่องของภรรยาขี้หึงถูกเล่าอย่างละเอียดลออ แต่เรื่องของสามี (ที่ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเป็นอย่างไร ‘คุณ’ ถึงต้องคอยตามหึงไม่เว้นแต่ละวัน) กลับถูกละเอาไว้อย่างน่าสงสัย

 4. ชีวิตของคุซุฮะ

สุนัขจิ้งจอกถือเป็นสัญญะของไหวพริบ เล่ห์กล วิชาอาคม ที่พบได้บ่อยครั้งในคติชนญี่ปุ่น โดยเชื่อกันว่า จิ้งจอกสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ บ้างเพื่อล่อลวงหลอกใช้ แต่บ้างก็เชื่อว่าจิ้งจอกนั้น แปลงกายมาเพื่อพิทักษ์รักษา หรือแม้แต่ร่วมหอลงโรงเป็นคู่ชีวิตกับมนุษย์ อาจเป็นเพราะในสมัยก่อน มนุษย์มีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับจิ้งจอกเป็นอย่างมาก

‘ชีวิตของคุซุฮะ’ คือเรื่องราวที่เล่นกับความเชื่อดังกล่าว ไปพร้อมกับสะท้อนประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างรุนแรงของสังคมญี่ปุ่นในอดีต ที่ทำให้แม้แต่เด็กผู้หญิงที่โดดเด่นและมีความสามารถที่สุดในรุ่น ก็ยังยอมเลือกที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วรอแต่งงานกับผู้ชายสักคนดีกว่า เพราะเป็น ‘ทางลัด’ ที่จะทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

 5. สิ่งที่เธอทำได้

แน่นอนว่าประเด็นที่จะไม่แตะก็คงไม่ได้เมื่อพูดถึงความเป็นหญิงนั้น คือบทบาทของความเป็นแม่ ‘สิ่งที่เธอทำได้’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘วิญญาณเลี้ยงลูก’ ตามตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น ฟังดูเผินๆ ก็มีความคล้ายคลึงกับผี ‘แม่ซื้อ’ ของไทยอยู่เหมือนกัน

เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ หากตัวละครแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ถูกใครก็ไม่รู้ด่าว่าตลอดทั้งเรื่องไม่ทำให้คุณนึกถึงแม่ของตัวเอง คุณอาจนึกถึงแม่ของใครสักคนที่คุณเคยเห็นในชีวิตจริง

แม่ ‘แย่ๆ’ ผู้เลือกจะไปจากสามีโดย ‘ไม่นึกถึงหัวอกลูก’

แม่ผู้ ‘ละเลย’ ลูกเล็กแล้วหายหน้าไปจากบ้านทั้งวัน

แม่ผู้ ‘เลือก’ ประกอบอาชีพที่ไม่มีใครนับหน้าถือตา

ฯลฯ

 

นอกจากเรื่องสั้นแสนยอดเยี่ยมทั้ง 5 เรื่องที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายถึง 12 เรื่องที่ปลดเปลื้องวิธีการเล่าตำนานตามขนบเดิมๆ อันเต็มไปด้วยแรงกดทับ แล้วพลิกมุมกลับมามองลอดผ่านอีกซอกมุมหนึ่ง

เพราะภายใต้ความดุร้ายเลี้ยงไม่เชื่องอันไม่พึงประสงค์ในสตรีเพศนั้น ยังมีพรสวรรค์ที่ถูกมองข้าม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความรักสวยงามที่ไม่จำเป็นต้องเป็นไปในเชิงชู้สาวซ่อนอยู่

ในฐานะอดีตนักศึกษาเอกวรรณคดีที่เรียกได้ว่า เคยต้องใช้ชีวิตกับการ ‘อ่านเพื่อความอยู่รอด’ อยู่เป็นเวลา 4 ปีเต็ม เราแอบคิดจำแนกตัวบทที่ต้องอ่านออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน โดยมีเกณฑ์เป็นความชอบส่วนตัวล้วนๆ

ดีแต่ไม่สนุก: ดีอย่างเห็นได้ชัด ดีโดยไร้ข้อกังขา แต่แค่คิดว่าต้องกลับไปอ่านอีกรอบก็รู้สึกอยากตายแล้ว 

สนุกแต่ไม่ดี: มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Guilty Pleasure’ เป็นตัวบทที่มีข้อบกพร่องมากมาย จนรู้สึกเคอะเขินที่จะบอกคนอื่นว่าชอบ แต่ก็ชอบอยู่ดี

ไม่ดีแถมยังไม่สนุก: งานที่อ่านแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมของแบบนี้ถึงถูกยกยอให้เป็นงานคลาสสิกได้

ดีด้วย สนุกด้วย: อัญมณีหายากที่มีมาให้อ่านโดยเฉลี่ยแค่ประมาณเทอมละ 1-2 เรื่อง หรือบางเทอมก็ไม่มีเลย

และสาเหตุที่เราเขียนบทความรีวิวนี้ขึ้นด้วยหัวใจที่เบิกบาน คงเป็นเพราะหากอาจารย์สอนวิชาเรื่องสั้น หรือวิชาวรรณกรรมกับเพศสถานะ มอบหมายให้อ่านและเขียนถึงเรื่องสั้นชุดนี้ ตัวเราในวัย 20 ปี เราคงจัด ไม่เชื่องแล้วไปไหน ให้เป็นงานเขียนประเภทสุดท้ายอย่างไม่ต้องสงสัย

ไม่ใช่แค่เพราะมันถูกเขียนด้วยสำนวนจิกกัด และสไตล์การเขียนหยอกล้อกับผู้อ่าน ซึ่งบังเอิญถูกจริตตัวเองอย่างพอดิบพอดีเท่านั้น 

แต่เพราะ ไม่เชื่องแล้วไปไหน สามารถสะท้อนประเด็นเฟมินิสต์บ้านๆ ธรรมดาๆ ด้วยน้ำเสียงที่สามารถทำงานกับผู้อ่านได้อย่างทรงพลัง ทั้งที่เราซึ่งเป็นคนไทยอาจไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกับเรื่องราวดั้งเดิม ตามตำนานของตัวละครผีผู้หญิงเหล่านี้เลยก็ตาม

Fact Box

  • หนังสือรวมเรื่องสั้น ไม่เชื่องแล้วไปไหน (Where the Wild Ladies Are), มัตสึดะ อาโอโกะ เขียน, เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ แปล, สำนักพิมพ์อีกา, จำนวน 250 หน้า, ราคา 313 บาท
  • มัตสึดะ อาโอโกะ เกิดปี 1979 ที่จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น เธอชื่นชอบเรื่องลี้ลับมาตั้งแต่สมัยเด็ก โดยประเด็นที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือ ‘ผีผู้หญิง’ และ ‘ซูเปอร์พาวเวอร์’ ที่พวกเธอได้รับหลังความตาย และนั่นก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของรวมเรื่องสั้นชุดนี้
  • ไม่เชื่องแล้วไปไหน ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากหนังสือพิมพ์ BBC, The Guardian, The New York Times, The New Yorker และนิตยสาร TIMES ได้รับรางวัลจาก The Firecracker Award สาขาบันเทิงคดียอดเยี่ยม รางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมจากเวที World Fantasy Awards นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Ray Bradbury Prize อีกด้วย
Tags: , , , , , , , , , , , , , ,