ผ่านมา 24 ปีแล้ว ที่หนังสือชื่อ Tuesdays with Morrie เขียนโดย มิตช์ อัลบอม (Mitch Albom) เผยแพร่สู่สายตานักอ่านทั่วโลก และกลายเป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายคน
Tuesdays with Morrie หรือชื่อภาษาไทยว่า วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้กลับไปหา ‘ครูเก่าครูแก่’ ของเขาอีกครั้งหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยมานานกว่า 16 ปี เป็นเวลาเดียวกันกับที่ครูกำลังเผชิญโรคร้ายที่รักษาไม่หายและมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ในช่วงวาระสุดท้ายนี้เองที่ชายหนุ่มจะได้เรียนรู้บทเรียนล้ำค่าที่สุดจากครูอันเป็นที่รักของเขา
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริงของ มิตช์ อัลบอม ในวันที่เขาอายุ 37 ปี ขณะทำงานเป็นนักข่าวกีฬา คอลัมนิสต์ และนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ยังหนุ่มแน่น ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ แต่งงานกับสาวสวย มีบ้านหลังใหญ่ มีรถหลายคัน และมีอนาคตยาวไกล แต่ลึกๆ แล้วเขากลับไม่เคยพอใจกับชีวิตตัวเองเสียที
วันหนึ่ง มิตช์บังเอิญเปิดเจอรายการโทรทัศน์ Nightline ของพิธีกรดัง เท็ด คอปเปล (Ted Koppel) กำลังสัมภาษณ์ มอร์รี ชวอตช์ (Morrie Schwartz) หรือครูมอร์รีที่รักของเขา ผู้สอนวิชาสังคมวิทยาสมัยเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคเอแอลเอส (โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง) และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปหาครูมอร์รี หลังจากไม่ได้ติดต่อกันมานานกว่า 16 ปี
การพบกันของครูชรากับศิษย์รัก ไม่ต่างจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งขึ้นมาอีกครั้ง นำไปสู่การนัดหมายในทุกๆ วันอังคาร เพื่อเข้าเรียน ‘วิชาความหมายแห่งชีวิต’
“รู้ไหม มิตช์ ครูกลายเป็นที่สนใจของใครต่อใครมากขึ้นก็ตอนที่ครูกำลังจะตายนี่ละ”
“ครูก็เป็นคนน่าสนใจอยู่แล้วนี่ครับ”
“โอ้โฮ!” ครูมอร์รียิ้ม “เธอนี่ใจดีจังนะ”
“เปล่านี่ครับ” ผมคิดในใจ
“คือมันเป็นอย่างนี้” ครูพูดขึ้น “คนเขาเห็นครูเป็นเสมือนสะพาน เพราะครูไม่ได้ปกติอย่างเมื่อก่อนแล้ว แต่ครูก็ยังไม่ตาย ครูเป็นเหมือนกับสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นกับความตาย”
ครูไอแล้วก็กลับมายิ้มอีก “ตอนนี้ครูเหมือนกำลังเดินทางครั้งสำคัญครั้งสุดท้าย คนเขาเลยต้องการให้ครูบอกพวกเขาว่าจะต้องเตรียมจัดกระเป๋าเดินทางอย่างไร” (หน้า 42)
ทุกเช้าตรู่วันอังคาร มิตช์จะบินจากเมืองดีทรอยต์ มายังบ้านของครูมอร์รี ในย่านชานเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ พร้อมนำอาหารอร่อยๆ มาฝากแก่ครูมอร์รี ชายชราผมสีดอกเลา ร่างเล็ก ที่ส่งยิ้มผ่านบานหน้าต่างขณะนั่งรออยู่ในห้องรับแขก
ครูมอร์รีผู้เปี่ยมเมตตา ชอบเต้นรำ และเป็นที่รักของทุกคน บัดนี้ร่างกายผ่ายผอม เคลื่อนไหวแทบไม่ได้ ต้องมีคนช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา แต่เขายังคงอารมณ์ดี สมองแจ่มใส พูดเนิบช้าแต่คมคาย ครูมอร์รีต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมด้วยความยินดีเสมอไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตราบเท่าที่ยังเรี่ยวแรงยังไหว
“คนกำลังจะตาย” อยู่ๆ ครูมอร์รีก็พูดขึ้นมา “ก็เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่น่าเศร้านะมิตช์ แต่คนที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุขนี่สิเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนใหญ่คนที่มาเยี่ยมครูเป็นคนไม่มีความสุขกันทั้งนั้นเลย”
“เพราะอะไรล่ะครับ”
“อย่างหนึ่งเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมของเราไม่ได้หล่อหลอมให้เรามีความรู้สึกดีเกี่ยวกับตนเอง เราสอนกันมาผิดๆ เธอต้องเข้มแข็งพอที่จะเลือกเอาว่าวัฒนธรรมไหนที่ไม่เข้าท่า ก็ไม่ต้องไปทำตาม แต่ให้เธอสร้างวัฒนธรรมของเธอเองขึ้นมาใหม่ คนส่วนมากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ คนพวกนั้นไม่มีความสุขยิ่งกว่าครูเสียอีก แม้ว่าครูอยู่ในสภาพนี้ก็ตาม” (หน้า 44)
ครูมอร์รีมองว่า ยุคนี้ทุกอย่างดูเหมือนเร่งรีบไปหมด คนส่วนมากมักวนเวียนอยู่กับชีวิตที่หาแก่นสารอะไรไม่ได้ ทุกคนเหมือนกับคนครึ่งหลับครึ่งตื่น แม้ในขณะที่ยุ่งกับงานซึ่งตัวเองคิดว่าสำคัญ นี่เป็นเพราะทุกคนต่างวิ่งไล่ในสิ่งที่ผิด หนทางที่จะหาความหมายให้ชีวิตก็คือ การมอบความรักให้แก่ผู้อื่นหมดหัวใจ ทุ่มเทตนให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ และอุทิศตนสรรค์สร้างบางสิ่งบางอย่างที่มีเป้าหมายและมีความหมายกับตัวเอง
สัจธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ครูมอร์รีเน้นย้ำก็คือ ‘เมื่อเรารู้ว่าจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าควรมีชีวิตอยู่อย่างไร’
“คนเราส่วนมากใช้ชีวิตเหมือนกับคนเดินละเมอ เราเลยไม่มีประสบการณ์ในโลกนี้อย่างเต็มที่ เพราะเราครึ่งหลับครึ่งตื่น จึงทำอะไรๆ ไปอย่างที่ใจคิดเอาเองว่านั่นเป็นสิ่งที่เราต้องทำ”
“พอรู้ว่าจะต้องตาย ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมดเลยหรือครับ”
“ใช่สิ เธอจะตัดเรื่องไม่จำเป็นต่างๆ ออกไปหมด แล้วหันกลับมาให้ความสำคัญกับสาระที่เป็นแก่นสารจริงๆ พอเธอรู้ว่าตัวเองกำลังจะสิ้นลม เธอจะมองเห็นอะไรต่อมิอะไรต่างไปจากเดิมมากเลย” (หน้า 91)
ครูมอร์รีไม่ใช่คนเคร่งศาสนา ด้วยใจที่เปิดกว้างทำให้แนวคิดของเขาดูเหมือนว่าจะหล่อหลอมเอาความคิดอันหลากหลายจากทุกศาสนามารวมกันไว้ โดยเฉพาะหลักปรัชญาหลายๆ ข้อในพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา หลายเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ต่างรู้จักกันดี แต่น้อยคนที่จะทำได้จริง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันและการมองให้เห็นคุณค่าความงดงามเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว
“ครูเชื่อในเรื่องการอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง” ครูมอร์รีพูดขึ้น “นั่นหมายความว่าเธอจะต้องอยู่กับคนที่เธออยู่ด้วยตรงนั้น อย่างเวลาที่ครูพูดอยู่กับเธอในตอนนี้ ครูพยายามจะให้ความสนใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างเราสองคนเท่านั้น ครูจะไม่ไปนึกถึงสิ่งที่ครูพูดในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ไปคิดว่าวันศุกร์ที่จะถึงนี้จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ไปนึกว่าจะต้องทำรายการของคอปเปลหรือคิดถึงยาที่จะต้องกินเข้าไป”
“ครูกำลังคุยกับเธอ ครูก็จะคิดเกี่ยวกับเธอเท่านั้น” (หน้า 142)
ครูพยักเพยิดไปทางหน้าต่างซึ่งมีแสงแดดส่องเข้ามา “เธอเห็นข้างนอกนั่นไหม เธอออกไปข้างนอกนั่นได้ จะไปเวลาไหนก็ได้ หรือจะวิ่งไปวิ่งมาตรงช่วงตึกตรงนั้นแล้วทำอะไรตามใจชอบก็ยังได้ แต่ครูทำแบบนั้นไม่ได้ ครูออกไปข้างนอกไม่ได้ วิ่งก็ไม่ได้ จะออกไปข้างนอกโดยที่ไม่กลัวว่าจะไม่สบายก็ไม่ได้ แต่รู้อะไรไหมมิตช์ ครูเห็นคุณค่าของหน้าต่างบานนั้นมากกว่าเธอ”
“เห็นคุณค่าของหน้าต่างหรือครับ”
“ใช่แล้ว ครูมองออกไปนอกหน้าต่างนั่นทุกวัน ครูสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ ใบไม้ เห็นว่าลมพัดแรงแค่ไหน คล้ายกับว่าครูได้เห็นวันเวลาคล้อยเคลื่อนผ่านทางช่องหน้าต่างนั้น เพราะครูเองรู้ดีว่าเวลาของครูใกล้จะหมดลงแล้ว ครูเลยเหมือนถูกดึงเข้าหาธรรมชาติเสมือนหนึ่งว่าครูเพิ่งเห็นธรรมชาติเป็นครั้งแรก” (92)
จากวันอังคารแรกจวบจนวันอังคารสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 14 ครั้งของการเข้าเรียนวิชาความหมายแห่งชีวิต ครูมอร์รีถ่ายทอดสารพัดข้อคิดอันล้ำค่าที่สั่งสมมานานกว่าเจ็ดสิบปี ตั้งแต่เรื่องโลก ความโศกเศร้าเสียใจ ความรู้สึก ความตาย เงิน ครอบครัว ความรัก การแต่งงาน วัฒนธรรม การให้อภัย การปล่อยวาง ฯลฯ
ขณะที่มิตช์ทำหน้าที่กดเครื่องบันทึกเสียง นั่งฟังด้วยความตั้งใจ บางครั้งก็ช่วยบีบนวดเฟ้นให้ บางคราก็ช่วยห่มผ้า จัดท่าจัดทางให้ครูนั่งได้สบายที่สุด จนสามารถ ‘หลับตาพริ้มบนใบหน้ายิ้มละไม’ แม้สังขารเริ่มจะอ่อนล้าโรยราลงทุกครั้งที่เจอกัน
กระทั่งคาบสุดท้ายได้มาถึงพร้อมการจากลาที่แสนเศร้าแต่อบอุ่น …
“การตายเป็นเรื่องธรรมชาติ” ครูพูดขึ้นอีก “การที่คนเราทำราวกับว่าความตายเป็นเรื่องใหญ่โต ก็เพราะเราไม่เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ พวกเราคิดว่าตัวเราเป็นมนุษย์ เราเลยอยู่เหนือธรรมชาติ” (หน้า 177)
“ตราบใดที่เรามีความรักให้แก่กันและสามารถจดจำความรู้สึกดีๆ ในยามที่เรารักกันได้ เราจะตายจากไปโดยประหนึ่งว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ความรักที่เธอสร้างขึ้นรวมทั้งความทรงจำที่ดีเหล่านั้นจะคงอยู่ตลอดไป และเธอก็ยังอยู่ในหัวใจของคนทั้งหลายที่เธอรักและทะนุถนอมเมื่อครั้งที่เธอมีชีวิตอยู่”
เสียงของครูเริ่มแหบแห้งซึ่งเป็นสัญญาณว่าครูต้องหยุดพักแล้ว ผมยกต้นชบากลับไปวางไว้ที่เดิม และกลับไปปิดเครื่องอัดเสียง
ครูพูดประโยคสุดท้ายขึ้นก่อนผมจะปิดเครื่องอัดเสียง
“ความตายพรากได้เพียงชีวิต แต่ไม่อาจพรากความสัมพันธ์ได้” (หน้า 178)
ครูมอร์รี ชวอตช์ สิ้นใจอย่างสงบในเช้าวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 1995 พิธีศพจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายมีเพียงสมาชิกครอบครัวเท่านั้น แม้จะมีคนนับร้อยปรารถนาที่จะมาร่วมงานศพของเขา ร่างของครูมอร์รีถูกฝังไว้บนเนินเขาใต้ต้นไม้ใหญ่ มองลงมาเห็นสระน้ำ บรรยากาศเงียบสงบ สมดั่งที่ตั้งใจไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
ครูมอร์รีจากไปโดยที่ไม่รู้เลยว่า ‘วิทยานิพนธ์ครั้งสุดท้าย’ ของเขา จะกลายมาเป็นหนังสือชื่อ Tuesdays with Morrie ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 1997 ติดอันดับดับหนังสือขายดีของ นิวยอร์กไทม์ ยาวนานถึง 4 ปี ถูกแปลเป็น 45 ภาษา และขายได้กว่า 14 ล้านเล่มทั่วโลก รวมทั้งถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์โทรทัศน์
ครูไม่จำเป็นต้องกังวลเลย ท้ายที่สุด ครูผู้แสนดีของผมเป็นที่รู้จักมากกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เสียอีก ตั้งแต่ตอนที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ในปี 1997 (ซึ่งตอนนั้นเขียนขึ้นเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ครูมอร์รี) เด็กนักเรียน เด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัยทั่วโลกใช้หนังสือเล่มนี้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งครูคงยินดีอย่างล้นเหลือ ทั้งภาพยนตร์จอเงินและจอแก้วก็ได้เก็บภูมิปัญญาของครูให้มีชีวิตอยู่ตลอดกาล
แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ครูมอร์รีต้องการมากที่สุดคือ เป็นภาพความทรงจำที่ตราตรึงของครอบครัวและเพื่อนฝูง หลังจากนั้นกว่ายี่สิบศตวรรษ แม้เถ้ากระดูกของครูถูกฝังอยู่ใต้ดิน แน่นอนว่าครูก็ยังเป็นที่จดจำ (หน้า 197 / บทส่งท้าย เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของหนังสือ Tuesdays with Morrie)
ประโยคข้างบนไม่ใช่ถ้อยคำโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงเลย เพราะปัจจุบัน ในเมืองไทยเองหนังสือเล่มนี้ยังคงถูกพิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อยๆ มีคนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังไม่เคยอ่าน หยิบขึ้นมาอ่านอยู่เสมอ ด้วยการบอกปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น จนขึ้นชั้นเป็นหนังสือคลาสสิกที่พูดเรื่องการมีชีวิตอยู่และความตายได้อย่างสวยงามที่สุดเล่มหนึ่งแห่งศตวรรษนี้
Fact Box
Tuesdays with Morrie วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี, เขียน มิตช์ อัลบอม, แปล อมรรัตน์ โรเก้, สำนักพิมพ์ Fika, จำนวนหน้า 204 หน้า, ราคา 198 บาท