โดยทั่วไปความหลอนมักเกิดขึ้นเพราะบรรยากาศ หรือสถานที่อันอ้างว้างร้างผู้คน
แต่จะเป็นอย่างไร หากความหลอนแฝงตัวอยู่ในครอบครัวอันเต็มไปด้วยชีวิต ซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เราอาศัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ผู้คนภายนอกจะไม่สงสัยอะไรเลย จนกว่าจะได้นำผังบ้านมาผูกกับชีวิตของผู้อยู่อาศัย เมื่อนั้น พวกเขาจะทราบได้ถึงความสยองขวัญและเรื่องราวอันบิดเบี้ยวภายในครอบครัว ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมพิลึกพิลั่น เพราะบ้านสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัย ดังนั้นบ้านวิกลย่อมเป็นที่อยู่ของคนประหลาด
บ้านวิกลคนประหลาด 2 เป็นการกลับมาอีกครั้งในภาคต่อของ บ้านวิกลคนประหลาด นิยายสืบสวนสอบสวนชื่อดัง ผลงานของ อุเก็ตสึ (Uketsu) แปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Biblio โดยในภาคต่อนี้ เล่าจากมุมมองของนักเขียนคนหนึ่ง หลังจากหนังสือบ้านวิกลคนประหลาดเล่มแรกตีพิมพ์ไป ก็มีผู้คนส่งผังเคหสถานมากมายมาให้เขาถึง 11 แห่ง ที่หากนำเรื่องราวมาเรียงร้อยกันแล้ว จะเห็นการซ้อนทับกันอย่างพอดิบพอดี
หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 12 บท แบ่งเป็น 11 บท ที่เล่าถึงผังเคหสถาน กับอีก 1 บทสุดท้าย อันเป็นการเฉลยเรื่องราว ซึ่งกินพื้นที่ไปถึง 1 ใน 3 ของหนังสือ
ความแตกต่างของหนังสือเล่มสองนี้เมื่อเทียบกับเล่มแรกคือมีถึง 530 หน้า เพราะมีการผูกโยงเรื่องราวอย่างสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม ไม่ได้เล่าเพียงปมของตระกูลเดียวเหมือนเล่มก่อน แต่เล่มสองประกอบไปด้วยหลากปัญหาของหลายครอบครัว ที่มีจุดร่วมอันเชื่อมโยงมาสู่ลัทธิประหลาด
“ฉันตัดแผนผังของเคหาสน์ออกเป็นชิ้นๆ แล้วนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาต่อเข้าด้วยกันทำให้เห็นภาพรวมไม่ผิดแน่ รูปร่างคน แถมยังไม่ใช่คนธรรมดา”
วรรคตอนหนึ่งจากหนังสือที่ตัวละครหลักกล่าวถึงผังของลิทธิ ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามขณะอ่านว่า ทำไมมันถูกสร้างขึ้นในลักษณะนี้ และทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ดังนั้น หากอ่านผลงานเล่มนี้ของอุเก็ตสึ เมื่อนำมาพิจารณาก็จะเห็นประเด็นตั้งต้นร่วมกันของทุกเล่มว่า ปมปัญหาภายในครอบครัวมักถูกหยิบยกมาเพื่อเชื่อมโยงไปให้เกิดเรื่องราวพิศวง ขณะเดียวกัน บ้านวิกลคนประหลาด 2 ก็นับเป็นหนึ่งในผลงานของอุเก็ตสึ ที่เล่าถึงความบิดเบี้ยวของครอบครัวได้สลับซับซ้อน และสาหัสสากรรจ์มากกว่าเล่มไหนๆ
1
บ้านวิกลคนประหลาด 2 เริ่มเล่าเรื่องราวจากหญิงสาวคนหนึ่ง ที่นำผังบ้านสมัยเด็กของเธอมาให้นักเขียนดู สิ่งที่ค้างคาใจมาจนอายุเข้าเลขสามของเธอ ไม่ใช่แค่เพียงโถงทางเดินไร้ปลายทางที่มีอยู่อย่างไม่จำเป็นในบ้าน แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ของหญิงสาวกับแม่ผู้เย็นชา ที่กลับกลัวเหลือเกินว่าลูกจะประสบอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม หญิงสาวกลับรู้อยู่เต็มอกว่า สิ่งที่แม่ทำไม่ได้ใกล้เคียงกับความเป็นห่วง ทว่าดูเหมือนเป็นความกลัวมากกว่า
“บางครั้งแม่ก็มองตาฉันด้วยแววตาเหมือนเห็นสิ่งที่น่ากลัว แม่กลัวฉัน”
แม้ในบทแรก ลีลาการเล่าเรื่องของอุเก็ตสึดูไม่แตกต่างจากเล่ม 1 มากเท่าไร คือการเล่าความแปลกของผังในบ้าน แล้วตามด้วยข้อสันนิษฐาน อย่างไรก็ตาม จุดที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจมากขึ้น คืออุเก็ตสึไม่ได้สักแต่จะขายความแปลกของผังบ้านเหมือนเก่า แต่ยังเน้นย้ำไปที่การปูเรื่องความสัมพันธ์มาเป็นอันดับแรก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นหมุดหมายสำคัญแรกที่หนังสือต้องการจะสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นอีกจุดที่ทำให้ไม่สามารถละสายตาจากหนังสือได้ เพราะการตั้งคำถามไม่ได้จบแค่กับผังบ้าน แต่รวมถึงความสัมพันธ์ประหลาดกลับน่าฉงนสนเท่ห์ไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ ข้อดีของการปูเรื่องความสัมพันธ์ อันประกอบไปด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ยังส่งเสริมให้เกิดความสมเหตุสมผลในการกระทำของตัวละคร ต่างจากเล่มแรกที่ในบางการกระทำ อยู่ดีๆ ก็ลอยมาตามลม คล้ายกับแค่จะเอาให้ร้ายกาจ สะใจคนอ่านเพียงเท่านั้น
2
ปมปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ บ้านวิกลคนประหลาด 2 นำความความผิดบาปของคนในครอบครัวมาเป็นสารตั้งต้นเพื่อเป็นแรงขับไปสู่เหตุการณ์ปริศนาต่างๆ แล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่ลัทธิประหลาดที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด
คำถามที่หนังสือทิ้งไว้ให้คนอ่านคือ ทำไมลัทธิจึงสามารถทำให้ผู้คนศรัทธาจากใจจริงได้ โดยไม่ต้องแสดงอภินิหารหลอกลวงอะไร หรืออาจเพราะลัทธิจับจุดอ่อนของสาวกได้ พวกเขาจึงใช้จุดนี้กอบโกยผลประโยชน์จากเหล่าสาวก
“ทุกท่านคงตระหนักถึงบาปมหันต์ของตัวเองกันอยู่แล้ว บาปนั้นจะส่งต่อไปยังลูกที่น่าสงสารของพวกท่าน
“น่าเสียดายที่มลทินไม่มีวันหายไป แต่เราเจือจางมันได้ การบำเพ็ญตบะจะช่วยล้างบาป”
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งอาจถูกสะท้อนออกมาจากลักษณะสำคัญของสังคมญี่ปุ่นที่ รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) นักมานุษยวิทยา ได้วิเคราะห์ว่า วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมที่คำนึงถึงความอับอายเป็นอย่างมาก ดังนั้น พฤติกรรมด้านมนุษยสัมพันธ์จึงถูกกำหนดไปในแนวทางที่พยายามหลีกเลี่ยงความอับอายเป็นหลัก
ในที่นี้ หากอิงกับบริบทภายในหนังสือบ้านวิกลคนประหลาด 2 ในตัวละครพ่อแม่ที่ทำความผิดซึ่งขัดกับครรลองครองธรรมของสังคม ทำให้พวกเขากลัวที่จะแปลกแยกไปจากผู้คนในสังคม ซึ่งจะนำมาสู่ความอับอาย
เหล่าพ่อแม่จะรู้ว่า การทำความผิดของพวกเขาต้องได้รับการแก้ไข แต่สุดท้ายก็ไม่อาจให้คนอื่นช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะธรรมชาติของความเป็นคนญี่ปุ่น ที่ถูกหล่อหลอมให้หวาดกลัวความอับอาย จึงตัดสินใจที่จะเก็บปัญหาเอาไว้เพียงลำพัง
เห็นได้ว่า วัฒนธรรมจะสะท้อนบุคลิกภาพเสมอ สำหรับคนบางกลุ่ม เมื่อไม่มีอะไรที่สามารถตอบคำถามที่หนักอึ้งภายในจิตใจของคนเหล่านั้นได้ ลัทธิที่มีทั้งคำตอบและการบรรเทาทุกข์ จึงทำให้สิ่งนี้กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้ไม่ยาก
3
ช่วงที่ผ่านมา หนังสือของอุเก็ตสึสามารถก้าวขึ้นมาครองชั้น Best Seller ในร้านหนังสือได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ในยุคก่อนหน้า เมื่อพูดถึงนิยายสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่น ก็คงจะนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจาก ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Higashino Keigo) เจ้าของผลงานในตำนานอย่าง ความลับ และกลลวงซ่อนตาย
เสน่ห์ในตัวอักษรของเคโงะ คือการใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในตัวละครของเขาอย่างแยบคาย ส่งผลให้คนอ่านเกิดอารมณ์ร่วมอย่างลึกซึ้งกับตัวละคร แต่ก็มีข้อเสียที่ทำให้พล็อตจืดชืดและสามารถเดาทางได้ค่อนข้างง่าย ในขณะที่บ้านวิกลคนประหลาด 2 มีพล็อตอันโลดโผน เป็นตัวชูโรงให้เรื่องราวโดดเด่นยิ่งกว่านิยายเล่มไหนๆ ในช่วงนี้ ทว่าตัวละครกลับให้ความรู้สึกหลุดโลกมากไป จนทำให้พวกเขาไม่ได้มีชีวิตออกมาจากหน้าหนังสือมากนัก ดังนั้น หลังอ่านจบผู้เขียนจึงไม่ได้ใคร่ครวญถึงตัวละคร หากแต่ติดอยู่ในความสนุกของพล็อตมากกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวละครจะเลือกทำอะไรประหลาดอย่างไม่น่าเชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้ก็นับเป็นเสน่ห์ของบันเทิงคดีญี่ปุ่น ที่มีความแปลก (Weird) ให้ผู้คนต่างคาดไม่ถึงกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้บ้านวิกลคนประหลาด 2 ฉีกขนบนิยายสืบสวนสอบสวนทั่วไป ด้วยการนำผังบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า จะสร้างความเขย่าขวัญสั่นประสาทให้ผู้คนได้ นำมาประกอบกับการยังวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นอย่างเจ็บแสบในแง่ที่ว่า
สุดท้ายแล้ว เรื่องหลอนที่ดำเนินมาตลอดทั้งเรื่อง ก็มาจากการกระทำการพิสดารของผู้คนธรรมดาทั่วไป ที่ถูกพิษร้ายจากค่านิยมของสังคมกัดกร่อน จนนำมาสู่บาดแผลที่แสนสาหัสต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
Tags: Lost in Thought, Uketsu, บ้านวิกลคนประหลาด, อุเก็ตสึ, บ้านวิกลคนประหลาด 2, Biblio