บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มองจากข้างนอกเข้ามาดูปลอดโปร่งไร้มุมอับ เฉกเช่นเคหสถานที่สามารถพบเจอได้ดาษดื่น มีพ่อแม่ลูกอาศัยรักใคร่กลมเกลียว แต่หากหยิบนำแปลนทุกซอกทุกมุมมากางพิจารณากลับเห็นได้ถึงความ ‘น่าฉงน’ บางอย่างซุกซ่อนอยู่

เพียงแค่การเกริ่นนำของหนังสือนิยายแนวสยองขวัญ สืบสวนสอบสวนที่มีชื่อเรื่องว่า ‘บ้านวิกลคนประหลาด’ ที่เขียนโดย ‘อุเก็ตสึ’ (Uketsu) ก็ชวนกระตุ้นความอยากรู้ พลันเร่งเปิดอ่านหน้าถัดไปเพื่อร่วมลุ้นถึงบทสรุป แม้จะเสียวสันหลังเย็นวาบยามพลิกริมกระดาษตามวิสัยนักอ่านขวัญอ่อน ชนิดไม่ต้องมีฉากพรรณนาถึงผีสางคลานออกมาแหวกอก ขี่คอ หรือแลบลิ้นปลิ้นตาใดๆ

หนังสือนิยายเล่มดังกล่าวเล่าผ่านมุมมองตัวละครนักเขียนหญิงผู้เชี่ยวชาญเรื่องลี้ลับ ที่จับพลัดจับผลูข้องเกี่ยวกับคดีปริศนา หลังเพื่อนร่วมงานของเธอเสนอแปลนบ้านหลังหนึ่ง ณ ย่านกรุงโตเกียว ให้ช่วยพิจารณาว่าควรซื้อหรือไม่ 

เธอกวาดสายตาตั้งแต่ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ไล่จนมาถึงชั้น 2 ที่เป็นห้องนอน และด้วยเซนส์ผู้คลั่งไคล้เหตุพิศวงผิดธรรมชาติ เธอสังเกตเห็นความมิชอบมาพากลของลักษณะการออกแบบภายในตัวบ้าน  

ห้องนอนเด็กเล็กที่ปราศจากหน้าต่างรับแสงแดด ล้อมรอบไปด้วยห้องนอนของพ่อแม่ราวกับต้องการจะจับตาดูลูกทุกฝีก้าว และเมื่อนำแปลนชั้น 1 กับ 2 มาซ้อนทับ ก็ปรากฏทางลับเชื่องโยงทะลุถึงกัน จนนึกจินตนาการว่าบ้านหลังนี้อาจถูกจัดเตรียมสำหรับใช้เป็นสถานที่ฆาตกรรม

ข้อสันนิษฐานดูมีมูลมากยิ่งขึ้น เมื่อเธอนำความแปลนบ้านมาตรวจสอบกับเพื่อนสถาปนิกที่ชื่นชอบเรื่องลึกลับ ในเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดเหตุชายรายหนึ่งที่เคยเข้ามาที่บ้านหลังนี้เสียชีวิต ศพถูกตัดข้อมือซ้ายราวกับถูกนำไปทำอะไรสักอย่าง หรือนี่จะเป็นการฆ่าปิดปากกันแน่!?

อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ไม่ได้จบแค่การสืบเสาะไขคดีตามแบบฉบับนิยายฆาตกรรมอำพรางทั่วไป เพราะอุเก็ตสึได้ผูกเรื่องเข้ากับความเชื่อและลัทธิแปลกประหลาด ที่ซับซ้อนเกินกว่าจะคาดเดาล่วงหน้าได้

1

ผมไม่ขอเจาะลึกเนื้อหาระหว่างทางหรือสปอยล์ตอนจบ เพราะอาจทำให้ผู้อ่านที่สนใจเสียอรรถรสเอาง่ายๆ ฉะนั้นสิ่งที่อยากจะนำเสนอคือการเล่าเรื่องของอุเก็ตสึ ซึ่งเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นตามสันดานธรรมชาติมนุษย์

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2020 อุเก็ตสึอัปวิดีโอความยาว 20 นาทีบนยูทูบ โดยจั่วหัวคลิปไว้ว่า ‘เรื่องสืบสวนอสังหาฯ’ ที่มีตัวเอกดำเนินเรื่องคือเขาเอง เนื้อหาใจความเป็นการอธิบายแปลนบ้านลึกลับ 2 ชั้น ไม่ช้าคลิปดังกล่าวถูกแชร์ต่อจนเป็นไวรัลทั่วโลกอินเทอร์เน็ต

สารตั้งต้นการทำคลิปของอุเก็ตสึมาจากการนึกสนุก ยามออกเดินเตร็ดเตร่และสังเกตเห็นบ้านรูปทรงลักษณะผิดแปลก บ้างก็มีจุดต่อเติมยื่นออกมานอกบ้านอย่างไม่สมเหตุสมผล ชวนจินตนาการถึงความเป็นไปของผู้อยู่อาศัย 

เทคนิคโยนหินถามทางของนักเขียนรายนี้ค่อนข้างได้ประสิทธิภาพดีทีเดียว ด้วยฟีดแบ็กน่าประทับใจ เขาจึงลงมือเขียนนิยายออกมาเซอร์วิส ผมไม่แน่ใจว่าอุเก็ตสึทำอาชีพเป็นสถาปนิกจริงๆ หรือเปล่า เพราะตัวตนของเขายังคงเป็นปริศนา แต่การหยิบประเด็นฆาตกรรม สิ่งลี้ลับ และการออกแบบบ้าน มาผูกโยงดูจะเป็นความหาญกล้าในระดับหนึ่ง เพราะย้อนกลับไปในอดีต นิยายสืบสวนหลายเรื่องก็มักจะใช้เหตุฆาตกรรมในห้องปิดตายมาเล่นอยู่บ่อยครั้ง โจทย์คือหากนำมาเล่นใหม่อีกครั้งจะทำอย่างไรให้น่าสนใจนั่นเอง

2

ผู้เขียน (ตัวเอก): ฉันเลยลองเอาแผนผังชั้นหนึ่งกับชั้นสองวางซ้อนกัน…พื้นที่ว่างที่ชั้นหนึ่งทับลงตรงมุมห้องเด็กกับห้องอาบน้ำพอดีค่ะ อย่างกับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองห้องนั้นเลย

คุริฮาระ (เพื่อนสถาปนิก): จริงอย่างที่คุณว่า

ผู้เขียน (ตัวเอก): แล้วที่นี้… เอ่อ ฉันคิดบ้าบอไปเรื่อยตามประสามือสมัครเล่นว่า บางที่พื้นที่ชั้นหนึ่งอาจเป็นทางเดินก็ได้ เป็นต้นว่าพื้นห้องเด็กกับห้องอาบน้ำมีช่องทะลุลงมาถึงชั้นหนึ่ง และช่องทางลับทั้งสองจุดนั้นก็เชื่อมต่อกันตรงพื้นที่ว่างปริศนาที่ชั้นหนึ่งนั่นเอง

ผมขอยกตัวอย่างบทสนทนาระหว่างภายในเรื่อง ที่แสดงให้เห็นว่าแปลนบ้านมีความผิดปกติอย่างไร ลองนึกภาพบ้านสไตล์ญี่ปุ่นที่มีหน้าต่างรอบทิศ ราวกับจะหลอกตาคนเดินผ่านไปมาว่านี่ก็แค่บ้านธรรมดาทั่วไป ทว่าพอสำรวจแปลนบ้านกลับพบจุดต่อเติมพิลึกพิลั่นหลายจุด เช่น พื้นที่แคบๆ ไม่กี่ตารางเซนติเมตรที่เชื่อมต่อกันระหว่างห้องนอนเด็กชั้น 1 กับห้องน้ำชั้น 2 

พื้นที่เชื่อมต่อแคบๆ มีไว้เพื่ออะไร ข้อสันนิษฐานของตัวเอก คือใช้เป็นช่องสำหรับโรยตัวเพื่อปลิดชีพเหยื่อที่กำลังอาบน้ำอย่างสบายใจ แน่นอนว่าไม่กว้างพอให้ผู้ใหญ่เคลื่อนตัว คนร้ายจึงจะต้องเป็นลูกวัยกระเตาะ หมายความว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของครอบครัวฆาตกรอย่างนั้นหรอกหรือ? จะจริงหรือไม่คำตอบมีอยู่ในหนังสือ

สอดคล้องกับข้อแรกที่ผมได้เขียนถึงเหตุผลว่าอุเก็ตสึทำอย่างไรให้นิยายมีความน่าสนใจ คำตอบง่ายๆ คือการนำแปลนบ้านมาใช้หลอกตาคนอ่าน บางจุดเล็กน้อยที่เราลืมสังเกต บ้างก็มองว่าไม่มีอะไรกลับเป็นจุดสำคัญที่สุด และเงื่อนไขข้อจำกัดการไขคดีโหดหินเอาเรื่องอยู่นะครับ เพราะตัวเอกตั้งต้นจากการไขคดีด้วยการเปิดดูแปลนบ้านแล้วไล่จากชั้น 1 ไปชั้น 2 ไม่ใช่เดินดุ่มๆ เข้าไปหาเบาะแสทันที

สุดท้ายคดียังนำไปสู่การแก้ไข ‘คำสาป’ บางอย่างที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคสมัยโชวะ และเป็นพล็อตที่ทำให้รู้แจ้งแดงแจ๋ว่าไม่ใช่แค่ ‘บ้าน’ ที่วิกล แต่ ‘คน’ ก็วิกลเช่นกัน  

3

อุเก็ตสึอธิบายไว้อีกครับว่าหัวใจที่สนุกและสำคัญที่สุดของการเล่าเรื่องคือ ‘สิ่งที่เราไม่อาจล่วงรู้’ ปริศนาการฆาตกรรมถูกไขออกทีละเปลาะ ควบคู่กับการเฉลยแปลนบ้าน 

ตลอดการอ่านจนจบเล่มภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ ชวนให้ผมนึกถึงมังงะเรื่อง โคนัน เจ้าหนูยอดนักสืบ และนิยายสืบสวนสอบสวนชื่อก้องอย่าง คินดะอิจิ ที่เขียนโดยโยโกะมิโซะ เซชิ กลิ่นอายความไม่น่าไว้วางใจของตัวละคร เหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิง เหตุผลของคนร้ายที่น่าเห็นใจ กิมมิคหลายอย่างถูกนำมาผสมได้อย่างลงตัว 

อาจมีบ้างที่ผู้อ่านที่ทำอาชีพสถานิกหรือมัณฑนากร (Interior) รู้สึกตะขิดตะขวง ไม่ถูกจริตต้องตามใจ และถามหาความสมเหตุสมผลของแปลนบ้าน อย่างสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ เลขระยะห่างทางเดินผิดเพี้ยน ถือเป็นจุดบอดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้แต่ง ที่ขอแนะนำให้ปิดตามองข้ามไปบ้าง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านนะครับ (เหมือนจ้องจับผิดหนังผี ทั้งที่รู้แต่แรกแล้วว่าหนังไม่มีความสมเหตุสมผล)

ขอให้สนุกขนลุกขนพองกับความหลอนระดับ 5 กะโหลก และประโยคทิ้งท้ายที่ผมอยากจะเตือนหากคุณมีโอกาสได้อ่านหนังสือนิยายเล่มนี้คือ 

“จงอย่าปักใจเชื่อแค่ในสิ่งที่ตาเห็น” 

Fact Box

  • บ้านวิกลคนประหลาด เขียนโดย อุเก็ตสึ (Uketsu) แปลโดย ฉัตรขวัญ อดิศัย พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยสำนักพิมพ์บิบลิ (Bibil) จำนวน 227 หน้า ราคา 265 บาท ใช้กระดาษถนอมสายตาพิมพ์ตลอดทั้งเล่ม
  • บ้านวิกลคนประหลาด มีการขายลิขสิทธิ์ตีพิมพ์ไปหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ฯลฯ และเตรียมถูกสร้างเป็นเวอร์ชันภาพยนตร์ในอนาคต
  • หนังสือนิยายเรื่องนี้การันตีคุณภาพด้วยรางวัล Yomiuri Publishing Advertising Award Silver Award ครั้งที่ 26 และมียอดจำหน่ายทันทีที่วางแผงกว่า 3 แสนเล่มทั่วประเทศญี่ปุ่น
  • ก่อนจะผันตัวสู่เส้นทางนักเขียนแนวสยองขวัญ อุเก็ตสึเริ่มต้นจากการเขียนงานมุขตลกสั้นๆ ทุกวันในเว็บไซต์ omocoro.jp และยูทูเบอร์เล่าเรื่องแนวลึกลับ
Tags: , ,