8 ธันวาคม 2563 เป็นวันครบรอบวันมรณภาพ 31 ปี ของ พระพิมลธรรม หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) พระภิกษุรูปสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยแห่งวงการสงฆ์ไทยซึ่งเป็นคนจังหวัดขอนแก่น และเป็นที่น่ายินดีที่ปีนี้มีการจัดการรำลึกท่านถึง 3 งานในจังหวัดขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วิทยาเขตขอนแก่น, วัดศรีพิมล ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน และ HUAK Society แกลเลอรีแสดงงานศิลปะกลางเมืองขอนแก่น นั่นเท่ากับว่าขอบเขตการรับรู้เรื่องราวของพระพิมลธรรมได้ขยายพื้นที่ออกไปถึงขั้นเกิดพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะขึ้นในรูปของปฏิทินรูปเขียนท่านและซ่อนนัยทางการเมืองที่ท่านถูกกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม

ที่สำคัญมันเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตย

จะว่าไปแล้ว ภาพลักษณ์ซึ่งเกิดจากเรื่องราวของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) นั้น คือการถูกกระทำจากอำนาจรัฐและฝ่ายอนุรักษนิยม-อำนาจนิยม ที่ไม่เป็นธรรมเกินกว่าผู้ที่มีเหตุผลและมโนธรรมสำนึกจะรับไหว ตั้งแต่การกล่าวหานินทาจากพระเถระฝ่ายปกครองฝั่งธรรมยุติกนิกายและฝ่ายบ้านเมืองคือสันติบาลว่า ท่านเสพเมถุนและร่วมลงชื่อยื่นเรื่องถึงสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นให้ถอดจากความเป็นพระ และสมเด็จพระสังฆราชก็ทรงรับลูกให้สึกภาย 15 วัน โดยไม่มีการพิจารณาสอบสวนใดๆ  

แม้ว่าทางพระพิมลธรรมและทางวัดมหาธาตุฯ จะยื่นหนังสือให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ไม่เป็นผล แต่ท่านก็ไม่ยอมกล่าวลาสิกขา ด้วยยืนยันความบริสุทธิ์ของตน โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายที่กล่าวหากระทำการไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและการยึดคืนสมณศักดิ์โดยพระมหากษัตริย์

ต่อมาก็กล่าวหาท่านอีกว่าเป็นคอมมิวนิสต์  ซึ่งเรื่องนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็รับลูก และดำเนินการจับติดคุกในวันที่ 20 เมษายน 2505 จนกระทั่งถึงปี 2509 ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จึงมีการพิจารณาคดีความใหม่และยกฟ้อง แต่ต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่า ระหว่างนั้นก็มีพระภิกษุสามเณรและญาติโยมจำนวนมากที่เชื่อว่าพระพิมลธรรมไม่มีความผิดและทำการเคลื่อนไหวจนมีการปล่อยตัวในที่สุด ถึงกระนั้นก็ยังไม่คืนสถานะความเป็นภิกษุให้อย่างเต็มที่ จนมีการชุมนุมใหญ่ที่ลานอโศกวัดมหาธาตุฯ ของพระภิกษุสามเณรและญาติโยมทั่วประเทศโดยเฉพาะจากอีสานในเดือนมกราคม ปี 2518 ท่านจึงได้สถานภาพที่สมบูรณ์กลับคืนตามเดิม

อีกด้านหนึ่งของภาพการถูกกระทำ  พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ก็เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ต่อต้านอำนาจเผด็จการ ด้วยโครงสร้างและวิถีทางประชาธิปไตย  เพราะตอนที่ท่านมีชื่อเสียงและบทบาทต่อวงการสงฆ์ไทยและสังคมไทยนั้นก็ด้วย พ.ร.บ.สงฆ์ 2484  ซึ่งเป็นธรรมนูญสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยมีการปกครอง บริหารแบบสภาเหมือนอย่างรัฐสภาของคณะราษฎร หรือแม้แต่การเรียกร้องสถานภาพคืนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2518 ก็ด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมบ้านเมืองปี  2517 อันเป็นผลจากการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

ทั้งหมดที่กล่าวมามีประเด็นที่น่าสนใจมากคือ เรื่องราวของพระพิมลธรรมที่ถูกกระทำนี้กลับไม่ค่อยถูกผลิตซ้ำ หรือศึกษาค้นคว้าเผยแพร่ออกมา  ยิ่งถ้าเราเข้าไปค้นดูในวิกิพีเดียก็จะได้ข้อมูลที่จำกัดมาก พออ่านๆ ไปก็จะจับสังเกตได้ว่า วิธีการนำเสนอประวัติศาสตร์ส่วนนี้ เหมือนตำราประวัติศาสตร์แบบทางการ คือพูดไม่หมด  ถึงขนาดที่ว่าถ้าคนที่ไม่มีพื้นความรู้นอกตำรามาเลยนั้น อาจจะหลงประเด็นหรือเข้าใจข้อเท็จจริงผิดได้ เช่น ใครเป็นกลุ่มผู้กล่าวหานินทาว่าท่านเสพเมถุน ใครสั่งให้ท่านสึกภายใน 15  วัน และใครเป็นคนถอดยศตำแหน่งท่าน รวมทั้งมีกระบวนการที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือกฎหมายหรือไม่  มีแต่บอกว่าถูกจับติดคุกแล้วก็ได้รับพระราชทานสถานะและยศคืน และเรื่องที่ท่านไม่นำพานโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลที่จะให้คณะสงฆ์ออกกฎหมายห้ามบวชให้คนที่เป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่พระเถระอื่นและพระสังฆราชรับเรื่องจากรัฐบาลแล้ว แต่ในฐานะสังฆมนตรี ท่านไม่เห็นดีเห็นงาม เพราะขัดต่อหลักธรรมที่ว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้าได้เท่ากันและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ถ้าเทียบกับกรณีของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ที่เขียนหนังสือที่ขัดแย้งคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น ซึ่งเทศนาตามที่พระมหากษัตริย์ทรงรับสั่งว่าผิดหลักและเป็นทุวิชา (วิชาเลว) ท่านก็ถูกถอดยศและสั่งกักบริเวณโดยพระมหากษัตริย์ แม้จะให้ยศคืนในภายหลัง แต่อำนาจก็ไม่เต็มตามยศ ท่านเลยหันมาสู่การสร้างขบวนการวิปัสสนาเป็นแม่ทัพใหญ่ของพระวิปัสสนาอีสาน ทว่าสุดท้ายในช่วงสงครามเย็นแนวทางที่ท่านต้องการเอาศาสนา (วิถีแห่งการปฏิบัติแนววิปัสสนา) ออกจากอำนาจรัฐ ก็โดนตลบหลังจากชนชั้นนำ ทั้งฝ่ายศาสนาและรัฐที่ร่วมมือกับ CIA ทำสงครามมวลชน เป็นเครื่องมือต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์และพิทักษ์สถาบัน

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ประวัติของพระวิปัสสนาสายอีสานออกมาจำนวนมากในช่วงปีนั้น นำโดยประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และบรรดาลูกศิษย์ ช่วงหลังก็มีการชำระและพิมพ์ใหม่อยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ประวัติของท่านพระอุบาลีเองก็พิมพ์ซ้ำเยอะมาก แต่ภายหลังมีการชำระใหม่โดยละเว้นการกล่าวถึงกรณีที่พระมหากษัตริย์ถอดยศและกักบริเวณท่าน หรือถ้ากล่าวถึงบ้างก็ไม่มีให้รายละเอียดใดๆ เคราะห์ดีที่ท่านได้เขียนประวัติของท่านไว้เองในชื่อ ‘อัตตโนประวัติ’ และได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน 

เช่นเดียวกับประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ฉบับที่พระลูกศิษย์เขียนและพิมพ์ขึ้นในปีที่ทำการฌาปนกิจท่านภายหลังการตาย 1 ปี ( พ.ศ.2492) ก็ไม่ได้วิเศษพิสดารแบบฉบับหลัง ๆ ดังนั้น ถ้าศึกษาประวัติของทั้งสองท่านนี้ควรจะใช้หนังสือสองเล่มนี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะหนังสือชีวประวัติของท่านทั้งสอง (พระอุบาลีและหลวงปู่มั่น) ในยุคหลัง รูปแรกถูกตัดบางส่วนออกไปซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ  ขณะที่รูปหลังถูกเพิ่มเรื่องให้พิสดารให้เกิดความทรงจำใหม่

แต่ในกรณีของพระพิมลธรรม กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงในวงการสงฆ์เท่าที่ควร และที่มีเผยแพร่ก็เหมือนจะพยายามละเว้นหรือตัดขาดรายละเอียดของบางเหตุการณ์ที่จะเป็นการเผยโฉมหน้าของสังคมไทยโดยเฉพาะชนชั้นนำออกไป กล่าวให้ถึงที่สุด ชื่อของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ครั้งหนึ่งเหมือนชื่อต้องห้าม

เรื่องนี้ชาวบ้านโต้น –บ้านเกิดของท่าน ที่เกิดทันเหตุการณ์นั้นและยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ปากคำกับผมไว้ค่อนข้างดีว่า ทุกคนเศร้าเสียใจ และหมู่บ้านตกอยู่ในความเงียบใบ้ ไม่มีใครกล้าพูดอะไร  มีแต่ความเศร้า ความแค้นเคืองที่อัดแน่นอยู่ภายใน  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในปีนี้ (หรืออาจทุกปี) ที่มีการจัดงานรำลึกถึงการจากไปของท่าน  จะมีนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวการถูกกระทำของท่านอย่างตรงไปตรงมา

ยิ่งมีศิลปินสมัยใหม่คนในจังหวัดบ้านเกิดของท่านนำเรื่องราวของท่านมานำเสนอ เพราะมีความทรงจำร่วมที่ครั้งหนึ่งจำได้ว่า สมัยเด็กแม่เคยพาไปรับพระรูปหนึ่งที่สถานีรถไฟขอนแก่น (มารู้ภายหลังว่าคือพระพิมลธรรม) และตอนจบมาทำงานแล้วถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกับที่พระพิมลธรรมเจอ มาจัดแสดงนิทรรศการศิลปะโดยวาดรูปท่านด้วยสีคราม ซึ่งเป็นสีพื้นฐานของคนอีสาน ตีกรอบสีแดงคือการถูกกระทำ ก่อนนำไปทำเป็นปฏิทินห้อยแขวนอยู่เต็มผนังจัดแสดง เมื่อพอเปิดงานและพูดคุยเรื่องราวของพระพิมลธรรมจบ คนมาร่วมงานก็สามารถนำปฏิทินนั้นกลับบ้านได้ และใต้ปฏิทินนั้นก็คือถ้อยคำในเรื่องราวของท่าน ซึ่งก็คือเสียงแห่งการต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อจินตนาการถึงปฏิทินภาพพระพิมลธรรมที่จะเดินทางไปตามบ้านต่าง ๆ ขยายอาณาเขตของการรับรู้เรื่องราวของท่านออกไป และเมื่อนึกถึงภาพขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ขยายตัวออกไปพร้อมกับขบวนการพระสงฆ์สามเณรที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสงฆ์ไทยให้เป็นประชาธิปไตย … มันช่างเป็นภาพที่งดงาม

Tags: