ภาพประกอบของหนังสือเล่มนี้ดึงดูดให้พลิกอ่านมาก มันอบอุ่นจนคิดถึงชุดเข็มด้ายอเนกประสงค์ที่มาในการ์ด pop-up สมัยเด็ก ซึ่งไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แล้วเมื่อเริ่มอ่านก็รู้สึกได้ว่าการซ่อมแซมเสื้อผ้ามีอะไรมากกว่าเข็มด้ายและรอยขาดที่ต้องปะชุน

มันเริ่มจากถุงเท้าคู่หนึ่ง ถุงเท้าไหมพรมสีขาวคู่โปรด ส้นเริ่มเปื่อย และมีรูเล็กๆตรงนิ้ว มันมีค่าเกินกว่าจะโยนทิ้ง ฉันจึงตัดสินใจลงมือซ่อม…”

มอลลี มาร์ติน ย้อนเล่าในบทนำถึงเส้นทางการเป็นศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และนักซ่อมแซมสิ่งทออาชีพ (textile repairer) เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในงานบูรณะสิ่งทอที่บอบบางและเทคนิกซาชิโกะ (Sashiko) ของญี่ปุ่น นอกจากนี้มอลลียังทำงานกับบูติกแนว slow fashion ของอังกฤษชื่อ Toast และเปิดเวิร์กช็อปการซ่อมแซมเสื้อผ้าให้แก่คนที่สนใจ

ฉันสานเส้นด้ายกลับไปกลับมาจนปิดรูได้หมด ยังจำความภูมิใจแบบเด็กๆ และความอิ่มอกอิ่มใจนั้นได้ดีมาจนถึงวันนี้ แน่ละ มันไม่เนี้ยบเท่าไร แต่ฉันได้ต่อชีวิตและมอบโอกาสให้มันอีกครั้ง

 

การชุนสานปิดรูโหว่หรือเสริมด้ายให้กับเนื้อผ้าที่เริ่มเปื่อย

ความเป็นเด็กที่มีภาวะ Dyslexia มีปัญหาในการแยกและเชื่อมโยงเสียงตัวอักษรกับรูปคำต่างๆ อ่านเขียนและสะกดคำได้ช้ากว่าเด็กอื่นๆ มอลลีจึงทำอะไรพลาดอยู่บ่อยๆ และบ่อยครั้งก็พลอยรู้สึกผิด หลังจากเรียนชั้นประถมฯ ได้สองสามปี พ่อแม่ตัดสินใจย้ายมอลลีไปเข้าโรงเรียนแนววอลดอร์ฟ เธอมีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้นเพราะได้เรียนตามศักยภาพของตัวเองและเติบโตผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น วาดรูป ดนตรี การเคลื่อนไหว งานปั้น งานทอและการเย็บปักถักร้อย นอกเหนือจากประสบการณ์ในโรงเรียน มอลลียังบอกว่างานทำมือดูเหมือนจะอยู่ในสายเลือด แม่ซึ่งเป็นนักกายภาพบำบัดเด็กชอบงานตัดเย็บถึงขั้นเปิดร้านเย็บหมวก ส่วนพ่อนักทำสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ก็ชอบตัดเย็บ ตอนที่แต่งงานพ่อของเธอถึงกับเย็บชุดเจ้าบ่าวให้ตัวเอง

 

มอลลีเปิดหนังสือเล่มนี้ด้วยบทเกริ่นสั้นๆ ถึงปรัชญาวะบิซะบิของญี่ปุ่น ซึ่งเธอเห็นว่าโดยกว้างแล้วเป็นวิถีการมองโลกในกรอบคิดว่า ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์และคงทนถาวร ร่องรอยของกาลเวลาและการใช้งาน ไม่ใช่สิ่งต้องปกปิดหรือกำจัดเสีย มันสมควรได้รับการชื่นชม รอยขาด รูโหว่หรือรูมอดในเสื้อผ้าล้วนมีเรื่องราวหรือกระทั่งเรื่องเล่าว่าใครคือเจ้าของ เขาสวมใส่ใช้งานมันอย่างไร มีวีรกรรมหรือเหตุไม่คาดหมายเกิดขึ้นกับเขาหรือเปล่า

ในฐานะนักซ่อมสิ่งทออาชีพ ก่อนลงมือทำงาน ปัจจัย 4 อย่างที่มอลลีจะคำนึงถึงและพยายามทำความเข้าใจให้มากที่สุดคือผ้าชิ้นนั้นเอง เนื้อผ้า ร่องรอยความเสียหาย และผู้ที่เป็นเจ้าของ  

บางครั้งคุณอ่านเสื้อผ้าได้เหมือนอ่านหนังสือ ในรอยย่นและขอบข้อมือที่เปื่อยซีดมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สวมใส่แฝงอยู่มอลลี่เล่าจากประสบการณ์โดยยกชุดหมีของราเชลเป็นตัวอย่าง ชุดช่างซึ่งถูกใช้งานอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์มาตลอดสิบปี จากริ้วซีดที่ปลายแขนและปลายขาบอกให้รู้ว่าระหว่างทำงานราเชลมักต้องพับแขนเสื้อและขากางเกงฉันสามารถบอกได้ว่าเจ้าของชุดหมีชอบเท้าศอกข้างไหนและถนัดคุกเข่าข้างไหน เขาเป็นคนกระฉับกระเฉง เคลื่อนตัวและก้าวเท้าไว” 

 

เชิ้ตผ้าแชมเบรย์ของศิลปินสิ่งทอ Claire-Wellesly Smith ซ่อมด้วยไหมสีเหลือง

สำหรับช่วงรักแร้และเป้ากางเกง มอลลีปะรอยขาดด้วยการเสริมผ้าจากด้านใน ตรงหัวเข่าก็เช่นกัน เธอปะจากด้านในแต่เลือกใช้ผ้าชิ้นใหญ่และเดินด้ายแบบซาชิโกะเพื่อป้องกันการขาดซ้ำจากการใช้งานและเสริมลวดลายไปในตัว ส่วนข้อศอกและชายแขนเสื้อ เธอปะจากด้านนอก แถบผ้าสีม่วงอมน้ำเงินบนตัวเสื้อสีครามซีด ดูอย่างไรก็รู้ว่ามาจากการซ่อม แต่แทนที่จะสื่อถึงความจนยาก มันกลับบอกถึงคุณค่าและความหวงแหน 

นอกจากตัวอย่างผ้าฝีมือซ่อมของมอลลี ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น เสื้อช็อปอายุกว่าร้อยปีที่เสียหายจากไฟไหม้ บิล (วิลเลียม บร็อกเคิลเฮิร์สต์) ได้เสื้อนี้มาจากพี่ชายที่เคยทำงานในโรงงานผลิตผ้าเบรกรถยนต์ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บิลและลูกหลานล้วนแต่เป็นคนชอบงานช่าง เสื้อตัวนี้จึงตกทอดและผ่านการใช้งานอยู่เสมอ เมื่อตอนที่ไฟไหม้ช็อปซ่อมรถวินเทจของมิกหลานปู่ของบิล แซลลีภรรยาของมิกช่วยชีวิตเสื้อช็อปมาได้ แต่มันก็เสียหายหนักมาก

 

ชุดด้ายเข็มที่เรียกกันว่า hussifs เคยเป็นของคู่เป้สนามของทหารสมัยสงครามโลก

อาลี กู๊ดแมน เจ้าของบูติก Francli ในคอร์นวอล เป็นผู้ซ่อมเสื้อช็อปตัวนี้ เขาศึกษาแพตเทิร์นเดิม เลือกผ้า และปะเย็บอย่างประณีต จากด้านนอกเราจะเห็นว่าแขนเสื้อและกระเป๋าข้างขวาตัดเย็บขึ้นใหม่ทั้งชิ้น แถบผ้าใหม่บนตัวเสื้อเดิมที่มีคราบสีคราบน้ำมันอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของดีไซน์ และเมื่อพลิกดูด้านใน เราจะเห็นรอยไหม้ซึ่งกู๊ดแมนเก็บไว้โดยเล็มออกเฉพาะส่วนที่เสียหายก่อนเย็บต่อกับผ้าใหม่ด้วยมือการเย็บมือในขั้นสุดท้ายชวนให้อิ่มใจมาก แต่ละฝีเข็มที่เย็บผ่านรอยไหม้ ผมรู้สึกเหมือนกำลังร่วมขับร้องบทสรรเสริญอุทิศแด่การเดินทางของเสื้อตัวนี้” 

รอยไหม้บนเสื้อช็อปของครอบครัวบร็อกเคิลเฮิร์สต์ ครั้งหนึ่งคงดูหดหู่ แต่เมื่อตัวเสื้อได้รับการซ่อมแซม มันก็กลายเป็นประสบการณ์หน้าหนึ่ง เป็นร่องรอยจากการเดินทางไกล ไม่จำเป็นต้องปกปิดหรือเศร้าหมอง

 

เสื้อช็อปไหม้ไฟอายุกว่า 100 ปีที่ได้รับการซ่อมแซม ภาพ: James Bannister

 

หนังสือเล่มนี้ ว่าตามจริงก็เป็นหนังสือกึ่ง how to เพราะมอลลีพาเราไปรู้จักเทคนิกการซ่อมแซมผ้าแบบต่างๆ เล่าถึงความอัตคัดและมัธยัสถ์ของคนในอดีตที่ทำให้วิธีซ่อมแซมผ้าของพวกเขากลายมาเป็นศิลปะบนผืนผ้าในตัวมันเอง อย่างงานผ้าโบโระ (Boro) ของญี่ปุ่น และผ้ากานถะ (Kantha) ของชาวเบงกาลีในอินเดียและบังกลาเทศ รวมถึงว่าการปะชุนผ้าเป็นทักษะหนึ่งที่ทหารสมัยสงครามโลกต้องฝึก และชุดเข็มด้ายอเนกประสงค์ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเป้สนามของพวกเขา

กระนั้น ถ้อยคำเรียบง่ายของคนที่เคยมีภาวะดิสเล็กเซียอย่างมอลลี่กลับพูดถึงความรู้สึกเล็กๆ ที่เรานึกไม่ถึงและทำให้ฉุกคิดอยู่บ่อยครั้ง เช่นตอนที่เธอเล่าถึงเสื้อไหมพรมตัวโปรดที่ตกทอดมาจากแม่สามีของป้าว่า

เวลาเห็นรอยปะรอยชุนเก่าซีดหรือกระทั่งรูมอด ฉันมีความหวังอย่างบอกไม่ถูก

หรือตอนที่เธอบอกว่าการโตมากับภาวะดิสเล็กเซีย ฉันทำอะไรพลาดอยู่บ่อยๆ และก็มักโดนดุ… แต่สำหรับเส้นด้ายในถุงเท้าคู่เก่า จะพลาดบ้างก็ไม่เป็นปัญหา… และมันให้ความมั่นใจที่อยู่กับฉันมาจนถึงวันนี้

 

สไตล์การซ่อมผ้าด้วยเทคนิกซาชิโกะของมอลลี่

เวลาเธอเขียนถึงขั้นตอนเตรียมผ้าก่อนซ่อมหรือข้อแนะนำระหว่างการปะชุนผ้าก็เช่นกัน 

ประเมินปัญหา… ล้างแผล… รีดให้เรียบ” 

เนื้อผ้าและลักษณะการตัดเย็บทำให้เสื้อหรือผ้าแต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะตัว การสำรวจอย่างรอบคอบจะช่วยในการตัดสินใจเลือกวัสดุและเทคนิกที่จะใช้ซ่อมแซม เมื่อตัดสินใจแล้ว การล้างแผลหรือทำความสะอาดส่วนที่เปื่อยหรือขาดจะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และการรีดก่อนลงมือซ่อมก็จะทำให้เราเห็นแนวด้ายชัดเจนและง่ายแก่การเย็บ

จริงอยู่ มอลลีกำลังพูดถึงการซ่อมรอยขาดของเสื้อผ้า แต่จังหวะคำและน้ำเสียงของเธอ บ่อยครั้งชวนให้นึกว่าเธอกำลังพูดถึงรูมอดหรือรอยขาดของชีวิตจากการใช้งานมาหนัก ทำขาดเอง หรือปล่อยให้แมลงมากัดแทะ

เมื่อยีนส์ตัวเก่งขาด เราคงไม่โยนมันทิ้งง่ายๆ มันผ่านร้อนผ่านหนาวมากับเรา เหมือนพิมพ์ที่ถอดมาจากเรียวขา นิสัยการลุกนั่ง ความเป็นคนใจร้อนหรือเย็นของเรา และเราคงอยากให้โอกาสมันอีกครั้ง

ใจเราก็เช่นกัน มันมีค่าเกินกว่าจะปล่อยให้แหว่งวิ่นหรือทิ้งขว้าง มองให้เห็นความกร่อนบาง ยอมรับหากรอยขาดเกิดขึ้นแล้ว ปะชุนมันเสีย มอบโอกาสให้แก่มัน ‘One stitch at a time.’ ตามสุภาษิตญี่ปุ่น

 

กระเป๋าใส่แว่นตามรดกตกทอดจากพี่เลี้ยงของเจนนิเฟอร์ แฮร์ริส

Fact Box

ชื่อหนังสือ: The Art of Repair - Mindful mending: how to stitch old things into new life

ผู้เขียน ภาพประกอบ และออกแบบปก: Molly Martin

สำนักพิมพ์: Short Book

144 หน้า, พิมพ์ครั้งแรก 4 มีนาคม 2021

www.mollymartin.uk

Tags: , , , , ,