‘แม่น้ำโขง’ หรือที่คนในพื้นที่มักเรียกว่า ‘น้ำของ’ เป็นเส้นทางน้ำขนาดใหญ่ที่มีความยาวรวมกว่า 4 พันกิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาทิเบต ตัดผ่าน 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย ที่ไหลผ่านทางตอนเหนือในบริเวณจังหวัดเชียงรายและไหลเข้าไทยอีกครั้งในแถบภาคอีสาน
น้ำของจึงกลายเป็นแม่น้ำนานาชาติที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านชีวิตให้สามารถหาเลี้ยงชีพ มีทั้งชาวประมง เกษตรกร หรือแม้แต่วิศวกร ที่เดินทางมาสร้างเขื่อนเพื่อสร้างพลังงานทางเลือก เปลี่ยนสายน้ำให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า (Hydropower) หล่อเลี้ยงชีวิตในยามค่ำคืนและเพื่อความสะดวกสบาย
แต่ทุกสิ่งจะสวยหรูเช่นนั้นจริงหรือ แล้วหนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกอะไร?
(1)
กนกวรรณ มะโนรมย์ ทำงานวิจัยภาคสนามในหลายจังหวัดติดริมน้ำโขง และย่อยข้อมูลเป็นหนังสือเล่มนี้ ในช่วงแรกของการอ่าน หนังสือพยายามพาผู้อ่านมาข้ามเส้นพรมแดนในเชิงความคิดเรื่องการมอง ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง โดยนำเสนอว่าในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาในช่วงแรก มักให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามถึงการกระทำหรือสัญญะของมนุษย์เป็นหลัก เพราะเชื่อว่ามนุษย์คือผู้ริเริ่มสร้างสังคม
แต่หนังสือเล่มนี้พาเรากลับไปตั้งคำถามถึงผู้กระทำนั้นสามารถเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่นอกจากมนุษย์ โดยใช้เขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างของการศึกษา แต่ก็มิได้ปฏิเสธสัญญะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณที่ศึกษา
อีกทั้งพยายามชี้ให้เห็นว่าแนวความคิดการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เกิดขึ้นจากวาทกรรมการพัฒนาของความเป็นสมัยใหม่ ทำให้เขื่อนไม่เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมและกำหนดสายน้ำให้ไหลตามต้องการ แต่ยังเป็นสิ่งที่รัฐหรือนายทุนมองว่าเป็นการชี้วัดถึงความเจริญและสามารถเปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นเม็ดเงินได้ตามคำนิยามความเป็นสมัยใหม่
ความทันสมัยนี้กลับเต็มไปด้วยการละเลยคนที่พึ่งพาสายน้ำ อาจกล่าวได้ว่าคนจำนวนหนึ่งต้อง ‘จน’ จากการมีอยู่ของเขื่อน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย
การสร้างเขื่อนเพื่อเปลี่ยนน้ำของให้เป็นแม่น้ำที่ทันสมัย ในด้านหนึ่งกลับสร้างปัญหาต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศของสายน้ำ กนกวรรณ จึงนิยามการสิ่งเหล่านี้ว่า ‘ภาวะพะอืดพะอมของความเป็นสมัยใหม่’
ถึงตรงนี้คงกล่าวได้ว่า ‘เขื่อน’ ทำหน้าที่ของผู้กระทำได้ไม่ต่างจากมนุษย์ และในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าแม่น้ำเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่มากไปกว่าการนำมนุษย์มาเป็นศูนย์กลาง และตัดขาดความสัมพันธ์ด้านอื่นออกไป
(2)
“มาเด้อปู่ย่ามากินข้าวเด้อลูกหลานมาหาปลามาเล่นนำ”
“คนบ้านเราส่วนใหญ่จะกินปลาโขงเป็นอาหารหลัก เพราะคนในหมู่บ้านมีอาชีพหาปลา แต่ช่วงหลังๆ มานี้คนที่ไม่ได้หาปลา เวลาที่เขาออกไปข้างนอกก็จะต้องเปลี่ยนไปกินปลาช่อนและปลานิล ซึ่งไม่ใช่ปลาแม่น้ำโขง…”
“เมื่อ 10 ปีก่อน หลังออกจากโรงงานมหาหาปลาแบบจริงจัง น้ำก็ขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาลแล้ว…”
“น้ำขึ้นน้ำลงผิดปรกติเกิดจากเขื่อนในประเทศจีนและประเทศลาวเขาเปิดปิดเขื่อนเพื่อปั่นไฟฟ้า”
“ถ้ามีเจ้าหน้าที่มารับฟังปัญหาก็อยากให้มีการไปพูดคุยกันไม่ให้มีการปิดประตูเขื่อน เพราะทำให้น้ำเสียมีแต่เทา ระดับน้ำขึ้นลงผิดปรกติ และปลาไม่สามารถอพยพตามฤดูกาลได้”
“เขาจะสร้างเขื่อน ยังไงเขาก็สร้าง…”
การนำเสนอเสียงสะท้อนดังกล่าวของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดที่ติดกับลำน้ำโขง เป็นการพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างแม่น้ำโขง ‘เขื่อน’ ในฐานะสิ่งไม่ชีวิต กับ ‘ชาวบ้าน’ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตที่อยู่กับสายน้ำ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเขื่อนที่มาขวางกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งหากนับเฉพาะในแม่น้ำสายหลักมีเขื่อนที่ขวางกั้นลำน้ำโขงไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง
เสียงคนในพื้นที่ยังสะท้อนถึงธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปลาที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าผู้สร้างเขื่อนเคยบอกว่ามีการสร้างทางเดินปลา แต่ทางเดินดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามธรรมชาติทำให้ปลาไม่สามารถเดินทางจากต้นน้ำลงมาปลายน้ำได้อีก
ต่อมาคือเรื่องของระดับการขึ้นและลงของน้ำในแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นธรรมชาติ โดยในช่วงปกติของฤดูแล้ง น้ำจะลดลงในระดับที่ชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปยังเกาะแก่งและเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ปัจจุบันไม่สามารถทราบได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของน้ำ เนื่องจากระดับน้ำต้องพึ่งพิงอยู่กับการเปิด-ปิดประตูน้ำของเขื่อนต่างๆ
กนกวรรณยังชี้ให้เห็นถึงวิธีที่ผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการกับลำน้ำโขง รวมถึงการดูปรากฏการณ์ของแม่น้ำโขงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เช่น ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่อ้างว่าแม่น้ำโขงไหลผ่าน จึงมีสิทธิเหนือลำน้ำเพราะถือว่าเป็นเขตแดนและอธิปไตยของตน หรือการทำให้แม่น้ำโขงไม่ต่างจากสินค้า (Meta-commoditization) ที่เกิดจากมรดกของฝากจากยุคอาณานิคม สามารถหาประโยชน์จากการใช้หลักฐานเส้นเขตแดนเพื่ออ้างสิทธิดินแดนผ่านการไหลของสายน้ำ
ยังมีการนำเสนอความขัดแย้งของจุดมุ่งหมายในการมีอยู่ของเขื่อน ที่อ้างว่ามีเพื่อลดทอนความยากจนของคนในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่กลับไม่ได้มองเห็นว่าเขื่อนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่หยิบยื่นความจนให้กับผู้คนไม่น้อย ชาวบ้านในพื้นที่ต้องสูญเสียอาชีพ อีกทั้งสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่อย่างมหาศาล การมีอยู่ของเขื่อนไม่ต่างจากการผลักภาระให้คนท้องถิ่นเป็นผู้แบกรับต้นทุนจากการสร้างเขื่อน
ดังเช่นประเทศลาวที่ปวารณาตนเป็น ‘แบตเตอรีแห่งเอเชีย’ เร่งลงทุนสร้างเขื่อนมากมายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อสะท้อนความทันสมัยและการเชิดหน้าชูตา โดยเฉพาะเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่สร้างในเมืองอัตปือ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชายขอบและยากจนของประเทศ การมาถึงของเขื่อนได้ชี้ชวนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนให้คนในพื้นที่ได้ นอกจากเม็ดเงินยังได้ในเรื่องของความทันสมัย
จนกระทั่งในปี 2561 ด้วยการก่อสร้างที่เร่งรีบประกอบกับความไม่มีการสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานมากพอ เมื่อปริมาณน้ำฝนเกินกว่าที่กำหนด เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ไม่สามารถรองรับน้ำได้จึงเกิดการพังทลาย หลายชีวิตต้องสูญหายและสูญเสียทุกสิ่ง ยิ่งตอกย้ำสภาวะ ‘ความจน’ และผลักภาระให้คนในพื้นที่เป็นผู้รับผลกระทบ
(3)
ในหนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอว่าองค์ประกอบของ ‘เขื่อน’ ไม่ได้มีเพียงแต่วัสดุอุปกรณ์และโครงการอภิมหาโปรเจกต์ แต่ยังรวมไปถึงอำนาจทุนและโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งตัวบทกฎหมายเอกสารที่ขีดเขียนเพื่อรองรับการมีอยู่ของเขื่อน อย่างไรก็ดี การมีอยู่ของเขื่อนไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว
กนกวรรณยังนำเสนอการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขงในหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์เชียงของ กลุ่มเสรีภาพน้ำโขง ฯลฯ ทั้งหมดต่างมีจุดหมายอย่างเดียวกันคือการรักษาและอนุรักษ์แม่น้ำโขง
นอกจากนี้ ยังนำเสนอการของภาคประชาชนในการต่อสู้ฟ้องศาลกรณีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนปากแบ่ง ถึงแม้ตัวคดียังคงอยู่ในการพิจารณาของศาล ทว่าเพียงเท่านี้ก็ทำให้เห็นว่าการมีอยู่ของเขื่อนไม่ได้ธำรงไปด้วยความมั่นคง แต่มีการชักเย่อไปมาในความหมายประกอบสร้างของการเป็นเขื่อน
ทั้งหมดนำมาสู่การย้อนว่า แม่น้ำโขง เขื่อน และผู้คน ต่างเต็มไปด้วยความขัดแย้งต่อรองช่วงชิงพื้นที่ของความหมายดังกล่าวอยู่เสมอ เกิดเป็นความไม่ลงรอยของแม่น้ำโขง ถึงแม้โครงการก่อสร้างเขื่อนจะเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ แต่โครงการอภิมหาโปรเจกต์ในแม่น้ำโขงยังมีอีกมากมายที่พร้อมจะมาขัดขวางการไหลของสายน้ำโขงตามธรรมชาติ
สิ่งที่น่าสนใจและเป็นความท้าทายสำหรับประเทศในแถบริมน้ำโขงคือการต่อสู้เพื่อสิทธิของแม่น้ำ ด้วยการยกระดับทำให้สายน้ำมีความเป็นนิติบุคคลเหมือนกับแม่น้ำสายอื่นๆ ที่สำคัญของโลก
ยกตัวอย่างเช่น แม่น้ำวังกานุย (Whanganui River) ตั้งอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งในปี 2560 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ออกกฎหมายรับรองให้แม่น้ำดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับมนุษย์คนหนึ่ง ความเป็นแม่น้ำดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของแม่น้ำไม่ให้สูญเสียไป คู่กับปกปักรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเมารี
ในประเทศอินเดียก็ให้การรองรับแม่น้ำ 2 สายสำคัญ คือยมุนาและคงคา โดยให้ทั้ง 2 แม่น้ำเป็นแม่น้ำแห่งชาติของอินเดีย (National river of india) เพราะเป็นแม่น้ำที่สำคัญต่อความเชื่อและศาสนาของประชาชน
ท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศริมแม่น้ำโขงจะช่วยกันขยับและยกระดับแม่น้ำโขงให้มีสิทธิทางกฎหมาย ไม่ต่างจากแม่น้ำสายสำคัญของโลก
แว่นตาที่หนังสือนี้มอบให้ก็พาเราไปพบเจอกับ ‘ภววิทยา’ ที่ไม่แยกคน เขื่อน น้ำโขง และสิ่งแวดล้อมออกจากกัน แต่มองสิ่งเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ต่อกันทั้งหมดทั้งในแง่ดีร้าย สำหรับผู้เขียนคิดว่าคงดีกว่านี้ไม่น้อยหากผู้มีอำนาจได้อ่านและลองศึกษาว่า เขื่อน น้ำของ และผู้คน สัมพันธ์กันอย่างไร ไม่แน่ว่าแว่นตาเล็กชิ้นนี้ อาจเปลี่ยนแม่น้ำโขงให้กลับมาเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงและพาระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
Fact Box
- ภววิทยาแม่น้ำโขง: เขื่อน น้ำของ และผู้คน ผู้เขียน กนกวรรณ มะโนรมย์ พิมพ์ครั้งที่ 1 มกราคม 2565 โดยสำนักพิมพ์สยาม ในเครือบริษัทสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ จำกัด จำนวน 221 หน้า ราคา 180 บาท
- ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ รองศาสตราจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ความสนใจและครอบคลุมในเรื่องการพัฒนาสังคม และทำวิจัยประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของทรัพยากรในภาคอีสานและลุ่มน้ำโขงมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ