กระสุนหนึ่งนัด

จากพลซุ่มยิง ทีละนัด

อีกนัด และอีกนัด นัดละคน

ปลิดปลงได้เพียงหนึ่งชีวิต

.

บทกวีหนึ่งบท

บทละ สี่-ห้าสิบคน

ร่วมร้อยพันคน นับร้อยพันปี

กลับยังให้รวดร้าว ลาญสูญ

 

หม่อง ซวัน เหย่ I โมมะข้ะ, 8 มีนาคม 2564

ถ้อยกวีบทนี้ถูกเลือกให้อยู่บนปกหลังของหนังสือ ซึ่งเป็นทั้งบทสรุปและบทเริ่มต้นของหนังสือได้อย่างมิผิดเพี้ยน

ย้อนกลับไปวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองกำลังทหารพม่านำโดย ‘มิน อ่อง ลาย’ ตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งที่มี ‘อองซานซูจี’ เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่ ‘ไม่สะอาด’ 

จากประเทศภายใต้รัฐบาลทหารที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย กลับต้องอยู่ภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนพากันออกมาเรียกร้องและ ‘ไม่ยอมรับ’ อำนาจของผู้นำทหารพม่า ความขัดแย้งดังกล่าวลุกลามกลายเป็นการต่อสู้ระหว่าง ‘รัฐ’ ที่มีอาวุธและอำนาจครบมือ กับ ‘ประชาชน’ ไม่เพียงแค่ประชาชนในเมือง แต่รวมถึงทหารกะเหรี่ยง KNU ที่จับอาวุธสู้เพื่อชนชาติพันธุ์

กว่า 2 ปีที่พม่ายังตกอยู่ภายใต้ความกลัว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวแทนเสียงของนักเขียน นักข่าว ชาวไทย และพม่ามากกว่า 50 คน เพื่ออธิบายสายน้ำตาที่หลั่งรินของพี่น้องพม่าที่ร่วงลงสายน้ำในแต่ละวันที่ไหลลงสาละวิน และไม่เคยหยุดในแต่ละค่ำคืน

บางบทกวีก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดของประชาชนจากการถูกไล่ล่า ดั่งเช่น บทกวีของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล

‘เครื่องบินรบทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือน

ผู้คนล้มลุกหนีตายตามกัน

เฮลิคอปเตอร์ยิงกระสุนปืนใส่ซ้ำ

เคลื่อนปีกหมุนเร็วเหนือเวหา

กระสุนดินระเบิดเจาะอาคารห้องเรียน

รื้อหลังคา รื้อโต๊ะ

รือหนังสือ รื้อชีวิต รื้อทุกสิ่งอย่าง

อบอวลอยู่ใต้ม่านควันไฟ’

หรือแม้แต่การอธิบายความคับแค้นที่จำต้องเดินจากสู่ดินแดนใหม่ แต่สถานที่แห่งนั้นกลับไม่เคยถูกเรียกว่า ‘บ้าน’ เป็นได้เพียงที่อยู่อาศัย ดั่งเช่นบทกวีของ ประยูร หงษาธร

‘ฉันหนีมาจากดินแดนสู้รบ

กี่ปีแล้วนะ

ที่การไล่ล่าของกระสุนปืนยังก้องอยู่ในรูหู

กี่ปีแล้วนะ

ที่ลูกระเบิดฉีกทึ้งขาทั้งสองข้าง

ฉันกระเสือกกระสนออกมาจากดินแดนสู้รบ

ผ่านภูเขากับระเบิดและหลุมขวากโดยไม่หวั่นวาด

ถึงเส้นพรมแดนด้วยร่างกายแหว่งวิ่น

กี่ปีแล้วนะ

ที่ฉันเคยเชื่อว่าความหวังของชีวิตรออยู่บนดินแดนใหม่

กี่ปีแล้วนะ

ที่ฉันรู้สึกเสมอว่าอยู่บนแผ่นดินอื่น

ผ่านมากี่ปีแล้วนะ

ที่ลวดหนามกั้นเชื้อชาติกรีดเฉือนแล่เนื้อเถือหนัง

และหัวใจฉันจนแหว่งวิ่น

กี่ปีแล้วนะ

ที่ฉันแบกวิญญาณของความรวดร้าว

ขณะเรือนร่างนับวันชำรุด

ผ่านเวลาอย่างอ้างว้าง

พ้นแต่ละคืนอย่างสั่นผวาต่อเหล่าแววตา

หลังลวดหนามนั่นไม่หมดไม่สิ้น

กี่ปีแล้วนะ 

ที่ฉันนั่งหมดอาลัยตายอยาก

จิตวิญญาณสิ้นสูญบนแผ่นดินวายวาง

กี่ปีแล้วนะ….’

นอกจากนี้ในบางบทกวียังเต็มไปด้วยความหวัง และพวกเขายังคงสู้ เช่น บทกวี จาก วิน หม่อ อู…. จาก มยะ แตว้ะ แตว้ะ ข่ายง์ สู่… ของ แข้ะก์ ตี่ นักกวีชาวพม่า

‘หากไม่สู้ ย่อมไม่มีวันชนะ

คือ เสียงกู่ร้องกึกก้อง

จากมวลชนที่ไหลหลั่งมา’

 

‘เหล่าดวงวิญญาณนักสู้

เมื่อยังมิอาจขุดรากถอนโคนเผด็จการทหาร

จึงยังมิอาจอุทิศส่วนกุศลให้ได้

 

เพื่อการต่อสู้

อันเพรียกพร้อมด้วยสติปัญญาและหัวใจ

และเพื่อศิลปะอันโชติช่วง

เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเอย

จงลุกขึ้นยืนหยัดเถิด’

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงเสี้ยวเดียวจาก 50 บทกวีที่อยู่ภายในเล่ม ซึ่งร้อยเรื่องครบรสทุกเรื่องราว และสิ่งสำคัญคือชีวิตของพวกเรายังคงต้องต่อสู้กับอุปสรรคอีกมากมาย โดยเฉพาะความอยุติธรรมในสังคม 

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะแด่คนที่พร้อมสู้และตั้งใจจะลุกขึ้นสู้

แม้ทั้งสองสายน้ำระหว่าง ‘เจ้าพระยา’ และ ‘สาละวิน’ จะไม่เคยไหลมาบรรจบพบเจอกัน แต่วิถีชีวิตของผู้คนล้วนหล่อเลี้ยงด้วยสายน้ำไม่ต่างกันทั้งไทยและพม่า มีประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้กับทหารเผด็จการไม่รู้จบ สาละวินยังสะเทือน แล้วเจ้าพระยาจะอยู่อย่างไร

Fact Box

  • กวีนิพนธ์ ‘มิใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย III จากเจ้าพระยาถึงสาละวิน’ จัดพิมพ์โดย ผจญภัยสำนักพิมพ์ ร่วมกับ สำนักข่าวชายขอบ และ สำนักข่าว The REPORTERS พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2564 
  • ราคาปกอ่อน 320 บาท ส่วนราคาปกแข็ง 470 บาท จัดจำหน่าย สายส่งศึกษิต บริษัทเคล็ดไทย จำกัด โดยรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ผลัดถิ่นที่หนีภัยสงครามการเมืองในเมียนมา
Tags: , , ,