“…ฝ่ายแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่างๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐาน เสียพระสติ พระจริตก็ฟั่นเฟือนไป ฝ่ายพระพุทธจักรและอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปรกติเหมือนแต่ก่อน… พระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส…”

 

นี่เป็นคำกล่าวบรรยายสถานการณ์บ้านเมืองช่วงปลายรัชสมัยกรุงธนบุรี จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา อันเป็นที่มาของปริศนาสำคัญแห่งวงการประวัติศาสตร์ไทยที่ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนจริงหรือไม่?’

หากกล่าวถึง ‘พระเจ้าตาก’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงเรื่องราวของกษัตริย์ผู้กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ทั้งยังปรีชาสามารถในการกอบกู้แผ่นดินสยามหลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลายให้กลับมาได้ ทว่าในขณะเดียวกันพระราชประวัติของวีรบุรุษผู้นี้ก็ยังมีเรื่องราวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกันกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปริศนาน่าแคลงใจในพระสติของพระองค์ อันเป็นเหตุให้ถูกสำเร็จโทษด้วยการใช้ดาบตัดศีรษะที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 หรือราว 240 ปีที่แล้ว 

แม้ที่ผ่านมาจะมีการรวบรวมหลักฐานและวิเคราะห์เพื่อหาข้อโต้แย้งจากเหล่าบรรดานักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ หรือนักวิชาการจำนวนไม่น้อย แต่กลับยังไม่มีข้อสรุปใดเป็นที่แน่ชัด เนื่องจากการหาข้อสรุปของประเด็นดังกล่าวต่างถูกพ่วงไปด้วยข้อจำกัด ทั้งจากน้ำหนักของหลักฐาน อคติ และค่านิยมต่างๆ ในสังคม รวมถึงการยึดโยงทางการเมือง กรณีการผลัดแผ่นดินหรือการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

หนังสือ ‘วิเคราะห์พระสติพระเจ้าตาก’ เล่มนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเข้ามาช่วยถอดรหัส ไขพระสติพระเจ้าตาก ด้วยการพลิกกลับไปดูมูลเหตุจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ในสมัยกรุงธนบุรี โดยหยิบยกเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติ มาเรียงลำดับตามช่วงเวลาเพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจของพระเจ้าตาก และนำมาวิเคราะห์โดยอ้างอิงหลักจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ทางการแพทย์ ที่ในการใช้วินิจฉัยโรคจาก ‘คุณหมอปอ’ นายแพทย์ชาคร จันทร์สกุล ผู้เขียน

ในส่วนของหลักฐานที่นำมาวิเคราะห์ มีการ ‘ตัดเกรด’ ความน่าเชื่อถือของเอกสาร โดยไล่ระดับตั้งแต่ความน่าเชื่อถือสูงสุดไปจนถึงความน่าเชื่อถือต่ำสุด เรียงจาก S, A, B และ C-D ไอเดียการตัดเกรดดังกล่าวนับว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านคิดตามและสามารถอ่านด้วยความเข้าใจในมาตรฐานเดียวกันได้ตลอดทั้งเล่ม โดยผู้เขียนได้จำแนกหลักฐานไปตามระดับต่างๆ ไว้ดังนี้

ระดับ S คือประกาศพระราชโองการและพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสิน 

ระดับ A คือบันทึกของชาวต่างชาติ

ระดับ B คือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เฉพาะเนื้อหาก่อนปี 2331

ระดับ C-D คือพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสมัยกรุงธนบุรี 3 ฉบับ และจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

ความน่าสนใจอีกประการของหนังสือเล่มนี้ คือการวิเคราะห์พระสติแบ่งออกเป็น 22 บท ในแต่ละบทยกเอาเหตุการณ์สำคัญอันน่าฉงน หรือที่เราอ่านตามตำราประวัติศาสตร์แล้วรู้สึกประหลาดใจในพฤติกรรมและความคิดของพระองค์ มา ‘สรุปย่อ’ คัดแต่เนื้อไม่เหลือน้ำ นอกจากจะช่วยให้เข้าใจได้ขึ้นง่ายแล้ว เชื่อว่าคนที่ไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาวๆ ก็สามารถเพลิดเพลินไปกับ 22 บท ได้โดยไม่ลำบากใจเช่นกัน อาทิ

กรณีประหารหม่อมฉิม หม่อมอุบล

 

“…พิจารณาเปนสัตย์แล้ว สั่งให้ฝีพายทนายเลือกไปทำชำเราประจาน แล้วตัดแขน ตัดศีรษะ ผ่าอกเสียทั้งชายหญิง อย่าให้ใครดูเยี่ยงกันสืบต่อไป…”

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) 

 

อธิบายให้เข้าใจแบบรวบรัดได้ว่า ‘หม่อมฉิม’ และ ‘หม่อมอุบล’ เป็นพระชายาที่สมเด็จพระเจ้าตากโปรดปราน ซึ่งในช่วงเวลาตามคำกล่าวข้างต้นนั้นกรุงธนบุรีเกิดหนูระบาด เข้ากัดกินพืชผล บุกรุกหาอาหารตามบ้านเรือน และลุกลามจนถึงเข้ากัดม่านมุ้งในพระราชวัง พระเจ้าตากสินจึงมีรับสั่งให้ ‘ชิดภูบาล’ กับ ‘ชาญภูเบศร์’ ฝรั่งมหาดเล็กคนโปรดเข้ามาจับหนูในวัง หลังจากนั้นหม่อมประทุม พระชายาอีกคนของพระเจ้าตากสินจึงกราบทูลว่า มีผู้เป็นชู้กับฝรั่ง

เมื่อพระองค์ไต่ถามหม่อมอุบลไม่ยอมรับ ส่วนฝ่ายหม่อมฉิมกล่าวประชดประชันว่าเป็นเรื่องจริงด้วยความน้อยอกน้อยใจ หม่อมทั้งสองจึงถูกสำเร็จโทษประหาร ภายหลังพบว่าหม่อมอุบลตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน พระเจ้าตากจึงรู้สึกผิดหวังต่อการกระทำของพระองค์เอง และมีความคิดที่อยากจะตายตาม ซ้ำยังตรัสถามข้าราชบริพารด้วยว่าจะมีใครยอมตายตามเสด็จบ้าง ดังบันทึกว่า

“สำเร็จโทษเสร็จแล้วไม่สบายพระทัย คิดถึงหม่อมอุบลว่ามีครรภ์อยู่ 2 เดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสม เมีย กรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกศ สั่งบุษบา จะตามเสด็จด้วย”

ในประเด็นดังกล่าว คุณหมอปอในฐานะผู้เขียนวิเคราะห์โดยแยกเป็น 2 กรณี คือพระเจ้าตากสินทรงมีจิตใจโหดเหี้ยมเกินไปหรือไม่? และการที่พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จตายตามหม่อมอุบลไปถือว่ามีพระสติฟั่นเฟือนหรือไม่?

กรณีแรก ในสมัยกรุงธนบุรี กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีจะใช้วิธี ‘วัดระดับบุญ’ ของผู้ต้องหา จึงทำให้บ่อยครั้งมีการลงโทษหรือทรมานผู้ต้องสงสัยตามความเชื่อที่ว่า หากไม่ได้ทำผิดจริง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมจะต้องคุ้มครองให้รอดปลอดภัย แน่นอนว่าร่างกายของมนุษย์บางคนไม่สามารถอดทนต่อความทรมานด้วยวิธีการต่างๆ ได้ จึงต้องยอมรับสารภาพในที่สุด ดังที่หม่อมฉิมและหม่อมอุบลยอมรับเป็นสัตย์ 

ดังนั้นการที่พระเจ้าตากสินมีรับสั่งให้ลงโทษอย่างรุนแรงก็เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองในยุคสมัยนั้น ซึ่งผู้เขียนพิจารณาว่าสิ่งที่ผิดพลาดคือกระบวนการยุติธรรมเสียมากกว่า

กรณีที่ 2 พระอาการของพระเจ้าตากสินที่มีความคิดอยากจะตายตามหม่อมอุบล สามารถอธิบายได้ในทางการแพทย์จากภาวะโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลที่ตนรัก (Grief) ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากที่แม้ไม่เคยมีอาการป่วยทางจิตมาก่อนสามารถมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปได้ ดังที่ เอลิซาเบธ คือเบลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kübler-Ross) จิตแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายสวิส ผู้บุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับคนที่กำลังจะตาย เสนอว่ากระบวนการของมนุษย์ในการจัดการกับความโศกเศร้าและความทุกข์ใจอย่างร้ายแรงจาการสูญเสียบุคคนที่รักมีอยู่ด้วยกัน 5 ระยะ ดังนี้ 

1. ปฏิเสธ (Denial) เป็นระยะที่อยู่ในช่วงเวลาที่กำลังตื่นตระหนก รับไม่ได้ และปฏิเสธว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นไม่ใช่ความจริง

2. โกรธ (Anger) ระยะนี้ถือเป็นระยะที่น่ากลัวที่สุด เนื่องจากจะสามารถโกรธได้อย่างไม่มีขีดจำกัดและพาลไปยังคนรอบข้างอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าตากสินที่มีฐานะเป็นกษัตริย์ ทรงมีพระราชอำนาจสมบูรณ์ ประกอบกับการที่หม่อมทั้งสองให้การยอมรับเป็นสัตย์ ก็ยิ่งเป็นการบันดาลโทสะทำให้การตัดสินใจประหารเป็นไปอย่างง่ายดาย

3. ต่อรอง (Bargaining) บุคคลที่อยู่ในระยะต่อรองจะพยายามหาทางเลือกให้กับตัวเอง เช่น ‘ถ้าฉันไม่ได้ทำเช่นนี้ ผลลัพธ์ก็จะไม่ออกมาเป็นแบบนี้หรือเปล่า?’ ซึ่งผู้สูญเสียคนรักอาจจมอยู่กับ ‘โลกคู่ขนาน’ ของตัวเองเป็นเวลานาน ทว่าในกรณีของพระเจ้าตากสิน ผู้เขียนพิจารณาว่ายังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าพระพระองค์ทรงผ่านระยะแล้วหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด

4. เศร้า (Depression) แน่นอนว่าบุคลลที่อยู่ระยะนี้จะมีอาการเศร้าหมอง รู้สึกหมดแรง มองโลกในแง่ลบ ไปจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะแทรกซึมอยู่ในความคิดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่กำลังตกอยู่ในระยะเศร้านี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่อาจเศร้าเพียงเพราะจิตใจตอบสนองต่อการสูญเสีย หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทางการแพทย์แผนปัจจุบันอาจวินิจฉัยให้ผู้ป่วยเป็น ‘โรคเครียดเฉียบพลัน’ (Acute stress disorder) หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘โรคจิตระยะสั้น’ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิมในช่วงเวลาหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกคนจะกลายเป็นโรคจิตถาวรต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้เขียนพิจาณาว่าหลักฐานดังกล่าวค่อนข้างชัดว่าพระเจ้าตากสินผ่านระยะเศร้าจากการที่ทรงมีความทุกข์รุนแรงถึงขั้นมีความคิดที่จะปลงพระชนม์ชีพและชักชวนคนอื่นให้ตายไปพร้อมกัน อันเป็นการวินิจฉัยได้ว่าพระองค์ทรงเป็นโรคเครียดเฉียบพลันจากการสูญเสียคนรัก

5. ยอมรับ (Acceptance) ระยะสุดท้ายนี้เป็นระยะที่สามารถยอมรับกับสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้แล้ว มองเห็นโลกแห่งความเป็นจริงได้แล้ว และพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งในระยะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่าพระเจ้าตากสินผ่านแล้วหรือไม่

 

ดังนั้นการที่พระเจ้าตากสินทรงมีความคิดที่จะสวรรคตตามพระชายาและบุตรในครรภ์ รวมถึงชักชวนคนอื่นให้ตายไปพร้อมกัน จึงอาจไม่ได้เป็นความผิดปกติทางจิตที่ร้ายแรงมากนัก เนื่องจากปฏิกิริยาดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่พบกับความสูญเสียโดยไม่คาดฝัน ส่วนพฤติกรรมแปลกๆ ที่พระองค์มีนั้นก็อาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการตัดสินใจไม่ปกติในช่วงที่กำลังมีภาวะเครียดรุมเร้าอยู่ ดังที่เห็นได้ว่าเมื่อมีคนพยายามเตือนพระสติ พระองค์ก็ทรงหยุดการกระทำเหล่านั้นได้ในที่สุด นั่นหมายความว่าพระเจ้าตากสินอาจแค่ทรง ‘รู้สึกผิด’ ที่สั่งประหารผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้นับเป็นความผิดปกติทางจิตแต่ประการใด 

คำวินิจฉัยพระสติพระเจ้าตากข้อนี้จึงเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ สามารถอธิบายได้จากภาวะโศกเศร้าจากการเสียบุคคลที่ตนรัก หรือโรคเครียดเฉียบพลัน

 

กรณีจัดระเบียบผีสาง

“…ปรการหนึ่งจฆ่าเสียด้วยพระเวทพระมนตรของพระสยมภูวญาณ ให้ถึงแก่ชีวิตรตามโองการพระอิศวรเปนเจ้า…”

พระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปีศาจ

 

คงไม่แปลก หากระหว่างที่ได้อ่านบทนี้จะเต็มไปด้วยความรู้สึกประหลาดใจแกมตื่นเต้นไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากเนื้อหามีการกล่าวถึง ‘การจัดระเบียบและออกคำสั่งผีสาง’ จากเอกสารชิ้นหนี่งชื่อที่เพียงเห็นชื่อก็ต้องสะดุดตาอย่าง ‘พระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปีศาจ

โดยพระเจ้าตากสิน ผู้รับอำนาจจากพระอิศวรและพระนารายณ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากภูตผีปีศาจร้ายมาทำร้ายและสร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ประชาชน พระองค์ทรงพิจารณาว่าผีบ้านผีเมือง รวมถึงเทวดาทั้งหลายต่างไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ในการปกปักรักษาพระราชอาณาจักรอย่างที่ควรจะเป็น จึงมีรับสั่งให้บรรดาผีสางเทวดาทั้งหลายช่วยขับไล่ผีร้ายออกไปนอกเขตขัณฑสีมาเพื่อให้บ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาชนมิต้องเดือดร้อน หากผีตนใด เทวดาองค์ใดไม่ยอมทำตาม ก็จะถูกลงโทษด้วยการขับไล่ออกไปจากพระราชอาณาเขต หรือไม่เช่นนั้นก็จะถูก ‘ฆ่าทิ้งเสียด้วยพลังอำนาจของพระองค์ผู้เป็นตัวแทนของพระอิศวร’

โดยปกติแล้วพระราชโองการจะประกาศใช้เพื่อควบคุม ‘มนุษย์’ ด้วยกันเอง แต่พระราชโองการฉบับนี้กลับเป็นการออกคำสั่งเพื่อควบคุมผีสางเทวดา ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจในสายตาของคนยุคปัจจุบัน ทว่าหากนึกย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้นที่ผู้คนมีความเชื่อและศรัทธาในศาสนาและไสยศาสตร์ ประชาชนโดยมากจึงเชื่อว่ามีวิญญาณสิงสถิตอยู่ในอาณาเขตต่างๆ รอบตัว และวิญญาณเหล่านั้นสามารถให้คุณให้โทษกับพวกเขาได้ ดังนั้นการประกาศใช้พระราชโองการเพื่อควบคุมให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้มาช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์บ้านเมือง จึงถือว่าเป็น ‘วิทยาการบำบัดทุกข์ทางใจ’ อีกหนึ่งวิธี ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ยาหลอก’ (Placebo Effect) 

หากเราเชื่ออย่างสนิทใจว่ายาที่เรากำลังกินหรือสิ่งที่เรากำลังทำ มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคได้จริง ความเชื่อดังกล่าวอาจช่วยให้เราหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งหากคนในสมัยก่อนเชื่อว่าพระราชโองการนี้จะส่งผลให้ภูตผีปีศาจร้ายสงบลงได้จริง ก็อาจจะช่วยพลิกฟื้นวิกฤตการณ์บ้านเมืองให้ดีขึ้นมาได้ การที่พระราชโองการฉบับนี้ระบุไว้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นพระนารายณ์อวตารลงมาฟื้นยุคเข็ญ และทรงเปรียบเสมือนพระอิศวรที่มาอำนวยความสำเร็จให้เกิดแก่แผ่นดิน ทั้งยังมีพลังอำนาจในการสังหารภูติผีปีศาจที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้ นี่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของกษัตริย์อันเปรียบเสมือนเทวราชา ซึ่งนับว่าเป็นการใช้พระราชบารมีในทางศาสนาเข้ามาช่วยเพิ่มพูนอำนาจกับไพร่ฟ้าประชาชนได้อีกด้วย

คำวินิจฉัยพระสติพระเจ้าตากข้อนี้จึงเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ สามารถอธิบายได้จากความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น และอาจเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างพระราชบารมีของพระเจ้าตากสิน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่ยกมาให้เห็นภาพโดยคร่าวๆ ผลการวินิจฉัยทางจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ในอีก 20 เหตุการณ์ที่เหลือจะชี้ให้เห็นถึงพระสติของพระเจ้าตากสินที่ ‘มีทั้งปกติและไม่ปกติ’ ทั้งนี้คำวินิจฉัยทั้งหมดจะถูกนำมาชั่งน้ำหนักและวิเคราะห์ผลรวมในตอนท้ายของหนังสือเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริงว่า ‘สรุปแล้วพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระอาการทางจิตเวช หรือมีพระสติฟั่นเฟือนจริงหรือไม่?’ และหากจริงหรือไม่จริง จะสามารถอธิบายตามหลักการทางการแพทย์ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากถอดแว่นของระบบชนชั้นวรรณะที่สวมอยู่ออกไป ‘พระเจ้าตาก’ ก็ถือเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นผู้เสียสละ ออกมาแก้ไขวิกฤตเพื่อส่วนรวม ต่อสู้ฝ่าฟันกับศัตรูที่มารุกรานอย่างกล้าหาญจนสามารถประกาศศักดาในการกอบกู้บ้านเมืองที่ล่มสลายให้กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง เรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ได้ประสบพบพานมาจะไม่เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและตกตะกอนข้อคิดในหลากหลายแง่มุมของพระมหากษัตริย์ที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าเป็น ‘วีรบุรษผู้กู้ชาติ’ พระองค์นี้

Tags: , , , , , , ,