ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ตระเวนทัวร์เอเชีย เริ่มที่จีน ต่อไปญี่ปุ่น ปิดทริปที่ฮ่องกง ความเคลื่อนไหวรอบนี้ สื่อความหมายทางการเมือง

ไม่ว่าสองพี่น้องสกุลชินวัตรมีเจตนาหรือไม่ อย่างไร ภาพการเดินเที่ยวด้วยกันในกรุงปักกิ่ง แล้วมีข่าวทางสื่อมวลชนในญี่ปุ่นและฮ่องกงว่า คนทั้งสองเดินทางเข้าออกในสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้อ่านความหมาย

อิสระในการเคลื่อนไหวของทริป จีน-ญี่ปุ่น-ฮ่องกง จุดประเด็นคำถามต่อการประทับตราคนทั้งสองเป็น ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’

ขยับอยู่ต่างประเทศ ป่วนหมดในประเทศ

ข่าวสองอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวในภูมิภาค เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2561

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ โพสต์ภาพบิดาทางอินสตาแกรม ระบุว่า คุณพ่ออยู่ที่กรุงปักกิ่ง ต่อมามีการแพร่ภาพสองพี่น้องในเฟรมเดียวกัน สื่อมวลชนไทยบอกว่าเป็นภาพที่บันทึกในเมืองหลวงของจีน

ข่าวนี้ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ว่ามีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าทั้งคู่ปรากฏตัวที่กรุงปักกิ่งจริง ต่อมา สื่อญี่ปุ่น เดอะ เจแปน ไทมส์ รายงานว่า ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ พำนักในญี่ปุ่นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 10 ก.พ. จากนั้นเดินทางไปยังฮ่องกงในวันที่ 13 ก.พ.

เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ สื่อในฮ่องกงรายงานสอดคล้องกัน เพียงแต่เที่ยวนี้ ข่าวไม่ได้ระบุว่านายทักษิณร่วมเดินทางด้วย บอกเพียงว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ไปถึงฮ่องกงในวันอังคาร

การปรากฏตัวของคนทั้งสอง ดูจะสร้างความขัดอกขัดใจแก่รัฐบาลทหาร

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “ขณะนี้ประเทศไทยมีสองคนขยับอยู่ต่างประเทศ แต่กลับทำให้คนป่วนไปหมดในประเทศ”

ประเทศที่สองพี่น้องเยี่ยมเยือน ล้วนเป็นพี่เบิ้ม บางประเทศ มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย อย่างเช่นอังกฤษ (Thailand Law Forum, 19 August 2009) หรือจีน (Thailand Law Forum, 19 May 2009) ในกรณีจีน เมื่อไม่นานมานี้ ไทยส่งชาวอุยกูร์นับร้อยกลับไปให้รัฐบาลปักกิ่ง

“ขณะนี้ประเทศไทยมีสองคนขยับอยู่ต่างประเทศ แต่กลับทำให้คนป่วนไปหมดในประเทศ”

ทำไมผู้นำรัฐบาลจึงขุ่นเคือง

เรื่องนี้อาจเข้าใจได้ หากอ่านความหมายไปในทางที่ว่า การปรากฏตัวของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ส่งผลเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของระบอบทหาร ที่แขวนป้ายคนทั้งสองเป็น ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’

‘อาชญากร’ หรือ ‘เหยื่อการเมือง’

จนถึงวันนี้ รัฐบาลทหารยังคงพูดถึงความพยายามที่จะติดตามตัว ‘นักโทษหนีคุก’ กลับมารับโทษทางอาญา

คำว่า อินเตอร์โพล ถูกเอ่ยถึงอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ตำรวจสากลไม่เคยขานรับทางการไทย ที่ขอให้ออกหมายจับ ตั้งแต่คราวนายทักษิณ จนถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์

กรณีอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงนั้น ตำรวจไทยยอมรับตั้งแต่เมื่อต้นปีว่า อินเตอร์โพลไม่รับคำร้องขอหมายจับ

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ บอกว่า ตำรวจสากลไม่รับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ดังนั้น เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์อินเตอร์โพล จึงไม่ปรากฏชื่อของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการขอให้อินเตอร์โพลออกหมายจับจนถึงที่สุดแล้ว

ทำไมตำรวจสากล ซึ่งมีชื่อเต็มว่า องค์การตำรวจคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ปฏิเสธที่จะออกหมายจับนางสาวยิ่งลักษณ์

ตำรวจสากลไม่เคยขานรับทางการไทย ที่ขอให้ออกหมายจับ ตั้งแต่คราวนายทักษิณ จนถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์

ธรรมนูญของตำรวจสากลบัญญัติว่า อินเตอร์โพลมีพันธะต้องรักษาความเป็นกลาง และปกป้องบุคคลจากการข่มเหงรังแก หรือถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม

บทที่ 3 ของธรรมนูญฯ เขียนไว้อย่างชัดเจน ห้ามมิให้องค์การตำรวจสากลเข้ายุ่งเกี่ยวในเรื่องการเมือง การทหาร ศาสนา และเชื้อชาติ

การปฏิเสธที่จะออกหมายจับตามคำขอของไทยนี้ เป็นเพราะสำนักเลขาธิการใหญ่ของอินเตอร์โพล ซึ่งตั้งอยู่ในฝรั่งเศสพิจารณาว่า คดียิ่งลักษณ์รวมทั้งคดีทักษิณเป็น ‘คดีการเมือง’ ใช่หรือไม่

อินเตอร์โพลไม่อยู่ในฐานะที่จะไขข้อข้องใจที่ว่า เพราะนั่นจะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย

นานาประเทศที่พิจารณาออกวีซ่า หรือให้ถิ่นพำนักแก่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ก็ถือหลักปฏิบัติอันเดียวกัน ประเทศเหล่านั้นไม่อาจเล่าแจ้งแถลงไขได้ เหตุใดจึงอนุญาตการเดินทางเข้าออก

‘ท่านผู้นำ’ ระวังเข้าเนื้อ

ตลอดทริป จีน-ญี่ปุ่น-ฮ่องกง ทั้งนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีถ้อยแถลงอันใดออกมานอกจากคำฝากอวยพรตรุษจีน ทว่าอิสระเสรีในการไปในที่สาธารณะสื่อความหมายโดยตัวมันเองว่า ประเทศทั้งหลายไม่ได้ถือว่าคนทั้งสองเป็นอาชญากร

พล.อ.ประยุทธ์ดูจะยอมรับว่า การอนุญาตให้ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เดินทางเข้าออกหรืออยู่อาศัย การปฏิเสธที่จะส่งตัวคนทั้งสองกลับมาให้รัฐบาลไทย อาจเป็นเพราะประเทศเจ้าบ้านมองว่า คดีของคนทั้งสองเป็นเรื่องทางการเมือง

อย่างไรก็ดี หัวหน้ารัฐบาลทหารฝากคำเรียกร้องไปยังประเทศเหล่านั้น

“อย่าให้มีการเคลื่อนไหวของคนที่ทำผิดกฎหมายของแต่ละประเทศ ทีเราเคารพกฎหมายคนอื่น ดังนั้น คนอื่นต้องเคารพกฎหมายเราด้วยเช่นกัน นั่นคือ ความเป็นศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของประเทศไทย” (แนวหน้า, 12 กุมภาพันธ์ 2561)

เมื่อนายกรัฐมนตรีไทยออกตัวแรงขนาดนี้ น่าสนใจว่า นานาประเทศจะตอบสนองหรือไม่

ถ้านานาชาติน้อมรับทำตามคำเรียกร้อง ถือได้ว่า คำพูดของผู้นำไทยมีน้ำหนัก พูดจาอะไร ต่างชาติให้ราคา พาให้ไทยแลนด์มีศักดิ์ศรีบนเวทีโลก.