1

ผมไปพม่าครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อปี 2013 เป็นห้วงเวลาก่อนที่อองซานซูจีจะขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด ในเวลานั้น พม่าเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น การท่องเที่ยวมัณฑะเลย์เริ่มเฟื่องฟู การขอวีซ่า ไม่ได้ยากเหมือนในสมัยก่อน เพราะผู้นำทหารเริ่มรู้ดีว่า ‘การท่องเที่ยว’ จะเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้เข้าประเทศ ขณะเดียวกัน มัณฑะเลย์ก็รุ่มรวยด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จำนวนมาก

ตอนนั้นทหารเริ่มจะ ‘ถ่ายโอน’ อำนาจหลายอย่างให้พลเรือนมากขึ้น เริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหลายอย่าง แน่นอนว่า ‘ทุนไทย’ เป็นอันดับต้นๆ ที่ลงทุนในมัณฑะเลย์ โรงแรมที่ผมอยู่เปิดโดยคนไทย มีพ่อครัวเป็นคนไทย และทำอาหารไทยได้อร่อยไม่แพ้โรงแรมหรูๆ ในกรุงเทพฯ

รัฐมนตรีสาธารณสุขพม่าบอกกับผมว่า เขามอง ‘ไทย’ ในฐานะต้นแบบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการทำระบบ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งไทยเป็นต้นแบบให้กับภูมิภาค รวมถึงเป็นต้นแบบให้กับทั่วโลก พม่ากำลังเปลี่ยนไปทุกด้าน จากทุนไทยและทุนจีนที่คืบคลานเข้าไป พร้อมกับเปิดกว้างให้กับการลงทุนในตลาดเสรี ไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าทั้งไทยและพม่าจะกลับไปเป็น ‘เผด็จการ’ ที่เคร่งครัดอีก

เพราะบทเรียนของทั่วโลก ระบอบการปกครองที่ ‘เลว’ น้อยที่สุดคือระบอบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้คนลืมตาอ้าปากมากที่สุด

กระนั้นเองหลังจากนั้นไม่กี่ปี นาฬิกาของทั้งสองประเทศก็หมุนทวนกลับอีกครั้ง ไทยกลับไปเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบเมื่อปี 2014 ส่วนพม่ากลับไปเป็นเผด็จการสุดขั้วหลังผ่านพ้นปี 2021 มาได้ไม่นาน

สำหรับไทยนั้น เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าสาเหตุสำคัญของการกลับไป-กลับมาคืออะไร แต่สำหรับพม่า คำถามที่ติดอยู่ในหัวผมตลอดเวลาก็คือ ทำไมประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ถึงต้องเผชิญวิบากกรรมว่าด้วยเผด็จการตลอดเวลา และทำไมถึงไม่อาจหลุดพ้นได้เสียที

2

จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ หรือ Finding George Orwell in Burma ซึ่งมี เอ็มมา ลาร์คิน (Emma Larkin) เป็นผู้เขียน และมี สุภัตรา ภูมิประภาส เป็นผู้แปล พาย้อนกลับไปยังพม่าในยุคที่เป็น ‘เผด็จการ’ สมบูรณ์แบบ ลาร์คินเล่าเรื่องเทียบเคียงผ่านชีวประวัติ เรื่องสั้น และนิยาย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งล่วงลับไปตั้งแต่ปี 1950 เปรียบเทียบกับเรื่องราวของพม่าในยุคเผด็จการสุดขั้ว เพื่ออธิบายว่า เรื่องราวแนว ‘ดิสโทเปีย’ ซึ่งเกิดขึ้นในนิยายเรื่อง 1984 หรือเรื่องราวเสียดสีเผด็จการอย่าง Animal Farm ของออร์เวลล์แทบไม่ได้ต่างอะไรกับพม่า ในช่วงเวลาของการปกครองของภายใต้คณะทหาร

การเดินทางของลาร์คินพาเธอไปทั่วประเทศ ตั้งแต่มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง เมาะละแหม่ง เมาะตะมะ เมืองพักตากอากาศอย่างเมย์เมี้ยว กะต่า และอีกหลายเมือง เพื่อตามรอยออร์เวลล์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นตำรวจประจำการอยู่ในพม่าในทศวรรษที่ 1920s ในสมัยที่ยังเป็นประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

ด้วยการเทียบเคียงเรื่องราวชีวิตของออร์เวลล์ ฉากในนิยายของออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์พม่า และวิถีชีวิตของคนพม่าในปัจจุบัน ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากทั้งไกด์บุ๊กและหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

ถามว่าพม่าในห้วงเวลาที่ลาร์คินเดินทางเข้าไปนั้นเลวร้ายขนาดไหน ณ ตอนนั้น คนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ ผู้ที่แอบตีพิมพ์หนังสือ หรือเสียงดังในทางการเมือง และเสียงดังในการวิพากษ์วิจารณ์คณะทหาร จะต้องถูกจับกุมเข้าเรือนจำหรือถูกอุ้ม

ส่วนคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองก็ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ผลผลิตทางการเกษตรถูกรัฐกดราคา ไม่ให้สามารถขายได้ในราคาที่เป็นธรรม ไม่มีสวัสดิการ การรักษาพยาบาลใดๆ ผ่านระบบรัฐ งบประมาณด้านการศึกษาก็ไม่เคยได้รับการอุดหนุน เท่ากับงบประมาณในการซื้อยุทโธปกรณ์ มหาวิทยาลัยเปิด-ปิด บ่อยๆ และปิดทุกครั้งที่มีความพยายามเคลื่อนไหวทางการเมือง

แม้แต่วรรณกรรมและหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์หลายๆ เรื่อง ยังถูก ‘แบน’ แน่นอนว่านิยายของออร์เวลล์ 2 เรื่องดังอย่าง Animal Farm และ 1984 ไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านในพม่า แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ Burmese Day นวนิยายอีกเรื่องของเขาสามารถวางแผงได้ เพราะเล่าถึงช่วงเวลาเลวร้ายและการกดขี่ของประเทศเจ้าอาณานิคมในขณะที่พม่าตกอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ

แต่หากเป็นเรื่องเสียดสี เรื่องที่พูดถึงชีวิตที่ ‘ดีกว่า’ ในต่างประเทศ แน่นอนว่าทหารซึ่งทำตนเสมือนเป็น ‘ผู้ปกป้อง’ ประชาชนย่อมไม่อยากให้พลเมืองของตัวเองรับรู้

เพราะเผด็จการเคยมีบทเรียนสำคัญจากการนองเลือดในปี 1988 ที่ยอมเปิดช่องให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษา และปัญญาชน ‘รู้มาก’ เกินไป จนทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเติบโต และทำให้ทหารผู้ครองอำนาจไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากการใช้กระสุนจริง จนมีผู้เสียชีวิตนับพันคน

สุดท้าย เหตุการณ์ในปี 1988 กลายเป็น ‘รอยด่าง’ สำคัญที่ทำให้รัฐบาลทหารรู้สึกตัวว่าจะต้อง ‘ควบคุม’ ความคิดของคนให้ได้ เพราะในเมื่อคน ‘คิดได้’ มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นภัยต่อการปกครองในระบอบอำนาจนิยมมากเท่านั้น

“War is peace. Freedom is slavery. Ignorance is strength.”

สงครามคือสันติภาพ อิสรภาพคือการเป็นทาส ความโง่เขลาคือพลัง ประโยคหลักจาก 1984 ซึ่งออร์เวลล์เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1949 ดูจะอธิบายพม่าภายใต้เผด็จการไว้อย่างน่าทึ่ง

3

ก่อนปี 1962 พม่าเคยดีกว่านี้ พม่าเป็นผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาค สามารถส่งออกข้าวและไม้สักได้เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค เลขาธิการยูเอ็นคนแรกของภูมิภาคนี้ก็เป็น อู ถั่น ชาวพม่า

แต่ประเทศนี้โชคร้าย ถึงแม้นายพลอองซาน พ่อของอองซานซูจี จะพา ‘คณะกู้ชาติ’ เอาชนะอังกฤษได้ในที่สุด แต่เขาก็ถูกลอบยิงเสียชีวิตตั้งแต่ปี 1947 ก่อนจะได้เห็นพม่าเป็นเอกราชในปี 1948 เสียด้วยซ้ำ อู้นุ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ก็ไม่สามารถรักษาพม่าไว้ได้นาน

พม่าหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษนั้น ‘เปราะบาง’ เกินไป ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลาง ความขัดแย้งระหว่างทหาร รัฐสภา และรัฐบาลพลเรือน กลายเป็นช่องว่างให้เกิดการรัฐประหาร นายพลเนวิ่นพาพม่ากลับเข้าสู่ระบบอำนาจนิยม และระบบสังคมนิยมสุดขั้ว ทำให้พม่ากลายเป็นประเทศยากจนตลอดมา ตรงกันข้ามกับคณะทหาร และเจ้าหน้าที่ซึ่งแวดล้อมบริวารที่ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ

“ลัทธิอำนาจนิยมในพม่าหยั่งรากในพม่าได้อย่างไร นั่นคือเป็นความผิดของอังกฤษ เมื่ออังกฤษยึดครองพม่า อังกฤษทำลายสถาบันการปกครองดั้งเดิมของพม่าทั้งระบอบกษัตริย์ สถาบันสงฆ์ ศูนย์กลางการปกครอง พวกเขาเนรเทศกษัตริย์ผู้เป็นศูนย์กลางของระบอบการปกครองและศาสนา กักกันพระองค์ไว้อย่างระแวดระวังจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในอินเดีย”

“พวกเขาเอาระบบราชการฝึกฝนพร้อมใช้งานจากอินเดียเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองตามจารีต และพวกเขาจัดการแบ่งแยกแล้วปกครองในหมู่ชาติพันธุ์ทั้งหลาย ระบบนี้ไม่ยั่งยืนเมื่อไม่มีอังกฤษ และระบบนี้ล่มสลายหลังอังกฤษจากไป กองทัพพม่าจึงเข้ามาจัดการกับความวุ่นวายที่ตามมา” ลาร์คินเขียนไว้ในหนังสือ

ที่สำคัญก็คือ แทนที่คนอย่างเนวิ่นจะกลายเป็น ‘วีรบุรุษ’ จากการรัฐประหาร ฉากสุดท้ายของชีวิตเขากลับตายอย่างโดดเดี่ยว และแทบไม่ปรากฏตัวอีกเลยในช่วงสิบกว่าปีก่อนตาย เพราะในห้วงวาระท้ายๆ ของชีวิต เนวิ่นสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปทั้งหมด ทหารรุ่นหลังเขามองว่าเนวิ่นนั้น ‘อ่อน’ เกินไป พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแทน และประวัติศาสตร์ว่าด้วยเนวิ่นก็ถูกลบออกแทบเกลี้ยง

“ไม่มี จะไม่มีอะไรเปลี่ยนเพียงเพราะเขาตาย ความตายของเขาไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไร ไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงเลย” ลาร์คินสัมภาษณ์ชาวพม่าในห้วงเวลามรณกรรมของเนวิ่น สะท้อนชัดว่าชาวพม่าคิดอย่างไรกับเผด็จการที่ ‘รู้สึกไปเอง’ ฝ่ายเดียวว่าเป็นพวก ‘ผู้ปกป้องรักษาชาติ’

4

แต่พม่าในปี 2021 นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แน่นอน แม้โดยภาพรวมของประเทศนี้จะยังยากจน คุณภาพชีวิตจะยังไม่ได้ดีนัก แต่การเข้าถึงข่าวสาร การได้สัมผัสรสชาติของผู้นำที่พวกเขาสามารถ ‘เลือก’ และควบคุมด้วยตัวเอง ย่อมทำให้เห็นว่า ‘ประชาธิปไตย’ ให้คำตอบได้ดีกว่าการเป็นเผด็จการ

เพราะเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะยิ่งรู้ซึ้งดีว่าเผด็จการนั้นไม่ได้มีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้ให้มรรคผลอะไรกับคนในชาติ และประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของพม่าว่าด้วย ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ไล่มาจนถึงราชวงศ์ก็ถูกลบล้างออกไปหมดตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ และทำตัวเป็นผู้ปกครองมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้ ทหารพม่าจึงไม่มีคุณค่าใดให้เข้าไปเกาะเกี่ยวหรือต้องรักษา

จริงอยู่ว่าอองซานซูจีไม่ได้เป็นรัฐบาลวิเศษวิโส ผู้นำจากพรรคเอ็นแอลดี วัย 75 ปี ยังมีรอยด่างพร้อย ทั้งเรื่องโรฮีนจา เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือการจัดการแก้ปัญหาความยากจนที่ยังไม่ได้ดีเท่าไรนัก แต่เมื่อเทียบกันแล้ว หากย้อนกลับไปในห้วงเวลา 50 ปีก่อน พม่าอาจอยู่ในช่วงเวลาที่มี ‘ความหวัง’ มากที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อทหารตัดสินใจทำรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดจึงต่างออกไป คนพม่าเริ่มรู้ว่าถึงเวลาต้องสู้ และถ้าไม่สู้ ประวัติศาสตร์เรื่องเดิมก็จะหมุนกลับมาใหม่ เพราะพวกเขารู้ดีอยู่แล้วว่าผลลัพธ์ภายใต้ระบอบ ‘อำนาจนิยม’ เบ็ดเสร็จนั้น เป็นอย่างไร

นวนิยายของออร์เวลล์นั้นมักจะจบด้วยความ ‘สิ้นหวัง’ และการยอมรับกับ ‘อำนาจนิยม’ ซึ่งคนพม่ารู้ดี และเข้าถึงได้ทั่วแล้วในโลกยุคที่มีอินเทอร์เน็ต

แน่นอน พวกเขามีบทเรียนผ่านทั้ง ‘วรรณกรรม’ อย่าง 1984 และผ่านเรื่องจริงผ่านทั้งประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ส่วนตัว และคำบอกเล่า ว่าอะไรที่พาพม่ามาถึงจุดนี้

คนพม่ายุคนี้จึงต้องสู้ทุกทางเพื่อให้ทุกอย่าง ไม่จบเหมือนเดิม และไม่กลับไปสู่ที่เดิม

Fact Box

จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา, ผู้เขียน เอ็มมา ลาร์คิน, ผู้แปล สุภัตรา ภูมิประภาส, สำนักพิมพ์มติชน / ราคา 270 บาท

Tags: , , , , , ,