นักเขียน สื่อมวลชน ช่างภาพรุ่นใหญ่ ไม่มีใครไม่รู้จัก รงค์ วงษ์สวรรค์
คุณรู้จัก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในรูปแบบใด? ผู้เป็นต้นแบบงานเขียนชั้นบรมครู ช่างภาพหนังสือพิมพ์ผู้กระหายประเด็นที่ถึงลูกถึงคน เพื่อนพ้องที่สนิทชิดเชื้อในวงสุรา รุ่นพี่ในวงการสื่อมวลชนที่น่าเคารพ หรือไม่รู้สิ่งใดเกี่ยวกับตัวเขาเลย
ไม่ว่าคุณจะรู้จักเขาเป็นอย่างดีหรือเพียงแค่คุ้นชื่อ แต่หากคุณต้องการทำงานในแวดวงสื่อมวลชน หนังสือเล่มนี้จะเปรียบได้กับยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดไว้ เพราะนอกจากจะเป็นบทสัมภาษณ์สุดท้ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2538 ยังเป็นงานเขียนและสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธ์ุพงศ์ นักสัมภาษณ์มือต้นๆ ของประเทศไทย
ชั้นเชิงในการตั้งคำถาม และความลุ่มลึกในคำตอบ ล้วนเป็นสมบัติล้ำค่าสำหรับผู้ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนทั้งสิ้น แต่ถึงแม้ว่าจะเลือกอ่านเพียงเพื่อความเพลิดเพลิน หนังสือเล่มนี้ก็มีส่วนผสมในการเขียนของผู้สัมภาษณ์ที่สละสลวย และเรื่องราวของผู้ให้สัมภาษณ์ที่น่าติดตาม
‘นักเล่าเรื่อง’ ที่เริ่มต้นจากการเป็น ‘ช่างภาพ’ ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ก่อนที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะก้าวเข้าสู่โลกของการเขียน และกลายเป็นไอคอนของวรรณกรรมไทย เขาเริ่มต้นสายงานสื่อมวลชนโดยการเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด และยังคงวางขายอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งงานเขียนและงานถ่ายเขาล้วนมี ‘เฉียบ’ ในการเล่าเรื่อง และ ‘คม’ ในการเลือกประเด็น หากคิดดูดีๆ แล้ว ’รงค์ น่าจะเป็น Storyteller และ Content Creator คนแรกๆ ของประเทศไทย
สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือคือ ช่วงที่ผู้สัมภาษณ์อย่างวรพจน์ ถาม ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า “ได้โอกาสไปทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐได้อย่างไร?” ซึ่งวิธีการสมัครงานของ ’รงค์ คือการ ‘เอารูปไปขายให้กับกองบรรณาธิการ’ แต่ช่วงแรกๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน เพียงถูกใช้งานให้ทำอย่างอื่นในกอง เช่น การพิสูจน์อักษร จนในที่สุดเขาจึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ แม้ว่าจะไม่มีวุฒิการศึกษาที่จบมาตรงสายก็ตาม
การทำงานไม่ตรงสายในปัจจุบันอาจดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะการหาความรู้เพิ่มเติมนั้นสามารถทำได้ง่ายดายจากการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แต่หากย้อนกลับไป 60 กว่าปีก่อน การจะทำเช่นนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวของ ’รงค์ จบมาจากโรงเรียนเตรียมฯ และไม่ได้ศึกษาต่อด้านวารสารอย่างจริงจัง เพียงแค่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่สามารถนำตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ได้
’รงค์ เล่าว่า การทำงานของเขาไม่ต้องการรอให้บรรณาธิการมาสั่งว่าต้องทำอะไร แต่เขามักจะออกไปตะลอนเก็บภาพอยู่เสมอ เรียกได้ว่าที่ไหนมีเรื่อง ที่นั่นมี ’รงค์ หรือหากมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น เขาก็จะกระเตงกล้อง Rolleiflex ออกไปเก็บภาพเสมอ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างภาพของผู้คนที่ไปเที่ยวไนต์คลับ เขาก็สามารถเก็บภาพในชีวิตประจำวันที่หลายคนไม่เคยสังเกตุเห็น และนำภาพชุดมาประกอบกับการเขียนบรรยาย เพื่อให้งานของเขาดูน่าสนใจขึ้นมากกว่าเดิม
กิน ดื่ม เที่ยว และเซ็กซ์ สิ่งที่ทำให้ตัวเราจดจำว่าเราคือมนุษย์
หลายคนชอบมองว่างานเขียนที่ดีนั้น ต้องเป็นงานเขียนที่เล่าถึงเรื่องที่ยิ่งใหญ่ สามารถขับเคลื่อนสังคมให้เกิดพลวัฒน์ ยกระดับจิตใจของผู้คนให้ดีขึ้นได้ แต่ไม่ใช่กับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เล่าว่าชอบที่จะ ‘เขียนเรื่องของตัวเอง’ เพราะไม่รู้จักสิ่งใดได้ดีกว่าตัวของเขาเองอีกแล้ว
ในตอนหนึ่ง วรพจน์ถามว่าทำไมถึงชอบเขียนเรื่องกินดื่ม ’รงค์ ตอบว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือเรื่องของการกิน ดื่ม เที่ยว และเซ็กซ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบอกว่ามนุษย์ไม่ควรลืม และเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ บรรพบุรุษของมนุษย์มีการลองผิดลองถูกในการปรุงอาหาร ในการค้นหาวัตถุดิบ ผักเนื้อ และกระบวนการที่เพิ่มรสชาติ และวัฒนธรรมในการกิน ไม่เว้นแม้แต่ผงชูรส แล้วการใส่ใจในเรื่องกินดื่มนั้นจะเป็นเรื่องที่ผิดแผกอะไร เมื่อความอร่อยในจานนั่นคือสิ่งที่ตอกย้ำวิวัฒนาการของความเป็นคน
’รงค์ เล่าว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เขินอาย แต่กับเรื่องเซ็กซ์ทำไมถึงต้องเขิน ในเมื่อปัญหาในครอบครัวต่างๆ อาจมีเซ็กซ์เป็นส่วนประกอบ เพราะการศึกษาเรื่องเพศของประเทศไทยทำให้ผู้คนต่างปิดกั้นเรื่องเหล่านี้ จนในบางครั้งได้รับความเชื่อที่ผิดๆ เข้ามา ไม่มีใคร Born to be fucker ทุกอย่างต้องมีการฝึกฝน แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่เขินอาย แต่เป็นสิ่งที่ต้องเปิดรับปรับเข้าหากันของคู่สามีภรรยา ไม่มีฝ่ายใดผิดหรือถูกทั้งนั้น
’รงค์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเพศของประเทศไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า คนไทยมักจะเป็นชนชาติที่หาวิธีในการแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ กลัวเยาวชนกินเหล้าก็แบนโฆษณาสุรา หรือการแพร่ระบาดของหนังสือผู้ใหญ่ก็กลับไปห้ามขาย ห้ามวางจำหน่าย แทนที่จะคอยบอกสั่งสอนลูกหลานให้รู้จักเรื่องเพศให้ถูกวิธี บางปัญหาแก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปแก้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหามากกว่า
จะว่าอะไรผมก็ว่าได้ แต่มาว่าผมเรื่องงานไม่ได้ เขียนหนังสือมา 50 กว่าปี มี 100 กว่าเล่ม เหลวไหลหรือวะคนแบบนี้
ครั้นเมื่อวรพจน์ถามถึงเรื่องของเสียงวิจารณ์ต่อตัวของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า ผู้คนจะวิจารณ์เขาว่าอย่างไรเป็นส่วนมาก
’รงค์ กล่าวว่าผู้คนชอบมองว่าเขาเป็นคนที่ชอบกินเหล้า เสเพล ติดเที่ยว และเจ้าชู้เพลย์บอย แต่กับเรื่องงานเขียนที่เขารัก เขาไม่ยอม “เรื่องอื่นคุณว่าผมได้ แต่เรื่องงานคุณด่าผมไม่ได้” ’รงค์ เล่าว่าเขาเป็นคนขี้เมาที่ทำงานเป็นระเบียบมาก แม้จะเมาแค่ไหนแต่ต้นฉบับกลับ เรียบร้อย สะอาด และผิดกับเสียงครหาของคนอื่นที่ว่ามา
“ทำงานหนัก แต่ผมรู้จักพักผ่อน กินเหล้าบ้างไปเที่ยวบ้าง ชอบกินเหล้า ชอบเพื่อน ชอบผู้หญิงผมไม่เถียง แต่ไม่เลวทราม ผิดศีลธรรม อย่างที่เขานินทา” และเสริมว่า บางครั้งก็มีขุ่นเคืองใจอยู่บ้างที่ตัวเขาถูกด่าทอลามไปถึงบุพการีและเรื่องส่วนตัว
’รงค์ มองว่าอาจจะเป็นเพราะเขาใหม่สำหรับเมื่อ 65 ปีก่อน ตอนที่ได้ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่อนุกรักษนิยม ซึ่งความก้าวหน้าของยุคสมัยอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะ จึงอาจต้องโดนพูดถึงบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
อีกสิ่งหนึ่งที่ ’รงค์ บอกคือ ‘เขาไม่ชอบใช้สำนวนซ้ำกับคนอื่น’ สมัยที่ยังเขียนอย่างต่อเนื่อง เขาชื่นชอบที่จะประดิษฐ์คำพูดใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่นคำว่า ‘หน้าเปื้อนยิ้ม’ หรือคำว่า ‘สแควร์’ ที่ใช้ทับศัพท์คำว่าจตุรัส ในหนังสือเรื่อง ‘บางลำภูสแควร์’
“วิจารณ์ถูกต้อง ก็รับฟัง ไม่ถูกต้อง ก็ไม่รับฟัง ถ้าวิจารณ์งาน ก็ยอมรับ แต่วิจารณ์ชีวิตส่วนตัว ไม่ยอมรับ”
บทสนทนาที่เต็มอิ่มทั้งความสวยของภาษา และการแฝงแง่คิดที่ก้าวหน้าเกินยุคสมัย
’รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียชีวิตในปี 2552 แต่คำพูดและวิธีคิดของเขาที่ วรพจน์ พันธ์ุพงศ์ ได้สัมภาษณ์ และเรียบเรียงออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าจะอ่านในเวลา 13 ปีให้หลัง ช่วงเวลาที่เราเชื่อว่าสังคมมีความวิวัฒน์และเปิดกว้างมากแล้ว บางสิ่งที่ ’รงค์ พูดไว้กลับยังคงฟังดูล้ำยุคอยู่เสมอ และบางอย่างก็เป็นสิ่งที่มาก่อนกาล ก้าวหน้าจนคนรุ่นใหม่บางคนอาจต้องรู้สึกชรา แต่ไม่ได้ทรามวัยเหมือนเด็กไร้เดียงสาแต่อย่างใด
หนังสือ เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เล่มนี้จึงควรค่าแก่การหามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในแวดวงสื่อมวลชน ช่วงภาพ นักข่าว หรือใครก็ตามที่หลงไหลในการเล่าเรื่อง เพราะบทสนทนาในเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับวิธีเขียนและวิธีคิดของคุณ แต่ยังช่วยเปิดดวงตาให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
Fact Box
เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์, ผู้เขียน วรพจน์ พันธ์ุพงศ์, ออกแบบปก Wrongdesign, ถ่ายภาพ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์, สำนักพิมพ์บางลำพู, ราคาปกอ่อน 300 บาท, ปกแข็ง 400 บาท