ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่าน นอกจากจะมีศิลปินร่วมสมัยชาวไทยหลากหลายคนเข้าร่วมแสดงงานกันอย่างคับคั่งแล้ว ยังมีเหล่าบรรดาศิลปินชั้นนำระดับโลกตบเท้าเข้ามาร่วมแสดงงานกันในบ้านเรามากหน้าหลายตา หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของโลกอย่าง อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) ประติมากรชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ผู้ทำงานท้าทายและยกระดับการรับรู้ที่มีต่อศิลปะของผู้ชม เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแนวคอนเซ็ปชวลที่เต็มเปี่ยมด้วยความงามราวกับบทกวี แต่ก็แฝงเร้นการอุปมาอันลุ่มลึกคมคาย 

ผลงานของเขามักเป็นประติมากรรมนามธรรมขนาดมหึมาที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวงาน และสัมผัสกับประสบการณ์อันน่าพิศวงราวกับอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างห่างไกลและอบอุ่นชิดใกล้ราวกับอยู่ในครรภ์มารดาไปพร้อมๆ กัน ประติมากรรมของเขาเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดของปรัชญาอันซับซ้อนลึกซึ้ง และประสบการณ์ดาษดื่นสามัญในชีวิตประจำวันของคนเรา เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแสดงถึงความสัมพันธ์อันน่าสนใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

คาพัวร์สนใจในความเป็นอนันต์และความว่างเปล่าอันไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับการขุดคว้านพื้นที่เพื่อเสาะหาความหมาย และสะท้อนสภาวะอันว่างเปล่าและหมดจดของจิตใจมนุษย์ เขามักจะใช้สีสันเพื่อแสดงออกถึงสภาวะของร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นสีแดงสดแทนเลือดและการมีชีวิต, สีดำสนิทแสดงถึงห้วงเหวลึกสุดหยั่งในจักรวาล หรือสีเลื่อมมันวาวแบบกระจกเงาที่สะท้อนภาพของท้องฟ้าอันกว้างไกล หรือแม้แต่สะท้อนถึงตัวตน ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของผู้ที่จ้องมองมัน ผลงานของเขามักจะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อันสุดจะคาดเดาและนำเสนอความเป็นไปได้อันไม่รู้จบในการไตร่ตรองและสำรวจตัวเองให้แก่ผู้ชม

ด้วยผลงานประติมากรรมสาธารณะขนาดมหึมาที่ติดตั้งในทั่วโลก เขาสร้างภาษาสัญลักษณ์อันไร้คำพูดที่สามารถสื่อสารกับผู้คนในหลายชาติ หลากวัฒนธรรม ต่างช่วงเวลาได้ รวมถึงแสดงการจับคู่เปรียบของสิ่งที่แตกต่างกันหากแต่ก็อยู่เคียงคู่กันอย่างแสงสว่างและความมืด, ผืนแผ่นดินและท้องฟ้า, จิตใจและร่างกาย, ชายและหญิง หรือแม้แต่งานจิตรกรรมและประติมากรรม

อนิช คาพัวร์ เป็นบุคคลที่มีส่วนผสมของหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรม เขาเกิดในอินเดีย ในครอบครัวชาวยิว อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เคยนับถือศาสนาคริสต์และฮินดู ก่อนจะหันมานับถือพุทธศาสนาในภายหลัง แนวคิดในการทำงานของเขาจึงเป็นส่วนผสมของหลากวัฒนธรรม ทั้งยิว คริสเตียน ฮินดู พุทธ และปรัชญาทั้งตะวันตกและตะวันออก

Push-Pull II, 2008-2009 ภาพผลงานจัดวางในศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ เอื้อเฟื้อภาพโดย Lisson Gallery

ทำให้ผลงานชิ้นหลักของเขาที่นำมาแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ในพื้นที่เขตพระอารามหลวงทั้งสองแห่งอย่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และวัดอรุณราชวราราม (วัดอรุณ) มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับระบบสัญลักษณ์จักรวาลวิทยาทางศาสนาฮินดู-พุทธ 

ผลงาน Push-Pull II (2009) ที่ติดตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ ประติมากรรมรูปครึ่งวงกลมขนาดยักษ์ที่เคลือบด้วยขี้ผึ้งผสมเม็ดน้ำมันสีแดงสด ที่เล่นกับการใช้รูปทรงหรือแผนภาพสองมิติ อย่างแผ่นสี่เหลี่ยมแบนๆ เจาะรูให้เป็นรูปทรงเหมือนด้ามเลื่อย แล้วเคลื่อนไหวในกิริยาดึงและดันด้ามเลื่อยในทิศทางครึ่งวงกลมไปมาจนเกิดเป็นรูปทรงสามมิติขึ้นมา รูปทรงและพื้นผิวของก้อนขี้ผึ้งสีแดงที่เห็นเป็นภาพแทนผลลัพธ์ของการเคลื่อนไหวดังกล่าว 

“Push-Pull II ตั้งอยู่เต็มพื้นที่กลางศาลการเปรียญ สร้างบทสนทนาระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับสถาปัตยกรรมโบราณที่มีอยู่แต่เดิม กองขี้ผึ้งสีแดงโดดเด่นบนพื้นขาวมันวาว เลื่อยโลหะสีเข้มแขวนด้วยสายโซ่ แสดงความรู้สึกไม่แน่นอน คำถามแรกของผู้ชมงานส่วนใหญ่ก็คือ งานเข้ามาอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ได้อย่างไร ราวกับปาฏิหารย์ มวลขี้ผึ้งสีแดงขนาดใหญ่ดูเหมือนจะโผล่ขึ้นมาจากใต้พื้น 

“คาพัวร์อธิบายว่ามวลขี้ผึ้งสีแดงขนาดใหญ่แสดงช่วงเวลาคับขันของการเกิดและตาย เราจะได้ตระหนักเรื่องชีวิต เลือดเนื้อ ช่วงเวลาที่มารดาให้กำเนิดและช่วงเวลาที่ตาย ก้อนขี้ผึ้งหยาบๆ บนพื้นหินอ่อนสีขาวที่ดูเหมือนเลือดแห้งกรังนั้นอาจมีนัยยะเรื่องเพศด้วย ผู้ชมงานบางคนตีความขี้ผึ้งสีแดงว่าเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการเกิดและช่วงการมีประจำเดือน ผลงานของคาพัวร์สร้างบทสนทนากึ่งความจริงกึ่งจินตนาการ ระหว่างประเพณีกับความร่วมสมัย ระหว่างสถาปัตยกรรมกับศิลปะ ระหว่างความเชื่อทางจักรวาลวิทยา กับความศรัทธาแบบฮินดู-พุทธ และระหว่างความเป็นหญิงกับความเป็นแม่”*

อนิช คาพัวร์ Sky Mirror, 2015 สแตนเลสสตีล, 300 x 300 ซม. เอื้อเฟื้อภาพโดย Lisson Gallery

หรือผลงาน Sky Mirror (2018) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าระหว่างพระปรางค์วัดอรุณและประตูทางเข้าพระอุโบสถของวัดอรุณ ประติมากรรมทรงกลมแบนเหมือนจานที่ทำจากวัสดุสแตนเลสสตีลพื้นผิวมันวาวราวกระจกเงา ที่สะท้อนภาพท้องฟ้าเบื้องบนลงมายังพื้นดินได้อย่างกระจ่างตา 

“งาน Sky Mirror หลายรุ่นหลายขนาดได้เคยจัดแสดงในสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่าง ร็อคกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์ นครนิวยอร์ก, สวนเคนซิงตัน กรุงลอนดอน, พระราชวังแวร์ซายลส์ ใกล้กรุงปารีส, พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และกาสิโนเดมงเต-การ์โล ประเทศโมนาโก คาพัวร์ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของจิตรกรชาวยุโรปอย่าง จอห์น คอนสเตเบิล, วิลเลียม เทอร์เยอร์ และ โคล้ด ลอแร็ง ผู้วาดภาพท้องฟ้า อากาศ และภูมิทัศน์ด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ แตกต่างกันที่คาพัวร์ตั้งใจให้ภาพสะท้อนเงา นำท้องฟ้าลงมายังโลก ให้ก้อนเมฆเคลื่อนที่ แสงแดด สายฝน และไอน้ำเข้ามาใกล้ตัวผู้ชมงาน กระจกสะท้อนแสงและสิ่งต่างๆ รอบตัวเราด้วย 

“ในทางกลับกัน เราอาจมองว่า Sky Mirror เป็นสุญตา คาพัวร์อธิบายว่า “วัตถุที่ว่างไม่ใช่วัตถุที่ว่างเปล่า ความสามารถในการก่อกำเนิดสิ่งต่างๆ ปรากฏชัดอยู่ตลอดเวลาเหมือนกำลังตั้งครรภ์ สุญตามองกลับมาที่เรา ใบหน้าที่ว่างทำให้เราเติมเต็มสมบูรณ์ หลายสิ่งกลับหัวกลับหาง สิ่งนี้น่าจะแสดงความคิดที่เราจะทำจิตให้ว่าง เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงความตาย”*

และผลงานประติมากรรมขนาดย่อมจำนวนสี่ชิ้นที่จัดแสดงในโครงการ The PARQ คลองเตย อย่าง Alice – Rectangle (2017), Alice – Triangle (2017), Alice – Square (2017) และ Alice – Oval (2017) ประติมากรรมรูปทรงกลมกลวงในที่ทำจากวัสดุสแตนเลสสตีลพื้นผิวมันวาวราวกระจกเงา ตรงกลางเจาะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมจัตุรัส และวงรีรูปไข่ เมื่อมองเข้าไปภายในจะเกิดเป็นเงาสะท้อนที่เหมือนกับภาพลวงตาน่าพิศวงราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในอุโมงค์เร้นลับจากมิติอื่น

“คาพัวร์ เปรียบเทียบงานโลหะสเตนเลสของเขากับอุโมงค์มืดในนิยาย อลิสในดินแดนมหัศจรรย์ ของ ลูอิส แครอล เขาอธิบายว่า อลิสตกหลุมไปในอุโมงค์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสิ่งที่มองไม่เห็นกับสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ร่วมกันอย่างมหัศจรรย์ กลับไปกลับมาระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เขาเสริมว่า การหลีกหนีมีหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายแล้วคนเราก็เพียงต้องการหนีจากตัวเอง”*

แนวคิดและที่มาที่ไปเบื้องหลังผลงานเหล่านี้ของ อนิช คาพัวร์ ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ที่เราเคยสงสัยใคร่รู้ ถูกนำมาเฉลยอย่างละเอียดละออในหนังสือ อนิช คาพัวร์: จักรวาล สุญตา และความเป็นแม่ (Anish Kapoor : Cosmos, Void, and Motherhood) ที่บอกเล่าถึงเนื้องานและความหมายของสัญลักษณ์ในงานต่างๆ ของ อนิช คาพัวร์ ทั้งในแง่ศาสนาฮินดู-พุทธ รวมถึงบทวิเคราะห์ผลงานศิลปะของเขาที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ศิลปะ ศาสนา, ความศรัทธา และปรัชญา โดย ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่รับบทบาททั้งผู้เขียนและบรรณาธิการเล่ม 

รวมถึงนักเขียน นักวิจารณ์ และนักวิชาการในสาขาต่างๆ อาทิเช่น ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย กับบทความวิเคราะห์วิจารณ์การศึกษาคติจักรวาลทางพุทธศาสนาในงานออกแบบวัดยุคต้นรัตนโกสินทร์ของวัดโพธิ์และวัดอรุณ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน Push-Pull II และ Sky Mirror ของ อนิช คาพัวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อพิจารณาที่ว่าวัดโพธิ์นั้นถูกออกแบบเพื่ออธิบายถึงลักษณะทางกายภาพของ ‘ชมพูทวีป’ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับเชื้อชาติและแผ่นดินเกิดของศิลปินเจ้าของผลงานอย่าง อนิช คาพัวร์ อย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน

หรือบทสัมภาษณ์ อนิช คาพัวร์ โดย ชาร์ลส์ ชาไฟเอห์ (Charles Shafaieh) นักเขียน/นักวิจารณ์ศิลปะเลื่องชื่อชาวอเมริกัน ที่เปิดเผยแนวคิดและปรัชญาอันลึกซึ้งเบื้องหลังผลงานของคาพัวร์จากปากคำของเจ้าตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกนึกคิดของคาพัวร์ที่มีต่อเหตุการณ์ที่ผู้ชมงานเคราะห์ร้ายร่วงหล่นลงไปในผลงาน Descent into Limbo (1992) ของเขาในปี 2018 ที่ผ่านมา

และบทวิจารณ์วิเคราะห์เจาะลึกผลงานของ อนิช คาพัวร์ โดย โฮมิ เค. ภภา (Homi K. Bhaba) นักวิชาการเลื่องชื่อเกี่ยวกับการศึกษายุคหลังอาณานิคมชาวอินเดีย และนักเขียนรับเชิญอื่นๆ โดยทั้งหมดถูกตีพิมพ์ออกมาในสองภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

ท้ายที่สุด ดังเช่นถ้อยคำบางส่วนในปาฐกถาที่ ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ อนิช คาพัวร์: จักรวาล สุญตา และความเป็นแม่ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาว่า

“แม้งาน Push-Pull ของ Anish Kapoor ภายในศาลาการเปรียญ วัดโพธิ์ จะสร้างความรู้สึกในเชิงวิชวลของความแปลกแยกและแตกต่างทั้งในแง่ของ รูปแบบ วัสดุ ยุคสมัย และแนวคิดในการออกแบบ แต่สำหรับผม สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันอย่างน่าสนใจก็คือ การสร้างให้เกิดพื้นที่ของบทสนทนาและการตีความใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ระหว่างอดีตกับปัจจุบันผ่านพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปะ ซึ่งมิได้เกิดให้เห็นมาอย่างยาวนานมากแล้วในสังคมไทย

“แม้คุณูปการของงานชิ้นนี้จะมีมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็คล้อยตามบทวิจารณ์ของ ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ม.ศิลปากร ที่เคยตั้งคำถามที่น่าสนใจต่องานชิ้นนี้ไว้ว่า การที่สามารถนำ Push-Pull ขนาดมหึมาน้ำหนักมากกว่า 3 ตัน มาตั้งกลางศาลาการเปรียญของวัดหลวงที่สำคัญมากที่สุดวัดหนึ่งของไทยได้นั้น มันคือภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับศิลปะและอุดมการณ์รัฐ 

“แต่ถึงแม้ข้อวิจารณ์ดังกล่าวจะเป็นจริง แต่ภายใต้ความ Privilege (อภิสิทธิ์) ดังกล่าว ผมก็ยังมองเห็นความจริงและโอกาสอีกด้าน ที่งาน Push-Pull ซึ่งได้สร้างปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับพื้นที่สถาปัตยกรรมไทย จะทำหน้าที่เป็นดั่งตัวจุดประกายให้เกิดบทสนทนาและการตีความใหม่เช่นนี้ออกไปในวงกว้าง 

“หรือหากมองให้ไปไกลกว่านั้น จะเป็นได้หรือไม่ที่จะใช้ Push-Pull เป็นจุดตั้งต้นผลักดันให้เกิดการใช้พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่มากไปด้วยพิธีรีตองอันแข็งเกร็งของสังคมไทย ที่มาพร้อมสถานะของการเป็นสัญลักษณ์ของชาติให้สามารถผ่อนคลายและปล่อยวางภาระอันไม่จำเป็นดังกล่าวลงไปบ้าง จนสามารถนำมาเป็นพื้นที่ของการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยที่เปิดกว้างสู่ผู้คนในวงกว้างมากขึ้นและรับใช้สังคมมากขึ้น มิใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรม Privilege เพียงชั่วคราวแล้วหายไป แต่จะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามใหญ่ที่ผมเองก็ยังสงสัย และอยากจะฝากให้ทุกคนได้ช่วยกันคิดต่อ รวมไปถึงช่วยกันผลักดันให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ ซึ่งหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้เกิดการสร้างบทสนทนาที่ไม่รู้จบระหว่างอดีตกับปัจจุบันในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้ในอนาคต”

เราเองก็คาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งพิมพ์ Privilege หรูหรา ราคาแพง ที่มีไว้ชื่นชมกันแค่ในหมู่อภิสิทธิ์ชน คนมีสตางค์แต่เพียงเท่านั้น หากแต่ข้อมูลความรู้อันมีค่าภายในหนังสือเล่มนี จะสามารถถูกแบ่งปันและเผยแพร่ให้ประชาชนคนทั่วไป หรือแม้แต่นักเรียนนักศึกษาผู้ขาดไร้ทุนทรัพย์ ได้ศึกษาหาความรู้เป็นอาหารสมองและเป็นเชื้อเพลิงให้แรงบันดาลใจทางความคิดสร้างสรรค์กันได้อย่างทั่วถึง ก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย ซึ่งก็คงเป็นส่ิงที่เราทุกคนต้องคอยช่วยกันจับตากันต่อไปว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่ในอนาคต

 

*ข้อความตัดตอนมาจากบทความในหนังสือ

 

ที่มา

หนังสือ อนิช คาพัวร์ : จักรวาล สุญตา และความเป็นแม่

ปาฐกถา วัดโพธิ์ และ Push-Pull ของ Anish Kapoor: ข้อสังเกตบางประการ โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

Fact Box

  • อนิช คาพัวร์ : จักรวาล สุญตา และความเป็นแม่, ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ บรรณาธิการเล่ม, จัดพิมพ์โดย Bangkok Art Biennale Foundation, จำนวน 164 หน้า, ราคา 2,500 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางอินบ็อกซ์เพจ Bkkartbiennale 
  • ติดตามข่าวสารและตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram: Bkkartbiennale
Tags: , , ,