เงานกสองตัวบินร่อนถลา แล่นลม บนปกหนังสือชื่ออังกฤษด้านบนและไทยกำกับด้านล่างว่า “เธอคืออิสรภาพ” ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกปะปนกัน ทั้งความผ่อนคลาย สยายปีก แผ่หลาบนท้องฟ้า ทว่าในขณะเดียวกันก็ทำให้รู้สึกคว้าง มวนท้องบางอย่าง เมื่อจินตนาการถึงการต้องกางปีกกว้าง แล่มลมไร้เครื่องยึดเกาะ เบื้องบนไร้ขอบเขต เบื้องล่างห่างไกลสุดลูกหูลูกตา
จนกระทั่งเมื่ออ่านไปถึงตอนจบที่ บรูซ ทิฟต์ (Bruce Tift) ผู้เขียนอ้างถึงครูของเขา เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเชว่า “ข่าวร้ายคือเธอกำลังร่วงหล่นผ่านอากาศ ไม่มีสิ่งใดให้ยึดจับ ไม่มีร่มชูชีพ ข่าวดีคือไม่มีพื้น” จึงรู้สึกถึงความหมายใหม่ของอิสรภาพว่ามันหาใช่สภาวะโล่งโปร่งสบายเท่านั้นไม่ แต่ในบางครั้งความว่างในความกว้างนั้นก็มาด้วยความโหวง เสียววาบ หากนั่นคือธรรมชาติตามที่มันเป็น และเราไม่อาจมีประสบการณ์ถึงธรรมชาติอย่างแท้จริงได้ หากเราเลือกรับเพียงสภาวะหนึ่ง และปฏิเสธอีกครึ่งที่เหลือไป
พุทธศาสนา x จิตบำบัด บนหนทางแห่งการปลดปล่อย
หนังสือชื่อ Already Free: เธอคืออิสรภาพ ผสมผสานแนวทางการปลดปล่อย (liberation) ผ่านสองมุมมองคือมุมมองพัฒนาการ (Developmental View) หรือจิตบำบัดจากตะวันตก และมุมมองแบบยอมรับผล (Fruitational View) หรือพุทธศาสนาจากตะวันออก สองแนวทางที่ดูเผินๆ อาจเหมือนไม่ลงรอยกัน หากแท้จริงแล้วช่วยเผยพร้อมอุดจุดบอด ส่งเสริมกันได้ เป็นความแตกต่างที่สร้างแรงเสียดทาน ความ ‘ไม่มีวันประสานกันได้’ (ทิฟต์ใช้คำว่า unresolvable) ยิ่งทำให้บทสนทนาระหว่างสองมุมมองน่าสนใจ
ในขณะที่มุมมองพัฒนาการตามพื้นฐานวัฒนธรรมตะวันตกเชื่อว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาตัวตนและสถานการณ์ในชีวิตให้ดีกว่าเดิม ในมุมมองนี้ การสืบค้นไปยังเรื่องเล่าในอดีตเป็นหนึ่งในหนทางการทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น ‘ปัญหา’ ในชีวิต สืบค้นเพื่อวินิจฉัย เพื่อแก้ไข ทำให้ชีวิต ‘ดีขึ้น’ ต่อไป ไม่แปลกที่มุมมองนี้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในโลกตะวันตกมากมาย อิทธิพลของมุมมองนี้ที่ส่งผลให้ผู้คนมุ่งพัฒนาสุขภาพ การเงิน ความสัมพันธ์ ฯลฯ ถึงกระนั้น ไม่แปลกเช่นกัน ที่เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่าผู้คนมักรู้สึกว่างเปล่า ยิ่งเติมเท่าไร ยิ่งไม่เต็ม ความย้อนแย้งของมุมมองนี้ที่มุ่งแก้ไขปัญหา สร้างปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เกิดอิสรภาพ กลับเป็นแนวทางที่ไม่เป็น ‘อิสระ’ ในตัวเอง เมื่ออิสรภาพที่ว่านั้นล้วนขึ้นอยู่กับผลรวมของหลายปัจจัยภายนอก อิสรภาพในแนวทางนี้จึงมีความไม่แน่นอน มีเงื่อนไข (conditional) ในการที่อิสรภาพจะ ‘เกิดขึ้น’ ได้
ในทางตรงกันข้าม มุมมองแบบยอมรับผลที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธฟากตะวันออกมองว่า “อิสรภาพไม่ได้เกิดจากการมีชีวิตที่สมปรารถนาหรือมีสภาวะจิตอย่างที่ต้องการ แต่มาจากความยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่กับตัวเองและเต็มที่กับทุกประสบการณ์ชีวิตให้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ตาม” ในมุมมองนี้ อิสรภาพไม่ใช่สภาวะใดที่ต้องไปถึง หรือทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็น (what) หากคือ ท่าที (how) ของการสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่มันเป็นเช่นนั้น อิสรภาพในมุมมองนี้ “ไม่ใช่เรื่องของทุกข์หรือความสุข ทว่าเป็นความยินดีและความสามารถที่จะสัมพันธ์อย่างเต็มที่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้น”
การนำมุมมองทั้งสองที่ผู้เขียนถูกฝึกฝนมาทั้งสองแนวทางมาเทียบเคียงกันเช่นนี้ ไม่ใช่เพื่อตัดสินว่าสิ่งใดดีกว่า ถูกต้องกว่า หากเพื่อเชื้อเชิญให้เกิดบทสนทนา เปรียบเทียบให้เห็นความต่าง จนเริ่มเห็นว่าแม้จะขัดแย้งกันในแนวทาง แต่กลับมีบางอย่างที่ส่งเสริม เติมเต็มกันและกัน ไม่ต่างจากธรรมชาติของประสบการณ์ใดในชีวิตนี้ที่ล้วนเป็นเชิงสัมพัทธ์ (relative) และมันยากที่เราจะรับรู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยปราศจากขั้วตรงข้ามให้ความเป็นสิ่งนั้นปรากฏขึ้นได้เลย
Already Free ปกภาษาอังกฤษ
เผชิญหน้ากับความกระวนกระวาย สลายความทุกข์ที่ไม่จำเป็น
นอกจากการเปิดบทสนทนาของสองมุมมองที่แตกต่างแล้ว ความน่าสนใจอีกอย่างที่ทำให้ Already Free เป็นหนังสือที่ช่างมีชีวิตชีวาคือกรณีศึกษาจากการทำงานจริงของทิฟต์ ที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านจิตวิทยาคลินิกแบบดั้งเดิม และขณะเดียวกันก็เป็นศิษย์โดยตรงของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เคยสอนที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ 25 ปี ทำงานให้บริการบำบัดในคลินิกอีกกว่าสี่สิบปี ทิฟต์ผสมผสานสองแนวทางทั้งพุทธศาสนาและจิตบำบัดในการให้บริการของเขา และหยิบยกบางกรณีมาเล่าให้เห็นการประยุกต์ใช้แนวทางทั้งสองในชีวิตจริง สิ่งที่ทิฟต์บอกกับเราผ่านเรื่องเล่าในคลินิกของเขาคือ ไม่มีแนวทางใดเป็นสูตรสำเร็จในการมี ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ แต่แนวทางทั้งสองนั้นดูจะช่วยปลดปล่อย ‘ความทุกข์ที่ไม่จำเป็น’ ได้อย่างดี
เราได้ยินกันมานักต่อนักว่า ชีวิตคือความทุกข์ (life is suffering) สัจธรรมของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะที่ชีวิตดูจะมีทุกข์ทั้งสี่ให้เผชิญอยู่แล้วนั้น มนุษย์อย่างเราที่เพรียกหาหนทางบรรเทาทุกข์ กลับชอบซ้ำเติมชีวิตด้วยความทุกข์อีกมากที่ทิฟต์ใช้คำว่า ‘ไม่จำเป็น’ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งหลายครั้งกลับเป็นความปรารถนาที่จะเป็นสุข เลี่ยงจากทุกข์นั่นเองที่ทำให้เกิดทุกข์ที่ไม่จำเป็นนี้ การหลีกหนีจนกลายเป็นความ ‘วิปลาส’ (neurotic) ความประสาทแดกจากความกระวนกระวาย เบื่อหน่าย หวาดกลัว ฯลฯ
อีกประสบการณ์ทำงานหนึ่งที่ส่งผลต่อมุมมองของทิฟต์มากคือการทำงานกับความสัมพันธ์ เขามีใบอนุญาตทำงานบำบัดด้านครอบครัวและชีวิตสมรส ครึ่งหนึ่งของผู้รับบริการของเขาเป็นคู่รัก รวมทั้งประสบการณ์ตรงที่ทิฟต์เล่าว่าครั้งแรกที่เขารู้สึกถึงพลังของจิตใต้สำนึกนั้นมาจากแม่ของเขาที่ปกติเป็นคนมีเหตุมีผล แต่ในการทะเลาะกันครั้งหนึ่งเมื่อเขาเป็นวัยรุ่น แม่เลี่ยง เบี่ยงประเด็นการถกเถียงกับเขา สำนึกบางอย่างในตอนนั้นทำให้ทิฟต์เข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของแม่ ไม่ใช่เรื่องของเขา นับแต่นั้นมา เขาเริ่มสนอกสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนในระดับที่ลึกกว่าภายนอกที่ปรากฏ รวมทั้งความสัมพันธ์กับเรวา ภรรยาของเขาเช่นกัน ที่แม้เขาจะยืนยันว่ารักเธอมาก แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่าเธอมักจุดชนวนความปั่นป่วนใจให้เขาไม่น้อยตลอดสี่สิบปีที่อยู่ด้วยกันมา
ทว่า นี่ไม่ใช่ประสบการณ์เฉพาะตัวของทิฟต์ อันที่จริงแล้ว ความปั่นป่วนใจในความสัมพันธ์ ความทุกข์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimate relationship) นั้นเป็นเรื่องที่เราล้วนเคยมีประสบการณ์ร่วม และมันไม่ช่วยอะไรเลยกับการที่สังคมโรแมนติไซซ์ความสัมพันธ์ว่าควรเป็น ‘หลุมหลบภัย’ ให้ความทุกข์ยากของชีวิต ราวกับว่าการมีความสัมพันธ์กับใครคนหนึ่งจะมากอบกู้เราจากความทุกข์ทั้งหลาย เป็นความสบายใจยิ่งยวดในชีวิต – ตรงกันข้ามอย่างถึงที่สุด เรื่องกลับกลายเป็นว่าความสัมพันธ์นั่นแหละที่สร้างความกระวนกระวายใจ บางครั้งด้วยความไม่พอใจในสิ่งที่คนรักทำ หรือบางครั้งด้วยการเห็นความเปราะบางของตัวเองจากการอยู่ในความสัมพันธ์นั้น แต่นั่นแหละที่ทิฟต์มองว่า ความสัมพันธ์ในแง่นี้ทำหน้าที่เป็นพาหนะ ช่วยให้เราเห็นด้านที่เราปฏิเสธในตัวเอง และได้ฝึกทำงานกับสิ่งที่เราเลี่ยงหนีเสียที
มาร์ซีเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ทิฟต์นำมาเล่าในหนังสือเล่มนี้ มาร์ซีมาปรึกษาทิฟต์ด้วยความทุกข์ใจกับพฤติกรรมคนรักที่มักขึ้นเสียงเมื่อเขาโกรธ เธอบอกทิฟต์ว่าเธอ ‘ปิดตาย’ เย็นยะเยือกทันทีที่คนรักทำเช่นนั้น และบอกว่าการที่คนรักของเธอมีปัญหาในการจัดการความโกรธเช่นนี้ ทำให้เธอไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ทิฟต์ประยุกต์ใช้ทั้งสองแนวทางในกรณีของมาร์ซี เขาใช้แนวทางพัฒนาการในการพามาร์ซีไปสำรวจว่ารูปแบบพฤติกรรมที่เธอคุ้นชินนี้มีที่มาจากไหน จนมาร์ซีเห็นว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอปิดตาย หากเธอมักทำเช่นนี้เสมอเมื่อถูกครูลงโทษ ถูกพ่อแม่ตะคอกในวัยเด็ก การแช่แข็งตัวเอง ปิดตายไปซะคือการปกป้องตัวเธอจากความรู้สึกถาโถมที่เด็กหญิงมาร์ซีเกินรับไหว หากในวันนี้มิสมาร์ซีในวัยสี่สิบปียังคงนำกลยุทธ์การ ‘ปิดตาย’ มาใช้รับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ท่วมท้นในชีวิต การได้เห็นที่มาที่ไปของรูปแบบพฤติกรรมผ่านมุมมองพัฒนาการช่วยให้มาร์ซีหยุด ‘ชี้นิ้วผิดๆ’ ไปที่คนรัก และกลับมายอมรับว่านี่คือเรื่องของเธอ ไม่ใช่ปัญหาการจัดการความโกรธของคนรักเธอ
มุมมองพัฒนาการช่วยให้เธอเห็นความจริงสองประการที่เป็นพื้นฐานในการปลดปล่อยต่อไป นั่นคือ 1. เธอไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เดิมจากอดีตกาลอีก และ 2. เมื่อมันเป็นเรื่องของเธอ เธอย่อมทำงานกับมันได้ ไม่ต้องรอ คาดหวังให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลง หรือกระโจนหนีออกจากความสัมพันธ์ ซึ่งต่อให้ทำเช่นนั้นก็ไม่ได้ถอนอาการ ‘ปิดตาย’ ที่ฝังลึกในตัวเธอแต่อย่างใด หลังจากเห็นความจริงทั้งสองนี้แล้ว ทิฟต์เริ่มเชื้อเชิญให้มาร์ซีลองทำงาน ‘ค้านสัญชาตญาณ’ แทนที่จะหลีกหนีตามท่าทีคุ้นชิน ชวนให้เธอลองอดกลั้น อยู่กับประสบการณ์เข้มข้มกวนใจในตอนนั้น รับรู้ไปทั่วร่างกายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ไม่เสริมแต่งเรื่องเล่าใดเข้าไปในประสบการณ์นี้ อยู่กับมันเรื่อยไปเช่นนี้จนเห็นว่าเธอสามารถอยู่กับความรู้สึกกระวนกระวายใจ ร้อนใจจนแทบระเบิดนั้นได้จนมันคลายไปเอง โดยไม่ต้องชี้นิ้วไปที่สามีว่าเขาเป็นคนผิด (เพื่อที่เธอจะได้มีข้ออ้างในการไม่ต้องทำอะไรกับมัน!) เลิกวิ่งหนี แล้ว “กลืนยาขมของ ‘การไม่บ่นอีกต่อไป’ เป็นเจ้าของสิ่งที่เราต้องทำงานด้วยเสียที”
หรือแม้แต่กรณีของทิฟต์เองที่เขาเล่าว่าถูกพร่ำสอนมาแต่เด็กว่าต้องดูแลตัวเองให้ได้ จนตลอดชีวิตเขาเฝ้าหาหลักฐานยืนยันว่าการพึ่งตนเองได้จะทำให้เขาได้รับการยอมรับและเป็นที่รัก แน่นอนว่าเมื่อเขาปักใจเชื่อด้านหนึ่งไปแล้ว ขั้วตรงข้ามของการพึ่งพาตัวเองอย่างการพึ่งผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องที่มักทำทิฟต์หัวเสียเวลาเห็นใครทำตัวเช่นนั้น มันใช้เวลายาวนานถึงสี่สิบปี ด้วยการช่วยเหลือโดยไม่รู้ตัวของภรรยาที่ทำให้เขาเห็นว่าเขาเองพึ่งพาผู้อื่นมากเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้วการกระทำของเธอ ความเป็นตัวเองของเธอที่ช่างใส่ใจผู้อื่น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขารักเธอแต่แรก) จะไม่ส่งผลต่ออารมณ์ของเขามากเท่านี้หรอก
ในขณะที่วัฒนธรรมทำให้เราเข้าใจว่า ความใกล้ชิด (intimacy) มีความหมายเดียวกับความชิดใกล้ (closeness) ไม่น่าแปลกใจที่เราจะรู้สึกว่าความห่างกันบ้างในความสัมพันธ์เป็นเรื่อง ‘ผิดปกติ’ ต้องแก้ไข หากประสบการณ์ใด ๆ ล้วนเป็นเรื่องสัมพัทธ์ เราก็คงไม่สามารถรับรู้ถึงความเชื่อมต่อ (connection) ในความสัมพันธ์หากปราศจากการแยกจาก (separation) เช่นกัน ในแง่นี้นั้น ทิฟต์มองว่า “ความใกล้ชิดเรียกร้องความจริงแท้” ก็จริงหรือไม่ที่ยิ่งเราใกล้ชิดใคร ยิ่งยากที่เราจะปฏิเสธความเปราะบางในตัวเราที่เลี่ยงแสดงออกไม่ให้โลกเห็น เลี่ยงที่จะยอมรับสิ่งนั้นในตัวเราเอง แต่มันกลับเป็นคู่รักของเราที่พลังงานแตกต่างของเขาดึงดูดเราในตอนแรก และก็เป็นความต่างนั้นที่สร้างความรำคาญใจให้เราไม่รู้จักจบสิ้น ไม่ใช่เพราะเขาเป็นเช่นนั้น แต่เป็นเพราะเราไม่ยอมรับส่วนนั้นในตัวเราเอง จนยากที่เราจะยอมรับส่วนนั้นในผู้อื่นเช่นกัน จนกระทั่งเรายอมรับทุกเสี้ยวส่วนในตัวเราเองเช่นที่มันเป็น เช่นที่มันปรากฏ โดยไม่ตัดสิน ไม่แต่งเติมเรื่องราว เช่นที่ทิฟต์เริ่มเห็น ยอมรับ และปล่อยให้เขาพึ่งผู้อื่น (connect) ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดการพึ่งตนเอง (separate) ว่าเป็นตัวตนสำคัญของเขาอีกต่อไป เมื่อนั้นที่เขาเริ่มปล่อยให้ตัวเองเป็น เขาถึงเริ่มยอมรับสิ่งนี้ในผู้อื่นได้ และคลาย ‘ความทุกข์ที่ไม่จำเป็น’
ทิฟต์สรุปรวมขั้นตอนการใช้ ‘ความสัมพันธ์ในฐานะหนทางการวิวัฒน์’ (ชื่อบทที่ 7) หรือการใช้ความสัมพันธ์เป็นพาหนะพาเรากลับสู่สภาวะอิสรภาพ ธรรมชาติดั้งเดิมของเราเอาไว้ใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นตอนก่อนเป็นบุคคล (prepersonal) หรือการใช้มุมมองพัฒนาการ สำรวจที่มาที่ไปของรูปแบบพฤติกรรม กลยุทธ์ที่เราใช้จนกลายเป็นวิถีชีวิตของเรา เช่นที่ทิฟต์ฝังจำมาแต่เด็กว่าการพึ่งพาตัวเองคือสิ่งดี เห็นการประกอบร่างสร้างตัวของมัน 2. ขั้นตอนส่วนบุคคล (personal) คือการเต็มใจฝึกฝน ไม่โทษผู้อื่นอีกต่อไปว่าเป็นต้นเหตุความทุกข์ใจของเรา เช่น การที่ทิฟต์ยอมรับว่าเขาเองก็มีมุมต้องการผู้อื่น แม้มันจะ ‘ค้านสัญชาตญาณ’ ของเขาบ้าง แต่เขาก็ปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความรู้สึกนี้ 3. ขั้นตอนระหว่างบุคคล (interpersonal) ขั้นตอนที่เราอยู่กับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน ไม่เลี่ยง ไม่ขวางกั้นความรู้สึกใดๆ อยู่กับด้านที่เราเคยปฏิเสธได้ และเริ่มเห็นอกเห็นใจ เป็นมิตรต่อด้านนั้นที่ผู้อื่นมีเช่นกัน และ 4. ขั้นตอนที่ไม่ใช่บุคคล (nonpersonal) ขั้นตอนร่ายรำสลับไปสลับมา ลื่นไหลระหว่างสภาวะที่ไม่ลงรอยกันได้ เช่น ความเชื่อมต่อและแยกจาก สองคุณสมบัติตรงข้ามที่มีอยู่ในทุกความสัมพันธ์โดยไม่ตีความ ไม่เอาเรื่องเล่าจากอดีตกาลไปพัวพัน เพียงแค่สัมพันธ์กับมันอย่างเต็มที่ตามที่มันเป็น
เงานกทั้งสองบนปกหนังสือดูจะสาธิตประสบการณ์การอ่าน Already Free ได้เป็นอย่างดี เนื้อหาภาคทฤษฎีพาผู้อ่านท่องไปอย่างช้าๆ ในขณะที่กรณีศึกษาและขั้นตอนชวนฝึกปฏิบัติที่ทิฟต์สอดแทรกมาในทุกบทออกจะฉวัดเฉวียน จนหลายครั้งรู้สึกถึงแรงต้านในระหว่างการอ่าน บางความจริงที่ได้ทบทวนทำเอาวาบหวิว มวนท้อง ราวกลับกำลังล่องไปในที่กว้างที่ไม่รู้สิ้นสุดตรงไหน แต่การได้เห็น และยอมรับทุกสภาวะที่เกิดขึ้นอาจเป็นอิสรภาพตามที่ทิฟต์ได้อ้างคำของตรุงปะ ครูของเขาไว้ว่า “ข่าวร้ายคือเธอกำลังร่วงหล่นผ่านอากาศ ไม่มีสิ่งใดให้ยึดจับ ไม่มีร่มชูชีพ ข่าวดีคือไม่มีพื้น”
ไม่มีสิ่งใดให้ยึดจับ ไม่มีพื้นให้ไปถึง
ไม่มีสิ่งใดให้เลี่ยงหนี
เช่นอิสรภาพที่ไม่โยนอะไรทิ้งไปเลยแม้แต่น้อย
Fact Box
เธอคืออิสรภาพ (Already Free), บรูซ ทิฟต์ เขียน, อุษณี นุชอนงค์ และวิจักขณ์ พานิช แปล