ถ้าเปิดปฏิทินและนับถอยหลังดูจะพบว่าอีกเพียงแค่ไม่กี่วัน วันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็กำลังจะมาถึง ปีนี้รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 12 เมษายนเป็นวันหยุดเพิ่มเติม รวมแล้วจึงมีวันหยุดยาวติดต่อกันห้าวันตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน  หลายๆ คนอาจวางแผนล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะวันหยุดยาวเช่นนี้คือโอกาสทอง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรือการเดินทางกลับภูมิลำเนา

คำถามคือวันหยุดยาวเป็นข่าวดีจริงหรือ?

วันหยุดราชการกับวันหยุดพักผ่อน

นอกจากวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ไทยยังมีวันหยุดราชการอื่นๆ อีกรวมแล้วอย่างน้อย 13 วันในแต่ละปี จำนวนวันหยุดดังกล่าวถือว่าไม่มากไม่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศที่มีวันหยุดราชการมากที่สุดในโลก (นับเฉพาะวันหยุดที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง) คือ กัมพูชา (มีวันหยุดราชการ 27 วัน) ตามมาด้วยศรีลังกา (20 วัน) และอาเซอร์ไบจานและมาเลเซีย (19 วัน)

อย่างไรก็ตาม การดูเฉพาะวันหยุดราชการนั้นอาจทำให้เห็นภาพที่ไม่ครบถ้วน  เพราะยังมีวันหยุดอีกประเภทหนึ่งคือ ‘วันหยุดพักผ่อน’ ซึ่งกฎหมายของไทยกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้อย่างน้อยปีละ 6 วัน

จำนวนวันหยุดพักผ่อนนี้ทำให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิลูกจ้างหยุดพักผ่อนได้น้อยที่สุดในโลก โดยประเทศที่ลูกจ้างสามารถหยุดพักผ่อนได้น้อยที่สุดคือ จีนและฟิลิปปินส์ (มีวันหยุดพักผ่อน 5 วัน) ขณะที่ประเทศที่ลูกจ้างสามารถหยุดพักผ่อนได้มากที่สุดคือ คูเวต (30 วัน) และสหราชอาณาจักร (28 วัน)

ทั้งนี้ หากรวมวันหยุดทั้งสองประเภทแล้ว ถือว่าไทยมีวันหยุดตามกฎหมายค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

วันหยุดนั้นสำคัญไฉน?

รัฐบาลมักอนุมัติให้มีวันหยุดราชการเพิ่มเติมในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ด้วยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวและการเดินทางในประเทศ บางปี รัฐบาลอาจออกมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่นการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าที่พัก โรงแรม หรือค่าแพ็กเกจทัวร์ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนอาจมีมุมมองที่ต่างกันออกไป เพราะในมุมมองของนายจ้าง วันหยุดทำให้สูญเสียวันทำงาน ซึ่งหมายถึงการผลิตที่ลดลง

ตัวอย่างในกรณีของต่างประเทศนั้น รายงานฉบับหนึ่งของศูนย์เพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research : CEBR) ชี้ว่า วันหยุดทางการแต่ละวันในอังกฤษ อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจสูญเสียการผลิตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.3 พันล้านปอนด์ แม้ว่าจะมีบางภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากวันหยุด เช่น โรงแรม ผับ และร้านค้าต่างๆ แต่อีกหลายภาคธุรกิจกลับได้รับผลกระทบทางลบ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างๆ โรงงาน และการก่อสร้าง

เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทยจะพบว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวันหยุดราชการแต่อย่างใด  ดังนั้น เหตุผลของรัฐบาลที่ว่า วันหยุดราชการที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานรองรับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันหยุดราชการอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานไม่ควรได้รับวันหยุด เพราะการได้หยุดพักผ่อนตามสมควรย่อมเป็นผลดีต่อทั้งตัวแรงงานเอง และภาคการผลิตที่จ้างแรงงานเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ไอแอลโอ (International Labour Organization) จึงรวมเอาวันหยุดเป็นหนึ่งในมาตรฐานการทำงานของแรงงานควบคู่ไปกับมาตรฐานอื่นๆ เช่น ชั่วโมงการทำงาน และวันหยุดพักระหว่างสัปดาห์ เพราะเห็นว่ามาตรฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจของแรงงาน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้รวมเอาวันหยุดเป็นหนึ่งในมาตรฐานการทำงานของแรงงาน เพราะเห็นว่ามาตรฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจของแรงงาน

อนุสัญญาฉบับหนึ่งของไอแอลโอที่เกี่ยวข้องกับวันหยุด คือ อนุสัญญาว่าด้วยวันหยุดประจำปีที่ได้รับเงินค่าจ้าง (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 1970 (Convention concerning Annual Holidays with Pay (Revised) 1970) อนุสัญญาฉบับดังกล่าวกำหนดให้แรงงานได้รับวันหยุดพักผ่อนรวมไม่น้อยกว่าสามสัปดาห์ในแต่ละปี โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกรวม 37 ประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เบลเยี่ยม เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล เคนยา และยูเครน

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาฉบับนี้

ได้พักหรือเหนื่อยเพิ่ม?

แม้ว่าไทยจะมีวันหยุดราชการและวันหยุดรวมกันน้อยกว่าระยะเวลาสามสัปดาห์ที่เป็นมาตรฐานของไอแอลโอไม่มากนัก แต่วันหยุดส่วนใหญ่เป็นวันหยุดราชการซึ่งไม่เหมือนวันหยุดพักผ่อน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว การหยุดพร้อมกันทั่วประเทศยังอาจทำให้แรงงานต้อง ‘เหนื่อย’ มากกว่าที่จะได้ ‘พักผ่อน’

เมื่อวันหยุดส่วนใหญ่เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันหยุดของคนทั่วประเทศตรงกัน ผลที่ตามมาคือการเดินทางพร้อมกันของทั้งคนที่ต้องการท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์  ทุกๆ ปีในช่วงเทศกาลเหล่านี้ เราจึงเห็นระบบขนส่งสาธารณะที่คับคั่งไปด้วยผู้คน ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ รวมไปถึงสนามบิน ยังไม่นับการแย่งกันกินแย่งกันใช้ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมหลายๆ แห่ง กว่าจะหายเหนื่อยจากการเดินทาง วันหยุดก็หมดลงเสียแล้ว  ขณะที่อีกหลายคนที่ไม่ต้องการพึ่งพิงระบบขนส่งสาธารณะก็อาจเดินทางโดยรถส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล และเมื่อจำนวนรถมากขึ้น อุบัติเหตุก็มีโอกาสเกิดมากขึ้นตามไปด้วย

เจ็ดวันอันตราย

การเดินทางในช่วงวันหยุดยาวระหว่างเทศกาลมักสร้างความกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุเสมอๆ เราจึงเห็นการเฝ้าระวังซึ่งสะท้อนผ่านวลีเช่น ‘ห้าวันอันตราย’ หรือ ‘เจ็ดวันอันตราย’ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขที่ควรจะได้รับจากการหยุดพักจากการทำงานก็ลดลง

ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทยชี้ว่า ตลอดระยะเวลาเจ็ดวันในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่ผ่านมานั้น เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้นกว่าสี่พันครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่าสี่พันคน และมีผู้เสียชีวิตสูงกว่า 400 คน

ขณะที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 นั้น สถิติไม่แตกต่างกันมากนัก เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้นกว่าสี่พันครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คนตลอดช่วงระยะเวลาเจ็ดวันอันตรายเช่นเดียวกัน

อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท พฤติกรรมของผู้ขับขี่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกันกับการปรับปรุงสภาพท้องถนนและภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการเดินทาง แต่เนื่องจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ การทบทวนทางเลือกเกี่ยวกับวันหยุดจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้

เพราะวันหยุดราชการไม่เหมือนวันหยุดพักผ่อน

วันหยุดราชการ โดยเฉพาะวันหยุดยาว อาจสร้างผลเสียกับระบบเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่รัฐบาลชอบกล่าวอ้าง และการเดินทางอาจทำให้แรงงานต้องเหนื่อยเพิ่มแทนที่จะได้หยุดพัก ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ

กระนั้นก็ตาม วันหยุดยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงาน เพราะวันหยุดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจของแรงงาน  ทางออกที่ควรจะเป็นคือลดวันหยุดราชการให้น้อยลง แต่เพิ่มวันหยุดพักผ่อนให้มากขึ้น

วันหยุดราชการเป็นการบังคับหยุด แต่วันหยุดพักผ่อนช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับคนทำงาน เมื่อไม่ต้องหยุดพร้อมๆ กับคนอื่นๆ ทั่วประเทศ  ปัญหาเรื่องการเดินทางและอุบัติเหตุก็ลดลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นต้องคิดต่อคือ ทำอย่างไรแรงงานจึงจะได้หยุดพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น  ผลสำรวจโดยเว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยว expedia.com ชี้ว่า แม้จะสามารถเลือกหยุดพักผ่อนได้ แต่คนไทยกลับยกเลิกวันหยุดพักผ่อนมากที่สุดในโลก โดยให้เหตุผลว่า ติดหน้าที่การงานเป็นหลัก รวมถึงอาจกังวลถึงภาระงานกองโตที่รออยู่หลังกลับจากการหยุดพักผ่อน

หากคิดในมุมของทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้ว การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานในวันทำงานควบคู่ไปกับการเพิ่มวันหยุดพักผ่อนจึงเป็นเรื่องจำเป็น หากไม่มีการพัฒนาประสิทธิภาพ นายจ้างก็ไม่อยากให้หยุด ส่วนลูกจ้างก็ไม่กล้าหยุด และต้องอาศัยวันบังคับหยุดเช่นวันหยุดยาวตามเทศกาลต่อไป

แต่วันหยุดยาวนั้นไม่ใช่ข่าวดี วันหยุดที่เราสามารถเลือกได้ต่างหากจึงจะเป็นข่าวดี

Tags: , , ,