รู้หรือไม่ว่า สตอรว์เบอร์รี่สายพันธุ์ ‘อะกิฮิเมะ’ เกรดพรีเมี่ยม เนื้อนุ่มฉ่ำหวาน ที่วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป ไม่ได้เดินทางจากญี่ปุ่นเหมือนชื่อสายพันธุ์ แต่เติบโตและให้ผลผลิตอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองนี้เอง

หากไม่ได้เดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเองเราอาจยังไม่เชื่อ กระทั่งได้มายืนอยู่ท่ามกลางแปลงสตรอว์เบอร์รี่ในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยการปลูกพืชไม้เมืองหนาวของ ปตท. ผลสีขาวของสตรอว์เบอร์รี่กำลังถูกแทนที่ด้วยสีแดงเพื่อรอการเก็บเกี่ยวเมื่อสุกได้ที่ การปลูกสตรอว์เบอร์รีซึ่งเป็นพืชจากเมืองหนาว ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์จากการวิจัยและทดลองมากว่า 10 ปี ซึ่ง ปตท. ก็ได้ใช้โอกาสของการมีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม พัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะควบคู่ไปกับการศึกษาด้านเกษตรกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ

ทำความรู้จักกับฟาร์มไม้เมืองหนาว  

โรงเรือนสตรอว์เบอร์รี่และพันธุ์ไม้เมืองหนาว ตั้งอยู่ที่สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในตำบลมาบข่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และที่นี่เองที่เราได้พบกับคุณจักรพันธ์ ทวีลาภ ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ ฝ่ายจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ และคุณธนพงษ์ ไวทย์รุ่งโรจน์ผู้จัดการแผนกพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์และการประยุกต์ใช้พลังงานความเย็น ซึ่งพาเราไปทำความรู้จักกับนวัตกรรม ที่เกิดจากการผสมผสานความรู้ด้านวิศวกรรมกับภาคเกษตรกรรม ในรูปแบบของ Smart Farming ที่ให้ความแม่นยำสูงในการควบคุมคุณภาพและปริมาณ

จักรพันธ์ ทวีลาภ ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ

“ที่โรงแยกก๊าซฯ ระยอง จะมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอด และพยายามจะใช้พลังงานทุกชนิดให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการใช้องค์ความรู้ที่เรามีความถนัดผนวกรวมกับความรู้ด้านเกษตรกรรมที่เราได้ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรจากประเทศญี่ปุ่นและได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแบบ PTT Smart G System ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ควบคุมการให้น้ำ ปุ๋ย แสงแดด ความชื้น และอุณหภูมิ ตามความต้องการของสตรอว์เบอร์รี่ซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละช่วงการเจริญเติบโต  และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวตั้งแต่ พ.ศ.2553 และก็ได้เห็นแล้วว่าสามารถปลูกได้ ” จักรพันธ์เล่าถึงที่มา

ธนพงษ์ ไวทย์รุ่งโรจน์ ผู้จัดการแผนกพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์และการประยุกต์ใช้พลังงานความเย็น

จำลองเมืองหนาวในจังหวัดชายฝั่ง สร้างผลผลิตเป็นสตรอว์เบอร์รี่รสหวานหอม

ภายในโรงเรือนประหยัดพลังงานต้นแบบ มีการปรับอุณหภูมิโดยมีท่อส่งอากาศเย็นเข้ามา ซึ่งวางอยู่ด้านล่างสตรอว์เบอร์รี่แต่ละแปลง ท่อเหล่านั้นจะมีช่องเล็กๆ ให้ความเย็นแผ่มายังต้นสตรอว์เบอร์รีตามจุดที่กำหนด เพื่อให้ความเย็นได้ทำงานอย่างแม่นยำและไม่สิ้นเปลือง ในอุณหภูมิที่ควบคุมให้อยู่ในระดับ 17-25 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสตอรว์เบอร์รี ติดรอกหลังคาสีขาวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ ส่วนรอกหลังคาสีดำมีไว้เพื่อคลุมโรงเรือนในช่วงอายุที่สตรอว์เบอร์รี่ต้องการกลางคืนมากกว่ากลางวัน เพราะแต่ละช่วงอายุพืชมีความต้องการน้ำ อุณหภูมิ และแสงที่ไม่เท่ากัน

องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมที่ ปตท. มี ถูกผนวกเข้ากับองค์ความรู้ด้านการเกษตร โดยทีมงาน Harumiki ได้ศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรชาวญี่ปุ่น นักวิจัยการเกษตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์อะกิฮิเมะต้องการ ธนพงษ์ฉายภาพให้เห็นว่า “เรามีเทคโนโลยีควบคุมโรงเรือน ควบคุมระบบการให้น้ำให้ปุ๋ยอัตโนมัติ ควบคุมแสง ควบคุมอุณหภูมิ และเราก็ต้องใช้องค์ความรู้ด้านการเกษตรเข้ามาประยุกต์ ปลูกยังไงให้ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบปลอดสาร”

กล่องไม้ซึ่งเป็นบ้านของผึ้ง วางอยู่ในมุมหนึ่งของโรงเรือน ผึ้งเหล่านี้เป็นผึ้งเมืองหนาวที่จะทำหน้าที่ผสมเกสรสตรอว์เบอร์รี่ เหตุที่ต้องใช้ผึ้งเมืองหนาว ก็เพราะหากใช้สายพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิของประเทศเขตร้อนและไม่ชินกับอากาศเย็น จะทำหน้าที่ในการผสมเกสรได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อคุณภาพของสตรอว์เบอร์รี่ที่จะให้รูปทรงไม่สมมาตร ส่วนการกำจัดศัตรูพืช ที่โรงเรือนนี้ใช้วิธีธรรมชาติด้วยการนำตัวห้ำและแมลงเต่าทอง มาทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืช ผลผลิตที่ออกจากโรงเรือนนี้ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP หรือ Good Agricultural Practices และกำลังเตรียมขอ Global GAP เพื่อต่อยอดสู่การจำหน่ายที่ครอบคลุมถึงต่างประเทศ ด้วยเห็นช่องทางที่ยังมีความต้องการผลผลิตนอกฤดูกาล ซึ่งการปลูกแบบนี้ทำให้สามารถผลิตสตอรว์เบอร์รี่ได้ตลอดทั้งปี

“เรากำลังต่อยอดในเชิงการขาย ตอนนี้เรามีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีช่องทางออนไลน์ แต่การผลิตปีหนึ่งของเราทำได้เฉลี่ยประมาณยี่สิบตัน ยังไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค ถ้าในอนาคตไปได้ดี ตลาดตอบรับ เราก็มองเรื่องการขยายแบรนด์ Harumiki ไว้ด้วย” จักรพันธ์เล่าถึงความเป็นไปได้ในอนาคต

นอกจากผลสตรอว์เบอร์รีสด ที่จำแนกเกรดตามขนาดของลูกแล้ว ผลสตรอว์เบอร์รีที่ลูกเล็กไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของการออกผลที่จะให้ผลโตในการเก็บเกี่ยวชุดแรกๆ และมีขนาดเล็กลงในชุดหลังๆ ผลสตรอว์เบอร์รีเหล่านี้จะไม่จำหน่ายเป็นผลสด แต่แปรรูปเป็นน้ำสตรอว์เบอร์รีบรรจุขวดแทน รวมถึงมีการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองเช่นกัน

“เราไม่ได้คิดว่าจะปลูกแต่สายพันธุ์นี้อย่างเดียว เราพยายามพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้สตรอว์เบอร์รีที่ถูกปากคนไทยมากขึ้น และเป็นสายพันธุ์ที่ลดความเสียหายในการขนส่งเพราะผิวสตรอว์เบอร์รี่นิ่มกระแทกนิดเดียวก็ช้ำแล้ว ส่วนการขยายธุรกิจตอนนี้เรามองโมเดลเอาไว้ เช่นเพิ่มปริมาณการปลูกเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้มากขึ้น หรือทำในลักษณะ contract farming กับภาคชุมชน โดยเอาองค์ความรู้ที่เรามีไปให้กับชุมชน เมื่อชุมชนมีผลผลิตเรารับซื้อ ชุมชนก็จะมีรายได้ด้วย รวมทั้งมีแนวทางพัฒนาระบบให้กับเอกชนที่ต้องการนำระบบโรงเรือนแบบนี้ไปใช้” ธนพงษ์เล่าถึงอนาคต

นอกจากพันธุ์ไม้ให้ผลอย่างสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกอยู่ 5,000 ตารางเมตร ตอนนี้ยังได้มีการทดลองปลูกบลูเบอร์รี่ ที่กำลังให้ดอกและติดผลอยู่ในแปลงใกล้เคียงกัน ภายในแปลงยังมีดอกไม้เมืองหนาวสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ ไฮเดรนเยีย มงกุฎจักรรพรรดิ อันเลียม ฟาแลนนอปซิส หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จจากการทดลองปลูกทิวลิป และกลายเป็นแลนด์มาร์กที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวมาแล้ว ด้วยการจัดเทศกาลทิวลิปบานที่ระยอง และต่อยอดไปสู่การวิจัยเพื่อนำทิวลิปไปพัฒนาเป็นแฮนด์ครีมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย

เชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน

ลังเปล่าวางซ้อนกันอยู่นับสิบลัง กับเกษตรกรที่เตรียมตัวลงแปลงสตรอว์เบอร์รีเพื่อเก็บผลผลิต ไม่ใช่ภาพแปลกตาอีกต่อไปหากเราจะพบเจอพวกเขาในอาณาจักรของธุรกิจพลังงานแห่งนี้ เพราะนับตั้งแต่มีการทำฟาร์มไม้เมืองหนาวนี้ ขึ้น ก็เกิดการจ้างงานกับคนในชุมชน ซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคุณในชุมชนนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักขององค์กรอยู่แล้ว จักรพันธ์ขยายความของพันธกิจนี้ให้ฟังว่า

“ไม่ว่าปตท.ไปอยู่ที่ไหน เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนทุกที่ อย่างเช่นการ การพัฒนาโครงการกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ชุมชนบริเวณแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือโครงการอื่นๆ ที่ช่วยชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่วนที่จังหวัดระยอง เรามีเกษตรกรในชุมชนเป็นผู้ดูแลและเก็บผลผลิต เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับเขา”

“หรืออย่างการจัดเทศกาลทิวลิปบาน ก็เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจองค์รวมของจังหวัด และสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการเปิดตลาดให้ชุมชนนำสินค้ามาออกร้าน ก่อให้เกิดรายได้” ธนพงษ์กล่าวเสริม

นับเป็นเวลา 10 ปีกับการวิจัยพัฒนา ที่ดูเหมือนว่าหลังจากนี้จะยังคงมีการทดลองและพัฒนาต่อไปไม่หยุด กับการนำองค์ความรู้มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

Tags: , , , , ,