“จากข้อมูลที่ผมค้นมา ประเทศไทยมีรถส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดที่นั่ง ลงทะเบียนไว้เจ็ดล้านคัน อยู่ในกรุงเทพฯ สี่ล้านคัน ลองคิดดูว่าถ้ามีหนึ่งล้านคันมาใช้ระบบลิลูน่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราคาดหวังสัก 20 เปอร์เซ็นต์ในหนึ่งล้านคัน รถบนถนนจะหายไปสองแสนคัน เรื่องการใช้พลังงานและฝุ่นละอองก็จะลดลงด้วย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือระบบขนส่งใหม่ที่จะมีเส้นทางมากขึ้นถึงหนึ่งล้านเส้นทาง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย แค่นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้เท่านั้นเอง”

นัฐพงษ์ จารวิจิต นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น ซึ่งคิดค้นระบบคาร์พูลในชื่อ Liluna บอกกับเราถึงข้อดี หากแนวคิดแบบ ‘ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน’ ได้รับความสนใจและใช้งานจริงเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่มีอยู่ตอนนี้

ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนกับลิลูน่าประมาณ 103,000 คน มีคนใช้งานจริง 40,000 คน และในจำนวนนี้ มีคนขับอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่ามีรถส่วนบุคคลที่พร้อมจะรับเพื่อนร่วมทางในระบบเพื่อเดินทางไปด้วยกันอยู่ 4,000 คัน ทั้งเส้นทางในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่หลายคนมีแผนเดินทาง

กว่าหนึ่งปีของความพยายาม แนวคิดของเขาได้รับการตอบรับที่มากขึ้น เมื่อโครงการอาคารชุดพักอาศัย ‘ลุมพินี’ ของ แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ และโครงการของเสนา ดีเวลลอปเมนท์ ได้ให้ลิลูน่าเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้กับลูกบ้านในโครงการ ให้เกิดการแบ่งปันเรื่องการเดินทางเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ให้กับชุมชน

โมเดลของลิลูน่าเป็นอย่างไร ตอบโจทย์การเดินทางของเมืองไทยแค่ไหน และสำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้คือปลอดภัยหรือไม่ เราคลี่แผนงานของลิลูน่าออกมาดูกันตรงนี้

จุดเริ่มต้นจากสตาร์ตอัพ

นัฐพงษ์เป็นโปรแกรมเมอร์ เขาเรียนจบที่เยอรมนี จากนั้นทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นอยู่ที่นั่นต่ออีกสามปี จนถึงจุดหนึ่งที่เขาตัดสินใจกลับบ้านและสนใจอยากทำธุรกิจสตาร์ตอัป สามเดือนหมดไปกับการหาไอเดียต่างๆ นานา กระทั่งสุดท้าย ความคิดก็แวบขึ้นจากกิจวัตรที่เขาทำเป็นประจำ นั่นคือการให้คนในคอนโดเดียวกันติดรถออกมาด้วยกัน

“เราทำแบบนั้นมาตลอด ขับรถออกจากคอนโด เห็นคนเดินออกมาก็ชวนเขาไปด้วยกัน ถ้าเราต้องผ่านอยู่แล้ว เดี๋ยวเราจอดให้ ก็มาคิดได้ว่า ทำเป็นสตาร์ตอัปได้เลยนะ หาข้อมูลดูว่ามีใครคิดทำหรือยัง พอยังไม่มี ก็ทำเลย”

เมื่อกลับไทย นัฐพงษ์ยังคงทำงานประจำ ขณะที่ความคิดของเขาก็ยังมีเรื่องการทำแอปพลิเคชั่นอยู่ในหัว สุดท้ายเขาตัดสินใจลาออกเพราะเห็นว่า การทำงานประจำในขณะที่ต้องสร้างแอปพลิเคชั่นไปด้วย ยิ่งดึงเวลาให้ช้าลง สู้ออกมาทำเองเสียให้เต็มที่ดีกว่า

“โชคดีอย่างหนึ่งคือในสตาร์ตอัปจะมี Angel Fund เป็นคนทั่วไปที่เขาสนใจโปรเจ็กต์และอยากลงทุนกับสตาร์ตอัป ผมทำแอปฯ เสร็จได้ประมาณเดือนหนึ่งก็เจอคนที่เขาชอบไอเดียเรา เป็นคนมาเลเซียซึ่งเรียนจบที่เยอรมนีเหมือนกัน เขาบอกว่าถ้าจะหาคนลงทุนให้ไปคุยกับเขา

“หน้าที่ของผมคือพัฒนาแอปฯ ให้เป็นที่รับรู้ การเผยแพร่แรกๆ เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะผมเป็นโปรแกรมเมอร์ นั่งทำงานกับคอมพ์ ไม่เคยต้องคุยกับใคร ไม่เคยรู้จักมาร์เก็ตติ้ง พอมีนายทุนมา เขาถามว่าอยากได้เงินไปทำอะไร ลองเขียนแผนธุรกิจมาสิ โห มันเหมือนอีกโลกหนึ่งเลย ผมก็เอาตามวิธีที่ตัวเองคิดก็แล้วกัน จะมีใครที่แนะนำแอปฯ เราแล้วมีคนใช้บ้าง”

เพจที่คนติดตามมากกว่าหนึ่งล้านคนอย่าง Drama Addict คือที่แรกที่นัฐพงษ์นึกถึง โชคดีมาเยือนเขาอีกครั้ง เมื่อจ่าพิชิต เจ้าของเพจ เห็นข้อดีในงานของเขา จึงโปรโมตให้โดยที่เขายังไม่ต้องใช้เงินสักบาท สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เขาต้องคอยตอบคำถามที่ตัดสินลิลูน่าไปในทางลบ

“ตอนแรกช็อกเลย บางคนตัดสินไปแล้วว่ามันไม่ดี มันไม่ปลอดภัย บอกว่าเป็นแอปฯ หาคู่ โห มันเลวร้ายขนาดนั้นเลยเหรอ ตอนเราคิดจะทำแอปฯ นี้เราเห็นมันเป็นสีขาว แต่คนอื่นมองเป็นสีดำหมดเลย แต่เราก็ค่อยๆ ตอบไปเรื่อยๆ เมื่อมีคนตามมาในเพจเรา ตอนนั้นรู้จักคำว่าปล่อยวางเลยนะ แต่พอเขาเห็นที่ผมตอบคำถามในเพจ เขาก็เข้าใจและยอมรับมากขึ้น เราก็เลยคิดว่า งั้นเราก็โฟกัสที่คนกลุ่มนี้แหละ คนที่เขาสนใจและเปิดรับที่จะลองใช้ กลุ่มคนที่ยังไม่เปิดใจเราก็ปล่อยเขาไปก่อน”

ลิลูน่าคืออะไร ใช้งานอย่างไร และปลอดภัยจริงหรือ

ลิลูน่าเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับหาเพื่อนร่วมทาง ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับคนสัญจร คนที่ขับรถแล้วยังมีที่นั่งว่าง สามารถนำที่นั่งนี้มาแชร์หาเพื่อนร่วมทางที่จะไปทางเดียวกัน โดยเพื่อนร่วมทางจะช่วยแชร์ค่าเดินทางตามที่เจ้าของรถตั้งราคาเอาไว้ คนที่ไม่มีรถสามารถเข้ามาเลือกเส้นทางที่เจ้าของรถแชร์เอาไว้ในระบบ และร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผลที่ได้คือเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาการจราจร และลดการใช้พลังงานได้ในภาคส่วนรวม

“ค่าบริการ คนขับเป็นคนกำหนด จะกำหนดเท่าไรก็ได้ ไม่มีเพดาน แต่สิ่งที่ผมจะบอกเขาก็คือ มันเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่าที่จะมาหาผลกำไร ถ้าไม่รู้ว่าจะคิดยังไง ก็เอาแบบนี้สิ ขับไปคนเดียวมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ค่าทางด่วนห้าสิบ ค่าน้ำมันห้าสิบ ขับไปคนเดียวคุณจ่ายร้อยหนึ่งอยู่แล้ว ถ้ามีคนติดรถไปด้วยก็หารสองสิ ไปสามคนก็หารสาม เพราะถ้าเขาจะคิดแพง คนก็เลือกทางอื่นอยู่แล้ว”

ความปลอดภัยคือเรื่องใหญ่สุดที่คนสื่อสารมายังนัฐพงษ์ การวางระบบในส่วนนี้จึงต้องชัดเจนและรัดกุม ลิลูน่าจึงกำหนดให้ทุกคนที่จะใช้ต้องผ่านการยืนยันตัวตนด้วยเบอร์โทรศัพท์ซึ่งเชื่อมโยงกับบัตรประชาชน แล้วระบบจะส่งรหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตน นอกจากนี้ คนขับลิลูน่าทุกคนจะต้องส่งป้ายภาษีรถยนต์ และใบอนุญาตขับขี่มาให้ตรวจสอบเสียก่อน ซึ่งจากข้อมูลนี้ ทางลิลูน่าจะมีป้ายทะเบียนรถ ยี่ห้อรถ วันหมดอายุ พ.ร.บ.รถ รวมทั้งข้อมูลในใบขับขี่ และยังมีระบบการให้คะแนนซึ่งกันและกันหลังจากร่วมทางกันแล้ว

มาตรการความปลอดภัยที่นอกเหนือจากการรู้ข้อมูลผู้ใช้งาน คือผู้ใช้งานสามารถแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายและอุบัติเหตุต่างๆ โดยตรงผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งลิลูน่าร่วมกับ ‘PoliceILertU’ ระบบจะส่งข้อความไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถกด 191 โทรออกได้ทันที และจะมีการพัฒนาแผนที่แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหารถจากแผนที่ได้ รวมทั้งสามารถเห็นตำแหน่งปัจจุบันของรถและผู้โดยสารที่ขอร่วมเดินทางหรือขึ้นรถตรงจุดระหว่างทางได้

“ในแต่ละวัน เราจะรู้จากระบบว่าแต่ละเส้นทางมีใครไปบ้าง บางคนที่กังวลและถามเข้ามา เราก็จะเช็กประวัติให้เพื่อให้เขาสบายใจ มีเยอะเหมือนกันครับที่กลัว แต่พอได้ไปจริงๆ แล้วก็ประทับใจ อีกอย่างหนึ่งคือ ทั้งคนขับและผู้ร่วมทางจะเห็นข้อมูลกันก่อน ทั้งหน้าตาและเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งทั้งคู่สามารถที่จะรับร่วมทางกันหรือปฏิเสธได้ เพราะบางทีผู้หญิงที่เป็นคนขับก็อาจไม่สะดวกใจที่จะรับผู้ร่วมทางที่เป็นผู้ชาย”

เส้นทางใหม่ที่เกิดขึ้น

ผู้ลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานค่อยๆ มีจำนวนมากขึ้นเมื่อลิลูน่าเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นก็คือ โจทย์ที่ทำให้เขาต้องคิดหาคำตอบเพื่อวางตำแหน่งของลิลูน่าให้ถูกที่ถูกทาง

“มันมีคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า แอปฯ นี้มันเหมาะกับประเทศไทยจริงๆ หรือเปล่า สิ่งที่ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามก็เพราะว่า มีการใช้งานที่มีคนเข้ามาแล้วออกไป เหมือนมาลองใช้ แต่ไม่ได้ใช้ต่อยาวๆ

“สิ่งที่ผมวิเคราะห์ได้ตอนนั้นคือ เส้นทางมันไม่แม็ตช์กัน อย่างผมอยู่บางนา คนอยากใช้อยู่อนุสาวรีย์ฯ ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ก็เป็นข้อสมมติฐานที่เราตั้งไว้ ไม่รู้ว่าจริงไหมจนกว่าจะพิสูจน์ได้

“แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าแอปฯ เรามีคนใช้งานจริงก็คือช่วงปีใหม่ เป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ซึ่งเป็นช่วงเทศกาล มีคนขับเข้ามาสร้างเส้นทางเอาไว้สักสามสิบเส้นทาง แล้วกลายเป็นว่าเส้นทางนั้นเต็มหมดเลย คนที่ไม่มีที่นั่งก็ติดต่อมาทางเราว่า มีใครไปเชียงใหม่อีกไหม ขอติดรถไปด้วย หรือพิษณุโลกมีวันไหนบ้าง ถ้ามีบอกเราหน่อย เราเลยได้เห็นว่า มีคนใช้จริง และพฤติกรรมของคนใช้แอปฯ เปลี่ยน ช่วงแรกคนใช้เป็นคนเดินทางในกรุงเทพฯ ใช้ไปทำงาน แต่ช่วงหลังเขาใช้เพื่อเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าในเรื่องการจับคู่เส้นทาง และมีค่าเดินทางที่ถูกกว่าขนส่งสาธารณะ

“ตอนนี้คนใช้งานลิลูน่าจึงจะเป็นเส้นทางที่ไปต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ 80 ต่อ 20 เลย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะโจทย์ของผมคือ แค่มีคนเข้ามาใช้แอปฯ และใช้งานจริง ตอนแรกเราไม่รู้ว่าจะโฟกัสที่ไหนก่อน ตอนนี้เรารู้แล้ว

จากสมมติฐานที่มองว่า การใช้งานในเส้นทางกรุงเทพฯ ค่อนข้างยากสำหรับการจับคู่เส้นทาง เพราะความซับซ้อนและหลากหลายของเส้นทางที่เป็นตัวแปร แต่การเริ่มต้นจากจุดใดจุดหนึ่งที่ชัดเจน ดูจะเป็นโจทย์ใหม่ที่เป็นไปได้มากกว่า เช่น การตอบรับของผู้ประกอบการที่พักอาศัยสองรายใหญ่ดังกล่าวข้างต้น ที่ให้ลิลูน่าเข้าไปพัฒนาระบบแชร์การเดินทางให้กับลูกบ้าน ซึ่งมักเดินทางออกไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน และน่าจะเป็นโมเดลที่น่าสนใจ หากระบบการเดินทางแบบคาร์พูลนี้จะถูกนำไปใช้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ บ้าง

“ปีนี้ผมตั้งเป้ายอดผู้ใช้งานไว้ที่หนึ่งล้านดาวน์โหลด จะปรับปรุงและพัฒนาการใช้งานเพื่อรองรับการเดินทางต่อไปอีก ส่วนในแง่ความเป็นธุรกิจ เรามีรายได้จากการพัฒนาแอปพลิเคชั่นและดูแลระบบให้กับคอนโดมิเนียมหรือที่พักอาศัย มีรายได้จากค่าโฆษณาในแอปพลิเคชั่น และอาจจะเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานซึ่งจะไม่สูงไปกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้เดินทางตามปกติ แต่นั่นยังเป็นเรื่องในอนาคต”

Fact Box

แอปพลิเคชั่น Liluna มีให้ดาวน์โหลดทั้งในระบบ iOS และ Android  และสามารถเข้าดูข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/lilunaGo

Tags: , , ,