พื้นที่ที่อยากจะใช้ชีวิตในหลายช่วงเวลา ทั้งพักผ่อน ทำงาน คลุกคลีกับงานอดิเรก ควรมีหน้าตาแบบใด?
หลายคนมีคำตอบต่างกัน บางคนพึงใจที่จะอยู่บนตึกสูงกลางเมือง หลายคนปรารถนาที่จะอยู่ในบ้านขนาดกำลังดีที่มีสวน มีบ่อปลา และเลี้ยงหมาสักหนึ่งตัว หรือบางคำตอบวาดฝันที่จะมีบ้านหลังใหญ่อยู่กับครอบครัวใหญ่ที่จะทำให้รู้สึกไม่เหงาหรืออ้างว้าง
แล้วถ้าถามว่า นอกจากบ้านที่เป็นเหมือนกับพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่จะใช้เวลาอยู่ในนั้นได้ทั้งวันและมีความสุขจนลืมเวลา ควรจะเป็นพื้นที่แบบไหน พื้นที่นั้นควรมีอะไรบ้าง และสถานที่เหล่านั้นจะให้พลังบวกกับเราได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร
เราเชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบอยู่แล้ว
และเราก็กำลังจะหาคำตอบจากคนที่เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ทั้งหมดที่ว่ามา
เมื่อได้รู้จักกับ ตรง ตันติเวชกุล และเซ็นทรัลพัฒนา
ในห้องทำงานสีเทาขนาดกำลังดี แสงแดดอ่อนๆ ลอดผ่านม่านบาง กระทบกายพอให้รู้สึกถึงไออุ่น รอบตัวเต็มไปด้วยชั้นวางของที่มีหนังสืออัดแน่นอยู่ทุกพื้นที่ เราได้พบกับ ตรง ตันติเวชกุล ผู้เป็นเจ้าของห้องทำงานที่ว่านี้
ตรงรับทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ สร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญที่จะส่งข้อความจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์และศูนย์การค้าของไทยที่มีอายุกว่า 40 ปีให้กับคนไทย ที่วันนี้ธุรกิจของเซ็นทรัลทรัลพัฒนาขยายไปไกลมากกว่าแค่ธุรกิจศูนย์การค้าเช่นในอดีตที่เราคุ้นเคย
“ผมก็เป็นลูกค้าคนหนึ่งของเซ็นทรัลพัฒนามาตั้งแต่เด็กๆ ผมจำได้ว่ารับพลังบวกจากสถานที่เหล่านี้เยอะพอสมควร ไปดูงานศิลปะ ดูนิทรรศการการ์ตูน ดูงานของเล่น เราก็เห็นเด็กๆ ไปแข่งกีฬา ไปแสดงความสามารถที่ตัวเองถนัด เลยทำให้ผมคิดว่าพื้นที่สามารถมอบพลังบวก สามารถสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนบางอย่างได้”
เมื่อมองกลับมายังตัวเอง ก็พบว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน
วันหยุดสุดสัปดาห์ของเรามักจบลงที่เซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ได้พักหายใจจากกองงานที่ทับตัว เมื่อต้องการซื้อข้าวของเครื่องใช้ เราเลือกที่จะเดินไปเดินมาในชั้นต่างๆ มีเพื่อนฝูงชวนออกไปดูนิทรรศการภาพถ่าย นั่งกินข้าวกับกลุ่มเพื่อน แวะร้านขนมที่ชอบ แล้วเดินวนอยู่ในศูนย์การค้าอีกครั้ง
นี่คือชีวิตโดยปกติทั่วไปของใครหลายคน และเป็นชีวิตที่คล้ายคลึงกับตรงอยู่ไม่น้อย
เขาเล่าว่าเมื่อได้ทำงานร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา จึงได้รู้ว่าองค์กรนี้เชื่อมั่นในสองเรื่องสำคัญคือ ‘คน’ ซึ่งหมายรวมถึง ‘ชุมชน’’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง เปิดโอกาสพัฒนาศักยภาพผู้คน และส่งต่อโลกที่น่าอยู่ โดยเซ็นทรัลพัฒนาตั้งเป้าให้เป็น Net Zero (เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ให้ได้ในปี 2050
แม้เซ็นทรัลพัฒนาจะเป็นผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีศูนย์การค้า 36 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง โครงการที่พักอาศัย 22 โครงการ และศูนย์อาหาร 30 แห่ง ที่ทำให้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะไปให้ถึง Net Zero แต่ภายใต้ความคิดบวก ความคิดที่จะพัฒนาไม่หยุดยั้ง ความคิดที่ยึดลูกค้าเป็นแรงบันดาลใจ และความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยแท้จริง ก็ทำให้เรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ สามารถเป็นจริงได้
ซึ่งตรงจะต้องเป็นผู้บอกเล่าสิ่งที่เหล่านี้ให้ผู้คนได้รับรู้
“Imagining better futures for all”
จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับพื้นที่และการทำหนังสั้น กลับกลายเป็นต่อยอดความฝันให้กับคนคนหนึ่งที่ต้องการจะมีพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สบายใจ พื้นที่กับคนรัก ที่กำลังมุ่งหวังแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า
โจทย์การทำงานครั้งนี้ของตรง คือการเป็นผู้เล่าเรื่องที่เซ็นทรัลพัฒนาพยายามจะสื่อกับผู้คนออกมาให้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุด ตรงจึงเลือกเล่าแบบ ‘Slice of life’ คล้ายกับการเฝ้าดูวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย คู่รักที่กำลังจะสร้างครอบครัว เด็กเล็ก วัยรุ่น มนุษย์วัยทำงาน ครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย
“บางคนจะเข้าใจว่าเซ็นทรัลพัฒนามีแค่ศูนย์การค้า แต่จริงๆ เขามีหลายอย่าง มีที่อยู่อาศัย โรงแรม และออฟฟิศ ผลงานของผมถือเป็นการพยายามที่จะเข้าไปใกล้ลูกค้าของเราให้ได้มากที่สุด วิธีการนำเสนอและวิธีพูดจะเป็นแบบ Slice of life ทำความเข้าใจแต่ละโมเมนต์ของกลุ่มคน โดยยึดหลักว่าจะต้องไม่แฟนตาซี แฟชั่นจ๋า หรือเซอร์เรียลมากนัก แต่เราจะสะท้อนชีวิตของลูกค้าเรา”
คนเหล่านี้ล้วนมีวิถีชีวิต ความชอบ ความสนใจที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนสามารถอยู่ในพื้นที่หนึ่งร่วมกันได้ ทำให้หวนคิดถึงสถานที่ที่เราอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่ง พื้นที่ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ทุกเพศสภาพ ทุกเจเนอเรชัน และทุกความเชื่อ
“เนื่องจากโจทย์ตั้งต้น เซ็นทรัลพัฒนาวางบทบาทตัวเองเป็น Place Makers ใช้พื้นที่ที่สร้างความแตกต่างและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในทุกมิติ ทั้งการสร้างการเรียนรู้ แรงบันดาลใจ สร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนสำคัญของทางเซ็นทรัลพัฒนาที่ใช้สร้างพื้นที่ที่จะทำให้ความหลากหลายจบลงบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
“เราจึงพยายามตีความคำว่าจินตนาการ เลยทำให้ในฟิล์มมีสัญญะบางอย่าง เช่น เด็กที่มียูนิคอร์นเป็นของเล่น กังหัน รถกระดาษ นำเสนอให้คนเข้าใจว่าเรากำลังหมายถึงคนรุ่นต่อไป ยูนิคอร์นคือสัญลักษณ์ของเจเนอเรชันหน้า ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัปก็ดี หรือเป็นตัวบุคคลก็ดี กำลังจะบอกว่าสิ่งนี้อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังมองหา ส่วนเรื่องกังหันลมกับรถกระดาษ คือความพยายามสื่อถึงสิ่งแวดล้อมว่าเราได้สร้างสรรค์พื้นที่ และผู้ชมก็สามารถมองเห็นได้เพราะมันเกิดขึ้นจริง”
จุดเริ่มต้นจากการเล่นสร้างบ้านสร้างเมือง สะท้อนความคิดและจินตนาการของเด็ก ยูนิคอร์นเปรียบเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้น หากมองในมุมธุรกิจ สื่อได้ถึงกลุ่มสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่ทุกการพัฒนาจะต้องคำนึงถึงพื้นที่สีเขียว คำนึงถึงสภาพอากาศที่ดีกว่าตอนนี้ และการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด เพื่อพื้นที่ที่เกื้อกูลให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เติมคุณภาพชีวิตให้กับคนในเมือง ที่จะทำให้เมืองพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
นั่นเพราะ ‘พื้นที่ที่ดี’ จะช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีวันหมด
คนรุ่นหน้าจะต้องมีชีวิตที่ดียิ่งกว่ารุ่นเรา
“ผมคิดว่าในการทำแบรนด์อะไรก็ตามแต่ ทุกแบรนด์ย่อมอยากเป็นที่รักกับลูกค้า เป็นที่รักกับคู่ค้า และต้องเข้าใจตัวเองและโปรดักต์ของตัวเอง สิ่งที่เซ็นทรัลพัฒนาทำสะท้อนกลับมาว่าพยายามจะเข้าใจผู้คน พยายามคิดว่าใครบ้างจะมีความสุขในพื้นที่นี้ได้ หรือคิดว่าหากเป็นตัวเองจะอยากอยู่ในพื้นที่แบบไหน”
การตอบคำถามฉะฉานของเขา ชวนให้เราต้องฟังต่ออย่างตั้งใจ
“ลูกค้าของเซ็นทรัลพัฒนาเป็นคนทุกเพศทุกวัย หลายคนเป็น LGBTQ+ ที่อาจกำลังมองหาพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ถูกมอง ไม่ถูกกีดกันหรือทำให้รู้สึกว่าไม่เท่าเทียม แบรนด์พยายามตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ก็เป็นที่แรกๆ ของไทย ที่ทำแคมเปญ Pride Month ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม เพราะการหยิบเอาชีวิตประจำวันของกลุ่มลูกค้าต่างๆ บวกกับสิ่งที่เซ็นทรัลพัฒนาพยายามจะทำ ทำให้รู้สึกว่าคิดเหมือนกันว่าเป็นสิ่งที่เรากำลังมองหา เป็นสิ่งที่เราต้องการ”
หนึ่งในหัวใจสำคัญของแคมเปญที่ตรงได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ คือความพยายามทำให้พื้นที่เป็นมิตรกับทุกคน ตอนนี้ตรงคิดว่าค่อนข้างครอบคลุมทุกความต้องการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน และที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์มิติของคนหลายกลุ่ม ซึ่งการทำพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกช่วยวัย ทุกความต้องการ ทุกกลุ่มคน ถือเป็นเรื่องยากที่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ
“ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อบาลานซ์ความต้องการที่หลากหลาย อาจจะต้องสร้างความต้องการไว้ก่อนที่ลูกค้าจะเรียกร้องด้วยซ้ำ เช่น ลู่วิ่งบนตึก หรือพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง ก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำก่อนลูกค้าจะเรียกร้องว่าทำไมไม่มีลู่วิ่ง ถือเป็นความท้าทายของเซ็นทรัลพัฒนาที่จะต้องสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับพื้นที่ เป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่าตอนนี้ทำได้ดีทีเดียว”
“อย่างในเซ็นทรัลที่อยุธยา ถือว่าสะท้อนวิธีคิดที่ว่านี้ออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรม ทำฟาซาด (Facade) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเขาไม่ได้พัฒนาเฉพาะในกรุงเทพ เขาไปตามต่างจังหวัด ไปในหัวเมืองสำคัญ ไปร่วมสร้างโอกาสกับคนท้องถิ่น สะท้อนความเชื่อที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ เป็นอย่างดี”
“ผมคาดหวังว่าเซ็นทรัลพัฒนาจะทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่ให้กับรุ่นลูกผม หลานผม ให้เขาได้มีพื้นที่ที่เจ๋งกว่าที่ผมเคยสัมผัสมา เพราะตอนนี้เซ็นทรัลพัฒนาถือว่าตอบโจทย์ของผมแล้ว และผมคิดว่าจะต้องมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นภายใต้โปรเจกต์ที่พวกเขากำลังจะทำและส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป”
ภายใต้ความเชื่อใจ เขายังคล้ายกับจะฝากความหวังว่าคนรุ่นหลังจะมีชีวิตที่ดีกว่าเขาได้จริงๆ
Tags: เซ็นทรัล, lifestyle, CPN, เซ็นทรัลพัฒนา, ตรง ตันติเวชกุล, Trong Tantivejakul“หวังว่าคนที่เห็น คนที่เข้าไปใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นใครคงชอบเซ็นทรัลพัฒนา เข้าใจว่าเขาจะทำอะไร และท้ายที่สุดก็คงจะรักแบรนด์แบรนด์นี้อย่างแน่นอน”