วิบากกรรมชีวิตของเธอเกิดขึ้นในปี 2001, 2004 และ 2009 ช่วงปีเหล่านี้ ทหารกบฏไม่เพียงแค่มาเยือนหมู่บ้านของเจเน็ต เค. เท่านั้น หากยังมาเยือนถึงในบ้านของเธอ ผู้หญิงทุกคนในคองโกรู้ดีว่ามันหมายถึงอะไร เวลาที่ทหารมาเยือนถึงบ้าน หากโชคดีหมายความว่าเจ้าของบ้านแค่ถูกทุบตีหรือปล้นสะดม แต่หากโชคร้ายอาจหมายถึงถูกข่มขืนหรือฆ่า

ปี 2001 เจเน็ต เค. โชคดี เหล่าทหารกบฏแค่หิว พวกเขาต้องการเพียงอาหาร ปี 2004 ทหารฝ่ายรัฐบาลมาเยือน พร้อมกับความโกรธแค้น โดยที่ผู้คนในหมู่บ้านไม่รู้สาเหตุว่าทำไม พวกเขาลากตัวผู้ชายออกจากบ้าน ตั้งคำถาม และกระทืบทุบตีฝ่าเท้า จากนั้นบังคับให้ผู้ชายเหล่านั้นแช่เท้าลงในถังน้ำเกลือ

ก่อนจะผละจากไป พวกทหารยังข่มขืนผู้หญิงในหมู่บ้าน “ทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง” เจเน็ต เค. เล่า สายตาของเธอไม่ลดลงต่ำ จากการพูดคุยกับเหยื่อผู้ร่วมชะตากรรมหลายคนทำให้เธอเรียนรู้ได้ว่า เธอไม่จำเป็นต้องรู้สึกละอายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง หากแต่ผู้กระทำเธอมากกว่าที่ควรจะละอาย

เจเน็ต เค. ในวันนี้อายุ 52 ปีแล้ว เธออาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีทำเลอยู่บนเนินเขาติดชายป่าของคองโกตะวันออก หมู่บ้านที่ประกอบด้วยกระท่อมนับสิบหลัง ไร่ข้าวโพด และสวนกล้วยรอบอาณาบริเวณ ในหมู่บ้านที่ชีวิตต้องขลุกอยู่กับการทำงาน และเผชิญกับความรุนแรง ทำให้ทุกคนแก่เร็ว

เวลาที่ทหารมาเยือนถึงบ้าน หากโชคดีหมายความว่าเจ้าของบ้านแค่ถูกทุบตีหรือปล้นสะดม แต่หากโชคร้ายอาจหมายถึงถูกข่มขืนหรือฆ่า

เจเน็ตเป็นผู้หญิงร่างสูง ลำตัวเชิดตรงตลอดเวลา ราวกับจะแสดงตัวว่า ไม่มีใครหักโค่นเธอได้ง่าย แต่ใบหน้าและริมฝีปากของเธอบ่งบอกถึงความชราชัดเจน และนัยน์ตาเต็มไปด้วยความทุกข์ใจ เธอเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ 8 คน เพิ่งเป็นหม้ายเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เธอหาเลี้ยงชีพด้วยการเย็บผ้า นั่นคือจุดแข็งที่เธอได้รับจากพระเจ้า เธอสวมมาลัยกุหลาบสีขาวรอบลำคอ และสวดมนต์ขอพรในตอนเย็นของทุกวัน

ภายหลังถูกข่มขืน เจเน็ต เค. มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทีแรกเธอคิดว่าสักพักมันคงหายไปเอง “ฉันต้องนุ่งกางเกงซ้อนหลายตัว และในกางเกงฉันยังใส่ถุงพลาสติกด้วย” เมื่ออาการไม่ดีขึ้น เธอจึงนั่งรถไปบูคาวู เมืองใหญ่ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

“มีคนบอกฉันว่าที่นั่นมีคลินิกรักษาผู้หญิงที่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่าใครจะช่วยฉันได้” หมอที่นั่นอธิบายให้เธอฟังว่า เธอมีแผลชอนทะลุ ซึ่งจะต้องทำการผ่าตัด เย็บ และหลังจากนั้นก็จะเยียวยาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้

แผลชอนทะลุ (Fistula) บริเวณอวัยวะเพศเป็นความผิดปกติของการเชื่อมต่อระหว่างท่อปัสสาวะและช่องคลอด หรือระหว่างลำไส้และช่องคลอด เกิดจากการบาดเจ็บ ทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดหรือยุบตัวตามแรงดัน ปัสสาวะและอุจจาระสามารถไหลเข้าสู่ช่องคลอด และไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ในความขัดแย้งและการสู้รบ ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อทั้งทางกายภาพและจิตใจ

ปี 2009 ทหารกบฏเคลื่อนกำลังมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง ขณะนั้นเจเน็ตกำลังตั้งครรภ์ เธอร้องขอความปรานี ทหาร 4 คนพูดตะคอกใส่เธอ จะท้องหรือไม่พวกเขาไม่สนใจ เพื่อนบ้านนำตัวเธอส่งโรงพยาบาลหลังจากนั้น ทารกในครรภ์เสียชีวิต จากร่างกายเธอมีน้ำปัสสาวะไหลอาบอีกครั้ง คราวนี้แผลชอนทะลุซับซ้อนมากขึ้น ผ่านการผ่าตัดไปแล้ว 4 ครั้ง เธอก็ได้รับแจ้งว่า หมอไม่สามารถเยียวยาอาการของเธอได้อีก เธอถูกส่งตัวกลับหมู่บ้านลิคิริมาด้วยรถพยาบาล ใช้เวลาเดินทางราวหนึ่งชั่วโมงจากบูคาวู เจเน็ตต้องสวมกางเกงหลายตัวอีกหน ยัดแผ่นพลาสติกเข้าไปข้างใน เธอยังทำแบบนี้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เธอแทบไม่ก้าวเดินออกจากบ้านเลย คนในหมู่บ้านร่ำลือกันถึงเรื่องของเธอ “พวกเขาบอกว่าตัวฉันเหม็น”

จากการคาดเดา น่าจะมีผู้หญิงหลายร้อยคนในคองโกตะวันออกถูกข่มขืนตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การข่มขืนกลายเป็นอาวุธสงคราม นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 มีความขัดแย้งในคองโกถึงขั้นเกิดศึกสงคราม เพื่อแย่งชิงทรัพย์สินในดิน ทั้งโคลแทน ดีบุก ทอง โวลแฟรม…ทุกอย่างที่อุตสาหกรรมดิจิทัลต้องการ

ในช่วงเวลานั้นปรากฏกลุ่มกบฏขึ้นมากมายหลายกลุ่ม ที่ส่วนหนึ่งได้รับการหนุนหลังทั้งอาวุธและเงินจากต่างประเทศ เพื่อหวังครอบครองเหมือง กลุ่มกบฏเหล่านี้เองที่รุกรานหมู่บ้านต่างๆ เกณฑ์เด็กๆ ไปเป็นทหารหรือแรงงานส่วนผู้หญิงก็ถูกข่มขืนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ในช่วงความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ คาดกันว่ามีผู้คนล้มตายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

แผลชอนทะลุในผู้หญิงเกิดจากความโหดร้ายทารุณ “เวลาพวกมันข่มขืน พวกมันไม่ได้ต้องการจะมีเซ็กซ์หรอก” เจเน็ตบอก “พวกมันต้องการแค่ทรมาน ถ้าใครคนหนึ่งเสร็จกิจแล้ว คนถัดมาก็จะใช้กระโปรงพันข้อมือ แล้วกระแทกเข้าไปในช่องคลอด บอกว่าจะเช็ดให้สะอาด แต่มันก็ทำให้บาดเจ็บ”

“เวลาพวกมันข่มขืน พวกมันไม่ได้ต้องการจะมีเซ็กซ์หรอก พวกมันต้องการทรมาน”

 

แผลชอนทะลุเป็นปัญหาในหลายประเทศของแอฟริกา มันสามารถเกิดขึ้นได้จากการคลอดบุตรเช่นกัน อย่างกรณีของซาวารา เอ. เด็กสาววัย 28 จากโซมาเลีย เธอต้องเข้าพิธีแต่งงานตั้งแต่อายุ 14 ปี ตามประเพณีในบ้านเกิดของเธอ ซึ่งประเพณีดังกล่าวยังคงสืบต่อ แม้ว่าหลังเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในโซมาเลีย ทั้งหมู่บ้านของเธอต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในเอธิโอเปียก็ตาม

ที่หลบภัยซึ่งเธอไปใช้ชีวิตเป็นพื้นที่เปลี่ยว ห้อมล้อมด้วยทะเลทรายและเทือกเขา ช่วงกลางวัน บรรดาแม่พากันไปทำไร่ทำนา ส่วนเด็กๆ อยู่บ้านเลี้ยงแพะ

ซาวาราตั้งครรภ์ตอนอายุ 16 เธอไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้ เนื่องจากกระดูกเชิงกรานของเธอเล็ก เธอจึงถูกนำส่งสถานีอนามัยใกล้ๆ ที่พัก แต่เธอไปถึงช้าเกินไป ทารกในครรภ์เสียชีวิตเสียก่อน ส่วนแม่ก็มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ไม่นานสามีก็ทิ้งเธอ ซาวาราต้องย้ายกลับมาอยู่ในกระท่อมของพ่อแม่ และไม่ยอมก้าวออกจากกระท่อม ด้วยความอับอายที่ตัวมีกลิ่นปัสสาวะ ซึมเศร้า ดูเป็นเด็กสาววัย 16 ที่ปราศจากอนาคต

หลังจากเก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านพ่อแม่นาน 18 เดือน ซาวาราได้ข่าวเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่รักษาแผลชอนทะลุในเมืองอาดดิส อาเบบา เธอต้องนั่งรถบัสไปยังเมืองหลวงของเอธิโอเปียระยะทางไกล 760 กิโลเมตร “ลุงของฉันให้เงินเป็นค่ารถ แต่พ่อฉันไม่ยอมช่วย บอกฉันว่า ให้ไปก็ไม่คุ้ม”

ซาวาราต้องรอผ่าตัดอีกนาน รูปร่างเธอผอมบาง มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทที่ขาเนื่องมาจากท่านั่งตอนเจ็บท้องคลอด อีกทั้งยังมีแผลอักเสบบริเวณขาหนีบจากปัสสาวะ “ฉันแทบไม่ได้กินหรือดื่มอะไรเลย เพราะฉันไม่อยากให้ทุกอย่างมันไหลออกจากตัว” เธอบอกสีหน้าอาย

เธอนอนให้คนป้อนอาหารและน้ำอยู่นานเป็นเดือน รวมทั้งต้องให้วิตามินเสริม มีการทำจิตบำบัดเพื่อเยียวยาเส้นประสาทที่ขา ผ่านไป 12 สัปดาห์เธอถึงได้รับการผ่าตัด แผลชอนทะลุของเธอตำแหน่งอยู่เหนือท่อปัสสาวะ ไม่ยากเกินไปนักสำหรับหมอ ก่อนเย็บแผลชอนทะลุ หมอยังตัดไส้ติ่งให้เธอไปพร้อมกันด้วย

การประท้วงต่อต้านการใช้การข่มขืนเป็นอาวุธสงคราม

เจเน็ต เค. จากคองโกได้รับการบำบัดทางจิตโดยการเข้าร่วมกลุ่ม ‘ระบายและรับฟัง’ ซึ่งมีผู้หญิงจำนวน 15 คนที่ประสบชะตากรรมชีวิตแบบเดียวกัน กลุ่มนี้มีชื่อว่า ‘ซิมามา’ แปลจากภาษามาชีของพวกเธอว่า ‘เราลุกขึ้น’

ผู้หญิงในกลุ่มทุกคนเคยถูกข่มขืนมาก่อน และแทบทุกคนมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พวกเธอพบกันเดือนละ 2 ครั้งผ่านการนัดหมายของหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ Justice and Peace Commission ของคองโก บ้านที่พวกเธอใช้เป็นสถานที่รวมกลุ่ม แท้จริงแล้วเป็นเพียงกระท่อม สภาพทรุดโทรม บนผนังห้องมีตัวอักษรเขียนว่า ‘เราต้องการสันติภาพ’ และ ‘เราก้าวเดินไปด้วยกัน’ บ้านหรือกระท่อมหลังนี้เป็นของโบสถ์ อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใช้เวลาเดินทางจากเมืองบูคาวูราว 2 ชั่วโมง ถนนหนทางแถบนั้นค่อนข้างอันตราย ไม่มีใครรู้ได้ว่า เมื่อไหร่พวกกบฏจะบุกปล้น ผู้หญิงในกลุ่มต้องใช้เวลาเดินทางไปที่บ้านหลังนั้นประมาณ 1 หรือ 2 ชั่วโมง และต้องใช้ความกล้า ขณะที่ความกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่ออีกครั้งก็ยังไม่จางไป

ผู้หญิงกลุ่มนี้เรียกบ้านหลังนี้ว่า ‘ห้องสงบ’ พวกเธอสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องที่ทำให้พวกเธอรู้สึกอับอายหรือเรื่องที่พวกเธอไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ พวกเธอร้องไห้ ให้กำลังใจกัน แบบที่ปฏิบัติไม่ได้ในสังคมข้างนอก

ทุกวันจันทร์และวันศุกร์พวกเธอทำงานด้วยกันในไร่นา ที่พวกเธอซื้อเป็นเจ้าของ ถึงเวลาเก็บเกี่ยวพวกเธอก็แบ่งปันกัน ที่เหลือไว้ขาย แล้วรวบรวมเงินเก็บเข้ากองกลาง ใครต้องการใช้เงินก็สามารถกู้ยืมจากกองกลางได้ “เราถูกทำร้าย มีมลทินติดตัวไปตลอดก็จริง แต่เราไม่ได้อยู่ลำพังคนเดียว” เจเน็ต เค. บอก

“เราทุกคนเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้น ไม่ใช่ความผิดของเรา”

Tags: , , , , , ,