กว่า 35 ปี ที่สาวจันทร์จูงแขนข้างซ้ายลายมังกรของ ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ เดินทางไกลจากปี 2529 มาถึงเวลาของปัจจุบัน ทั้งสองปล่อยมือจากกัน ศิลปินตาย แต่สาวจันทร์ยังต้องนั่งเอามือป้องดวงตา (กั้งโกบ) มองหาชายคนรักอยู่ในเพลงยอดนิยมต่อไป แต่แทนที่จะแก่เฒ่าและตายจาก เธอกลับมีชีวิตชีวาเมื่อถูกอ่านและถูกฟังใหม่อีกครั้ง

เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ (2529) ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยครูสุมทุม ไผ่ริมบึง แต่ถูกนำมาดัดแปลงและทำดนตรีใหม่เพื่อบันทึกเสียงในช่วงก่อนปี 2529 ในตอนนั้น พรศักดิ์คัดค้านวิธีการทำเพลงของครูคำหอม พ่อฮ้างน้อย (รักษ์ วัฒนยา) ผู้มองเห็นเต้ยสาวจันทร์กั้งโกบบนฟลอร์เต้นรำดิสโกเทค ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในสังคมไทย โรงแรมหลายแห่งปรับสถานที่ ออกแบบระบบแสงสีใหม่ ซาวนด์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ดนตรีร็อก คนหนุ่มสาวนิยมเพลงเต้นรำ มีลานเล่นสเกตชนิดล้อทั่วเมือง

พรศักดิ์ต่อรองกับครูเพลงของเขา “อย่าให้ผมร้องแบบนี้เลย มันบ่แม่น” เจ้าของฉายา ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’ เล่าเรื่องนี้หลายกรรมหลายวาระ แต่ใจความคงเดิม “มันบ่แม่นเด้พ่อ มันผิดประเพณี หมอลำก็ต้องลำเป็นภาษาอีสาน แต่ครูจะเอาเพลงลูกทุ่งไปผสมกับภาษาอีสาน” และอีกครั้งที่เขากล่าวว่า “ผมไม่เอา ก็เลยทะเลาะกัน ท่านก็บอกแบบพ่อบอกลูก ท่านเป็นคนโคราช ‘กูสั่งมึงต้องทำไอ้นาย มึงต้องเชื่อกู เราจะทำหมอลำเข้าเทค เชื่อพ่อ’ ตอนนั้นผมไม่อยากร้อง เวลาอัดเสียงก็ไม่ได้ตั้งใจร้องเต็มที่”

ชื่อเสียงของ สาวจันทร์กั้งโกบ พิสูจน์ให้เห็นมาตั้งแต่ปี 2529 แล้วว่าใครเป็นฝ่ายถูกในเรื่องนี้ สาวจันทร์ทำให้เขาบอกว่า “กูไม่ใช่ลาวธรรมดา กูเป็นลาวหาแดกข้ามโลก” และสาวจันทร์ยังทำให้โรงแรมม่านรูดกลายเป็นบ้านชั่วคราวของเขา “มากรุงเทพฯ ครั้งแรกก็มาพักตรงนี้ ครูคำหอมพามาพักที่นี่ เมื่อก่อนมากันเป็นวงดนตรี มีนักดนตรี เอารถสองแถวเข้ามา หาที่พักราคากลางๆ ค่อนไปทางถูก ก็พักที่นี่ตลอด โรงแรมอื่นก็พักได้ เรื่องตังค์ไม่มีปัญหา แต่เป็นความผูกพัน”

พรศักดิ์กล่าวถึงครูเพลงผู้ล่วงลับไปตั้งแต่ปี 2532 ว่า “ท่านสอนให้ทำในสิ่งแปลกใหม่ ทำให้เขาตามเรา ผมก็เปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมก็ทำเพลงใหม่ๆ ลงยูทูบ” หากนับจาก เสือสำนึกบาป (2524) ซึ่งเป็นสตูดิโออัลบั้มแรก นักร้องแห่งเมืองหมอแคนผู้นี้มีผลงานสตูดิโออัลบั้มกว่า 30 ชุด งานเพลงชุด รักแท้แพ้ทุนนิยม (2559) เป็นผลงานสุดท้าย

 

 

โครงเรื่องของสาวจันทร์กั้งโกบคือรักโศกของสาวบ้านนอกชื่อจันทร์ เธอถูกคนรักทิ้งและปล่อยให้ตั้งท้องเพียงลำพัง กิริยาของเธอในเพลงนี้จึงเป็นการนั่งกั้งโกบ เฝ้ารอการกลับมาของคนรัก เรื่องรักอาดูรของสาวจันทร์ถูกเล่าผ่านมุมมองของ ‘อ้ายผู้หวังดี’ เขาเป็นชายหนุ่มแห่งสังคมบ้านนอกผู้อบรมสั่งสอนสาวจันทร์ ด้วยการลำเต้ยสำนวนเปลื้องเสื้อผ้า

‘ให้เขาลองกันจนเบิ่ดทุกท่า ทุกท่าโอ๊ยทุกท่าทุกท่า เขากินแล้วแม่นแซ่วหนี อ้ายคนหวังดีคอยเตือนคอยห้าม สาวจันทร์คนงามเจ้าเคียดให้พี่ เขากินแล้วหนีกั้งโกบพ่อว่อ พ่อว่อโอ๊ยพ่อว่อพ่อว่อ ถูกเขาล่อจังแม่นสมหัวอกเจ้าตรมสมใจอ้ายเด่’

 

หากมีชีวิต สาวจันทร์มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ความไม่เต็มใบมีที่มาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เพื่อสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแก่ชนชั้นนำไทย รัฐธรรมนูญ 2521 ถูกร่างขึ้นหลังการรัฐประหารหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก่อนที่จะมีฉบับ 2521 คณะรัฐประหารได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ 2519 และ 2520 มาก่อน ก่อนจะประนีประนอมด้วยกลไกของฉบับ 2521 ซึ่งมี ส.ว. จากการแต่งตั้งผสมกับนักการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกที่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจมากกว่า ส.ส. ที่มาของ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี ขณะที่สัดส่วนอาชีพของ ส.ว. ​แต่งตั้ง มีสัดส่วนแก่ข้าราชการประจำการ (ทหาร) มากถึง 180 คนจากจำนวนทั้งหมด 225 พลเอกเปรมอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี 5 เดือน กระทั่งต้นทศวรรษ 2530 สังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งชื่อ ชาติชาย ชุณหะวัณ

รุ่งอรุณของทศวรรษ 2530 เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว คนอีสานย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองและไปต่างประเทศเพื่อหางานส่งกลับมายังภาคการเกษตร การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศและอุตสาหกรรมทำให้อุปสงค์หรือความต้องการแรงงานทุกประเภทเพิ่มขึ้นมาก คนอีสานพลัดถิ่นคือโครงเรื่องหลักของศิลปินอีสาน ขณะที่พรศักดิ์ออกผลงานสตูดิโออัลบั้ม คนไกลบ้าน ปี 2530

สงครามเย็นปิดฉากลง เปิดทศวรรษใหม่ด้วยสงครามการค้า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี 2527 ไม่มีสถานะเป็นขบวนการปฏิวัติอีกต่อไป เป็นเพียงฉากให้ฝ่ายการเมืองช่วงชิงผลประโยชน์กำกับการแสดง ความฝันของคนหนุ่มสาวแห่งทศวรรษก่อนหน้าจบลงแล้ว ทศวรรษใหม่กำลังเริ่มต้น จะมัวนั่งกั้งโกบต่อไปไม่ได้ เรื่องราวของสาวจันทร์ใน เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ จบลงโดยทิ้งปริศนาให้คนฟังอย่างน้อย 3 ข้อ เธอเลือกที่จะเป็นซิงเกิลมัมหรือเลือกที่จะเอาเด็กออก และใครเป็นคนรักจอมปลอมไร้เกียรติคนนั้นของเธอ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็เป็นทางเลือกที่ทำให้ชื่อเสียงของสาวจันทร์ฉาวโฉ่ หากเราพิจารณาจากบริบทของสังคมไทยในปี 2529 อย่างน้อยๆ สังคมไทยในตอนนั้นยังมีการรับรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับการทำแท้งปลอดภัย

ไม่เป็นคนบาปก็เป็นหญิงร่าน สาวจันทร์ในบริบทปี 2529 เป็นผู้หลงผิด ที่ต้องมี ‘อ้ายผู้หวังดี’ คอยสั่งสอน

 

หลายปีต่อมา เมื่อเราหยิบเอาอัลบั้มที่ชื่อ รักแท้แพ้ทุนนิยม (2559) กลับมาฟัง เพื่อตามหาร่องรอยคนรักของสาวจันทร์และสำรวจสังคมไทยในเพลงของพรศักดิ์ สตูดิโออัลบั้มนี้มีเพลงเอกชื่อเดียวกับชื่ออัลบั้ม เพลงรองหลายเพลงเคยปรากฏอยู่ในอัลบั้มต่างๆ ที่เคยเผยแพร่มาก่อนหน้า รวบรวมเพลงที่มีคอนเซ็ปต์คล้ายกันมารวมไว้เป็นอัลบั้ม

เราจะพบว่าตัวละครหลักในงานเพลงชุด รักแท้แพ้ทุนนิยม คือชายไทยสูงวัยผู้เติบโตมาจากสังคมชนบท เขาไม่มีทัศนคติของ ‘อ้ายผู้หวังดี’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ในสามทศวรรษก่อนเคยสั่งสอนสาวจันทร์ผู้อาดูรว่าถูกชายหนุ่ม ‘ยืมร่างกายเชยชม’ จน ‘หมดสิ้นความสาว’ ไม่มีอีกแล้วการพลัดพรากจากกันของคนรักที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่เหมือนในเพลง หนุ่มนาลาแฟน (2529) ไม่มีอีกแล้วรักของไอ้หนุ่มบ้านนาเงินไม่ถึงพึ่งไม่ได้ก่อนที่จะถูกแย่งชิงคนรักโดยหนุ่มบางกอกกระเป๋าหนักเหมือนในเพลง แล้วแต่วาสนา (2529) เราจะไม่พบโครงเรื่องทำนองนี้ใน รักแท้แพ้ทุนนิยม

แต่อุปสรรคของความรักในงานเพลงชุดนี้กลับเป็นเรื่องของ ‘วัย’ ตัวละครเอกในงานเพลงชุดนี้ได้เดินทางเข้าสู่ปัจฉิมวัย เขาเป็นชายสูงวัยที่ใจถึงและพึ่งได้ กลับไปตั้งฐานที่มันในภาคการเกษตรอย่างในเพลง รักกันที่ใจ (2547) ไม่ใช่แบบพอเพียง แต่เป็นแบบคนบ้านนอก ทั้งยัง ‘ลำพอง’ และอยู่ ‘ลำพัง’ เช่นในเพลง หนุ่มวัยทอง (2547) เป็นชายสูงวัยผู้วอนนาบีที่จะหนุ่มตลอดกาลด้วยการมีความรักกับหญิงสาวอย่างในเพลง ขอโทษอย่าเรียกลุง (2548) ขณะที่ในวัยหนุ่มต้องอพยพเข้าเมืองใหญ่ไปทำงานเพื่อเก็บเงินส่งมาที่บ้าน เช่น ในเพลง คนไกลบ้าน (2530) อีสานพลัดถิ่น (2542) แต่ใน รักแท้แพ้ทุนนิยม เขาเติบโตเป็นชายสูงวัยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอจะอุปถัมป์ค้ำจุนหญิงสาวเหมือนในเพลง รักกับป๋าพาไปยันฮี (2550) หรือย้อนหลังไปหลายปีก่อนอย่าง มีเมียเด็ก (2547)

รักในมุมมองของป๋าคือรักแบบแลกเปลี่ยน เป็นรักแบบที่มีลำดับชั้น แต่ป๋านี้มีแต่ให้ ขอแค่เธอจงรักและภักดีทั้งใจและกาย เรื่องรักของชายสูงวัยแบบผัวเดียวหลายเมียเป็นเรื่องเล่าหลักของพรศักดิ์ ไม่ว่าจะเป็น มีเมียเด็ก (2547) ขอบใจที่ฮักคนมีเมีย (2557) ตัวตนของพรศักดิ์เหมือนกับเพลงที่เขาร้อง เป็นนักรักใจถึงพึ่งได้

 

 

ความรักในงานเพลงชุดนี้ไม่ได้แพ้ระยะทางที่พรากคนรักแยกห่างกันจากการไปขายแรงงานอีกต่อไป แต่ทุนนิยมคือศัตรูของความรัก เรื่องเล่าของพรศักดิ์ไม่ได้เผยว่าเขาเป็นผู้แพ้ในเกมนี้ ซ้ำยังตั้งตนเป็นศัตรูกับความรักแบบทุนนิยม หากเรามองว่าความรักและการแต่งงานแบบคู่ชีวิตที่ถือกําเนิดมาในยุคเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ทำให้ความรักกลายเป็นงานประเภทหนึ่งที่เป็นภาระหนักไม่ต่างจากการผลิตต่อแรงงานชายและหญิง ดังที่นักคิดในสายวัฒนธรรมศึกษามองว่า ระบบผัวเดียวเมียเดียวในฐานะสัญลักษณ์ของความไว้วางใจอันเป็นศูนย์กลางของการแต่งงานแบบคู่ชีวิตได้ถูกวางกรอบให้เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความก้าวหน้าสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมทุนนิยม

แน่นอนว่าโครงเรื่องความรักของ ‘ลุง’ ตัวละครหลักในเพลงของพรศักดิ์ ย่อมเป็นศัตรูกับทุนนิยมถ้ามองมาจากมุมมองของนักคิดสายนี้ ลุงจึงเป็นชายสูงวัยที่อยู่ในรอยต่อระหว่างสังคมอุปถัมป์กับสังคมที่หลานๆ กำลังจะเปลี่ยนแปลง และต้องการเกลี่ยให้ทุกคนอยู่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน

ชีวิตของพรศักดิ์เหมือนหลายเพลงที่เขาร้องในยุคหลัง ปรารถนาความเรียบง่ายของชีวิต คล้ายกับที่พรศักดิ์กับสื่อมวลชนหลายวาระ “ผมเป็นอีสาน 100 เปอร์เซ็นต์” หรือ “ผมชอบชีวิตแบบนี้ ชอบท้องไร่ท้องนา เวลาไม่ได้ร้องเพลงก็ไปหาปลา ไปยิงนก ยิงหนู” และ “เราอยู่ง่ายๆ ขอแค่ไม่เป็นหนี้ ถึงจะไม่ได้ร่ำรวย แต่พออยู่พอกิน ส่งลูกเรียนจนจบ มีเงินมีทองสำหรับยามเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องเดือดร้อนใคร”

การเช่าโรงแรมม่านรูดไว้สำหรับพักในการทัวร์คอนเสิร์ตเป็นเวลากว่าสามสิบปี น่าจะบอกเล่าแนวคิดเรื่องการเดินทางและการกลับบ้านของเขาได้เป็นอย่างดี “โรงแรม ผมอยู่ยังไงก็อยู่ได้ เพราะมันไม่ใช่บ้านเรา ทนอยู่ 4-5 วันแล้วก็ไป”

 

พรศักดิ์ ส่องแสง ได้เช็กเอาต์ออกจากโรงแรมชั่วคราวหลังนี้แล้ว เราไม่รู้ว่าบ้านที่แท้จริงของเขาดำรงอยู่แห่งหนใด ในวันที่เขาจากไป สาวจันทร์คงจะนั่งกั้งโกบ เธอไม่ได้มองหาคนรัก แต่เฝ้าเบิ่งมองแผ่นหลังของนักร้องที่กำลังเดินทางจากไป

 

ภาพ: พรศักดิ์ ส่องแสง, เสียงสยาม

ข้อมูลประกอบการเขียน

– ศิลปินมรดกอีสาน นายบุญเสาร์ ประจันตะเสน (พรศักดิ์ ส่องแสง)สาขาศิลปะการแสดง ลูกทุ่งหมอลำ ประจำปี 2559

– 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย 

– ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ’21 ต้นแบบกติกาที่ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกฯ

– ภาพยนตร์เรื่อง เสือร้องไห้

– คุยแซ่บShow:”พรศักดิ์ ส่องแสง” เผยวีรกรรมความเจ้าชู้สุดพีค พร้อมเปิดชีวิตครอบครัวสุดอบอุ่น!

– ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. รักโรเเมนติกในมุมมองสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. สังคมศาสตร์ Vol. 23 No. 1-2 (2011): ความรัก

Tags: ,