ในชุมชนที่เงียบสงบของหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ คุณตาสำอาง สุริยะ เจ้าของบ้านวัย 92 ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ในพื้นที่ชั้นล่างของบ้านหลังหนึ่ง ส่วนบนชั้นสองที่ปูพื้นด้วยไม้กระดานเก่าแก่ตามอายุ มีผู้คนที่เปลี่ยนหน้ากันไปในแต่ละวัน ต่างมาเยือนและเยี่ยมชมเรื่องราวที่ฝากเอาไว้ผ่านข้าวของเครื่องใช้ซึ่งมีลมหายใจของความหลังดำเนินอยู่ ในเรือนไทยอีสานรูปแบบร่วมสมัย ที่เจ้าของบ้านอุทิศให้บ้านทั้งหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้วิถีดั้งเดิมของครอบครัวอีสานในอดีต

เรือนไทยอีสานหลังนี้เป็นบ้านของครอบครัวคุณขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ที่อยู่อาศัยกันมาหลายเจเนอเรชั่น เขาใช้ชีวิตวัยเด็กท่ามกลางชนบทของหมู่บ้านนี้ ก่อนจะย้ายเข้ามาเติบโตอยู่เมืองหลวง เช่นเดียวกับที่ลูกหลานคนอื่นก็แยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่น และเพราะความรักในชุมชนถิ่นเกิด เขาจึงตัดสินใจนำบ้านมาปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยที่บ้านหลังนี้ยังเป็นที่พำนักของผู้เป็นพ่อของเขา ที่ยินดีต้อนรับแขกซึ่งมาเยี่ยมบ้าน และด้วยความเป็นฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังที่เชี่ยวชาญในการออกแบบความคิด คุณขาบจึงนำศิลปะของงานออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงามและมีอัตลักษณ์ของชุมชนที่เป็นชุมชนแบบเกื้อกูล ผ่านการจัดการอย่างมีระบบ โดยมีวิถีเกษตรชุมชนเป็นตัวเชื่อม และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่ให้ผู้คนได้มาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกันผ่านการซื้อขายสินค้าเกษตรของชุมชน ซึ่งพื้นที่โดยรอบประมาณสามไร่ จัดสรรหน้าที่และที่ต่างกันไป

ภาพแรกที่เห็นคือเรือนไม้อีสานเก่าแก่อายุ 60 ปี ที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีในสังคมยุคใหม่ กับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง ฉาบทาบันไดและประตูหน้าต่างด้วยสีเขียวตั้งแช เฉดสีที่ได้ยินก็แปลกหู เราได้รับคำอธิบายจากเจ้าของบ้านว่า เป็นสีเขียวที่สื่อถึงธรรมชาติ ให้ความร่มรื่นสบายตา เขาเลือกใช้สีนี้มาสร้างสีสันให้บ้านหลังเก่ามีชีวิตชีวาขึ้น โดยไม่ได้เปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยของบ้านไปจากเดิม ตามลักษณะของบ้านอีสานโดยทั่วไปที่จะมีระเบียงกว้างไว้สำหรับทำกิจกรรมส่วนรวม

เมื่อเปิดประตูไม้เข้าไป จะพบกับห้องโถงกลางใหญ่ แบ่งห้องเป็นปีกซ้ายและปีกขวา ตกแต่งโดยนำดีไซน์อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ แต่ละห้องประดับด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวอีสาน

ตามมุมต่างๆ ของห้องจัดแสดงและตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษคนอีสาน ที่สมัยก่อนนิยมนุ่งผ้าซิ่นไหม นุ่งโสร่ง สวมใส่เสื้อสีขาวเข้าวัดให้ชม อีกฝั่งหนึ่งของบ้านที่เชื่อมติดกันมีครัวอีสานสมัยก่อน ที่เรียกได้ว่ายังสมบูรณ์เหมือนครัวที่ใช้จริงเมื่อ 60 ปีที่แล้ว มีข้าวของในครัวที่เคยใช้งานจริงจัดวางเอาไว้ ด้านหลังของห้องครัวปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ฉากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสานแต่ละชิ้นเป็นของดั้งเดิมที่ผ่านการใช้งานจริงและเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี สีของวัสดุธรรมชาติแบบเก่าตัดกับสีเขียวของข้าวของที่ตกแต่งสมัยใหม่ ซึ่งภายในตัวบ้านสมัยก่อนมักจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญอยู่เป็นประจำเมื่อมีชาวบ้านมาร่วมวงด้วย พอจบพิธีล้อมวงกินตามวิถีชีวิตคนอีสาน

ด้านนอกเรือนไม้ มีชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นนำอาชีพเสริม เช่น งานจักสาน งานผ้าทอ งานหัตถกรรม มาวางจำหน่ายให้ผู้มาเยี่ยมชนบริเวณลานอเนกประสงค์ เพื่อสร้างรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ในชุมชนได้มาช่วยกันวาดภาพระบายสีตามจินตนาการ เพื่อช่วยกันเผยแพร่ชุมชนให้เป็นที่รู้จักตามภาพในความคิดของตัวเอง โดยภาพวาดต่างๆ จะนำมาแขวนประดับตกแต่งให้นักท่องเที่ยวได้ชม รวมถึงเปิดเวทีให้ศิลปิน นักออกแบบ และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนผลงาน เป็นวิทยากรแนะนำการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยดีไซน์ให้กับชาวบ้านที่ยึดอาชีพงานฝีมือตามวิถีเดิม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนตามแนวทางยั่งยืน

ตลาดชุมชนพอเพียง ตั้งอยู่ในสวนยางพาราฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ ประดับด้วยโคมไฟสุ่มไก่ ช่วงบ่ายคล้อยที่ลมกำลังพัดเย็นสบาย จะได้ยินเสียงกรุ๋งกริ๋งจากกระดิ่งที่แขวนไว้ใต้ต้นยาง ภาพวาดศิลปะบนกำแพงสังกะสีผืนยาว เล่าเรื่องราวของวิถีผู้คนในชุมชนอีสาน ที่ทุกวันเสาร์จะมีสินค้าเป็นอาหารและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านมาวางจำหน่าย ส่วนดินผืนยาวที่อยู่ติดริมทุ่งนา เป็นลานแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย และจัดให้มีกิจกรรมกับศิลปินและคนในชุมชนในยามเย็นและช่วงฤดูหนาว

หลังจากระบายพื้นที่ทางศิลปะในส่วนพิพิธภัณฑ์จนเสร็จสมบูรณ์ โครงการ ‘วาดบ้าน แปลงเมือง’ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ร่วมกับนักศึกษาและอาจารย์หลักสูตรจิตรกรรมเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ยังสานต่องานสร้างสรรค์ศิลปะตามตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน ให้ที่นี่เป็นหมู่บ้านอีสานต้นแบบภาพวาดศิลปะ เพื่อการท่องเที่ยวชุมชุนอย่างอย่างยืน และยังมีโครงการท่องเที่ยวหนึ่งวันในอำเภอโซ่พิสัย เน้นการเดินทางเพื่อออกค้นหาความสุขทางใจในรูปแบบธรรมะคือธรรมชาติ ซึ่งในแต่ละตำบลจะมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัดป่าอยู่มาก หนึ่งในนั้นคือ วัดป่าดานวิเวก หลวงปู่ทุย สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 29 กิโลเมตร

บึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่น้อยคนนักจะเลือกเป็นจุดหมายปลายทางในวันว่าง ทั้งที่ความเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชุมชนที่สัมพันธภาพระหว่างผู้คนยังอบอุ่นและเหนียวแน่น การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ที่เชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวิถีชุมชน จึงเป็นหมุดหมายใหม่ที่จะทำให้บึงกาฬเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่กล้องถ่ายภาพของนักเดินทางจะได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

Fact Box

พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ (Life Community Museum Bueng Kan) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ สามาถเข้าชมได้ฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดและขอนัดเข้าชมได้ที่ คุณนริศรา วงศ์ภูมี (สุริยะ) โทร. 086-229 7629  Facebook : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ

นอกจากพิพิธภัณธ์ชุมชนมีชีวิต บึงกาฬมีสถานที่น่าไปเยือนอีกหลายแห่ง อาทิ สะดือแม่น้ำโขง เป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุดจนไม่สามารถวัดได้ ฤดูน้ำลดจะมองเห็นแก่งหินผุดขึ้นเป็นลานกว้าง และเป็นจุดชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค หรือสามารถข้ามแม่น้ำโขงจากจุดผ่านแดนไปยังแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว ที่ขึ้นชื่อเรื่องทัศนยภาพของเขาหินปูนได้แบบเช้าไปเย็นกลับ โดยมีเรือข้ามฟากบริการตั้งแต่เช้าถึงเย็น


การเดินทาง  

  • ทางเครื่องบิน เลือกปลายทางที่สนามบินอุดรธานี แล้วสามารถใช้บริการรถเช่าที่มีให้เลือกมากมาย ระยะทาง 130 กิโลเมตร ใช้เวลา 2.30 ชั่วโมง
  • ทางรถไฟ จากสถานีจังหวัดหนองคาย แล้วนั่งรถขนส่งประจำจังหวัดไปที่อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 80 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง
  • ทางรถยนต์ เริ่มต้นจากจังหวัดหนองคาย มุ่งหน้าไปทางอำเภอโพนพิสัย-อำเภอเฝ้าไร่-อำเภอโซ่พิสัย หรือจากตัวจังหวัดบึงกาฬ ใช้เส้นทางลัดผ่านวัดป่าดานวิเวก ระยะทาง 50 กิโลเมตร ใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง

Tags: , , , , , ,