บักหมานสืบสายเลือดชาวนามานานนม ใช้ชีวิตเรียบง่ายในที่นาและแปลงกัญชาที่ยายซึ่งตายเพราะข้าวเหนียวติดคอทิ้งไว้ให้ บักหมานชอบพอกับน้องพรมายาวนาน น้องพรร้องขอสินสอดสามแสน แต่บักหมานไม่มีให้ เมื่อยายตาย เขาเลยเอาที่นาไปจำนองจะเอาเงินมาแต่งเมีย แต่ความซวยคือบักคำผาน เพื่อนสนิทของบักหมาน เป็นพวกผีพนัน เงินหนึ่งล้าน ที่นา และน้องพรเลยหายวับไปกับตา
ในไม่กี่วันอันยุ่งยาก หมานและคำผานจับพลัดจับผลูไปข้องเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงยาสมุนไพรที่ไม่ได้เรื่องได้ราว แถมยังซวยไปติดอยู่ตรงกลางสงครามของโรงสีข้าวกับโรงงานน้ำตาลที่ต่างกำลังแย่งชิงพื้นที่และแรงงานกันอย่างเข้มข้น โดยทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในสายตาของบักทีและบักเค คู่หูสองสิงห์ดมกาวประจำหมู่บ้าน ชาวนาชั้นล่างที่บ่เข้าใจและบ่มีวันเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในหมู่บ้าน ว่าทำไมชาวนาจึงสูญเสียที่นาของตนและกลายเป็นแรงงานยากจนซ้ำซาก ในความไม่เข้าใจนี้พวกเขามีถุงกาวเป็นสรวงสวรรค์ชั่วคราวในการหลบหนีจากโลก
https://youtu.be/xokw7JI-a0w
น่าเสียดายไม่น้อย ที่ภายใต้ความตั้งใจจะเป็นหนังแบบตารันติโน โคเอนบราเธอร์สฉบับชาวนาไทย ขับเคลื่อนด้วยสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก อาชญากรรมทั้งโดยบังเอิญและตั้งใจ การซ้อนแผนลูบคมไปมา แต่หนังไปไม่รอดในทางนั้น เพราะหนังเต็มไปด้วยตัวละครที่ไม่มีเสน่ห์ พวกเขาทั้งไม่น่ารัก ไม่น่าสงสาร ไม่น่าหมั่นไส้ หรือน่าเอาใจช่วย ผู้ชมเพียงเฝ้าสังเกตการณ์ชีวิตร่วงหล่นของพวกเขาจากที่ไกล หนังปราศจากบทสนทนาคมคายขณะเดียวกันก็ไม่สมจริง อ่อนเหตุผล ความแห้งแล้งทางอารมณ์ในครึ่งแรกของหนังทำให้ทุกอย่างอ่อนล้าลงไปเรื่อยๆ จนเมื่อหนังพลิกกลับไปอีกทางก็เกือบจะไม่ทันทางอารมณ์ไปแล้ว
เริ่มต้นจากการเป็นหนังฉายภาพความล่มสลายของชีวิตชาวนาที่เป็นครึ่งหนึ่งของโลกทุนนิยมอีกครึ่งหนึ่ง (หรือเกินครึ่งหนึ่ง) เป็นการทำตัวเอง ก่อนจะพลิกกลับเป็นหนังอาชญากรรมหักมุมในช่วงยี่สิบนาทีสุดท้าย เมื่อหนังมาถึงจุดเฉลยเรื่องราวทั้งหมด หนังก็ยังพาผู้ชมไปถึงการปฏิวัติของชาวนาเพื่อโค่นล้มนายทุน
ขณะที่ชีวิตชาวนาในภาคอีสานถูกบันทึกลงในหมาน แอนด์เดอะ คำผาน เสี้ยวชีวิตเล็กจ้อยของชาวนาในภาคกลางได้ถูกบันทึกไว้ในหนังอีกเรื่องที่ออกฉายในสัปดาห์เดียวกัน เป็นหนังของผู้สร้างอิสระเหมือนกัน และเป็นหนังที่พูดถึงชาวนาเช่นเดียวกัน นั่นคือ ฉากและชีวิต (SCENE AND LIFE)
ฉากและชีวิตเป็นไปตามชื่อของหนัง มันประกอบด้วยฉากสั้นๆ สิบฉาก และชีวิตของผู้คนในฉากเหล่านั้น ทั้งหมดคือบรรดาชาวนา และลูกหลานของพวกเขาในหมู่บ้านวังพิกุล บ้านเกิดของบุญส่ง นาคภู่ผู้กำกับ ทุกฉากเป็นเพียงภาพสั้นๆ ไร้ที่มาที่ไป เด็กสาวบอกลาเด็กหนุ่มเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ลุงชาวนาสำลักยาฆ่าแมลง เด็กนักเรียนเดินท่อมๆ ไปสัมภาษณ์ชาวนาเพื่อทำรายงาน ชายหนุ่มตามหาเมีย มืดแปดด้านน้ำมันหมดที่หน้าวัด การซื้อขายบ้านเก่าของพ่อที่จะถูกรื้อไปทั้งหลัง เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่เข้ากันไม่ได้กับพ่อแม่ในเย็นวันหนึ่ง ครูโรงเรียนมัธยมที่สอนหนังสือตามมีตามเกิดกับนักเรียนที่เขาไม่ชอบหน้าคนหนึ่ง พ่อที่พยายามเอาสูตรของแม่ตัวเองมาทำกับข้าวให้ลูกของตัวเองกิน ป้าขายผักพื้นบ้านที่ไม่มีใครรู้จักในเพิงร้านตามสั่ง และเด็กสาวกับพ่อของเธอในยามค่ำคืนที่ท่ารถเข้ากรุงเทพ
ดูเหมือนฉากสั้นๆ เหล่านี้ไร้ความหมายด้วยตัวมันเอง และเมื่อประกอบกันเข้ามันก็ไม่มีแกนเรื่องเล่าให้ยึดจับ หากแต่ละฉากในหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนเพลงลูกทุ่งสักเพลงหนึ่ง เพลงอ่อนหวานเศร้าสร้อยที่เล่าเรื่องเฉพาะเจาะจง โลกที่ผู้ฟังรู้จักเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยอารมณ์ของเพลงนั้น ความระทมอันงดงามนั้นเป็นสากล อยู่ในเนื้อร้อง ในการเปล่งเสียงถ้อยคำ ในท่วงทำนองของดนตรี นั่นคือการอธิบายที่เหมาะที่สุดกับฉากสั้นๆ อันทรงพลังในหนังเรื่องนี้ ที่เล่าผ่านสถานการณ์เฉพาะที่ผู้ชมอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด หรือแทบไม่เข้าใจเลย หากด้วยภาพเสียงและการตัดต่อ สาส์นสำคัญของมัน อารมณ์อันเอ่อท้นของมัน ฉายโชนอยู่ต่อหน้าผู้ชมอย่างเป็นสากลทัดเทียมกันภายใต้ภาษาของภาพยนตร์
เราอาจบอกได้ว่า ‘ฉากและชีวิต’ คือฉาก และ คือชีวิตของการค่อยๆ สาบสูญไป เราอาจแบ่งเรื่องส่วนหนึ่ง เด็กสาวสองคนในฉากแรกและฉากสุดท้ายเป็นโมงยามของความพลัดพรากเมื่อกรุงเทพฯ ฉีกพวกเธอขาดออกจากบ้าน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งของหนังคือการบันทึกครั้งสุดท้ายก่อนที่บางสิ่งที่เคยมีคุณค่าจะสูญหายไป ทั้งพันธุ์ข้าวชนิดแปลกๆ ผักหญ้าโบร่ำโบราณ (สองฉากนึ้หนังเกือบทำหน้าที่เป็นบันทึกทางมานุษยวิทยา) สูตรอาหารของแม่ หรือบ้านโบราณที่กำลังถูกตรวจตราอีกครั้งก่อนรื้อถอน ดูเหมือนอนาคตในหนังมีแต่ความล่มสลาย เกษตรกรล้มตายในนาข้าวของตน หรือลูกหลานที่ไม่อาจเข้ากับพ่อแม่ ได้อีกต่อไป
เราอาจบอกได้ว่าบุญส่งมองเห็นทุกอย่างในโลกที่เขาอยู่อาศัยเป็นความสิ้นหวัง สายตาสิ้นหวังเช่นนี้ถ่ายทอดความซึมเซาของคนรุ่นก่อนหน้าที่กำลังตาย และมองในทางร้ายกับเด็กๆ รุ่นต่อมาที่ก็ดูสิ้นหวัง อับจนหนทางไป และเข้ากันไม่ได้กับครอบครัว
ความจริงอันเศร้าสร้อยนี้ตัดข้ามกับโลกฝันโลดโผนของ อุเทน ศรีริวิใน หมาน แอนด์เดอะ คำผาน อย่างน่าสนใจ หลังจากใช้เวลาครึ่งแรกในการอภิปราย ความล้มตายจากภายในของชาวนาไทยทั้งจากเหล้า ยาเสพติด การพนัน และความเกียจคร้าน สมทบด้วยปัจจัยภายนอก เช่น การกู้หนี้ยืมสิน นายทุนหน้าเลือด วงจรอุบาทว์ของการทำนา กู้ซื้อปุ๋ย ขายไม่ได้ราคา เป็นหนี้ จำนองที่นา กลายเป็นชาวนารับจ้าง ในที่สุดหนังเปิดเผยโครงสร้างทางสังคมที่กดทับให้ชาวนาจนลงไป
ตรงนี้เองที่หนังเริ่มเดินหน้าไปสู่การเป็นหนังมาร์กซิสต์ปฏิวัติโค่นล้มนายทุนเพื่อชาวนา (ในแบบแฟนตาซี) หนังจึงเคลื่อนเข้าสู่มุมมองแบบมีความหวังมากๆ ว่าสิงห์ดมกาวและไอ้คนขี้ยาผีพนันก็สามารถโค่นล้มนายทุนได้ การปฏิวัตินั้นรออยู่ใน แม้ว่ามันจะมาในโลกหลังถุงกาว เหล้าขาว หรือกัญชาก็ตาม
หมาน แอนด์เดอะ คำผาน เลยกลายเป็นทั้งหนังแฟนตาซี หนังที่เปิดเผยความล้มเหลวของชาวนาไทยในหลากหลายมิติ ก่อนที่จะเชื่อมั่นในคนรุ่นต่อไปว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สวนทางกับสายตาอันสมจริง สวยงาม เต็มไปด้วยความเป็นกวี หากค่อนไปทางสิ้นหวังในฉากและชีวิต
มันอาจจะเป็นได้ทั้งข้อด้อยของหนัง ที่ดูเหมือนหนังจะเป็นเพียงการทอดอาลัยในการมองไปข้างหน้า ในขณะที่หมาน แอนด์เดอะ คำผาน ฉายมหัพภาคของความล้มละลายของสังคมชาวนา หากฉากและชีวิตจับภาพจุลภาคของละอองชีวิตที่ถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา แม้สายตาที่เขามีต่อคนรุ่นใหม่ (เด็กใส่หูฟัง เด็กหนุ่มขาร็อก) อาจจะสิ้นหวังไปสักนิด แต่ในขณะเดียวกัน รายละเอียดอันเงียบเศร้าแต่งดงามในหนังก็คล้ายเป็นบันทึกอีกรูปแบบหนึ่งในสังคมชาวนาที่ไม่ได้พังลงในทันที แต่ขับเคลื่อนไปในทิศทางของการปรับเปลี่ยน ที่ในทุกการปรับเปลี่ยนมีบางอย่างจะถูกละทิ้งไป ค่อยๆ สาบสูญไปและหนังคว้าจับโมงยามเหล่านั้นเอาไว้ได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ฉากและชีวิตยังมีฉากที่งดงามเรื่อเรือง นั่นคือฉากหนุ่มตามหาเมียที่มาหลงทางอยู่หน้าวัดในยามดึกดื่น การดำรงคงอยู่ของวัด หลวงพ่อ และการเกื้อกูลในหนังไม่ได้มาในรูปของการเชิดชูศาสนามากไปกว่าการช่วยเหลือกันยามตกทุกข์ได้ยาก การที่หลวงพ่อกล่าวว่า “อาตมาช่วยได้เท่านี้แหละโยม” ทำให้นึกถึงที่ใครบางคนเคยพูดถึงประเทศนี้ในทำนองว่านี่คือประเทศที่รัฐไม่ฟังก์ชั่นอะไรเลย แต่ที่ยังอยู่กันได้เพราะผู้คนที่ยากจนพอๆ กันนั้นฟังก์ชั่นมากๆ พร้อมที่จะช่วยเท่าที่ช่วยได้ตลอดเวลา
เราอาจจะโรแมนติไซส์คำนี้ในฐานะการชื่นชมความมีน้ำใจ ได้พอๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาแบบตรงไปตรงมาได้เท่าเทียมกัน และนี่คือฉากที่ฉายภาพความฟังก์ชั่นของผู้คนเหล่านั้นออกมา และอย่างน้อยมันก็ประคับประคองกันไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างเลย เพราะเราไม่ได้มีบักหมานหรือบักคำผานมากอบกู้ชาวนาจากสังคมกินคน และใช่ว่าทุกครั้งที่เราลำบาก หลวงพ่อ หรือแม่ค้าตามสั่งจะยื่นมือเข้ามาช่วยเราได้ ในวันหนึ่งเราอาจหายไปเหมือนกับผักพื้นบ้าน หรือพันธุ์ข้าวท้องถิ่น หายไปโดยไม่ถูกจดจำแม้แต่โมงยามที่เราต้องส่งลูกเราเข้าไปเป็นแรงงานในเมือง ในยามกลางคืนอันรวดร้าว
และนี่คือหนังสองเรื่องที่พูดถึงชาวนาซึ่งออกฉายพร้อมๆ กัน มีสายตาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองเรื่องเมื่อดูคู่กันก็ค้นพบอะไรที่ตัดข้ามกันไปมาอย่างน่าสนใจมากมายเต็มไปหมด ในพลวัตการเคลื่อนไหวของสังคมเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไปจากความเข้าใจของชนชั้นกลางในเมืองจนหมดสิ้นแล้วในเวลานี้
Fact Box
- ฉากและชีวิต (LIFE AND SCENE) เป็นหนังอิสระเรื่องที่ 6 ของ ปลาเป็นว่ายทวนน้ำฟิล์มสตูดิโอ กำกับโดย บุญส่ง นาคภู่ หนังฉายตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ 1 เนื่องในวาระก่อนจะถูกแปรสภาพไปเป็นพื้นที่ทางการค้า เพื่อรำลึกความทรงจำการเปิดตัวครั้งแรกของปลาเป็นว่ายทวนน้ำฟิล์มสตูดิโอ กับหนังเรื่อง คนจนผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อปี 2011
- หมาน แอนด์เดอะ คำผาน (Man and the Company) เป็นผลงานเรื่องที่ 3 ของทีมผู้สร้างผู้บ่าวไทบ้าน ที่ตั้งตนเป็นคนทำหนังอีสานอินดี้ แต่ไม่ใช่ภาคต่อของหนังสองเรื่องก่อนหน้า เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2018