หากคุณเกิดในตระกูลคนไทยเชื้อสายจีน คุณคงคุ้นเคยกับเรื่องเล่าว่าด้วยเหล่ากงหรือเหล่าม่าผู้โล้สำเภาหนีความแร้นแค้นจากประเทศจีน เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยมีเพียงเสื้อผ้าที่ใส่อยู่กับเสื่อหนึ่งผืนและหมอนอีกหนึ่งใบติดตัวมาด้วย

ในฐานะทายาทรุ่นที่สอง สาม หรือสี่ คงเป็นเรื่องยากที่คุณจะจินตนาการภาพบรรพบุรุษที่ไม่เคยเห็นหน้า ในสภาพบ้านเมืองที่ไม่อยู่ในความทรงจำ แต่หากคุณได้ไปยืนอยู่ที่ ‘ล้ง 1919’ (LHONG 1919) ท่าเทียบเรือสำคัญในอดีต อันเป็นจุดที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เกือบทุกคนได้เหยียบย่างบนแผ่นดินสยามเป็นครั้งแรก

รับรองว่าคุณจะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลาไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเองเลยล่ะ


รำลึกอดีต

ก่อนได้ชื่อใหม่ว่าล้ง 1919 ท่าเรือที่เข้าถึงได้จากถนนเชียงใหม่แห่งนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ท่าเรือกลไฟ’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) เพื่อเป็นท่าเทียบเรือหลักของชาวจีนโพ้นทะเลในยุคที่การเดินทางและการค้าขายทางเรือเฟื่องฟูถึงขีดสุด

ในขณะที่ชาวตะวันตกเทียบท่าบริเวณที่เป็นเอเชียทีคในปัจจุบัน ส่วนคนญี่ปุ่นเทียบท่าที่ท่าน้ำราชวงศ์​คนจีนจะเทียบท่าที่ฮวย จุ่ง ล้ง แล้วขนถ่ายสินค้าเข้าไปในกลุ่มอาคารริมน้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งโกดังเก็บของและร้านค้า โดยไม่ลืมแวะสักการะเจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพีผู้พิทักษ์ท้องทะเล เพื่อขอบคุณที่ท่านนำทางเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งขอพรให้คลื่นลมราบเรียบเมื่อถึงเวลาเดินทางกลับอีกด้วย

ท่าเรือโบราณแห่งนี้ต้อนรับขับสู้ชาวจีนอย่างดีเป็นระยะเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งมีการก่อตั้งการท่าเรือและเปิดใช้ท่าเรือคลองเตย ฮวย จุ่ง ล้งจึงถูกลดบทบาทความสำคัญลง ในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ตัน ลิบ บ๊วย หนึ่งในชาวจีนผู้อพยพมาขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือแห่งนี้ แล้วสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนร่ำรวย จึงขอซื้อที่ดินและอาคารต่อจากตระกูลพิศาลบุตร โดยปรับปรุงอาคารให้เป็นสำนักงาน โกดังเก็บสินค้า และที่อยู่อาศัยของคนงาน

 

รักษาปัจจุบัน

เป็นเวลาเกือบร้อยปีที่ฮวย จุ่ง ล้งถูกส่งต่อในครอบครัวหวั่งหลีจากรุ่นสู่รุ่น กาลเวลาและลมฝนทำให้ตัวอาคารชำรุดทรุดโทรมลงไปมากจนไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย

“เลยต้องให้ผู้เช่าย้ายออกไป” รุจิราภรณ์ หวั่งหลี นายหญิงของตระกูลเก่าแก่เล่าให้เราฟัง “แต่พอเขาย้ายออกไปแค่สองสามเดือน อาคารที่ไม่มีคนอยู่ก็พัง ถึงขั้นที่บันไดขึ้นไม่ได้ หลังคารั่วเต็มไปหมด เราเห็นก็เสียดาย เพราะที่นี่เป็นตึกจีนที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว”

จริงดังเธอว่า เพราะฮวย จุ่ง ล้งคือสถาปัตยกรรมแบบ ‘ซาน เหอ หยวน’ แห่งสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ มีลักษณะเป็นหมู่อาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัว U ตัวอาคารประธานซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าแม่หม่าโจ้วหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา และมีลานโล่งตรงกลางเพื่อเว้นที่ให้ดินกับฟ้าเชื่อมถึงกัน นับว่าถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยทุกประการ

ในฐานะนักออกแบบตกแต่งภายในรุ่นเก๋าและผู้ก่อตั้งบริษัท PIA Interior Co., Ltd รุจิราภรณ์จึงริเริ่มโปรเจกต์บูรณะโบราณสถานแห่งนี้ โดยตั้งมั่นว่าจะคงสภาพดั้งเดิมของอาคารไว้ให้ได้มากที่สุด แม้เธอจะไม่มีประสบการณ์ด้านการซ่อมแซมโดยตรง แต่เธอก็สรรหาวิศวกรและช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลและให้คำปรึกษา นอกเหนือจากนั้นเธอพึ่งพาสัญชาตญาณส่วนตัวล้วนๆ ในการเอาตัวรอดจากความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อได้เจอจิตรกรรมฝาผนังอายุร้อยกว่าปีที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังสีที่ถูกทาทับชั้นแล้วชั้นเล่า

หัวเรือใหญ่ตัดสินใจเรียกตัวศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์จากเมืองจีนและช่างฝีมือมาช่วยวิเคราะห์ พบว่าจิตรกรรมนั้นถูกวาดด้วยสีฝุ่นบนผนังปูนแห้ง มีจุดเด่นที่การใช้สีเบญจรงค์ คือใช้สีเพียง 5 สี ได้แก่ สีดำ สีแดง สีฟ้าคราม สีเขียว และสีเหลือง โดยภาพวาดเหล่านี้เป็นผลงานร่วมของช่างฝีมือหลายคน ดูได้จากฝีแปรงและลายเส้นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ภาพวาดในแต่ละอาคารจะมีธีมที่ไม่เหมือนกัน อย่างภาพบนอาคารประธานนั้นเป็นรูปพืชพรรณ ผลไม้ และสัตว์มงคล ส่วนภาพบนอาคารอื่นเป็นรูปวิถีชีวิตชาวบ้านและวรรณคดีจีน

เมื่อได้ข้อมูลแล้วทีมงานจึงเริ่มทำการอนุรักษ์ ขั้นตอนนี้กินเวลานานที่สุด เพราะช่างฝีมือต้องค่อยๆ ขูดสีชั้นสุดท้ายออกด้วยเกรียงและมีดผ่าตัดอย่างเบามือ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนภาพวาด จากนั้นจึงฉาบปูนน้ำอ้อยแบบโบราณเพื่อซ่อมแซมบริเวณที่จำเป็น รวมทั้งเติมสีส่วนที่ขาดหาย โดยยึดหลักว่าจะไม่ปรุงแต่งเกินของเดิม แต่จะเลือกสีที่ใกล้เคียงที่สุด แล้วแต่งแต้มให้น้อยที่สุดด้วยเส้นดิ่ง เพื่อแยกแยะงานอนุรักษ์ออกจากภาพออริจินัล จะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานในอนาคต

“มันเหมือนกับเราได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ออกดูพร้อมกับสีที่ลอกออกมาทีละแผ่นๆ” รุจิราภรณ์เล่าความประทับใจ “เรารู้สึกได้ถึงแก่นแท้ของเรา เราได้เรียนรู้เรื่องราวของบรรพบุรุษด้วยตัวเอง ผ่านการได้เห็น ได้แตะต้อง ดีกว่าการอ่านหนังสือสาแหรกตระกูลตั้งมากมาย”

บรรพบุรุษที่หัวหน้าโปรเจกต์พูดถึงไม่ใช่ต้นตระกูลหวั่งหลีแต่อย่างใด หากแต่เป็นเหล่ากงเหล่าม่าของชาวไทยเชื้อสายจีนทุกคน เพราะภาพวาดบริเวณวงกบหน้าต่างและประตูบอกเล่าวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเลทุกหมู่เหล่า ที่ไม่ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเองแม้ต้องจากบ้านเกิดมาสร้างอนาคตใหม่ในแดนไกล

 

สานต่ออนาคต

แม้ตอนนี้การซ่อมแซมจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่รุจิราภรณ์ก็เห็นภาพอนาคตของฮวย จุ่ง ล้ง ในชื่อใหม่ว่า ล้ง 1919 อย่างแจ่มชัด เธอวาดฝันให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ และไลฟ์สไตล์ โดยมีจิตรกรรมฝาผนังและเจ้าแม่หม่าโจ้วเป็นตัวชูโรง และมีองค์ประกอบร่วมสมัยมาเพิ่มสีสันและชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ อีเวนต์ฮอลล์ co-working space และที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำ
“ตอนที่คนย้ายออกไป ที่นี่มันแห้ง มันน่าเศร้าใจมากเลย พอซ่อมแซมเสร็จ เราก็ยังเศร้าใจอยู่ เพราะเขาสวยแล้วล่ะ แต่เขาไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีชีวิตเลย” คือคำตอบของรุจิราภรณ์เมื่อเราถามสาเหตุที่ตัดสินใจเปิดประตูต้อนรับสาธารณชนให้เข้ามาในพื้นที่อันเป็นมรดกของครอบครัว

“เราอยากให้คนมาใช้งานที่นี่จริงๆ มากกว่าจะทำเขาเป็นมิวเซียมเศร้าๆ หรือเก็บเป็นโบราณสถาน เราเชื่อว่ามันดีกว่าถ้าให้เขาฟื้นกลับมาด้วยความสง่างามและภาคภูมิในบริบทใหม่ของสมัยปัจจุบัน” รุจิราภรณ์ทิ้งท้าย

ล้ง 1919 มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน งานฟลีมาร์เก็ตสุดฮิปอย่าง The Great Outdoor Market จะขอประเดิมจัดอีเวนต์เป็นรายแรก ถ้าอยากสัมผัสอาคารเก่าแก่ในบรรยากาศร่วมสมัยก็กาปฏิทินไว้ได้เลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของล้ง 1919 ได้ที่นี่

 

FACT BOX:

  • หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ ‘เจ้าแม่หม่าโจ้ว’ แต่ร้องอ๋อทันทีที่ได้ยินชื่อ ‘เจ้าแม่ทับทิม’ ขอเฉลยตรงนี้ว่าทั้งสองชื่อคือชื่อเรียกเทพีแห่งท้องทะเลองค์เดียวกัน โดยศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วที่ล้ง 1919 ประกอบด้วยรูปแกะสลักเจ้าแม่ 3 ปาง ได้แก่ ปางเด็กสาว ให้พรด้านการมีบุตร ปางผู้ใหญ่ ให้พรด้านการค้าขาย และปางผู้สูงอายุ (ไม่ปรากฏว่าให้พรด้านใดเป็นพิเศษ)
  • ปูนน้ำอ้อยคือปูนโบราณ มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถถ่ายเทอากาศและความชื้นได้ เพราะเนื้อเป็นรูพรุน ต่างจากปูนซีเมนต์สมัยปัจจุบันซึ่งมีเนื้อแน่น ปูนน้ำอ้อยได้ชื่อเช่นนี้เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลอ้อยธรรมชาติ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ ได้แก่ กาวหนังสัตว์ ปูนขาวหมัก และทรายน้ำจืด

 

Tags: , , , , , , , , ,