“เราจะรักใครก็ได้ เพราะรักไม่มีเพศ”
“มันก็ดีที่จะไม่จำกัดเพศให้ตัวเอง แต่ก็ไม่ควรไปเหมารวมว่าคนอื่นๆ ไม่ควรนิยามเพศเหมือนกันหรือเปล่า”
“รักไม่จำกัดเพศ แต่ตอนที่เราอยากจดทะเบียนสมรสกับแฟนที่คบมา 11 ปี กฎหมายดันระบุว่าต้องเป็นระหว่างเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น เป็นแก แกจะงงป่ะ”
“พวกคนในคอมมู LGBTQ+ เรื่องมาก พูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็วีน เซนซิทีฟมาก ทำไมถึงไม่เข้มแข็งเลย แถมยังต้องการการโอ๋มากกว่าเพศอื่นๆ อีก”
บทสนทนาข้างต้นเป็นสิ่งที่เราพบเห็นจากโซเชียลมีเดีย เมื่อจุดเริ่มต้นของการถกเถียงเรื่อง ‘ความรัก’ และการนิยามตัวตนว่า ‘ไม่มีเพศ’ ไปจนถึงประเด็นที่ว่าเราสามารถรักใครก็ได้เพราะเพศไม่ใช่สิ่งมาจำกัดกรอบว่าเราจะรู้สึกรักหรือไม่รักใคร มาจากเรื่องเล็กๆ อย่างการที่มีคนดังรีทวีตข้อความที่ระบุว่า “ผู้คนไม่ได้กลายเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล มนุษย์เราก็แค่ตกหลุมรักใครสักคนเท่านั้น” จนทำให้เสียงวิจารณ์ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง
ฝั่งหนึ่งมองว่าความรักไม่มีเพศจริงๆ เพราะบางคนยังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่าเรารู้สึกชอบคนคนหนึ่งด้วยปัจจัยอะไรบ้าง หรือไม่ได้กำหนดเพศตายตัวให้ตัวเองว่าฉันจะเป็นเกย์ เป็นกะเทย เป็นเลสเบี้ยน หรือเป็นไบเซ็กชวล ฯลฯ เพราะเพศคือความลื่นไหล ไม่จำเป็นต้องมีกรอบมาบดบังการสร้างความสัมพันธ์กับคนที่รัก
ส่วนอีกฝั่งหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ผิดอะไรเลยกับการที่คนคนหนึ่งจะยังไม่ระบุเพศให้กับตัวเอง จะไม่มีคำนิยามความสัมพันธ์กับคนรักว่าเป็นคู่รักเกย์ คู่รักเลสเบี้ยน หรือไม่นิยามอะไรทั้งนั้น แต่ก็ไม่ควรเหมารวมหรือรณรงค์ให้คนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศสมาทานแนวคิดนี้เป็นหลัก เพราะก็ไม่ผิดเช่นกันที่บางคนรู้แล้วว่าจะนิยามตัวเองเป็นเพศอะไร และชอบคนที่เป็นเพศอะไร เช่น นางสาว A ยืนยันว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน เพราะตนจะให้ความสนใจแค่กับผู้หญิงด้วยกัน เคยลองพยายามเปิดใจให้ผู้ชายแล้วแต่ก็ไม่สามารถทำใจให้ชอบได้จริงๆ หรือนางสาว B ที่ผ่านการพบจิตแพทย์มาหลายครั้งก่อนตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ เธอก็มั่นคงกับการนิยามตัวเองเรียบร้อยแล้ว
คอลัมน์ From The Desk สัปดาห์นี้เป็นหนึ่งในประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ที่ได้อ่านบทสนทนาจำนวนมาก เพื่อพยายามทำความเข้าใจมุมมองของทั้งสองฝั่งให้ได้มากที่สุด เพื่อหาทางออกของปัญหา หรือเพื่อพยายามตอบคำถามที่ว่าจริงหรือไม่ที่รักไม่มีเพศ และหากเรานิยามตัวเองแล้ว เราก็ไม่ผิดอะไรเช่นกันไม่ใช่หรือ?
รักไม่มีเพศ?
เราคงเคยได้ยินวลีต่างๆ เกี่ยวกับความรักกันมาพอสมควรทั้งรักไม่มีพรมแดน รักไม่มีภาษา รักไม่มีศาสนา ที่แทบจะลอกเพลงเพลงหนึ่งมาหมดแล้ว ไปจนถึงในยุคหลังที่โลกเริ่มมีการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น (ถือว่าดีขึ้นจริงจากที่ในหลายพื้นที่เคยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย) ก็เริ่มมีประโยคที่ว่า ‘รักไม่มีเพศ’ หรือ ‘รักก็คือรัก’ ให้เห็นผ่านตาบ่อยขึ้น
ในซีรีส์ต่างประเทศ เราก็จะได้เห็นคู่รักเพศหลากหลายมากขึ้น เริ่มมีการสื่อความเข้าใจโดยใช้คำว่า ‘love is love’ บ่อยขึ้น คู่กับแคมเปญผลักดันความเท่าเทียมทางเพศที่อยากให้ทุกคนมีความคิดความเข้าใจว่า ไม่ว่าเราจะรักใครมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด ความรักสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ หรือกับใครก็ได้ (ที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือศีลธรรมบางอย่าง ซึ่งในทัศนคติของผู้เขียน รักใครก็ได้ที่ว่า ไม่อาจควบรวมความรักใคร่ทางสายเลือด อาการใคร่เด็ก หรือความรักที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม)
เมื่อได้เห็นคำว่ารักก็คือรักหรือรักไม่มีเพศในสื่อต่างๆ มากขึ้น ประกอบกับการที่ผู้คนเริ่มพูดคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง เราจึงได้เห็นบทสนทนาที่พูดถึงการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองในไทยมากขึ้น บางคนยังไม่แน่ใจว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นเพศอะไร หญิง ชาย เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล เอเซ็กชวล หรือจะเป็นนอนไบนารีที่ไม่ปักเพศใดเพศหนึ่งชัดเจนไปเลย
กลายเป็นว่าสองประเด็นที่หลายคนถือว่าเป็นเรื่องใหม่ อย่างการที่คนเราจะรักเพศใดก็ได้ กับเรื่องการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศให้กับตัวเองและคนอื่น ดันถูกควบรวมและมักพูดถึงพร้อมกันจนเหมือนให้เป็นเรื่องเดียวกัน
ต้นเรื่องที่ถกเถียงกันกับประโยค “ผู้คนไม่ได้กลายเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล มนุษย์เราก็แค่ตกหลุมรักใครสักคนเท่านั้น” ในมุมมองของผู้เขียน จึงไม่สามารถตัดสินว่าถูกต้องทั้งหมด หรือผิดทั้งหมดได้
เราอาจต้องแยก ‘รักไม่มีเพศ’ กับ ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ ออกจากกันเสียก่อน
หากจะมองว่าคอมเมนต์หรือผู้ที่เห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว รู้สึกแค่ว่าเขาหรือเธอรักใครสักคนหนึ่งโดยไม่สนเรื่องเพศของอีกฝ่าย ไม่สนว่าจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร นั่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจจะสร้างความรู้สึกแปลกแก่คนอื่นๆ ที่นิยามเพศให้ตัวเองแล้ว และรู้สึกว่าเขาหรือเธอไม่สามารถชอบใครก็ได้ แต่ต้องมีปัจจัยบางอย่าง เช่น เพศ ตัวตน อัตลักษณ์ มาเป็นส่วนประกอบ
ความรักเป็นนามธรรม ทว่าสิ่งที่ชวนให้สงสัยคือเราไม่เคยเห็นการใช้คำว่า ‘รักไม่มีเพศ’ กับคู่รักชายหญิงเลย เพราะ ‘กรอบความคิดส่วนใหญ่’ มองว่าความสัมพันธ์ชายกับหญิงเป็นเรื่องปกติไม่ผิดแปลกจากสังคม แตกต่างจากคู่รักในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ บางคนอาจให้เหตุผลว่าเพราะอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ เป็นเรื่องแปลก เข้าใจยาก เลยควบรวมลดทอนให้เป็นรักไม่มีเพศแบบกว้างๆ แทน
จึงมีการตั้งคำถามว่า ‘รักไม่มีเพศ’ กำลังมีส่วนลดทอนอัตลักษณ์ทางเพศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ด้วยชุดความคิดว่าเพราะเยอะเกินไป เข้าใจยาก ไม่อยากยอมรับ หรือไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเลยก็ได้หรือไม่
ทำให้กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว รู้สึกว่าผู้คนบางส่วนกำลังพยายามลบเลือนอัตลักษณ์ เสียง และความภาคภูมิใจของบางคนในคอมมู LGBTQ+ หรือไม่ ทั้งที่การยอมรับหรือการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ยังไม่ได้เข้มแข็งมากพอที่จะเบลอหรือไม่สนใจอัตลักษณ์ทางเพศที่คนบางส่วนในสังคมยังไม่เข้าใจ
ทั้งที่จริงแล้ว ในทัศนคติของผู้เขียน สองเรื่องนี้ควรแยกกันพูดไปทีละเรื่อง ดังที่ยกตัวอย่างไปตอนต้นว่า นางสาว A เรียกตัวเองว่าเกย์ ชื่นชอบแค่เพศหญิงเท่านั้น และก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่ บุคคล C ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นเพศใดก็ตาม
เพราะบางคอมเมนต์ก็โต้ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าเขานิยามเพศให้ตัวเองได้แล้ว เขาเป็นเกย์ เขาภาคภูมิใจในตัวตนนี้เอามากๆ และการใช้คำว่ารักไม่มีเพศที่ดีที่สุด คือการนิยามคำดังกล่าวกับตัวเอง
เพราะมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย การนำกรอบความคิดแบบเดียวมาครอบว่าทุกคนจะต้องเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด หรือพูดแบบควบรวมคร่าวๆ ที่กลบตัวตนหรือความคิดเห็นของผู้อื่น อาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ
รักไม่มีเพศเป็นอุปสรรคต่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ หรือไม่?
‘มาตรา 1448 บัญญัติว่า การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์’
ระหว่างไล่ดูการโต้เถียงจำนวนมาก เรากลับรู้สึกว่าบทสนทนาเหล่านี้คล้ายกับกำลังเปิดแผลความเจ็บปวดของตัวเองซ้ำๆ จากการไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคนรักที่คบกันมา 11 ปี หรือการนั่งตัดพ้อเรื่องที่ตัวเองไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ รวมกับคนรักได้ดั่งคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ไม่สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านกับแฟน เซ็นเอกสารสำคัญต่างๆ ที่ล้อไปกับเสียงวิจารณ์หนึ่งที่ตั้งคำถามว่า รักไม่มีเพศเป็นอุปสรรคต่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ หรือไม่?
คนรักของเราที่ไม่ได้สนใจการถกเถียงในประเด็นนี้เท่าไรนัก กลับมาเล่าให้ฟังในระยะเวลาคาบเกี่ยวกันว่าเธอไปร่วมแสดงความยินดีกับหัวหน้าในงานแต่งงาน ระหว่างเปิดคลิปวิดีโอเล่าความสัมพันธ์บ่าว-สาว เธอก็เผลอร้องไห้ออกมา โดยที่ตอนนั้นก็ยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าร้องเพราะอะไร จนทำให้เพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้ปลอบใจว่า
“เดี๋ยวก็ได้แต่ง”
บางคนปลอบว่า
“ยากหน่อย แต่เชื่อว่าได้แต่งแน่”
“เดี๋ยวพวกไอ้แก่เหยียดเพศก็ตายหมดแล้ว”
เมื่อประเด็นที่อ่อนไหวมีความใกล้ชิดกับผู้เขียนจนเกิดความรู้สึกร่วม หรือเกิดความรู้สึกส่วนตัว บทความนี้จึงไม่ใช่บทความที่เป็นกลาง เพราะผู้เขียนเองก็กำลังพบเจอความเจ็บปวดจากความล้มเหลวทางกฎหมาย ที่ทำให้เราที่มีความรัก ไม่สามารถสร้างครอบครัวได้เหมือนกับครอบครัวอื่นๆ เพียงเพราะเพศสภาพแต่กำเนิดของเรากับคนรักนั้นเป็นเพศเดียวกัน
ดังนั้นหากถามเราว่า รักไม่จำกัดเพศเป็นอุปสรรคต่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ หรือไม่?
เราที่มีอคติแล้วกำลังโศกเศร้า คงจะตอบว่า “อาจใช่”
แต่ถ้าถามซ้ำอีกด้วยคำถามเดิม เราอาจเริ่มลังเลแล้วตอบว่า “ไม่แน่ใจ”
เพราะจริงๆ แล้ว เมื่อวางอคติหรือความโกรธลงเพื่อมองอีกมุมหนึ่ง ความหลากหลายทางเพศหรือการที่ใครจะกำหนดเพศของตัวเองหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผิดตรงที่เรายังจำต้องใช้กฎหมายที่ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้คนได้รอบด้านมากพอต่างหาก
สรุปง่ายๆ จากการพิมพ์ที่ยาวเหยียด ผู้เขียนมองว่าประโยค “ผู้คนไม่ได้กลายเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล มนุษย์เราก็แค่ตกหลุมรักใครสักคนเท่านั้น” รวมถึงเสียงสนับสนุนประโยคดังกล่าวเรื่องที่ว่าเราไม่ควรนิยามเพศหรืออัตลักษณ์ตัวเองอาจมีปัญหาเล็กน้อย ตรงที่ผู้สนับสนุนหรือผู้สานต่อประเด็นนี้มักพิมพ์ถ้อยคำที่คล้ายกับสมาทานความคิดว่าทุกคนจะต้องคิดเหมือนกันกับประโยคดังกล่าวเท่านั้นเอง
Tags: Gender, LGBTQ, ความเท่าเทียมทางเพศ, Fromthedesk, สมรสเท่าเทียม, ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, เจนเดอร์, รักไม่มีเพศ