“ได้เข้าป่า เดินผ่านพงหญ้า ลุยน้ำ ย่ำโคลนมาไหมครับ” สำหรับคนที่มีไข้ตัวร้อนมา 5-7 วันแล้วยังหาสาเหตุไม่ได้น่าจะเคยเจอคำถามแปลกประหลาดทำนองนี้จากหมอมาบ้างนะครับ
ความจริงแล้วหมอกำลังประเมินโอกาสในการติดเชื้อโรคบางอย่างที่ทำให้มีไข้นานขนาดนี้อยู่ โดยถ้าเคย “เข้าป่า” เมื่อ 1-2 สัปดาห์ก่อนจะทำให้สงสัยโรคมาลาเรีย “เดินผ่านพงหญ้า” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว-ทำให้นึกถึงโรคไข้รากสาดใหญ่ (สครับไทฟัส) ส่วน “ลุยน้ำ ย่ำโคลน” เมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านอาจทำให้ติดโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรสิส) ได้
ผู้ป่วยโรคฉี่หนูส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกร เลี้ยงสัตว์ หรือรับจ้างทั่วไป
แต่อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักจากพายุโซนร้อนโพดุล จนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายท่านจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะ “เดินลุยน้ำ” ออกจากบ้าน จึงมีความเสี่ยงต่อโรคฉี่หนูเช่นกัน
โรคฉี่หนู
เป็นโรคที่เราคุ้นหูมาตั้งแต่สมัยเด็ก ซึ่งพอได้ยินชื่อโรคก็ทำให้รู้ว่ามี “หนู” เป็นพาหะแน่นอน ส่วนภาษาอังกฤษมีหลายชื่อเรียก ได้แก่ field fever (ไข้จากไร่นา), harvest fever (ไข้จากการเก็บเกี่ยว) ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการเกษตร และอีกชื่อหนึ่งที่เกี่ยวกับหนูโดยตรงคือ rat catcher’s yellows (อาการเหลืองในนักจับหนู)
ทว่าเชื้อเลปโตสไปรา (Leptospira) ที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูนี้ยังสามารถพบในสัตว์อื่นได้อีก เช่น หมา หมู วัว ควาย ม้า แพะ แกะ (ยกเว้นแมว) ซึ่งมักจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่จะติดเชื้อเรื้อรังที่ไต และปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะเป็นครั้งคราวได้ตลอดชีวิตของสัตว์ที่ติดเชื้อ
พอเกิดฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไร เอ้ย! เชื้อเลปโตฯ ที่ถูกปล่อยออกมาก็จะปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ท่วมอยู่ ซึ่งหากเรามีรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวหนังก็จะเป็นทางเข้าของเชื้อได้ รวมถึงเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ตา จมูก และปาก หรือแม้กระทั่งผิวหนังปกติ แต่หากแช่น้ำอยู่นานจนอ่อนนุ่มก็อาจทำให้เชื้อไชเข้ามาในร่างกายได้เช่นกัน
ดังนั้นวิธีการป้องกันโรคคือ 1.ดื่มน้ำสะอาด หากจำเป็นต้องทำน้ำให้สะอาดก่อน 2.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือลงเล่นน้ำ หากจำเป็นควรสวมชุดป้องกันหรือรองเท้าบู๊ต ล้างตัวและซับให้แห้งหลังจากกลับมาแล้ว 3.หากมีแผลควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ที่กันน้ำได้ และ 4.เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากหนู
สัปดาห์นี้มีไข้รึเปล่า?
สาเหตุที่ผมถามอาการใน “สัปดาห์นี้” ก็เพราะว่าเชื้อเลปโตฯ มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 10 วัน แต่สั้นที่สุด 2 วัน และยาวที่สุด 14 วัน (บางตำราบอก 26 วัน หรือเกือบเดือนเลยทีเดียว) หากสัมผัสน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ก่อนก็อาจเริ่มมีอาการในสัปดาห์นี้แล้ว
โดยอาการที่ว่าคือไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หลังและต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการตาแดงร่วมด้วย เป็นอยู่ 5-7 วัน ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ถ้าเป็นรุนแรง หลังจากไข้ลง 1-2 วันจะกลับมามีไข้รอบใหม่ มักเป็นไข้ต่ำๆ ร่วมกับอาการตาเหลืองตัวเหลือง ตับวาย ไตวาย บางรายอาจมีไอเป็นเลือดจากภาวะเลือดออกในปอด หรือซึม สับสนจากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
หากใครกำลังมีไข้อยู่ อาจกินยาลดไข้ พักผ่อนและสังเกตอาการที่บ้าน 3 วัน ถ้ายังมีไข้อยู่หรืออ่อนเพลีย กินได้น้อยก็ควรไปโรงพยาบาลเลย แต่เนื่องจากอาการของโรคฉี่หนูในระยะแรกคล้ายกับไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ หากได้ยากลับมากินแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องไปให้แพทย์ตรวจซ้ำอีกครั้ง
โชคดี! ที่โรคนี้มียารักษาเป็นยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่งที่ต้องกินติดต่อกัน 7 วัน และเชื้อนี้ไม่ดื้อยา
ดังนั้นสรุปสำหรับคนที่เดินลุยน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากมีไข้ควรไปพบแพทย์ แต่ถ้าแพทย์สรุปว่า “เป็นไข้ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้” อย่าลืมแจ้งว่าเคยลุยน้ำเมื่อสัปดาห์ก่อนด้วยเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย แต่ทั้งนี้แพทย์ต้องอาศัยการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย
ส่วนถ้ายังปกติอยู่ให้หมั่นสังเกตอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วครับ
Tags: ไข่, โรคฉี่หนู