ไคล์ แมคโดนัลด์ (Kyle McDonald) คือศิลปินชาวอเมริกันที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยสื่อที่แตกต่างออกไป เขาไม่ได้เขียนสีบนผ้าใบ แต่เขียน Code และดัดแปลงศิลปะเข้ากับกับเทคนิคทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เขาเป็นหนึ่งในศิลปินแถวหน้าที่ขับเคลื่อนงาน Interactive Design และ Media Art ในยุคปัจจุบัน

เมื่อปีที่แล้ว ไคล์มาพูดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Arificialt Intelligence: AI) ที่จัดโดย TCDC และในปีนี้ เขาก็กลับมาอีกครั้งเพื่อเป็นวิทยากรใน ‘Interactive Design and Media Art Workshop’ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา จัดโดย Studio Matcha Creative Workshop ที่ Hubba co-working space สาขาเอกมัย

เวิร์กช็อปนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงสายของวัน และลากยาวกันเต็มอิ่ม 7 ชั่วโมง เรียกได้ว่าอัดแน่นไปด้วยความรู้และข้อคิดดีๆ จนเราขอนำบางส่วนบางตอนมาแบ่งปัน

แม้หัวข้อเวิร์กช็อปอาจฟังดูใหม่จนหลายคนเกร็ง แต่ท่าทีสบายๆ ใจดี และเฟรนด์ลี่ของไคล์ ก็ชวนให้ทุกคนสลายกำแพงความรู้และทัศนะลงตั้งแต่เพียงไม่กี่นาทีแรก ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปครั้งนี้มาจากหลากหลายสายงาน ทั้งกราฟิกดีไซเนอร์ ครีเอทีฟ อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านดีไซน์และมีเดีย อาร์ต นักศึกษา หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มาเลยก็มี ต่างมาเข้าร่วมเพราะสนใจเรื่องมีเดีย อาร์ต บางคนเคยรู้จักและติดตามผลงานของเขามาสักพัก แต่อีกหลายคนก็ได้มารู้จักเป็นครั้งแรก

ไคล์แนะนำตัวว่าเขาเรียนจบสาขา Computer Science และหลังจากได้ทำงานกับนิค แคสซิมาทิส (Nick Cassimatis) ที่เป็นอาจารย์และผู้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เขาก็ได้ค้นพบตัวเองเมื่อนิคทักว่า “ไคล์ นายเป็นศิลปินหรือเปล่า?” ไคล์หัวเราะแล้วอธิบายว่าความจริงแล้วพวกเขาควรจะต้องแก้ไขปัญหาแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่แทนที่จะมองหาวิธีแก้ปัญหา เขากลับสร้างปัญหาด้วยความคิดบ้าบิ่นสุดโต่งเสียมากกว่า หรืออย่างดีที่สุดก็คอยตั้งคำถาม ในที่สุด ไคล์จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทสาขา Fine Arts และพบว่าการชี้แนะจากอาจารย์ศิลปะช่วยพัฒนาแนวทางการทำงานของเขาได้มาก

ไคล์ชวนให้ย้อนดูงานเก่าๆ ที่เขาทำ และออกตัวว่าเขามักจะดูจากคนอื่นหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วในตอนนั้น และนำมาปรับ ต่อยอดไปสู่ความเป็นไปได้อื่นที่ตอบสนองไอเดียสนุกๆ ในหัวของตัวเอง มันไม่ผิดที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และเพราะแบบนี้เอง เขาจึงชอบแชร์ผลงานและวิธีการทำลงบนเว็บไซต์ส่วนตัวให้คนอื่นได้ศึกษาอยู่เป็นประจำ และนั่นก็กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีลูกค้าติดต่อเข้ามาอยู่บ่อยๆ

ส่วนงานที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในงานของเขา คือการทดลองเทคโนโลยี 3D Scanning ซึ่งเขาต่อยอดไอเดียและเทคนิคขึ้นเป็นผลงาน เช่น Face Substitution Research หรืองาน Light Leaks ที่เล่นกับการกระจายของแสงที่ฉายจากโปรเจ็กเตอร์ไปกระทบลูกบอลดิสโก้


Light Leaks from Kyle McDonald on Vimeo.

ไคล์ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและการเขียนโค้ดและอัลกอริทึมอยู่ตลอดเวลา งานทดลองชิ้นหนึ่งที่เขาทำและเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ คือการเขียนโค้ดให้ทุกข้อความที่ตนพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ไปปรากฏบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นโค้ดที่เขาเขียนเวลาทำงาน ข้อความที่คุยกับแฟน หรืออีเมลที่ตอบเพื่อนก็ตาม รวมถึงมีแอปพลิเคชันชื่อ pplkpr (People Keeper) ซึ่งพัฒนาร่วมกับลอเรน แมคคาร์ธีย์ (Lauren McCarthy) เป็นแอปฯ วิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจว่าเราอยู่ในอารมณ์แบบไหน และประมวลผลให้ข้อชี้แนะว่าเราควรจะนัดเจอกับใครให้บ่อยขึ้นหรือควรเลิกติดต่อกับใคร ซึ่งมีกลิ่นอายของการสอดแนมและการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไคล์ย้ำกับผู้เข้าร่วมว่า “อย่าเชื่อ data และอัลกอริทึม คุณควรสะท้อนความรู้สึกจากข้างในว่ารู้สึกและควรจัดการความรู้สึกที่มีต่อบุคคลนั้นๆ อย่างไร”

http://pplkpr.com

เหล่านี้คือภาพคร่าวๆ ของ Interactive Design และ Media Art ในมุมมองของไคล์ แมคโดนัลด์ ซึ่งเขาย้ำว่าเป็นเพียงมุมของคนอเมริกันหรือคนยุโรป และเป็นศิลปะที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกลาง (medium) และชิ้นงานศิลปะ ตัวงานศิลปะจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีสื่อกลางมารองรับอย่างเหมาะสม และทำให้ผู้ชมเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่อารมณ์ความรู้สึก หรือกระตุ้นให้เกิดการเข้าร่วมกับตัวชิ้นงาน อาจมาในรูปแบบของคำสั่งหรือการตอบสนองกับผู้ชม เช่น ขยับตัว ขยับมือ และอื่นๆ ซึ่งงานแขนงนี้เชื่อมโยงไปถึงศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น Performance Art และ Conceptual Art

ทั้งนี้ สื่อกลางก็เป็นได้หลากหลาย ตั้งแต่ตัวหนังสือ ฟิล์ม เสียง โปรเจกเตอร์ หุ่นยนต์ หรือแม้แต่ตัวคน และปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีร่วมสมัย

ระหว่างเวิร์กช็อป ไคล์เล่าถึงปัญหาที่เขาเจอในการทำงานกับลูกค้าเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การคำนวณค่าใช้จ่ายของแต่ละโปรเจกต์อย่างละเอียดถี่ยิบ รวมถึงปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับศิลปินและนักออกแบบทุกคน นั่นก็คือเรื่องลิขสิทธิ์และการเป็นเจ้าของผลงาน

เขาแนะนำว่าไม่ว่าลูกค้าคือใคร ควรทำสัญญาให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มงาน “คุณควรแสดงความเป็นเจ้าของในงานของคุณ แต่ถ้าหากโดนใครขโมยงานก็อย่ากังวลมากไป เพราะไม่ว่ายังไงก็ไม่มีใครขโมยความคิดของคุณไปได้ ถ้าคุณคิดไอเดียนี้ขึ้นมา ครั้งหน้าคุณก็คิดขึ้นมาใหม่ได้ คนเหล่านั้นก็ทำได้แค่รอขโมยไปจากคุณ ก็เท่านั้น” ไคล์บอกด้วยน้ำเสียงจริงจัง

สำหรับวิธีการหาไอเดีย เขาแนะว่าเวลารวบรวมไอเดียหรือแรงบันดาลใจในการทำงานสักชิ้น ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดอะไรดีๆ ได้ในครั้งแรก อย่าปิดกั้นไอเดียของตัวเอง แม้ทีแรกจะเห็นว่ามันไร้สาระแค่ไหนก็ตาม บางครั้งงานดีๆ ก็ต่อยอดมาจากไอเดียไร้สาระเหล่านี้นั่นเอง

ในตอนท้ายของการเวิร์กช็อป ไคล์ฝากข้อคิดถึงความแตกต่างระหว่าง Specialist และ Generalist เขาบอกว่าตัวเองถือเป็น Generalist ที่เราเรียกกันบ้านๆ ว่าเป็น ‘เป็ด’ สามารถทำได้หลายอย่าง แต่อาจจะไม่ใช่ผู้ชำนาญการอะไรสักอย่าง ไคล์เล่าว่างานบางงานในบางองค์กรต้องการ Specialist เพื่อทำอะไรอย่างเดียวซ้ำไปซ้ำมา การเป็น Specialist ต้องอาศัยการฝึกฝนทำสิ่งนั้นซ้ำๆ เป็นเวลานาน แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็น Specialist กันทุกคน เขากลับมองว่าการที่ทีมมี Specialist ในทุกตำแหน่ง จะทำให้งานสำเร็จไปตามเป้าหมาย แต่ทีมที่ประกอบไปด้วย ‘เป็ด’ จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง เพราะทุกคนทำได้หลายอย่าง และต่างคนต่างก็ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไปได้

ฉะนั้น ไคล์มองว่าเราไม่ควรน้อยใจหากไม่ได้เชี่ยวชาญด้านใดสักด้าน ขณะเดียวกันก็ไม่ผิดที่ใครจะตั้งใจพยายามจนเป็น Specialist และไม่ผิดอีกเช่นกัน หากเลือกจะเป็น Generalist อย่างที่เขาและอีกหลายๆ คนเป็น

หากใครสนใจและพลาดเวิร์กช็อปครั้งนี้ ไคล์แอบกระซิบว่าถ้ามีโอกาส ปีหน้าก็อยากจะกลับมาจัดเวิร์กช็อปอีก โดยระหว่างนี้สามารถชมผลงานของ ไคล์ แมคโดนัลด์ ได้ที่เว็บไซต์ของเขา หรือ Vimeo

FACT BOX:

  • Conceptual Art คือรูปแบบงานศิลปะที่สนใจแก่นของไอเดีย โดยไม่ได้มองถึงรูปแบบการนำเสนอเป็นปัจจัยสำคัญ หรืออาจจะไม่มีอะไรเลยนอกจากแก่นของไอเดีย
  • ไคล์บอกว่าขนาดของโปรเจกต์และองค์กรของลูกค้ามีผลต่อรูปแบบของงาน ยิ่งโปรเจกต์และองค์กรใหญ่ งานแนวทดลองยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะต้องลดความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อข้อจำกัดรอบด้าน
  • ขอบคุณสำหรับเวิร์กช็อปดีๆ จาก Studio Matcha Creative Workshop ของว่างและอาหารกลางวันอร่อยๆ จาก The Never Ending Summer
Tags: , , , , ,