“ผมจบวิศวกรรมไฟฟ้ามาจากเมืองนอก จึงไม่เคยรู้จักคุ้นชิน ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำสวนพฤกษศาสตร์เลย เพราะไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูปลูกฝังเรื่องต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก มันเลยเป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ผมต้องทำเป็นอาชีพ ผมจึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้”

กัมพล ตันสัจจา วัย 75 ปี ประธานสวนนงนุชพัทยา พูดเน้นย้ำอยู่เสมอว่า ‘ไม่มีความหลงใหลคลั่งไคล้ในเรื่องพฤกษศาสตร์มาก่อนเลยแม้แต่น้อย’ จากบัณฑิตหนุ่มด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ (University of Arkansas) สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งกลับต้องมารับช่วงต่อจากมารดาให้เข้ามาบริหารสวนนงนุช ในปี 2529 กัมพลใช้เวลากว่าสามทศวรรษ เนรมิตสวนผลไม้กว่า 1,700 ไร่ ให้กลายเป็น ‘แลนด์มาร์ก’ ของเมืองพัทยาและของประเทศไทย

“ถ้าหากให้เลือกต้นไม้หนึ่งต้นเพื่อแทนตัวเอง ต้นไม้ต้นนั้นจะเป็นต้นอะไรคะ” 

เป็นคำถามแรกก่อนบทสนทนาอันยาวเหยียดจะเริ่มต้นขึ้น ส่วนคำตอบนั้นได้ถูกซ่อนอยู่ในบทสนทนาต่อจากนี้แล้ว 

 

สวนนงนุชเกิดจากการก่อตั้งของ นงนุช ตันสัจจา จุดเริ่มต้นมาจากการได้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้วประทับใจในสวนสวย ประกอบกับเป็นคนนิยมชมชอบดอกไม้ นงนุชจึงตัดสินใจเปลี่ยนสวนผลไม้กว่า 1,700 ไร่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 163 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดพัทยา ให้เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งสร้างรีสอร์ต ห้องสัมมนา ห้องอาหาร เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ก่อนขยับขยายพัฒนาจนกลายเป็นสวนนงนุชดังเช่นปัจจุบัน

“ฝรั่งถามผมเสมอว่า การที่ผมทำแบบนี้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือบ้างไหม เขาบอกว่าผมกำลังทำหน้าที่รัฐบาลอยู่ แล้วก็ทำได้ดีมากด้วย ซึ่งตอนที่คุณแม่ท่านเริ่มโครงการทำสวนนงนุช ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ควรเป็นเรื่องของเอกชน แต่แม่เขาก็มองว่าอย่างน้อยเราอยู่ใกล้พัทยา ก็ยังสามารถดึงการท่องเที่ยวตรงนี้มาช่วยเรื่องสวนได้” 

กัมพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสวนผลไม้กว่า 1,700 ไร่ เป็นสวนพฤกษศาสตร์และสวน (ปั้น) สัตว์ในปัจจุบัน

กัมพลใช้วิธีเปลี่ยนความคิดตัวเอง จากคนที่ไม่เคยมีความชอบเรื่องต้นไม้ เรื่องการทำสวน ก็พยายามทำซ้ำๆ เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ชอบให้เป็นงานอดิเรก รวมทั้งการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ต้นไม้’ เพราะสวนนงนุชคืออาชีพของเขา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กัมพลอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดมายาวนานกว่า 35 ปี และยังสามารถทำให้สวนนงนุชติดอันดับ 1 ใน 10 สวนที่สวยที่สุดในโลกได้

“จุดประสงค์แรกของการทำสวนนงนุชของผมคือการหาเงิน เพราะผมจะอยู่ได้อย่างไรหากสวนนงนุชไม่สามารถสร้างรายได้ได้ ดังนั้น ผมจึงทำทุกอย่างเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่นี่”

กัมพลพยายามหาช่องทางในการทำให้สวนนงนุชเป็นที่รู้จัก และไม่เหมือนใคร เริ่มจากการสร้างประติมากรรมปูนปั้นรูปสัตว์กว่าร้อยชนิด เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว แม้รูปปั้นสัตว์กว่าร้อยชนิดนี้จะไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เขายังมุ่งมั่นปั้นต่อไป กระทั่งความพยายามของเขาประสบผลสำเร็จ เมื่อรูปปั้นไดโนเสาร์ขนาดยักษ์สูงถึง 16 เมตรหลายตัว กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเที่ยวชมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไม่เว้นแต่ละวัน

“ผมก็มานั่งคิดทุกวันว่าจะทำอย่างไรให้สวนเราออกมาดี เป็นที่รู้จัก ผมมีข้อดีที่อย่างน้อยเรามีสมบัติเยอะ จึงสามารถลงทุนแก้ไขได้ตลอด พื้นที่ตรงไหนไม่สวย ไม่ดี ไม่สามารถเป็นเฟรมถ่ายรูปได้ ผมก็รื้อ ทำใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเปิดเนิร์สเซอรีให้เป็นจุดที่รถชมวิววิ่งผ่าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นเบื้องหลังของการทำสวน กลับกลายเป็นว่าเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชอบมาก และเป็นแหล่งเรียนรู้สร้างความพึงพอใจไปโดยปริยาย”

หลังการลองผิดลองถูกกับสวนนงนุชมานานหลายสิบปี กัมพลก็ได้ค้นพบคำตอบจากการทำสวน นั่นคือการที่เขาได้เห็นนักท่องเที่ยวและเด็กๆ เข้ามาถ่ายรูปกับสวนที่เขาสร้างและไดโนเสาร์ที่เขาปั้น มันจึงกลายเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ชายวัย 75 ปีผู้นี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บรักษาความทรงจำ

ปกติแล้วสวนนงนุชพัทยามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมราว 5,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 80% อีก 20% คือนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่วันนี้บรรยากาศที่เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คน กลับเงียบเหงาไร้ชีวิตชีวา เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สวนนงนุชพัทยาจึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เนื่องจากต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึง 80%

“พอเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จุดประสงค์และแนวคิดก็เปลี่ยน ผมเปลี่ยนเป้าหมายของการทำสวนนงนุชให้เป็นการทำสวนเพื่อคนไทย เพราะช่วงแรกที่มีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 สวนนงนุชเรียกได้ว่าได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยเป็นอย่างมาก รายได้เรากลับพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนไทยเดินทางมาเที่ยวเยอะมาก ผมจึงอยากตอบแทนคนไทย ด้วยการเร่งปรับปรุงพัฒนาสวนนงนุชให้มีความพร้อมมากที่สุด เมื่อทั่วโลกกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติเมื่อไหร่ วันนั้นสวนนงนุชจะเป็นสถานที่ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างดีที่สุด”

กัมพลยึดหลัก ‘เดินไปข้างหน้า’ เพื่อข้ามฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 เขามองในแง่ดีว่า การที่สวนนงนุชไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง คือโอกาสที่เขาจะสามารถพัฒนาสวนนงนุชให้ไปได้ไกลมากกว่านี้

“ถ้าเกิดเราสามารถเดินหน้าได้มากกว่านี้ จะเป็นโอกาสดีสำหรับคนไทยและต่างชาติมากขึ้น ซึ่งผมเองก็โชคดีที่มีเวลามาคิดเรื่องสวนนงนุชอย่างจริงจัง คิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้สวนนงนุชดีขึ้น หากเป็นเวลาปกติ ผมคงมีงานมากมายที่ต้องทำ มีงานเลี้ยงสังสรรค์ตลอด ไม่มีเวลามานั่งคิด แต่ตอนนี้ผมมีเวลาคิดเรื่องนี้ทั้งวันทั้งคืนว่าจะทำอย่างไรให้สวนนงนุชของเรากลายเป็นที่ต้อนรับของทุกคน

“ผมมีวิธีการเอาตัวรอดช่วงโควิด-19 อยู่สองช่องทางคือ หนึ่ง เอาตัวรอดโดยการปิดกิจการ พักงานพนักงาน แต่หากผมเลือกวิธีนี้แล้วพนักงานเดือดร้อน ผมก็ไม่โอเค วิธีนี้จะทำให้สวนนงนุชต้องหยุดอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา ผมจึงเลือกเส้นทางที่สองคือ ไปกู้เงินธนาคารเพื่อมาจ่ายเงินเดือนคนงานก่อน เพื่อให้พนักงานเหล่านี้มาช่วยงานผม ผมก็ประชุมกับลูกน้องแล้วบอกพวกเขาว่า พวกเธอรู้ไหมว่าก่อนที่มีโควิด-19 ฉันหาเงินมาจ้างพวกเธอทำงาน ซึ่งพวกเธอก็ทำงานให้ฉัน 100% แต่ตอนนี้ฉันไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม พวกเธอจึงต้องมาทำงานให้ฉันมากกว่า 100% ดังนั้น พวกเราจึงทำงานกันทั้งวันทั้งคืนเพื่อพัฒนาสวนนงนุช เพราะฉะนั้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผลงานที่พวกผมทำจึงเท่ากับผลงานที่ทำมาแล้ว 2 ปี”

จากการเร่งพัฒนาสวนนงนุชในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กัมพลมีความมั่นใจว่า เมื่อใดที่สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ สวนนงนุชจะไม่เหมือนสวนนงนุชที่นักท่องเที่ยวเคยเห็นเมื่อ 2 ปีก่อน และเชื่อว่าสวนแห่งนี้จะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนได้อย่างแน่นอน

“ทุกคนที่มาเที่ยวสวนนงนุชต่างพึงพอใจแล้วบอกต่อกันทั้งนั้น นี่ผมไม่ได้คิดเองนะ ผมทราบมาจากลูกค้าผ่านการพูดคุย หรือแม้กระทั่งเขาพูดบ่นให้กับคนขับรถที่พาชมวิว ผมก็รับฟังและนำเรื่องเหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอด นี่คือวิธีของผม ผมยังมีกำลังวังชาที่ดีจึงสามารถทำสวนเองได้ หากใครที่สุขภาพไม่ดีก็ต้องปิดพักไปก่อน ซึ่งทุกคนก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรต่อเพื่อเอาตัวรอด แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องกลับมาที่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอดอยู่ดี”

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเมืองพัทยา กัมพลมองว่า นักธุรกิจ หรือพ่อค้า ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คนที่สามารถทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวดีขึ้นได้ คือ ‘เมืองพัทยา’ 

“เมืองพัทยาต้องพัฒนาปรับปรุงรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบ้าง เพราะพัทยาขาดคำว่า man made หากรัฐบาลมองไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็จะเห็นว่า แทบทุกประเทศมี man made กันทั้งนั้น ยกตัวอย่างเวียดนาม มีสะพาน Golden Bridge หรือสะพานบนมือยักษ์ ซึ่งเขาสร้างกันอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่เมืองพัทยา ไม่ว่าจะกลับมาเที่ยวสักกี่ครั้งก็ยังคงเป็นพัทยาเหมือนเดิม

“จากประสบการณ์การทำธุรกิจมานาน ทำให้ผมเข้าใจว่า เราไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับสิ่งที่ผ่านมาเป็นเวลา 40-50 ปี เช่นสวนดอกไม้ที่ทำกันเยอะมาก ทำกันหลายที่ แล้วสวนนงนุชจำเป็นต้องเป็นแบบนั้นหรือ เป็นสวนแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้หรือ มีหินเยอะแยะ หญ้าก็ไม่ขึ้น ไม่จำเป็นต้องรดน้ำต้นไม้มาก ทำไมเราถึงไม่กล้าคิดใหม่ทำใหม่

“ผมจึงออกแบบให้ทุกพื้นที่ของสวนผมเป็นเฟรมถ่ายรูป ไม่ว่าจะเดินไปจุดไหนก็สามารถออกมาเป็นภาพถ่ายสวยๆ ได้ทั้งนั้น เพราะกระบวนการเหล่านี้มันผ่านการคิดของผมในทุกวัน ต้นไม้วางตรงนี้แล้วได้เฟรมถ่ายรูปที่ไม่สวย ผมก็ย้าย เดินไปมุมนี้ต้นไม้ไม่ดีก็ปลูกใหม่ เวลาต้นไม้ตายหรือเฉา ผมไม่เสียใจเลยนะ ผมดีใจที่จะได้ลองอะไรใหม่ๆ ที่สวยกว่าเดิม ทุกอย่างมันอยู่ที่วิธีคิด เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิด มันก็จะง่ายขึ้น

“ทั้งหมดที่กล่าวมามันเป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาในฉบับของผม ผมพูดในมุมผมเท่านั้น ส่วนใครที่สามารถทำได้ มีแนวทางเป็นของตัวเอง ก็ขอให้ทำต่อไป อย่าหยุดที่จะพัฒนางานของตัวเอง” 

กัมพลในวัย 75 ปี ทิ้งท้ายด้วยแววตาและท่าทีกระฉับกระเฉง หลังเสร็จสิ้นจากการสัมภาษณ์ สวนคือสิ่งที่เขาจะมุ่งหน้าไปเป็นลำดับถัดไป ตามคำพูดที่เขากล่าวมาข้างต้นว่า เมื่อใดที่เปิดให้บริการตามปกติอีกครั้ง สวนนงนุชในสายตาของนักท่องเที่ยวเมื่อสองปีก่อน จะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบแล้ว คุณคิดว่า กัมพล ตันสัจจา เปรียบเป็นต้นไม้ชนิดไหน? 

Fact Box

กัมพล ตันสัจจา เติบโตมาในตระกูลที่ประกอบธุรกิจโรงหนังตั้งแต่ยุคศาลาเฉลิมไทย ในเครือ Apex ที่ประกอบไปด้วยโรงหนังสยาม โรงหนังลิโด้ และสกาลา

Tags: , , , , , , ,