นับแต่บรรยากาศเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่เห็นได้ชัดว่า ความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ถึงคราวง่อนแง่นสั่นคลอน เมื่อสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งแตกตัวไปอยู่พรรคการเมืองอื่นๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูมีพลังประกาศลาออก แม้กระทั่งอดีตหัวหน้าพรรคอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ลาออกจากการเป็น ส.ส. และล่าสุด บุคคลสำคัญที่พะยี่ห้อประชาธิปัตย์มาตลอดอย่าง ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ก็ประกาศแยกวงจะไปตั้งพรรคใหม่

ตามมาทันทีด้วยข่าว 2-3 กระแส ฟากหนึ่งว่าเขาจะไปร่วมรัฐบาลปัจจุบันในเก้าอี้ขุนคลัง อีกทางหนึ่งว่าเขาจะลงสมัครแข่งขันผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รวมไปถึงการตั้งพรรคใหม่เพื่อเปิดรับสมาชิกผู้สนใจอยากหาทางออกให้ประเทศมาร่วมงาน เขาปัดตกทั้งเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลและการลงสมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แล้วก้าวต่อทันทีกับการตั้งพรรคใหม่ 

เมื่อ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ เพื่อนสมาชิกพรรคต่อแรงกระเพื่อมด้วยการประกาศลาออก และเข้าร่วมจัดตั้งพรรคใหม่ ให้หลังเพียงหนึ่งวัน แฮชแท็ก #ช่วยกรณ์ตั้งชื่อพรรค ก็ผุดขึ้นบนหน้าโซเชียลมีเดีย

เช้าวันที่ 22 มกราคม The Momentum นัดพูดคุยกับอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีฯ คลัง ที่สำนักงานขนาดย่อมบนถนนนางลิ้นจี่ ย่านที่เขาแจ้งเกิดทางการเมืองโดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขต เมื่อปี 2548

ค่าฝุ่น กทม.เช้านั้นยังเป็นสีส้ม อดีตขุนคลังที่สื่อนอกใช้คำว่า ‘stand tall’ กันสะดวกปาก มาในเสื้อยืดแขนยาวสีขาวพร้อมหน้ากากกัน PM 2.5 ในกระเป๋ากางเกง

พูดให้เห็นภาพ พรรคการเมืองใหม่นี้จะเป็นเหมือนแพลตฟอร์มสำหรับคนจากแวดวงต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนประเด็นที่เขาเชี่ยวชาญและมี passion” เขาเกริ่นอย่างรวบรัด

แสดงว่าคุณกรณ์ไม่คิดว่าจะทำงานต่อได้บนแพลตฟอร์มเดิม เพราะอะไร

ใช่ครับ ด้วยหลายเหตุผล เหตุผลหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องของการเมือง ผมได้ลงแข่งหัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ (ลักษณวิศิษฏ์) ชนะ โดยธรรมชาติ คุณจุรินทร์ย่อมเซ็ตทีมของท่านขึ้นมา ซึ่งก็ไม่นับรวมถึงผมด้วย โอกาสทำงานในระดับที่เราควรจะได้ทำหรือเราอยากจะทำย่อมมีน้อยมาก ก็มีทางเลือกนะครับ อดทนรอ เก็บตัวอยู่ในพรรค ทำหน้าที่เป็น ส.ส. รอไปเรื่อยๆ ว่าวันหนึ่งอาจจะได้ทำงานมากกว่านี้ 

แต่ผมมองว่าเวลาไม่รอใคร เมื่อมองความต้องการของประเทศตอนนี้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจซึ่งผมเชี่ยวชาญมากกว่าเรื่องอื่น และประเด็นสังคมซึ่งมีหลักฐานชัดเจนบ่งบอกว่าประเทศเรากำลังถดถอยมากๆ ประเมินแล้วผมมองว่า หนึ่ง-ประเทศรอไม่ได้  สอง-เวลาการทำงานของผมก็มีจำกัดอยู่แล้ว ฉะนั้นในเรื่องที่ผมอยากทำและมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง ถ้าออกมาแล้วจะทำได้มากกว่า ผมก็ควรจะออก ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

ถ้าออกมาแล้วจะทำได้มากกว่า ผมก็ควรจะออก ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

นี่เป็นสิ่งที่คุณกรณ์ตรองมาก่อนหน้านี้ หรือเป็นจุดพลิกผันที่มาจากการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่

ผมเองยึดหลักและพูดในการตั้งพรรคใหม่ว่าหลักของเราคือหลักปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือมองในแง่ผลลัพธ์ แน่นอนที่สุดต้องมีคุณธรรม ถ้ามีการตีความว่ามีปัญหาในเชิงอุดมการณ์กับพรรคทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่ใช่ สำหรับผม ผมมองว่าการที่ผมอยู่ประชาธิปัตย์ ณ ปัจจุบัน จะไม่สามารถขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ผมเห็นว่าจำเป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็ไม่ practical ขัดกับหลักการในใจ 

แน่นอนที่สุด ถ้าผมชนะในการแข่งขันเลือกหัวหน้าพรรค ผมก็จะพยายามนำประชาธิปัตย์ไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในมุมมองที่ผมอยากจะเห็น ทั้งภายในพรรคเองและสิ่งที่พรรคจะทำให้กับสังคม แต่เมื่อไม่ได้เป็นอย่างนั้น การที่ผมลาออกก็สะท้อนว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ผมอยากจะเห็นโดยผู้บริหารพรรคชุดที่เข้ามา จึงคิดว่ามันไม่ใช่ที่ของผมแล้ว

แพลตฟอร์มอื่น พรรคอื่นไม่รองรับสิ่งที่คุณกรณ์คิดเลยหรือ

การเข้าไปร่วมกับพรรคอื่น ไม่ได้คิดเลย ด้วยความเคารพ แต่ละพรรคก็มีความต่าง แต่ไม่เห็นว่า ณ วันนี้มีพรรคไหนที่มีชุดความคิดที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รัฐบาลเองมีความพยายามที่จะ…เอ่อ-ใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ ก็ได้ แต่ผมไม่เห็นว่าเขาจะทำได้ ถ้าพูดกันตามตรง มีเงื่อนไขข้อจำกัดที่ทำให้ไม่น่าจะเกิด ถ้าจะเกิดมันต้องมีสัญญาณชัดแล้ว เพราะเขามีอำนาจอยู่ 

ส่วนทางฝ่ายค้านก็คนละแนวความคิดกันเลย จริงๆ ผมพูดอยู่เสมอว่า ถ้าเจาะลงลึกในเชิงนโยบาย มีหลายนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายที่ผมกับคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) คิดในสมัยก่อนเลือกตั้ง อาจจะเป็นนโยบายเชิงโปรเกรสซีฟ (ก้าวหน้า) เรื่องการกระจายอำนาจ นโยบายการใช้เทคโนโลยีที่จะ disrupt หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ทัศนคติที่มีต่อความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น แต่ว่าแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ ผมมีความรู้สึกแต่แรกว่ามันจะมีปัญหาในการนำความคิดเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ คือมันท้าทาย และเป็นปมที่จะสร้างความขัดแย้งมากเกินไป

คุณหมายถึงแนวทางการดำเนินงานทางการเมือง ไม่ใช่เชิงนโยบาย ถูกไหม

ก็รวมถึงนโยบายบางเรื่องของเขาด้วย และยุทธศาสตร์ทางการเมืองของเขามันนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งผมพูดนี่มันเป็น fact แล้ว ไม่ใช่เป็นแค่ความเห็นของผม 

แต่คุณกรณ์ก็ไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดพรรคอนาคตใหม่ตามที่คนทั่วไปอาจเข้าใจแบบนั้น

ไม่เลย จริงๆ แล้วในสภาเราก็เจอกันอยู่เรื่อยๆ ผมก็จะคอยติดตามฟังการอภิปรายของ ส.ส. อนาคตใหม่เป็นพิเศษ ผมชอบระบบการทำงาน และพยายามบอกพรรคพวกในพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ ส.ส. รุ่นใหม่ว่า คุณต้องดูว่านี่คือการทำงานอย่างเป็นระบบที่พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่มี สังเกตได้เลยว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน อาจจะไปหาข้อมูลเองเพื่อจะมานำเสนอ แต่ไม่มีวินัยในการกำหนดยุทธศาสตร์การอภิปรายหรือการนำเสนอแบบอนาคตใหม่ เห็นเลยว่าเขาคุยกันมาก่อน สมมติอภิปรายงบประมาณ ประเด็นหลักของเขาคืออะไร เขาเตรียมข้อมูลมาครบถ้วน มีการแบ่งภาระหน้าที่การพูดแต่ละประเด็นตามความเหมาะสมของตัวผู้นำเสนอ อันนี้ยังไม่นับว่า เขามี look and feel ในการนำเสนออีกต่างหาก ซึ่งมันเป็นนวัตกรรม เป็นเรื่องที่เห็นแล้วผมชอบ

คุณกรณ์กับคุณอรรถวิชช์พูดเรื่องพรรคใหม่ว่าอยากชักชวนคนมีของ คนที่มีความรู้เฉพาะทางมาร่วมงานการเมือง ฉะนั้นจะถือว่าสิ่งที่เห็นจากพรรคอนาคตใหม่เป็นแรงบันดาลใจได้ไหม

ใช่ครับ และก็เป็นแนวคิดที่ผมมีมาตลอด สาเหตุหนึ่งเพราะตอนที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานการเมือง ผมคิดว่าผมได้เปรียบหลายคน เพราะผมมีประสบการณ์เฉพาะทาง ตอนนั้นผมอาจจะเป็น ส.ส. คนเดียวเลยที่มีประสบการณ์เฉพาะทางมาจากตลาดทุน ในยุคที่ตลาดทุนมีความสำคัญมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ ในอดีตที่ผ่านมา รัฐมนตรีฯ คลังต้องเป็นนายแบงก์ ผมเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากสายตลาดทุน หลังจากนั้นก็มีคุณธีระชัย (ภูวนาถนรานุบาล) สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคต รัฐมนตรีฯ คลังอาจจะมาจากสายฟินเทค สายเทคโนโลยี คือเหมาะสมไปตามความเปลี่ยนแปลง ผมจึงคิดว่าถ้าเรามี ส.ส. ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อ ส.ส. คนนั้น ต่อพรรคการเมืองนั้น และแน่นอนที่สุด ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ด้วย

ถ้าลองดูโครงสร้าง ส.ส. ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพรรคใหญ่พรรคต่างๆ ที่ไม่ใช่อนาคตใหม่ ส่วนใหญ่เป็นแม่พิมพ์เดิมและแม่พิมพ์เดียวกัน มาจากครอบครัวการเมืองบ้าง ทั้งชีวิตมีอาชีพเป็น ส.ส. ซึ่งก็มีพรรคที่เห็นว่านั่นคือดีเอ็นเอที่เหมาะสมแล้ว มองว่าผู้แทนฯ ก็คืออาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้แทนฯ เป็นอย่างอื่นมาก่อน อาจไม่ถึงกับไม่ได้ แต่ไม่ดี

แสดงว่าการเป็นนักการเมือง การเป็นผู้แทนฯ เรียนรู้กันได้ 

มันต้องเรียนรู้ครับ มีอยู่สองอย่าง ถ้าคุณมาจากสายธุรกิจ เข้ามาแล้วยังคิดเสมือนเป็นนักธุรกิจอยู่ อันนี้ไม่ได้ ความหมายคือมันจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เราเห็นปัญหากันมาแล้ว แต่ถ้าคุณเอาทักษะทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับงานการเมืองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม อันนี้จะเป็นประโยชน์ ซึ่งหมายความว่าเข้ามาแล้ว คุณต้องปรับตัวและเรียนรู้

ที่บอกว่าต้องการคนมีของ เพราะผมสัมผัสได้ว่า มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่จะขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง แต่ยังหมายถึง inner ต้องใช้คำนั้น มีแรงบันดาลใจที่จะมาผลักดันเรื่องที่เขารู้แท้ว่ามีความสำคัญ

เดือนก่อน ผมได้เห็นข่าวว่ากลุ่มสตาร์ตอัปเอาเรื่องไปนำเสนอกรรมาธิการ เขาอยากเห็นนโยบายทางการเมืองที่จะสนับสนุนสตาร์ตอัป พัฒนาปรับปรุงด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมียูนิคอร์นได้อย่างที่อินโดนีเซียมี แล้วผมก็เห็นรายชื่อกรรมาธิการ หลายคนเป็นนักการเมืองเก่งๆ แต่บอกได้เลยว่าไม่มีใครฟังสิ่งที่กลุ่มสตาร์ตอัปนำเสนอรู้เรื่องหรอก ไม่ได้หมายความว่าฟังแล้วตื้อเลย แต่หมายถึงฟังแล้วเก็ตจริงๆ ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ สิ่งที่ต้องทำจริงๆ คืออะไร และต้องทำเดี๋ยวนี้ด้วย ผมจึงนัดคุยกับกลุ่มสตาร์ตอัปกลุ่มนั้นและบอกว่าผู้ที่รับฟังคุณเป็นผู้ที่มีเจตนาดีทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ เรื่องที่คุณนำเสนอจะไม่มีการนำไปดำเนินการในเร็ววันหรอก เพราะเขาไม่ได้ ‘อิน’ กับมันเหมือนกลุ่มพวกคุณ ถ้าคุณเห็นความสำคัญจริงๆ ถึงเวลาที่พวกคุณนั่นแหละต้องมาอยู่ในสภา ไม่ใช่ทุกคน แต่ว่าต้องมีคนจากโลกของพวกคุณมาเป็นผู้แทนฯ อยู่ในสภา

วันนี้ ถ้าคุณกรณ์เป็นคุณอุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีฯ คลังคนปัจุบัน) คุณจะทำอะไรที่แตกต่างจากเขาไหม

ก่อนอื่นเลยผมอยากบอกว่ามันไม่ได้อยู่ที่คุณอุตตมเท่านั้น ถ้าบอกว่ารัฐมนตรีฯ คลังคือผู้กำหนดเศรษฐกิจทั้งหมด มันไม่ใช่ ถ้าเรามาดูเศรษฐกิจทั้งหมดของไทย จะเห็นว่าประกอบด้วยการท่องเที่ยว การเกษตร การส่งออก การลงทุน แล้วมาดูว่าหน้าที่รัฐมนตรีฯ คลังมีอะไรบ้าง เก็บภาษี โอเค มีธนาคารของรัฐอย่าง ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตร ฉะนั้นตัวคุณอุตตมโดยลำพัง ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องมาจากรัฐบาลโดยรวม

ตอนนี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือท่านนายกฯ ซึ่งไม่ใช่คนที่โตมาในโลกเศรษฐกิจ ท่านไม่ได้ถูกจับมานั่งเพราะมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ที่ถูกวางในตำแหน่งนี้เพราะไม่มีใครอื่นเป็นที่ยอมรับของทุกๆ พรรคที่นั่งในกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ มันก็มีผลทำให้การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจขาดเอกภาพและขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และตัวดีเอ็นเอของรัฐบาลนี้ รวมถึงรัฐบาลที่แล้ว ก็เป็นดีเอ็นเอของทหาร ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีคือมีผลในทางบวกมากเรื่องความสามัคคีและความมั่นคง แต่สิ่งที่ผมมองว่าประเทศต้องการคือการพัฒนาลงไปในระดับฐานราก กระจายโอกาส กระจายอำนาจ และโดยเฉพาะคำว่า การกระจายโอกาส ทีนี้ ดีเอ็นเอของทหารคือการรวมศูนย์อำนาจ นี่คือวิธีของทหารทั่วโลก ระบบปกครองของเขาเป็นระบบนายสั่งลงมา แล้วนำคำสั่งไปปฏิบัติโดยไม่มีการตั้งคำถาม นี่คือวิธีที่เขาได้รับการฝึกฝน คือความเคยชิน แต่มันไม่ใช่ระบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมหรือเศรษฐกิจของประเทศไทยวันนี้ ผมคิดว่าต่อให้เป็นคุณอุตตมคูณสองก็ยาก

ตอนนี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือท่านนายกฯ ซึ่งไม่ใช่คนที่โตมาในโลกเศรษฐกิจ ท่านไม่ได้ถูกจับมานั่งเพราะมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ที่ถูกวางในตำแหน่งนี้เพราะไม่มีใครอื่นเป็นที่ยอมรับของทุกๆ พรรคที่นั่งในกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

เอาง่ายๆ ถ้าตอนนี้คุณกรณ์เป็นรัฐมนตรีฯ คลัง จะทำ ‘ชิม ช้อป ใช้’ ออกมาไหม

เอ่อ…ตอบแบบนี้ได้ไหม ในสมัยผมทำ ‘เช็คช่วยชาติ’ คือมันตอบยาก แต่ละนโยบายขึ้นกับบริบทและจังหวะเวลา นโยบายเดียวกันอาจจะดีมากในเวลาหนึ่งและเลวสุดๆ ในอีกเวลาหนึ่ง ก็เป็นไปได้ ฉะนั้นต้องดูผลของนโยบายว่าทำแล้วออกมาดีไหม ชิมช้อปใช้นั้นโดยหลักการคือ เศรษฐกิจไม่ดีก็เอาเงินให้ชาวบ้านช่วยไปจับจ่ายใช้สอย และก็แน่นอนที่สุด ในจังหวะที่ออกมา เขาหวังผลทางการเมืองด้วย ผลทางการเมืองผมถือว่าได้ 10 เต็ม 10 คือชาวบ้านชอบ ใครจะไม่ชอบ เอาเงินมาให้ แต่ผลทางเศรษฐกิจนั้น ผมประเมินแต่แรกแล้วว่าจะน้อยมาก เพราะจำนวนเงินจริงๆ หมื่นกว่าล้านนั้นมันกระติ๊ดเดียวเมื่อเทียบกับตัวเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเรากำลังพูดถึงจีดีพี 15 ล้านล้าน 

ส่วนวิธีการ ผมก็ได้เคยวิพากษ์ไว้แล้วว่า ส่วนใหญ่เงินไม่ได้กลับเข้าสู่เศรษฐกิจระดับชุมชน โดยธรรมชาติจะถูกใช้ในห้างใหญ่ ประเภทสินค้าที่คัดมาผลิตโดยห้างใหญ่ ฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่าร้านค้าในชุมชนนอกจากไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ยังอาจเสียลูกค้าด้วยซ้ำไป มันสะท้อนถึงชุดความคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต่างจากมุมมองที่ผมมีว่า เราควรต้องให้โอกาสกับยูนิตเศรษฐกิจระดับปัจเจกลงไปถึงประชาชน

โดยธรรมชาติ ผมถึงชอบเรื่องเทคโนโลยี เพราะเวลาเราพูดถึงการกระตุ้นการแข่งขันหรืออิทธิพลของทุนใหญ่ ความคิดของผมไม่ใช่ว่าเราไปยึด ปตท.คืนมา อะไรแบบนั้น จำเป็นต้องมีนโยบายลดความได้เปรียบของทุนใหญ่บ้าง แต่สิ่งที่ต้องทำคือการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก

อย่างผมไปคุยกับผู้ก่อตั้ง Go-Jek ของอินโดนีเซีย (นาดีม มาคาริม) เขาบอกว่าตอนนี้ความกังวลของเขาคือธุรกิจของเขาใหญ่เกินไปจนถึงระดับที่ล้มไม่ได้ เพราะตอนนี้คนอินโดนีเซียเป็นล้านคนพึ่งแพลตฟอร์มโก-เจ็ก ถ้าแพลตฟอร์มของเขาเกิดมีปัญหาขึ้นมา คนเหล่านี้ก็จะเสียโอกาสในการทำมาหากิน หรืออย่างกรณีของ Grab มีคนจำนวนมากที่ในอดีตไม่เคยมีโอกาสที่จะมีรายได้หรือมีช่องทางในการทำมาหากิน แต่เดี๋ยวนี้ ด้วย asset ที่ตัวเองมี คือมอเตอร์ไซค์หนึ่งคันหรืออะไรก็แล้วแต่ เขามีโอกาสหารายได้เพิ่ม เพราะอะไร เพราะเทคโนโลยีช่วยเปิดโอกาส

ฉะนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาการสร้างโอกาสในรูปแบบนี้ เพราะมันคือโอกาสในโลกปัจจุบันสำหรับคนที่ไม่มีแหล่งทุนและไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร แต่กลับกลายเป็นว่ายุทธศาสตร์และนโยบายของเรายังปกป้องผู้ประกอบการเดิมเป็นหลัก โดยสัญชาตญาณเลย

สัญชาตญาณของใคร

ของระบบราชการ ของผู้มีอำนาจ 

ขอเปรียบเศรษฐกิจไทยกับระบบนิเวศ ตอนนี้ระบบนิเวศของไทยคือมีต้นไม้ใหญ่อยู่ 4-5 ต้น ที่เหลือคือหญ้าหมดเลย ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีต้นไม้ขนาดกลาง

และต้นไม้ใหญ่ที่ว่าใบมันทึบด้วย บังแดดหญ้าตายหมด 

คุณกรณ์คิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จากห้าหกปีก่อนเราพูดกันมากเรื่องสตาร์ตอัป แต่จนวันนี้เราก็ไม่มียูนิคอร์นสักตัว สตาร์ตอัปหลายรายแจ้งเกิด แต่มักถูกคอร์ปอเรตซื้อหรือดึงเข้าไปเป็นฟันเฟือง

สาเหตุหนึ่งที่เขายอมขายอาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ หรือส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนไทยชอบรู้สึกว่าได้แค่นี้ก็พอแล้ว ดีแล้ว แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติเป็นหลัก ลองมองย้อนกลับไปปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เราเกิดวิกฤต เกาหลีใต้เกิดวิกฤต ทั้งสองประเทศได้รับผลจากค่าเงินที่อ่อนตัวลง ไทยเราหันมาเป็นประเทศส่งออกโดยอาศัยความได้เปรียบของเงินบาทที่อ่อนค่า วันนี้เราได้คืนความได้เปรียบนั้นไปหมดแล้ว และนี่คือสาเหตุสำคัญที่การส่งออกของเราไม่โต เพราะตอนนั้นเรามัวแต่ enjoy กับความได้เปรียบ แต่ไม่ได้ลงทุนเพื่อยกระดับมาตรฐานกระบวนการผลิตหรือคุณภาพสินค้าของเรา

20 ปีที่แล้ว เกาหลีมียุทธศาสตร์ชัดเจนที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เขา enjoy ความได้เปรียบเรื่องเงินอ่อนค่าเหมือนกับเรา แต่นอกจากนั้น เขามาวิเคราะห์ว่าหนึ่งในอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัยของเขาคือระบบราชการที่อุ้ยอ้าย กฎหมายที่ล้าสมัย เขาก็เข้ากระบวนการการตัดตอนกฎหมายที่มองว่าเป็นตัวรั้งการพัฒนา และลดกฎหมายลงมากกว่าครึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่ปี สอง-เขามียุทธศาสตร์ชัดเจนที่จะลดอิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งก็คือแชโบล เพื่อจะเพิ่มโอกาสให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีที่ยืน ทำให้แชโบลเองก็ต้องปรับปรุงพัฒนา ทำให้เกิดแบรนด์เกาหลีไม่ว่าจะเป็นซัมซุงหรือฮุนได ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่เกาหลี แต่ไม่ได้เกิดที่บ้านเรา 

ของเราไปอีกทางหนึ่ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตว่าระบบอุปถัมภ์ฝั่งรากลึกในสังคมชั้นผู้นำของประเทศไทยเรามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องอะไรหรอกครับ ลองไล่ดูว่าทุกวันนี้มีหลักสูตรสำหรับคนชั้นผู้นำเข้าร่วมเรียน เพื่อที่จะหาพวกหาเส้นสายหาความได้เปรียบมากขึ้นแค่ไหน แต่ก่อนนี้มี วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) หลักสูตรเดียว แต่ตอนนี้มีแทบทุกกระทรวงทุกหน่วยงาน แม้แต่ศาล แล้วก็จะมีนักวิ่งไล่เรียนหลักสูตรพวกนี้ แทนที่จะพัฒนาสินค้าและบริษัท กลับกลายเป็นการวิ่งหาเส้นสายที่เหนือกว่าคู่แข่ง

เราซึ่งอยู่วงนอกจะเปลี่ยนสิ่งนี้ได้อย่างไร

เหมือนทุกเรื่อง ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากกระแสสังคม อย่างน้อยที่สุดไทยเป็นประเทศที่แม้แต่รัฐบาลเผด็จการยังต้องฟังเสียงประชาชน นั่นก็คือข้อดีของโซเชียลมีเดีย ที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกมีส่วนร่วมในการผลักดันความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ต้องมีการเลือกตั้ง เรื่องหลักสูตรแบบที่ว่า ไม่ใช่ไม่มีคนพูดถึง แต่เสียงยังไม่ดังพอ อาจเป็นเพราะว่าคนยังไม่ได้เห็นว่ามันเป็นที่มาของปัญหา 

ถ้าเรานับตามเทอม รัฐบาลปัจจุบันน่าจะเหลือเวลาอีกสามปีเศษๆ คุณกรณ์มองว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอมหรือเปล่า ถึงออกมาตั้งพรรค

ผมไม่ได้คิดว่ามันจะมีการเลือกตั้งเร็ววันนี้ และคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศด้วย ก็อยากให้โอกาสรัฐบาลเขาได้ทำงานเต็มที่ ผมคิดตามสเต็ปครับ สเต็ปแรกที่มองคืออยู่กับที่ไม่เป็นประโยชน์ แค่นั้นเอง เมื่อสรุปได้ตามนั้นชัดเจนก็ออกมา ส่วนจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร นั่นเป็นประเด็นรอง ประเด็นคือไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

เมื่อประกาศจะตั้งพรรคของตัวเอง ก็ต้องมีการวางแผน ต้องมีกรอบเวลา และกรอบเวลาคือเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือเปล่า

ยังไม่ใช่ครับ กรอบเวลาชั้นแรกคือทำทุกอย่างให้มันพร้อม ส่วนจะเลือกตั้งครั้งหน้าเมื่อไรค่อยว่ากัน ซึ่งจะทำทุกอย่างให้พร้อมเมื่อไรก็กำลังกำหนดร่วมกันกับพรรคพวก ซึ่งมองว่าน่าจะภายในหกเดือน

ตอนนี้มีสมาชิกพรรคกี่คนแล้ว

พูดยากครับ หลังจากที่ประกาศตัวออกไป ต้องบอกว่าดีใจกับเสียงตอบรับ มีกลุ่มคนที่ไม่เคยคิดว่าพร้อมที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ได้เสนอตัวว่าถ้าแนวทางแบบนี้ในจังหวะเวลานี้ เขาเอาด้วยละ 

มีคุณอภิสิทธิ์ด้วยไหม

ไม่ครับ คุณอภิสิทธิ์ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

แล้วมีความเป็นไปได้ไหมที่คุณอภิสิทธิ์จะมาร่วมพรรคใหม่

คง…คนละแนวทางกันมั้งครับ ผมคิดว่าคุณประชาธิปัตย์ เอ้ย…(หัวเราะ) ดูสิ เวลานึกถึงคุณอภิสิทธิ์ก็นึกถึงประชาธิปัตย์ และนั่นน่าจะเป็นคำตอบของมันเองละ ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ความผูกพันที่มีต่อพรรคก็คงยังเหมือนเดิม ส่วนบทบาทตอนนี้ในพรรค ท่านก็ไม่มีเลย แต่ในอนาคตก็ว่าไม่ได้ เดาเอาว่าถ้าคุณอภิสิทธิ์ทำงานการเมืองต่อไปก็น่าจะยังอยู่กับประชาธิปัตย์

สมมติว่าการเลือกตั้งมาถึง และพรรคพร้อมแล้ว คิดว่าพรรคของคุณต่างจากประชาธิปัตย์ เพื่อไทย พลังประชารัฐ หรืออนาคตใหม่อย่างไร

พรรคใหม่ พรรคเล็ก น่าจะมีอดีตนักการเมืองในสัดส่วนที่น้อยมาก อาจจะไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เราจะเน้นการเป็นแพลตฟอร์มให้กับผู้เชี่ยวชาญใน sector ต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ได้เข้ามาผลักดันแนวความคิดของเขา เรากำลังคิดถึงพรรคการเมืองในฐานะแพลตฟอร์ม (political party as a platform) ซึ่งจะมีความแตกต่างในตัวมันเองอยู่แล้ว

ในเชิงยุทธศาสตร์ ทรัพยากรเราจำกัด เนื่องจากเราไม่ได้เน้นอดีต ส.ส. เป้าหมายของเราคือเราต้องการสื่อสาร แล้วก็ดึงคะแนนจากคนไทยทั่วประเทศ ต้องบอกว่าตัวรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้ทุกเสียงถูกดึงออกมานับในการคำนวณสัดส่วน ส.ส.พึงมี มันเปิดโอกาสให้กับเราที่จะสร้างพรรคการเมืองแบบนี้ ในอดีตซึ่งคุณจะต้องชนะในเขตเท่านั้นจึงจะได้ ส.ส. มันจะเป็นการแข่งขันแบบหนึ่ง แต่การแข่งขันแบบที่เราสามารถขายไอเดียให้กับคนไทยโดยรวม ถึงแม้ว่าไม่ชนะในเขตใดเลย แต่ถ้าเราได้คะแนนเพียงพอจากทุกเขต จำนวน ส.ส.ของเราอาจเพียงพอที่จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยซ้ำไป

เราต้องการเปลี่ยนการเมืองให้เป็นการเมืองที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้เงิน ซึ่งผมก็ต้องบอกว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในส่วนของยุทธศาสตร์ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนักการเมืองเก่าทุกคนจะบอกว่ามาเหนือเมฆ ไม่ได้ใช้เงินในลักษณะเดียวกันกับที่พรรคการเมืองเดิมๆ จะใช้กัน ในมิตินี้ผมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ดีต่อวงการการเมืองไทย 

ปัญหาที่สำคัญเลยก็คือการใช้เงินโดยพรรคการเมือง เพราะเงินก็มักจะมาจากที่ใดที่หนึ่ง โดยส่วนใหญ่ก็มาจากคนที่มีเงิน นั่นก็หมายความว่าคนที่มีเงินก็จะเป็นผู้กุมนโยบายของเกือบทุกพรรคที่อยู่ในสภา จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงสร้างเศรษฐกิจเราถึงออกมาเป็นแบบนี้ ถ้าระบบการเมืองสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้เงินแบบนั้น ในระดับนั้น ผมเชื่อว่ามันก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ในทิศทางที่เราต้องการด้วย

แต่ก็มีคนมองว่าการคำนวณ ส.ส.แบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยในสภาเยอะมาก ในภาพรวมการจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ

ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตีความกฎหมายที่ทำให้เกิดพรรคเล็กในสภาจำนวนมากถึงขนาดนี้

ซึ่งพรรคของคุณก็อาจเป็นหนึ่งในพรรคเล็กเหล่านั้น หรือเปล่า

หรือผมอาจเป็นพรรคใหญ่ก็ได้ ก็สุดแต่ (เสียงเรียบ) อันนั้นคือรายละเอียดในการตีความกฎหมายที่ทำให้บางพรรคได้ 3-4 หมื่นคะแนนก็ได้ ส.ส. ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการตีความแบบนั้น แต่หลักคิดที่บอกว่าทุกคะแนนเอามานับแล้วพรรคการเมืองได้สัดส่วน ส.ส.ตาม popular vote ที่ได้รับจากประชาชนทั้งประเทศ ผมคิดว่ามันเป็นหลักที่จะนำไปสู่การเมืองที่ดีขึ้น ความจริงเขาไปไม่สุด ร่างรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกพับไปนั้นให้น้ำหนักกับป็อปปูลาร์โหวตมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป ผมว่าน่าเสียดาย ประเทศไทยถ้าต้องการเปลี่ยนการเมืองจริงๆ ผมว่าควรจะไปสู่ระบบการอิงป็อปปูลาร์โหวตมากขึ้น มันจะเปลี่ยนการเมืองและลดการใช้เงินลง 

คุณเคยบอกว่าคุณเป็น baby boomer รุ่นสุดท้าย (เกิด พ.ศ. 2507) แล้วคิดว่าจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่เป็น millennial หรือ Gen Z อย่างไร

ผมฝึกด้วยการพูดคุยกับลูก ถ้าผมคุยกับลูกไม่รู้เรื่องก็แสดงว่าไม่น่าจะเล่นการเมืองได้

พูดแล้วลูกซื้อไหม

ก็โอเคนะครับ ลูกผมมิลเลนเนียลทั้งคู่ และเขาก็มีความคิดแตกต่างจากชุดความคิดเดิมๆ แบบผมหลายเรื่อง เวลาคุยกันเหมือนเราได้เห็นอนาคตผ่านพวกเขา ซึ่งหลายเรื่องผมว่ามีแนวโน้มที่จะดีขึ้นกว่าที่พวกเบบี้บูมเมอร์ได้ทำไว้ 

มิลเลนเนียลเหมือนจะเป็นกลุ่มที่ออกมาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่ตอนนี้

เขาท้าทายสมมติฐานเดิมๆ ของเราหลายเรื่อง อย่างเช่น ผมจะถูกท้าทายเรื่องการรับประทานเนื้อสัตว์ ลูกผมไม่ได้สุดโต่ง แต่เขาค่อยๆ ลดการกินเนื้อสัตว์ลง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสุขภาพ แต่เหตุผลหลักคือความกังวลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีคิดของเขามีเหตุผลทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เรื่องเลวร้ายหลายๆ เรื่องที่เราประสบอยู่ตอนนี้พูดตามตรงมันเกิดจากคนรุ่นผมและรุ่นก่อนหน้า ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจนไม่ได้ใส่ใจเพียงพอกับผลที่มีต่อสิ่งรอบกาย แต่ผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่เขามีความคิดที่จะลดทอนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดแบบเดิม 

ฉะนั้นพรรคใหม่ของคุณก็จะพยายามมุ่งสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

ไม่ใช่แค่สื่อสารหรอกครับ ผมมองแบบนี้เลยว่าภารกิจของผมเหมือนกับเป็นผู้ช่วยสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา แล้วคนที่จะมาเล่นบนแพลตฟอร์มนี้จริงๆ คือคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เป็นการสื่อสารกับเขา แต่พยายามเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาทำงานการเมืองผ่านพรรคการเมืองนี้ ผมถึงบอกว่าผมสนใจการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตเรา แต่ผมไม่ใช่ digital native ผมเกิดมาในยุคอนาล็อก ฉะนั้นอย่างเก่งก็คือผมคิดได้ว่ามันสำคัญ ผมอยากเห็นการพัฒนา แต่ความเข้าใจลึกซึ้งอย่างถ่องแท้นั้นผมไม่มี เพราะฉะนั้นเราต้องเอาคนที่เขาเข้าใจจริงๆ เข้ามาทำงาน 

ภารกิจของผมเหมือนกับเป็นผู้ช่วยสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา แล้วคนที่จะมาเล่นบนแพลตฟอร์มนี้จริงๆ คือคนรุ่นใหม่

ผมมองว่ามันเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่จะต้องเข้ามา ปีนี้ผมอายุ 55 กำลังจะ 56 น่าจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม และถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ มีความเชื่อว่าคุณเห็นช่องทางที่ประเทศควรจะเลือกเดิน นี่เป็นเวลาและโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

นั่นหมายความว่าคุณกรณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรค

คำว่า ‘จำเป็น’ มันไม่จำเป็นอยู่แล้วครับ ทั้งชีวิตนี้ผมเป็นหัวหน้าอะไรก็ไม่ได้เคยคิดว่าต้องเป็นสักที ถ้าต้องเป็นเพื่อให้มันเกิด ผมก็พร้อมจะเป็น เอาอย่างนี้ดีกว่า

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว คุณเคยบอกว่าอีก 15 ปี จะมาประเมินตัวเองอีกที

เป๊ะเลยไหม (หัวเราะ)

ตอนนั้นคนฟังคงคิดว่าหมายถึงการจะไปต่อกับการเมือง หรือว่าเลิก

ใช่ ถูกแล้ว ประเมินแบบนั้นเลยครับ คือตอนที่นั่งคุยกับที่บ้าน ก็นั่งคุยกันแบบนี้เลย ผมเป็นคนที่ตั้งคำถามและประเมินตัวเองอยู่เสมอ ไม่อยากที่จะอยู่เกินเวลาของเรา ไม่ว่าวงการไหนก็ตาม สมัยที่อยู่ไฟแนนซ์ ประเมินว่าพอแล้วก็เดินออกมาในช่วงที่เขายังต้องการเราอยู่ เมื่อตั้งคำถามนี้กับตัวเองทางการเมือง ผมมองว่าผมยังมีบทบาทที่จะสามารถช่วยคนรุ่นใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของเขาได้ ในจังหวะเวลาที่เขายังทำด้วยตัวของเขาเองไม่ได้หรือมีพลังเพียงพอ ฉะนั้น 5-10 ปีข้างหน้า ผมมองบทบาทของตัวเองทำนองนี้

ทำไมคิดว่าคนรุ่นใหม่จะทำเองไม่ได้ หรือไม่ได้มีพลังเพียงพอ

ผมยังมีบทบาทที่จะช่วยเขาได้ พูดแบบนี้ดีกว่า พูดกันในโลกความเป็นจริงตอนนี้ มีคนกี่คนที่จะออกมาตั้งพรรคเองได้ โดยที่สังคมยอมรับและเชื่อถือ เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่เก่งแล้วจะทำได้ และผมเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำได้ ฉะนั้นก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ควรต้องทำ เพราะอะไร เพราะผมเชื่อเลยว่าตัวเลือกที่มีอยู่ในตอนนี้ มันไม่ได้ตอบโจทย์ของคนจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมได้ มันต้องมีตัวเลือก และนั่นก็คือบทบาทที่ผมจะทำให้กับสังคมในห้าปีข้างหน้า

ในการทำงานการเมือง คุณกรณ์คุยกับที่บ้านด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ

มากน้อยแค่ไหน

มาก…คือภรรยาผมไม่ชอบการเมือง และผมว่าภรรยาน้อยคนจะชอบการเมือง เป็นการยอมรับสภาพมากกว่า ว่าผู้ชายเขาจะอย่างเนี้ย ชอบให้ความสำคัญกับตัวเอง ชอบคิดว่าเปลี่ยนโลกได้ ส่วนผู้หญิงผมคิดว่าเขาจะมีวิธีคิดที่ต่างกัน แต่คุณเจ (วรกร จาติกวณิช) ก็สนับสนุน คือยอมรับการตัดสินใจ

แปลว่าคุณกรณ์ก็ยังเห็นความหวังบางอย่างที่การเมืองไทยจะคลี่คลาย

ความจริงผมเห็น hope ในคนรุ่นใหม่นะ ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในยุคนี้ เขามีความใหม่และความต่างจริงๆ ในแง่ของมุมมองต่อโลกต่อสังคม เพียงขอให้เขามีโอกาสเท่านั้นเอง เขาจะมีส่วนทำให้มันเปลี่ยนแปลงเป็นโลกที่เขาต้องการ และในหลายมิติผมว่ามันจะเป็นโลกที่ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นอยากบอกเขาจริงๆ ว่าคุณทำได้ คุณควรที่จะมีโอกาสเข้ามาทำ แล้วเดี๋ยวผมจะช่วย

การเมืองไทยจะสามารถเดินไปสู่จุดที่คลี่คลายกว่านี้ไหม ไม่ใช่แบบที่คุณอยู่ฝั่งหนึ่ง ฉันอยู่อีกฝั่ง คุยกันไม่ได้เลย—อย่างตอนนี้

(หยุดคิดครู่หนึ่ง) คำตอบคือผมว่าได้ อันดับแรกเลย เวลามีส่วน ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากการมีขั้ว มีแต่ผลกระทบทางลบ แล้ววันนี้เราเห็นว่าสังคมไม่พัฒนาก็เพราะเราไม่สามารถหลุดพ้นจากความขัดแย้งชุดเดิมๆ เสียที ผมว่าคนพร้อมที่จะหาทางเลือกอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวกับขั้ว แต่เกี่ยวกับชุดความคิด ไอเดีย ความตั้งใจที่จะนำความคิดนั้นไปสู่การปฏิบัติ และไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ขอให้เป็นเสียงที่มีพลัง

แต่มันมีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างการไม่แบ่งขั้ว กับการไม่ได้ชำระความเสียหาย (damage) ที่เกิดขึ้น หรือทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ถูกต้อง ผมพูดมาตั้งแต่สมัยอยู่ประชาธิปัตย์ว่าหลักนิติรัฐสำคัญ ผมคิดว่าทุกคนอยู่บนกฎกติกาเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาจจะกติกาเดียวกัน แต่คนละมาตรฐาน มันก็เป็นเรื่องที่เราสัมผัสได้มาตลอด ฉะนั้นขอให้เราแฟร์

เวลาคนบอกว่าอย่ามัวแต่แบ่งขั้ว เราต้องเดินหน้าแล้ว ฟังแล้วก็เหมือนผู้ใหญ่ปรามเด็กให้เลิกทะเลาะกัน ทั้งที่จริงไม่ได้มีการสะสางสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเลย

ส่วนตัวผมถึงไม่พูดเรื่องขั้ว ผมย้ำเฉพาะไอเดียว่าจะทำอะไร ถ้าคุณเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมอยากจะทำ ผมเป็นคนที่เน้นเรื่องการลงมือทำ ถ้ามีโอกาสผมจะทำสิ่งที่นำเสนอ และตัวมันเองจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ประเด็นว่าผมอยู่ขั้วไหน

ตอนที่คุณกรณ์ประกาศขอให้คน ‘ช่วยกรณ์ตั้งชื่อพรรค’ แล้วมีคนบอกว่าเหมือนสมัย ‘ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค’ เลย รู้สึกอย่างไร

ไม่รู้สึกอะไรเลย เอาตามจริงเลยไหม ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ใช้วิธีนี้ เราอาจจะมีวิธีคิดคล้ายๆ กันว่า อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่องที่เราทำ ตอนนั้นพวกเรากำลังคุยกันเรื่องพรรคใหม่ และคิดขึ้นว่าทำไมไม่ถามประชาชนด้วยว่าเขาคิดยังไง แล้วเราอาจจะได้ไอเดียดีๆ ซึ่งก็ได้จริงๆ ไม่ได้รู้เลยว่าใครทำมาก่อน มารู้เอาตอนที่ถูกแซว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถึงขนาดนั้น ชนิดที่ต้องมีลิขสิทธิ์ทางความคิดกันมั้งครับ 

ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อไรก็ตาม สิ่งที่คุณกรณ์ต้องการสื่อสารกับคนทั่วไปว่าผมเป็นใคร ผมเชื่อในอะไร อยากรู้ว่าคุณจะเลือกสื่อสารประเด็นใดกับสาธารณชนเป็นประเด็นแรก

เดี๋ยวรอจังหวะนะครับว่าเราจะเปิดตัวในการสื่อสารแนวนั้นเมื่อไร แต่แน่นอนสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณตั้งพรรคมาเพื่อทำอะไร ผมว่าสำคัญกว่าทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าตั้งพรรคมาเพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานส่วนตัวซึ่งไม่ได้มีความหมายต่อสังคม พรรคการเมืองจะอยู่ได้ต้องมีความหมายว่าเพื่ออะไร

 

Fact Box

  • กรณ์ จาติกวณิช จบระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เริ่มทำงานกับ S.G. Warburg & Co วาณิชธนกิจในกรุงลอนดอน ก่อนกลับเมืองไทยมาก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด ในปี 2531 ด้วยความสำเร็จของ เจ.เอฟ.ธนาคม และการทำงานในตำแหน่งประธานบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) จำกัด ในเวลาต่อมา ทำให้คนในแวดวงการเงินยุคนั้นเรียกเขาว่า ‘พ่อมดการเงิน’ 
  • ในปี 2547 เขาหันมาทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 7 กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548
  • ในครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาได้รับเลือกจากนิตยสาร The Banker เป็นรัฐมนตรีคลังโลก และรัฐมนตรีคลังของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2553
Tags: ,