บทความนี้เกิดขึ้นในคอกทำงานสีขาวที่เพิ่งสร้างเสร็จแบบ D.I.Y. ของศิลปินนักปั้น ซึ่งเขาก็เหมือนคนอื่นในสถานการณ์โควิด-19 ตัวเองต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งถ้าตัวคนเดียวทำงานคนเดียว จะนอนจะนั่งทำงานอยู่ตรงไหนของบ้าน มันก็ไม่เป็นอะไรหรอก แต่การที่ต้องอยู่บ้านกับสมาชิกครอบครัว ซึ่งเขามีลูกเล็กสองคนแบบ 24 ชั่วโมง ขณะที่ตัวเองก็ต้องใช้สมาธิในการคิดงานและปั้นงานไปด้วย มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และนั่นจึงนำมาสู่ความคิดของการสร้างพื้นที่ทำงานในคอกส่วนตัวขนาดประมาณ 1.5 x 2 เมตร กลางโรงเก็บของที่เชื่อมติดกับตัวบ้านพักอาศัย ที่แรกก้องก็คิดจะกั้นพื้นที่ในโรงเก็บของด้วยการสร้างห้องติดแอร์ขึ้นมา แต่พอคำณวนค่าใช้จ่ายแล้ว ก็อาจจะต้องใช้เงินถึง 4-5 หมื่นบาท จนพอหันไปเห็นแผ่นยิปซัมกับแผ่นไม้ที่มีโครงยึดไว้ด้านหลัง ซึ่งโดยปกติก้องจะใช้แผ่นโครงไม้นี้เป็นอุปกรณ์จัดฉากสำหรับการถ่ายรูปผลงานศิลปะ ก้องก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่า เอ๊ะ เรา D.I.Y.  สร้างพื้นที่ทำงานเอาก็ได้แบบไม่เห็นต้องใช้เงินเยอะเลย

“ในบ้านที่มีลูกเล็กๆ มันก็จะมีโมเมนต์แบบว่าพอเราทำงานอยู่ เอ้า ลูกเทนมลงพื้น เราก็ต้องรีบเข้าไปเช็ด พอเช็ดเสร็จ หันไปอีกที เอ้า ลูกเดินไปเทนมลงบนเก้าอี้ทำงานเราอีก หรือบางทีเรากำลังนั่งคิดงานอยู่ ลูกร้อง เราก็ทำงานไม่ได้อีก จนวันหนึ่งก็เลย อะ งั้นสร้างคอกทำงานแยกออกมาต่างหากเลยแล้วกัน มันคือการจัดโซนนิ่ง”

บทสนทนาของเราอย่างเป็นกันเองในวันอากาศร้อนจัดจนแทบจะอยากใส่ชุดว่ายน้ำมาสัมภาษณ์เริ่มขึ้นกับเสียงเพลงลูกทุ่งที่ดังมาจากลำโพงใต้โต๊ะทำงานของก้อง โดยมีหมู่มวลรูปปั้นศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลกแต่แฝงด้วยความทุกข์ระทมของชีวิต ขนาดความสูง 13 เซนติเมตร อย่างซัลบาโด ดาลี, ฟรีดา คาห์โล และ วินเซนต์ แวนโก๊ะ มองมาที่เราทั้งคู่ตาไม่กระพริบ ก่อนจะมาทำงานหุ่นปั้นซีรีส์ทุกข์ระทมนี้ ก้องเรียนจบมาจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาประยุกต์ศิลปศึกษา (ประติมากรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร เขารับปั้นหุ่น ทำงานพร็อบให้กับงานหนังงานโฆษณา ทำหุ่นเหลี่ยมขนาดจิ๋วชนิดพกพาซึ่งเป็นหุ่นสำเร็จที่นักศึกษาใช้สำหรับฝึกดรออิ้ง รวมไปถึงเคยลองเปิดใจไปสมัครเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนเอกชนแถวบ้านอยู่เทอมหนึ่งแต่ก้องพบว่ามันไม่เวิร์กเลย จนพอวันหนึ่งภรรยาตั้งท้อง ก้องเลยลองทำสินค้าที่เอาใจตลาดมากขึ้น เน้นการขายง่ายขายเร็ว

“ทำงานศิลปะก็ต้องมีกินด้วยครับ ท้องต้องอิ่มก่อนแล้วงานมันถึงจะดี นี่คือโลกของความจริง”

จากการทำงานปูนปั้นเป็นหลัก ก้องเริ่มผลิตถุงผ้าแนวญี่ปุ่นเอาใจตลาดออกขายตามงานอีเวนต์รวมถึงเปิดบูธขายกระเป๋าผ้าเป็นประจำอยู่ที่ตลาดนัดรถไฟรัชดา ถึงตรงนี้ ฉันเลยถามก้องว่าการมีอาชีพของคำว่าศิลปินค้ำคออยู่แต่ต้องมาขายสินค้าประเภทเอาใจตลาดแบบกระเป๋าผ้า เขารู้สึกว่ามันเสียจุดยืนหรือเสียภาพลักษณ์ของคำว่าศิลปินบ้างไหม ก้องว่าเขาไม่เคยเอาคำว่าศิลปินมาเป็นกับดักให้กับตัวเองเลย ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรามากกว่า นี่คือชีวิตเรา มันไม่เกี่ยวกับใครเลย

“ตลาดนัดรถไฟนี่ตัวทำเงินเลยนะครับ ผมได้ฐานลูกค้าคนจีนมาเยอะมาก จากนั้นผมก็ไปเปิดร้านที่สวนจตุจักร มีสินค้าประเภทเสื้อผ้าเด็กเพิ่มเข้ามาเพราะช่วงนั้นเริ่มมีลูก จนถึงจุดหนึ่งที่ร้านเริ่มลงตัวและมีพนักงานที่ไว้ใจได้มาอยู่ประจำ เราก็เริ่มหันมาโฟกัสกับงานที่เรารักจริงๆ คืองานปั้น ผมว่าการใช้ชีวิตมันต้องแยกนะครับว่ารายได้หลักก็ส่วนรายได้หลัก ส่วนการทำในสิ่งที่รักที่ชอบมันก็อีกเรื่องหนึ่ง จริงๆ ผมเป็นคนชอบทำของเล่นจากลังกระดาษมาก ชอบทำให้ลูกเล่น แต่ถ้าจะเอามาทำขนาดเป็นการค้าแบบหารายได้ มันก็คงเป็นไปได้ยาก จนวันดีคืนดีผมก็ปั้นแวนโก๊ะขึ้นมา ปรากฏพอเอาไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก คนก็ชอบกันใหญ่ ฟีดแบ็กดี ก็เลยรู้สึกว่านี่ล่ะน่าจะใช่ทาง”

ว่าด้วยการปั้นหุ่นแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ นึกอยากจะปั้นอะไรก็ปั้นขึ้นมาได้เลยตามอำเภอใจ แต่ในความเป็นศิลปินช่างปั้นนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ในเรื่องของเทคนิกการปั้นและกระบวนการค้นคว้าในเรื่องของสัดส่วนและองศารูปหน้า รวมไปถึงการแสดงสีหน้าอารมณ์ต่างๆ ของศิลปินตัวแบบต้นฉบับ ก้องว่า มันคือการทำความเข้าใจตัวละครก่อนที่จะลงมือทำงาน

จากหุ่นปั้น วินเซนต์ แวนโก๊ะ มาถึงฟรีด้า คาห์โล ศิลปินหญิงทรงพลังชาวเม็กซิกัน ต่อด้วยซัลบาโด ดาลี ที่ก้องเพิ่มลูกเล่นเข้าไปในชิ้นงานให้สนุกมากขึ้นโดยเนคไทสีดำที่อยู่บริเวณคอของดาลี สามารถจับบิดงอได้ จนมาถึงเอมิลี่ ซึ่งความยากของการปั้นเอมิลี่คือรายละเอียดของสีผิวอ่อนเข้มที่มีเลเยอร์ซ้อนกันอยู่ ทั้งหมดทำจากวัสดุเรซิน 

ว่าด้วยช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนรัดเข็มขัดกันอย่างหน่วงเหนี่ยว จะใช้เงินแต่ละบาทนี่คิดแล้วคิดอีกว่าจ่ายไปแล้วจะคุ้มไหม เจ้าของธุรกิจรายย่อยรายใหญ่เองต่างเปลี่ยนรูปแบบวิธีคิดทางการตลาด ทั้งลดแลกแจกแถม หรือหลายรายก็เลือกที่จะปิดกิจการไปเลย ก้องเองในฐานะศิลปินก็เคยเคยลังเลว่าสำหรับหุ่นปั้นตัวละ 1,490 บาท ซึ่งใช้ประโยชน์ได้แค่ตั้งไว้เป็นเพื่อนบนโต๊ะทำงานหรือใช้แค่ตั้งโชว์ตามมุมต่างๆ ของบ้าน ลูกค้าจะยอมจ่ายไหมกับช่วงสถานการณ์แบบนี้ แต่พอทดลองโพสต์ขายบนเพจ  Kongkiat p. ที่ตัวเองทดลองเปิดขึ้นมาเท่านั้นล่ะ จำนวนหุ่นที่มีการสั่งซื้อเขามาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็เป็นคำตอบให้กับเขาได้ว่าถ้าคุณภาพงานดีจริงและราคาไม่โหดจนเกินไป ยังไงก็มีคนซื้อ

โดยเฉพาะช่วงเวลาของการ work from home เป็นช่วงที่คนทำงานอยู่บ้านหลายๆ คนลุกขึ้นมาจัดบ้านจัดโต๊ะทำงานสร้างบรรยากาศใหม่ให้กับการทำงานอยู่บ้าน และตอนนี้หุ่นตัวที่ 5 ของก้องก็กำลังจะใกล้คลอดเต็มทีกับแอนดี้ วอร์ฮอล เจ้าพ่อป็อปอาร์ตชาวอเมริกัน ที่เชื่อว่าจะมีคนตามซื้อสะสมแน่ และขณะที่บทสนทนาของเราจบลง ลูกๆ ของก้องก็เหมือนจะรู้คิว เด็กๆ วิ่งเข้ามาที่คอกทำงาน ปีนป่ายขึ้นเก้าอี้ทันทีเพราะอยากระบายสีแบบพ่อ

 

Fact Box