ชินจิโร โคอิสุมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมท้าทายขนบวัฒนธรรมการทำงานหนักของญี่ปุ่นด้วยการใช้สิทธิลาคลอด

เมื่อวันที่ 15 มกราคม โคอิสุมิวัย 38 ปีเป็นนักการเมืองคนแรกที่ประกาศว่า เขาจะหยุดงาน 2 สัปดาห์เพื่อใช้เวลาส่วนหนึ่งดูแลลูกที่มีกำหนดจะคลอดในเดือนนี้ 

ในญี่ปุ่น ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถใช้วันหยุดลาคลอดได้นาน 1 ปี นับตั้งแต่ลูกคลอดออกมา แต่ในปี 2018 มีพ่อแค่ 6% เท่านั้นที่ใช้สิทธินี้ ส่วนผู้หญิงใช้สิทธินี้ 82% ต้องถือว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีลาคลอด

สำหรับโคอิสุมิ ลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีจุนิชิโร โคอิสุมิ  เขาจะหยุด 2 สัปดาห์เต็ม จากนั้นในช่วง 3 เดือนแรกจะทำงานที่บ้านหรือลดเวลาทำงานให้น้อยลง เพราะช่วง 3 เดือนแรกตั้งแต่ลูกคลอดออกมา แม่ต้องรับภาระหนักมาก เขาจะใช้ทำงานผ่านอีเมลและประชุมทางไกลให้มากขึ้น และหากจำเป็น เขาขอให้ผู้ช่วยไปทำงานแทน ระหว่างการประชุมต่างๆ 

การประกาศของโคอิสุมิเป็นเรื่องฮือฮาในโลกออนไลน์ของญี่ปุ่น และได้รับคำชมว่าเป็นตัวอย่างที่ทรงพลังมาก เพราะแทบจะไม่มีพ่อคนไหนใช้สิทธิลาคลอด โคอิสุมิบอกเจ้าหน้าที่ระหว่างการประชุมว่า “ผมหวังว่าการใช้สิทธิลาคลอดของผมจะนำไปสู่จุดที่ว่า ใครๆ ในกระทรวงก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ โดยไม่ต้องลังเล”

การกระทำของโคอิสุมิทำให้หลายฝ่ายหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวัฒนธรรมการยกย่องการทำงานหนักในสังคมญี่ปุ่น ผู้ชายซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว ถูกคาดหวังให้แสดงความทุ่มเทต่อนายจ้าง แต่ก็ไม่ง่ายเลย โคอิชิ นากาโน นักรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโซเฟีย ในโตเกียวให้ความเห็นว่า แม้แต่คนที่อยู่ในสถานะคนชั้นสูงอย่างโคอิสุมิยังลำบากในการใช้สิทธิลาคลอดเลย เพราะเขาถูกวิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่เห็นด้วย สำหรับคนในอาชีพอื่นๆ เรื่องนี้ยากกว่ามาก

ภาคเอกชน มีบริษัทบางแห่งลงโทษพนักงานชายที่ใช้สิทธิลาคลอด เช่น ตัดเงินหรือลดตำแหน่งลง ตอนที่เขากลับมาทำงาน

ที่ผ่านมา ส.ส. หญิง ซึ่งมีสัดส่วน 14% ในรัฐสภาญี่ปุ่นหลายคนใช้สิทธิลาคลอด แต่ต้องต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ต่างๆ ในปี 2016 ส.ส. หญิงคนหนึ่งใช้สิทธิลาคลอด แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าใช้รถยนต์ราชการไปส่งลูกชายที่สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ส่วนในปี 2017 ส.ส. อีกคนหนึ่งประกาศว่าเธอตั้งครรภ์ ก็ถูกวิจารณ์ว่าเธอไม่ทำหน้าที่ ส.ส. อย่างรับผิดชอบ

ในรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้เวลาพ่อดูแลลูกมากกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวียด้วย 

 

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2020/01/15/world/asia/japan-koizumi-paternity-leave.html

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/01/15/national/shinjiro-koizumi-paternity-leave

https://www.bbc.com/news/world-asia-51127022

 

ภาพ: Reuters/ KYODO Kyodo

 

Tags: , ,