“ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป”

นั่นคือคำแถลงการณ์ หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกองทัพบกในขณะนั้น ได้ทำการยึดอำนาจโดยการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ด้วยการส่งกำลังทหารลงพื้นที่ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (กอ.รส.) และประกาศ ‘พ.ร.บ.กฎอัยการศึก’ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตั้งแต่เวลา 03.00 น. จากนั้นประกาศวัตถุประสงค์ให้หัวหน้าส่วนราชการเข้ารายงานตัวประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งเชิญคู่ขัดแย้งทั้ง 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมพร้อมกันที่สโมสรกองทัพบก ซึ่งมีคณะ กอ.รส. ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตัวแทนจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทว่าการประชุมร่วมกันนอกจากไม่สามารถหาข้อยุติได้แล้ว การพูดคุยกันในที่ประชุมยังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน กระทั่งนำมาซึ่งคำแถลงการณ์ ‘ยึดอำนาจ’ และการจัดตั้ง คสช.ในท้ายที่สุด

นับตั้งแต่วินาทีนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้นำเผด็จการ’ ในสายตาของผู้ต่อต้านหรือฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับทางออกของการแก้ปัญหาเช่นนี้

           

“ผมเป็นทหาร ไม่ใช่นักการเมือง เป็นทหารที่เข้าใจปัญหาของประชาชน”

(21 กุมภาพันธ์ 2562 ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรแหลมบัว)

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโตในครอบครัวพี่น้องสี่คนของนายทหาร-พันเอก(พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และครู-เข็มเพชร จันทร์โอชา ‘ตู่’ คือชื่อเล่นของเขา เป็นเด็กเรียนดี มีอุปนิสัยเงียบขรึม และเป็นคนมีวินัยสูงมาตั้งแต่วัยเด็ก

ในวัยเยาว์ ประยุทธ์ถนัดและมีความชอบในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ผลการเรียนของเขาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่เคยได้เกรดต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และมีความมุ่งมั่นตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมฯ แล้วว่า เขาจะสมัครเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร และหวังจะได้เป็นทหารบกในอนาคต

จากคำบอกเล่าของเพื่อนร่วมโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 กล่าวถึงประยุทธ์ว่า เป็นคนชอบอ่านหนังสืออย่างมาก ด้านกีฬานั้นเขาชอบฟุตบอล แต่ส่วนใหญ่เขาสนใจการเรียนมากกว่า และยังเป็นคนเจ้าคารี้สีคารม ชอบขีดเขียนแต่งกลอน ที่ประชากรชาวไทยได้ซึ้งได้ทราบกับผลงานการประพันธ์ทั้ง 10 เพลง ตั้งแต่ ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ เมื่อปี 2557 จนถึงซิงเกิลล่าสุด ‘มาร์ชไทยคือไทย’ ที่เพิ่งผ่านหูคนไทยไปเมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จปร.) ประยุทธ์สมัครใจไปทำหน้าที่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ (พระยศในขณะนั้น) รอบพระราชวังสวนจิตรลดา ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตามที่พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช (ยศร้อยโทในขณะนั้น) เสริมกำลังให้กับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่มีจำนวนไม่พอ และเป็นต้นกำเนิดของความเป็น ‘ทหารเสือราชินี’ ของเขา ที่เข้าประจำการที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หลังสำเร็จการศึกษา พร้อมติดเครื่องหมาย ‘ทหารเสือหัวใจสีม่วง’ อันเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ทำจากโลหะเป็นรูปหัวใจสีม่วง ประดับพระนามาภิไธยย่อ สก. หมายถึง ผู้บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริต และจริงใจ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหัวใจสีม่วงนี้แก่กำลังพล ด้วยมุ่งหวังให้ทหารเสือทุกนายมีความซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

           

“ฉันตั้งใจสู้เพื่อแผ่นดิน แม้มีใครติฉินเท่าไร ทุกวันเหนื่อยกาย อดทนต้องเก็บเอาไว้ เพราะเสียงหัวใจ บอกให้ทำเพื่อแผ่นดิน”

(จากเพลง ‘สู้เพื่อแผ่นดิน’ ผลงานประพันธ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2561)

พลเอกประยุทธ์รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ‘ทหารเสือราชินี’ มาโดยตลอด เริ่มจากตำแหน่งผู้บังคับการกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปประจำการที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1

เขาเป็นสมาชิก ‘บูรพาพยัคฆ์’ ในกองทัพ เช่นเดียวกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กระทั่งในปี 2553 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 37

“ใครก็ตามที่ได้ร่วมงานกับพลเอกประยุทธ์ จะรักท่านทุกคน” ทหารยศพันเอกนายหนึ่งกล่าว “เพราะท่านเป็นกันเอง แม้การพูดการจาและการสั่งงานจะดูอารมณ์ร้อน โผงผาง เสียงดัง แต่ก็เป็นสไตล์ทหาร และลูกน้องเข้าใจดีว่า ท่านปากร้ายแต่ใจดี”

ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ได้ริเริ่มให้มีการฝึก ‘หน่วยทหารทรหด’ ที่ให้หน่วยในระดับกองพลจัดชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก แล้วตั้งโจทย์ให้ไปแก้ไขปัญหา และมีการแข่งขันควบคู่กันไปด้วย โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการรบเท่านั้น โครงการดังกล่าวทำให้กำลังพลมีความตื่นตัวและสอดรับกับการเตรียมการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่

มีการรวบรวมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติทางทหารใน 10 สาขาวิชาที่สำคัญ เป็นตำราแบบพกพาสำหรับกำลังพล เพื่อการปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

         กรณีข้อพิพาทบริเวณเส้นเขตแดนปราสาทเขาพระวิหาร ศักยภาพของกองทัพบกสามารถลดบทบาทของกัมพูชาที่จะก่อปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ และวันนี้มีแนวโน้มว่าไทยกับกัมพูชามีการเจรจากันได้ง่ายขึ้น
         ส่วนปัญหาความขัดแย้งในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการพยายามประนีประนอมระหว่างอำนาจของรัฐบาลชุดเก่ากับกองทัพ ไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดความรุนแรงทางการเมือง

“รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ยุติความขัดแย้ง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จัดระเบียบสังคม”

(กุมภาพันธ์ 2562 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล)

การแถลงผลการดำเนินงานปีที่ 4 ของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวชี้แจงสถานการณ์ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารประเทศ และสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในระยะแรก คือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ยุติความขัดแย้ง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบสังคม

ผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาล คสช.เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การดูแลประชาชนระดับฐานราก ทั้งกองทุนหมู่บ้าน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งดูแลผู้มีรายได้น้อยกว่า 14.5 ล้านคน การเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุที่ถือบัตร การแก้ไขหนี้นอกระบบ การสร้างระบบพร้อมเพย์ สังคมไร้เงินสด และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านล้านหลัง การฟื้นฟูชุมชนริมคลอง รวมถึงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU การปลดธงแดงด้านการบินพลเรือน หรือ ICAO การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ สู่การรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดน และการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ในรอบ 77 ปี เพื่อปลดล็อกให้ปลูกไม้มีค่าได้

ส่วนผลงานด้านการท่องเที่ยว สามารถผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตติดอันดับ 10 ของโลก มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยกว่า 38.27 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ในขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น ยังเป็นเรื่องการเปิดรถไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2 สาย คือ สายสีม่วง และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย การพัฒนาขนส่งทางราง 356 กิโลเมตร เป็น 3,531 กิโลเมตร การเร่งรัดรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 993 กิโลเมตร การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง 472 กิโลเมตร เชื่อมสามเส้นทาง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และการเร่งรัดสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง 324 กิโลเมตร

ผลงานด้านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระบุถึงการส่งออกของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 มีการตกลงการค้าเสรี 12 ฉบับกับ 17 ประเทศคู่ค้า อีกทั้งตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.0 หรือประมาณกว่า 8 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งติดอันดับต้นๆ ของโลก

แม้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านคอร์รัปชันของไทยจะลดลงจากอันดับ 96 มาอยู่ที่ 99 แต่พลเอกประยุทธ์ก็ยืนยันว่า การปราบปรามทุจริตหลายๆ อย่างยังดีขึ้น

“เขาให้กำลังใจทุกวัน ตลอดชีวิตให้มาทุกวัน ถ้าไม่ให้ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก”

(20 มิถุนายน 2559)

เรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามักไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวสู่สาธารณชนมากนัก แต่ก็เป็นที่รับรู้กันในสังคมไทยว่า ภริยาของนายกรัฐมนตรีคือ รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า ‘อาจารย์น้อง’

บุคคลทั้งสองพบกันที่สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนั้นนายทหารหนุ่มจากกรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ ได้ไปเรียนภาษาอังกฤษหลักสูตรระยะสั้นที่นั่น และได้พบกับอาจารย์สาวสวยซึ่งรับราชการอยู่ในสถาบันแห่งนี้ จากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาเป็นความรัก ถึงขั้นปลงใจแต่งงาน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมรสเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2527 บุคคลทั้งสองมีทายาทเป็นแฝดหญิง คือ พลอย-ธัญญา และเพลิน-นิฏฐา จันทร์โอชา ซึ่งทั้งสองสำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้เวลาศึกษาเพียงสามปีครึ่ง และทั้งคู่ยังเคยออกอัลบั้มเพลงร่วมกับนิค-นิติญา อ่ำสกุล เป็นวงดนตรีทริโอหญิงชื่อ BADZ วงดนตรีแนวพังก์ในสังกัดจีโนม เรคคอร์ด ของค่ายอาร์เอส

อาจารย์น้องถือกำเนิดในสกุล ‘โรจนจันทร์’ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2497 มีพี่สาวฝาแฝดชื่อ หมู-สุวรรณา โรจนจันทร์ เริ่มเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ ประจำสถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนลาออกจากราชการในปี 2554 ไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก ทั้งยังอุทิศเวลาไปช่วยเหลืองานมูลนิธิคนตาบอด และอาสาเป็นอาจารย์พิเศษให้โทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนวังไกลกังวลอีกด้วย

การทำงานของอาจารย์น้องเต็มไปด้วยความรักและความทุ่มเท เธอชอบทำงานแบบเงียบๆ ไม่ชอบเป็นข่าว พยายามห่างจากความมีชื่อเสียง และเป็น ‘หลังบ้าน’ ที่พร้อมให้การสนับสนุนบุตรสาวและสามีอย่างดี

ทุกครั้งที่พลเอกประยุทธ์ใช้เวลาอยู่ร่วมกับอาจารย์น้อง ไม่ว่าระหว่างปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันที่ไหน หรือในงานพิธีอะไร คนส่วนใหญ่มักเห็นเขาแสดงสีหน้ายิ้มแย้มหรือเรียบเฉย ไม่ปรากฏใบหน้าบูดเบี้ยวหรือบึ้งตึงเหมือนเช่นเวลาที่เขาอยู่ร่วมกับผู้สื่อข่าว

“ก็มีความสุข มีความรักกันทุกวันอยู่แล้วตลอด 32 ปีที่ผ่านมา วันนี้ก็ยังรักเท่าเดิม” พลเอกประยุทธ์เคยบอกกล่าวกับสื่อฯ ในวันครบรอบ 32 ปีชีวิตสมรสเมื่อสามปีที่แล้ว

 

อ้างอิง:   

https://www.thairath.co.th/content/424643

https://www.bbc.com/thai/thailand-46654022

https://www.bbc.com/thai/thailand-47623496

https://news.thaipbs.or.th/content/272359

https://news.mthai.com/politics-news/502350.html

Fact Box

  • 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี
  • 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดย สนช. มีมติเห็นชอบ 191 คะแนน งดออกเสียง 3 จาก สนช. 194 คน เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่มีสมาชิกเสนอชื่อบุคคลอื่นเข้าแข่งขัน
  • 6 เมษายน 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
  • 24 มีนาคม 2562 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก นับแต่รัฐประหาร 2557
  • 5 มิถุนายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แข่งกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และได้รับเสียงข้างมากจาก สภาร่วม ส.ส.-ส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีสิทธิโหวตนายกฯ ได้
Tags: