ดูเหมือนแตงกวาจะเป็นผัก (หรือผลไม้?) ที่ผู้คนทั่วโลกคุ้นเคย ทั้งเป็นส่วนผสมหลักของอาหาร หรือเป็นเครื่องเคียงคู่กับอาหารจานหลัก ชาวอินเดียกินสลัดที่มีแตงกวาผสมอยู่แทบทุกมื้อ ทั้งสดและดอง คล้ายๆ กับสลัดเม็กซิกันและประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แซนด์วิชไส้แตงกวาเป็นอาหารว่างระหว่างดื่มน้ำชาของชาวอังกฤษ ซุปแตงกวาก็เป็นหนึ่งในเมนูอาหารจีน

ถ้าถามว่าแตงกวาเป็นผักหรือผลไม้ ก็คงต้องถามกลับว่า ตอบจากจุดยืนไหน เพราะการตีความว่าแตงกวาเป็นผักหรือผลไม้ขึ้นอยู่กับว่าตัดสินจากหลักคิดอะไร ในทางพฤกษศาสตร์ แตงกวาเป็นผลไม้เพราะมีโครงสร้างที่พัฒนามาจากรังไข่ของดอก ส่วนผักหมายถึงส่วนอื่นๆ ของพืช เช่น ราก ใบ และกิ่ง ทางพืชสวนแตงกวาเป็นผักเพราะเป็นไม้ล้มลุก สำหรับคนทำอาหาร เอนเอียงมาทางผัก เพราะแตงกวาไม่ใช่อาหารที่ไว้กินเป็นของหวานเหมือนผลไม้

ไม่ว่าจะลงเอยด้วยคำตอบไหน แตงกวาก็เป็นพืชที่หลายวัฒนธรรมยอมรับกันว่ามีน้ำเยอะ กินแล้วร่างกายสดชื่น เรื่องราวของแตงกวาก็ทำให้ชุ่มฉ่ำใจไม่แพ้กัน

แตงกวาท่องโลก

ก่อนที่จะกระจายไปไกลอย่างนี้ ถิ่นกำเนิดของแตงกวาอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ในอินเดีย มนุษย์เริ่มปลูกแตงกวามาตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว แตงกวาแพร่กระจายจากอินเดียไปยังกรีซ และอิตาลี ในยุคอียิปต์โบราณ กรีก และโรมัน แตงกวาเป็นที่นิยมอย่างมาก จักรพรรดิชาร์เลอมาญ (Charlemagne) แห่งโรมันได้สั่งให้ปลูกแตงกวาไว้ในสวนของตน ชาวฝรั่งเศสรู้จักแตงกวาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 แตงกวามาถึงอังกฤษประมาณปลายศตวรรษที่ 14  ในช่วงที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ปกครองอังกฤษ ว่ากันว่าพระชายาคนแรกของพระองค์สั่งสลัดแบบสเปนที่ใส่แตงกวาลงไปด้วย

ทางฟากตะวันออก ชาวจีนรู้จักแตงกวาเมื่อศตวรรษที่ 5 เรียกชื่อว่า hugua หมายถึงแตงของคนป่า ตอนแรก ชาวจีนยังไม่สนใจแตงกวานัก ใช้ผสมกับผักอื่นๆ เป็นบางครั้ง โดยคิดว่าเป็นของที่ไม่ดีต่อร่างกายเพราะมีธาตุหยินมากเกินไป กินแล้วจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล แต่ชาวจีนก็ยังใช้เป็นยาเพื่อลดความร้อนในร่างกายและล้างพิษ ใบและรากใช้รักษาโรคบิด แก้ท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับระบบปัสสาวะ ส่วนดินแดนโลกใหม่อย่างทวีปอเมริกาเหนือเพิ่งรู้จักแตงกวาช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อชาวยุโรปนำเมล็ดแตงกวาติดตัวไปด้วย

แตงกวาหน้าร้อน

การกินแตงกวาเพื่อบรรเทาความร้อนในร่างกายได้รับพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว  ปี 1970 นักสรีรวิทยาของพืชที่ออสเตรเลียค้นพบว่า เนื้อในของแตงกวามีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอก 11.1 องศาเซลเซียส ต่อมา งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันยืนยันว่า แตงกวาช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายได้และลดการสูญเสียน้ำในอากาศร้อนจัด แตงกวาทำให้ร่างกายของเราเย็นลง ทำให้สดชื่น และให้ความชุ่มชื้น เพราะแตงกวามีน้ำเป็นส่วนประกอบ 95 เปอร์เซ็นต์

ตำราอายุรเวทของอินเดียบอกไว้ว่า แตงกวาทำให้ร่างกายชุ่มชื้นขึ้น การดื่มน้ำแตงกวาดีต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยด้วยอหิวาตกโรคจะได้ดื่มน้ำแตงกวาผสมกับน้ำมะพร้าวทุกสองชั่วโมงเพื่อปรับความสมดุลและลดการขาดน้ำ น้ำแตงกวายังเพิ่มความชุ่มชื้นทั้งภายในและภายนอกให้กับผิว

ความเย็นของแตงกวายังเป็นสำนวนเปรียบเทียบในภาษาอังกฤษ  วลีที่ว่า cool as a cucumber เป็นสำนวนที่ใช้สำหรับคนที่สามารถสงบนิ่งและผ่อนคลายได้ในสถานการณ์อันร้อนแรงหรือยากๆ เปรียบเทียบเหมือนกับแตงกวาที่มีเนื้อเย็นอยู่ข้างใน สำนวนนี้มาจากบทกวีที่ชื่อ “New Song on New similes” ที่แต่งโดยกวีชาวอังกฤษที่ชื่อ จอห์น เกย์ (John Gay) เมื่อปี 1732  วรรคหนึ่งในบทกวีกล่าวว่า “I … cool as a cucumber could see the rest of womankind.” ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นเพลงในละครโอเปร่า

ชาวญี่ปุ่นก็นิยมกินแตงกวาในฤดูร้อน เราจะเห็นแตงกวาเสียบไม้วางขายเต็มไปหมด ในปี 2007 บริษัทเป๊บซี่ในญี่ปุ่นออกเป๊บซี่รสแตงกวาสำหรับฤดูร้อน โดยให้เหตุผลว่า เพราะแตงกวามักเป็นของดับร้อนที่ชาวญี่ปุ่นมักนึกถึง สโลแกนของเป็บซี่รสพิเศษนี้คือ “รสชาติสดชื่นของแตงกวาสด” ในปี 2018 นี้ โคคาโคล่าในสหราชอาณาจักรก็เตรียมออกสไปร์ทกลิ่นมะนาวแตงกวาแบบไร้น้ำตาลด้วย

ฤดูร้อนกับแตงกวายังเชื่อมโยงกัน นอกจานอาหาร งานนักข่าวก็มีแตงกวาเข้ามา ในวงการสื่อมวลชนของเนเธอร์แลนด์ นักข่าวชาวดัตช์จะพูดถึงการทำข่าวในฤดูร้อนว่าเป็น “เวลาแตงกวา” เพราะเวลานี้แหล่งข่าวมักพากันออกนอกเมือง ทำให้หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์มีแต่ข่าวที่ไร้สาระ ชาวเดนมาร์ก เชก สโลเวเนีย ไอซ์แลนด์ ก็มีสำนวนคล้ายๆ กันแบบนี้

ที่มาของเรือนกระจกปลูกต้นไม้?

เรือนกระจกที่ทำให้เราสามารถปลูกพืชเมืองร้อนได้ในพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ อาจเป็นผลพวงจากความชอบกินแตงกวาของผู้ปกครองในอดีต

ในบันทึกของไพลนีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) และโคลัมเมลลา (Columella) นักธรรมชาติวิทยาในยุคโรมันบรรยายว่า แพทย์แนะนำให้จักรพรรดิทิเบอริอุส (Emperor Tiberius) กินแตงกวาทุกวันเพื่อสุขภาพ “กินแตงกวาวันละผลทำให้ร่างกายแข็งแรง” แม้ว่าตามธรรมชาติแล้ว แตงกวาจะออกผลตอนหน้าร้อนเท่านั้น ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในยุคโรมันจึงระดมสมองหาวิธีปลูกแตงกวาให้ออกผลตลอดทั้งปี ด้วยการสร้างเรือนกระจก แตงกวาจะถูกปลูกบนรถเข็นที่มีล้อ เพื่อที่ว่าทุกเช้า คนสวนจะลากต้นแตงกวาออกไปตากแดด แล้วเข็นกลับเข้ามาในตอนกลางคืน ในฤดูหนาว จะคลุมต้นแตงกวาด้วยแผ่นไมกา ซึ่งเป็นหินโปร่งแสง นี่จึงเป็นที่มาของเรือนกระจก จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าสิ่งที่บันทึกไว้จริงหรือไม่

เหตุผลคล้ายกันกับที่ฝรั่งเศสในอีกหลายปีต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสสั่งให้สร้างสวนที่ชื่อ  Le Potager du Roi (the King’s vegetable garden หรือ สวนผักของราชา) ตั้งแต่ปี 1678-1683 Jean-Baptiste La Quintinie ซึ่งเป็นคนทำสวนของพระราชวังแวร์ซายส์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการสวนผักและผลไม้ของกษัตริย์ ซึ่งมีพื้นที่ 1 ล้านตารางฟุต เพราะต้องการผักสดๆ เขาต้องสร้างเรือนกระจกเพื่อปลูกแตงกวา และทำให้มันโตเร็วกว่าปกติ เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ชอบแตงกวามากจะได้กินบ่อยๆ

จากอาหารวัว สู่อาหารชนชั้นสูงในอังกฤษ

ราวศตวรรษที่ 17 ที่อังกฤษมีการต่อต้านการกินผลไม้สดและสลัดผักซึ่งไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือมีบทความด้านสุขภาพอ้างว่าอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงทำให้เกิดโรค และไม่ควรให้เด็กกิน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า “เป็นอาหารของวัว” และเรียกแตงกวาว่า cowcumber

มีบันทึกประจำวันเมื่อปี 1663 ของ แซมูเอล เพปส์ เขียนไว้ว่า “เซอร์ ดับเบิลยู แบทเทน บอกว่า นายนิวเบิร์นเสียชีวิตเพราะกิน cowcumber เข้าไป” ส่วนนายแพทย์แซมูเอล จอห์นสันเขียนไว้ในหนังสือว่า “ควรจะหั่นแตงกวาบางๆ พรมด้วยน้ำส้มสายชูและพริกไทย แล้วก็ขว้างทิ้งไป”

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มเอาแตงกวาหั่นบางๆ แทรกลงไปในขนมปังที่ทาเนยตัดขอบออก โรยเกลือและพรมน้ำเลมอนเล็กน้อย ในยุควิคตอเรียที่มีการดื่มน้ำชายามบ่าย แซนด์วิชแตงกวาถูกเสิร์ฟเป็นของกินเล่นเบาๆ หรือกินคู่กับน้ำชาตอนบ่ายก่อนอาหารเย็น เมนูนี้จึงถูกมองว่าเป็นอาหารของคนชั้นสูง เพราะคนชั้นล่างไม่ใช้เวลาและพลังงานไปกับการกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแบบนี้

มีการเสิร์ฟแซนด์วิชแตงกวาในงานฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระราชินีวิกตอเรียในปี 1887 ตอนที่อังกฤษเข้าไปปกครองอินเดียก็นำวัฒนธรรมแบบนี้ไปด้วย ในวันที่อากาศร้อนจัด ทหารอังกฤษไปพักผ่อนในร้านชา แล้วสั่งแซนวิชแตงกวามากินแกล้มกับชาดาร์จีลิ่งร้อนๆ เพื่อช่วยให้คลายคิดถึงบ้านเกิดและทำให้เย็นลง ในยุคที่พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 7 ปกครองอังกฤษ มีถ่านหินมากและแรงงานราคาถูก ส่งผลให้มีการปลูกแตงกวาในเรือนกระจกตลอดทั้งปี

แตงกวาในคติชาวบ้าน

ประเทศญี่ปุ่นมีคติความเชื่อเกี่ยวกับแตงกวาหลายเรื่อง ช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นฤดูร้อน มีเทศกาลโอบงของชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นการรำลึกบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว เปรียบได้กับเทศกาลเชงเม้งของชาวจีน

ในแท่นบูชาของครอบครัว จะไหว้ด้วย ผลไม้  ผัก และดอกไม้ แตงกวาหรือมะเขือยาวเสียบไม้เป็นสัญลักษณ์พาหนะที่รับส่งบรรพบุรุษระหว่างโลกนี้กับดินแดนของคนที่ตายไปแล้ว แตงกวาเป็นสัญลักษณ์แทนม้า เพื่อให้เดินทางมาที่บ้านได้เร็ว ส่วนมะเขือยาวคือวัวที่จะไปส่งพวกเขาอย่างช้าๆ  ไปยังดินแดนของคนที่ตายแล้ว

แตงกวายังช่วยไม่ให้ถูกปีศาจทำร้าย มีตำนานเล่าว่า กัปปะ ผีญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ตามหนองน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ ชอบกินแตงกวา ถ้าใครเจอกัปปะก็ให้เอาแตงกวาที่เขียนชื่อและอายุของตัวเองขว้างลงไปในน้ำ กัปปะจะกินแตงกวาและจำชื่อของคนที่อยู่บนแตงกวาด้วย คราวหน้า ถ้าเจออีกก็จะไม่ถูกทำอันตรายใดๆ ซูชิไส้แตงกวาก็ยังเรียกชื่อว่าคัปปะมะกิ

แต่บางเมืองในญี่ปุ่น แตงกวาก็เป็นของต้องห้าม ที่เมืองอะโดะเสะโช จังหวัดฟุกุอิ ของญี่ปุ่น มีกฎห้ามทั้งกินและปลูก ตามความเชื่อในนิทานพื้นบ้าน สุสะโนะ เทพเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาชินโตเกลียดแตงกวา วันที่มีฝนตกหนักฟ้าคะนองได้ซ่อนตัวหลบฟ้าผ่าอยู่ใต้ชั้นที่มีแตงกวาวางอยู่ จู่ๆ ชั้นหักเป็นสองท่อน แตงกวาหล่นใส่ตาของสุสะโนะจนทำให้ตาบอดบางส่วน สุสะโนะทรมานใจมากและเกลียดแตงกวานับตั้งแต่นั้นมา ทุกวันนี้เมืองที่มีประชากร 60 คน (ใช่แล้ว อ่านไม่ผิด) ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ยังคงห้ามนำแตงกวาเข้ามา

ทางเยอรมันตะวันออกและพื้นที่ใกล้ๆ มีนิทานพื้นบ้านคล้ายกันตรงที่จะเลือกวันศักดิ์สิทธิ์เพื่อหว่านเมล็ดแตงกวา บางเมืองมีคำเปรียบเปรยของชาวสวนแตงกวาว่า หวังว่าแตงกวาจะโตเร็วเหมือนกับแม่มดที่ขี่ไม้กวาดเหาะ ในยุโรปตะวันออก ปู่จะทำหน้าที่ดูแลสวนแตงกวา ถ้าผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าไปในสวนแตงกวา หรือแค่มองเข้าไป จะทำให้มันตาย

ส่วนในอินเดีย ในวันเกิดของพระกฤษณะช่วงเดือนสิงหาคม บ้านเรือนจะประดับดอกไม้ โคมไฟ และแตงกวาสุก

 

อ้างอิง:

Tags: , ,