ก่อนแสงอาทิตย์จะทาบทาความสว่างไสวแทนที่ความมืดมิดที่กินเวลามาตลอดคืน ถนนสายหนึ่งย่านตะวันออกของกรุงเทพมหานครคลาคล่ำไปด้วยชายหญิงนับพันชีวิตที่ต่างมาเสนอขายสิ่งที่มีอยู่ในตัวของพวกเขา ด้วยวาดหวังว่าจะมีผู้สนใจ เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาช่วยพยุงชีวิตให้ผ่านแต่ละวันไปได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำให้ชีวิตพวกเขาเผชิญกับความยากเข็ญขึ้น

สองข้างถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง ย่านตลาดกีบหมู แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เกือบตลอดทั้งสาย อย่างน้อยก็เกือบหนึ่งกิโลเมตร เสมือนถูกประทับตราไปในตัวแล้วว่า เป็นแหล่งที่ผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกรก่อสร้าง ไปรวมตัวกันมากที่สุดในเขตเมืองหลวง พวกเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หากแต่เป็นกรรมกรอิสระ รับจ้างทำงานก่อสร้างแลกค่าแรงรายวัน ไม่มีสวัสดิการใดๆ 

วิถีชีวิตแรงงานก่อสร้างแห่ง ‘ตลาดกีบหมู’

เช้ามืดจากราว 5 นาฬิกา จนถึงช่วงสายประมาณ 9 นาฬิกา เป็นสี่ชั่วโมงที่บรรดาแรงงานก่อสร้างนับพันมายืนรอสองข้างถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง จากช่วงแยกลำกะโหลก จนถึงมัสยิดย่ามีอะห์ ระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร เพื่อรอคนมาว่าจ้างให้พวกเขาไปทำงาน แรงงานก่อสร้างที่นี่มีหลากหลายความถนัดให้บรรดานายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายย่อยที่รับงานมาจากผู้รับเหมารายใหญ่มาอีกทอดหนึ่ง เข้ามาคัดเลือกตรงตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างปูน ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างประปา และกรรมกรทั่วไป

แรงงานก่อสร้างแต่ละคน จะมีอุปกรณ์คู่กายที่แสดงถึงทักษะอันเชี่ยวชาญของตัวเอง เพื่อให้คนที่จะมาจ้างรู้ว่าเป็นช่างประเภทไหน เช่น ค้อนของช่างไม้ สามเหลี่ยมปาดปูนของช่างปูน ส่วนกรรมกร ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทั่วไป ไม่ค่อยมีอุปกรณ์มากนัก เพียงแต่ยืนเรียงราย รอโอกาสจากรถกระบะแต่ละคันที่มาจอดว่าต้องการช่างประเภทไหน ต้องการกี่คน ซึ่งเป็นที่รู้กันของแรงงานก่อสร้างที่นี่ว่า ช่วงเวลาทองที่มีโอกาสได้งานสูงคือช่วงเช้ามืดตั้งแต่ 5 นาฬิกาถึง 7 นาฬิกา หากเลยเวลานี้ไปแล้ว โอกาสได้งานในวันนั้นจะยิ่งน้อยลง

“ป้ามาเป็นแรงงานที่กีบหมูได้สองปีกว่าแล้ว มาอยู่ที่นี่ทั้งสามีและลูกสาว” 

น้อย สืบสิงห์ วัย 55 ปี ชาวจังหวัดสกลนคร ย้อนเล่าถึงการมาเป็นแรงงานอิสระย่านกีบหมู ในขณะที่สายตายังจับจ้องไปบนท้องถนนด้วยความหวังอันริบหรี่ เพราะแสงอาทิตย์สาดส่องเป็นสัญญาณเช้าวันใหม่แล้ว แต่รถยนต์ของผู้ต้องการแรงงานดูจะน้อยลงไปมากกว่าปีที่แล้ว โชคยังดีที่สามีซึ่งเป็นช่างไม้ได้ขึ้นรถผู้รับเหมารายหนึ่งไปก่อนแล้ว ส่วนลูกเขยซึ่งเป็นช่างเชื่อมก็ขึ้นรถอีกคัน ยังเหลือเพียงเธอและลูกสาววัย 23 ปี ซึ่งเป็นกรรมการทั่วไป ไม่มีความถนัดเฉพาะด้านเหมือนสามีและลูกเขย

น้อย สืบสิงห์ และ นวียา บุญสาร สองแม่ลูก

ป้าน้อยกับสามีเดินทางมาที่ตลาดกีบหมูตามคำชักชวนของเพื่อนในหมู่บ้านที่สกลนครเมื่อสองปีก่อน เช่าห้องพักอาศัยเดือนละ 2,300 บาท ต่อมาลูกสาวมาขายแรงงานด้วย เมื่อเธอมีแฟนหนุ่ม ก็แยกเช่าห้องเพิ่มอีกห้องหนึ่ง แต่ก่อนยังมีผู้รับเหมารายย่อยมาหาแรงงานมากกว่าทุกวันนี้ อย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งมีงานให้ทำ 4-5 วัน แต่หลังโควิด-19 ระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว งานเริ่มหดหาย สัปดาห์หนึ่งมีงานสัก 2-3 วัน ถือว่าดีแล้ว ที่แย่ยิ่งกว่าคือการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ที่แทบไม่มีงานเลย

“ป้ากับลูกสาวไม่ได้งานมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว ช่วงที่โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ไม่มีใครมาจ้างเลย ยังดีที่สามีกับลูกเขยได้งานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีทุกวัน อาทิตย์หนึ่งได้สัก 3 วัน ก็ถือว่าดีแล้ว” ป้าน้อยบอกในสิ่งที่กำลังเป็นไปและเกิดขึ้นกับแรงงานอิสระนับพันชีวิตที่ตลาดกีบหมู สถานที่พวกเขาและเธอที่ฝากชะตาชีวิตไว้กับนายจ้างแบบวันต่อวัน 

นวียา บุญสาร วัย 23 ปี ลูกสาวของป้าน้อย เล่าว่า ปกติช่างที่มีความถนัดเฉพาะจะได้ค่าแรงราว 700 บาทต่อวัน ที่ได้มากสุดคือช่างเชื่อมประมาณ 1,000 บาทต่อวัน ส่วนกรรมกรงานทั่วไปจะได้ค่าจ้างน้อยที่สุดประมาณ 600 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้งานมีน้อยกว่าคน ทำให้วันนี้สามีเธอได้งานยกของ ค่าแรงเพียง 600 บาท ซึ่งดีกว่าไม่มีงาน

“ปกติเราเป็นกรรมกรก่อสร้างทั้งครอบครัว ก็อยากไปทำงานที่เดียวกัน แต่มันเลือกไม่ได้ ต้องแยกกันไปทำ แล้วแต่ว่าจะมีคนมาจ้าง แต่หนูจะไปกับแม่ เพราะตอนนี้มันมีคนมาหลอกใช้แรงงานแล้วไม่จ่ายเงิน แม่เลยเป็นห่วง ได้งานก็ต้องได้ด้วยกัน ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ด้วยกัน” 

นวียาขยายความว่า วันก่อนมีคนขับรถกระบะมาจ้างแรงงานไปทำงาน ตกเย็นขับรถกระบะมาส่งที่สี่แยกลำกะโหลก พอแรงงานลงจากรถหมด ก็ขับหนีไปเลยโดยไม่จ่ายเงินค่าจ้าง นอกจากนี้ เธอกับแม่ยังเคยเจอเหตุการณ์ผู้รับเหมาที่มาว่าจ้างตกลงกันว่าเป็นงานผูกเหล็กก่อสร้างแถวบางนา แต่เมื่อไปถึงกลับใช้งานขุดดิน จึงต้องเหมารถแท็กซี่กลับเองเป็นเงิน 300 บาท ค่าแรงก็ไม่ได้ ซ้ำยังต้องเสียค่าแท็กซี่อีก

ยิ่งสาย โอกาสที่จะได้งานของสองแม่ลูกก็ยิ่งริบหรี่ สุดท้ายทั้งสองคนตัดสินใจเดินกลับห้องพัก เหมือนกับอีกหลายชีวิตที่เริ่มทดท้อกับวันแล้ววันเล่าที่ไม่มีงาน

เมื่อพิษโควิด-19 ผลักไสให้กลายเป็นคนตกงาน

แรงงานก่อสร้างอิสระย่านตลาดกีบหมู ส่วนใหญ่เป็นคนภาคอีสาน มีทั้งแบบที่ปักหลักเช่าห้องอยู่ย่านตลาดกีบหมูมานานแล้ว บางส่วนใช้เวลาว่างช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นแรงงานก่อสร้าง ปกติในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จสิ้น จะมีแรงงานก่อสร้างอิสระเพิ่มขึ้นในย่านตลาดกีบหมู ทว่าตอนนี้ มีคนตกงานจากพิษโควิด-19 อีกจำนวนหนึ่งที่หันมายึดอาชีพกรรมกรอิสระ

วนิดา บุนา

วนิดา บุนา อายุ 33 ปี ชาวอุบลราชธานี เคยเป็นสาวโรงงานผลิตแผ่นกรองอากาศ หลังโควิด-19 ระบาดระลอกแรกปีที่แล้ว โรงงานที่เธอทำงานอยู่ปิดตัวลงสามเดือน หลังเปิดทำการใหม่ พนักงานได้รับค่าจ้างเพียง 150 บาทต่อวัน ลดลงครึ่งหนึ่งจากเดิมที่เคยได้ 300 บาทต่อวัน เธอจึงตัดสินใจลาออกเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว พี่สาวก็เลยชวนมาเป็นกรรมกรอิสระย่านตลาดกีบหมู ซึ่งงานที่เธอรับส่วนใหญ่เป็นงานทำความสะอาดบ้าน

“จะมีบริษัทที่เขารับทำความสะอาดตามบ้าน ขับรถมาหาคนงานตอนเช้า เรามายืนรอ ก็ได้งาน ค่าจ้างได้มากกว่าทำงานในโรงงาน แต่มันไม่แน่นอน ช่วงปีที่แล้วเคยได้งานอาทิตย์ละ 4-5 วัน แต่หลังโควิด-19 รอบใหม่ แทบไม่มีงานเลย” 

วนิดาสะท้อนความเป็นไปว่า ทุกวันนี้ได้งานอาทิตย์ละ 1-2 วัน ก็ถือว่าดีมากแล้ว เพราะเจ้าของบ้านกลัวคนงานนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่ ส่วนเธอก็กลัวติดเชื้อจากบ้านที่ไปรับทำความสะอาดเหมือนกัน แต่จำเป็นต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเองและลูกสาววัย 8 ขวบ ที่ฝากแม่ให้ช่วยดูแลที่บ้านเกิด

ตอนที่วนิดาลาออก เธอได้รับการช่วยเหลือผู้ว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ที่จ่ายเงินสมทบมาตลอดเดือนละ 2,700 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยพยุงความเป็นอยู่อันยากลำบากในช่วงนั้นได้บ้าง แต่เป็นเงินที่จำนวนไม่มาก เธอจึงต้องพยายามตื่นแต่เช้าออกมายืนรองานทุกวัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ลำบากไปมากกว่านี้ แต่โชคชะตาเหมือนกับบททดสอบของมนุษย์ที่ยากขึ้นอยู่เสมอ

“ออกมาตั้งแต่ตี 5 ไม่มีผู้รับเหมาที่รับทำความสะอาดบ้านมาหาคนงานเลย ถ้ามีเขาก็ต้องการแค่ไม่กี่คน มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบใหม่” สิ่งที่วนิดากำลังเผชิญ ไม่ต่างจากแรงงานหลายร้อยชีวิต ที่แม้สายมากแล้ว แต่พวกเขายังมีความหวังที่เป็นไปได้ยากว่าจะได้งาน

“ยืนอยู่แบบนี้วันละ 4 ชั่วโมง ตอนออกจากบ้านก็คิดไว้แล้วว่า โอกาสที่จะได้งานมันยาก แต่ถ้าไม่ออกมา มันก็ไม่มีโอกาส ไม่มีเงิน ไหนจะค่าห้อง ค่าเล่าเรียนลูกที่ต่างจังหวัด ก็ต้องออกมายืนแบบมีความหวังนิดๆ” เสียงของวนิดาแหบพร่าและไร้ชีวิตชีวา สัปดาห์นี้เธอยังไม่ได้งานเลยแม้สักวันเดียว

กรรมกรผู้อกหักจากเงินเยียวยาของรัฐบาล

โครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็นมาตรการแรกในการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อระลอกที่แล้ว ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน 15 ล้านกว่าคน ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท ต่อมามีการเยียวยาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้อีกเกือบ 8 ล้านคน คนละ 15,000 บาท รวมทั้งมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกือบ 7 ล้านคน คนละ 3,000 บาท และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 1 ล้านกว่าคน คนละ 3,000 บาท 

แต่การเยียวยาในทุกโครงการของรัฐบาล ไม่สามารถครอบคลุมผู้เดือดร้อนได้ทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือ แรงงานก่อสร้างอิสระในย่านตลาดกีบหมู ซึ่งแรงงานหลายคนกังวลว่า มาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ที่ชื่อโครงการ ‘เราชนะ’ ที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ 7,000 บาทต่อคน อาจเป็นอีกครั้งที่หลายคนอาจจะกลายเป็นผู้ตกหล่นซ้ำสอง

แรงงานก่อสร้างอิสระที่นี่ ส่วนใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไปจนถึงสูงอายุ เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แม้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนโทรศัพท์มาใช้สมาร์ตโฟนแล้ว แต่ก็ยังใช้เพื่อการโทร.ออกและรับสายเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เพื่อเล่นสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ได้ใช้เพื่อติดตามข่าวสาร นั่นทำให้การสมัครใช้บริการต่างๆ ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันทางสมาร์ตโฟนกลายเป็นเรื่องยากของหลายคน ขณะที่บางคนแม้ใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่างไลน์หรือเฟซบุ๊ก แต่คราใดที่ไม่มีเงินเติมอินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟนในมือก็กลายเป็นเครื่องมือที่เปล่าประโยชน์

ปัญญา แสนคำวงศ์

ปัญญา แสนคำวงศ์ อายุ 44 ปี กรรมกรชาวอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ที่มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟน แต่ส่วนใหญ่ใช้งานเพียงแค่โทร.ออกและรับสาย เนื่องจากเขาไม่ค่อยมีเงินเติมอินเทอร์เน็ต นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปัญญากลายเป็นผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือในโครงการเราไม่ทิ้งกัน เมื่อปีที่แล้ว

“เงินช่วยเหลือเกษตรกรผมก็ไม่ได้ เพราะผมมาเป็นกรรมกรอิสระที่กีบหมูหลายปีแล้ว ไม่ได้ทำการเกษตร ปีที่แล้วที่เขาลงทะเบียนกัน ผมไม่รู้เรื่องเลย มัวแต่ทำงาน ลุ้นแต่ละวันจะได้งานไหม และนานๆ ครั้งผมถึงจะได้เติมอินเทอร์เน็ต” ปัญญาสาธยายถึงปัญหาของเขาต่อการเป็นผู้ตกหล่นจากโครงการช่วยเหลือของรัฐในทุกโครงการ

แม้ภายหลังจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกหลายโครงการ จนกระทั่งโครงการที่ได้รับเสียงตอบรับอย่าง ‘คนละครึ่ง’ แต่ชีวิตที่ใช้โทรศัพท์เพียงแค่โทร.ออกและรับสายเป็นส่วนใหญ่ของปัญญา ทำให้เขาไม่เคยได้สิทธิ์จากโครงการเหล่านี้ 

“โครงการใหม่มันต้องทำยังไงครับ ถ้าลงทะเบียนแบบเดิม ผมคงหมดสิทธิ์อีก แต่เดี๋ยวจะลองไปหาคนที่เขาลงทะเบียนเป็นช่วยลงให้ เพราะตอนนี้ลำบากมาก งานก็แทบไม่มีแล้ว” ปัญญาพอจะเห็นทางออกอยู่บ้าง แต่เขามองว่า รัฐบาลน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่าการลงทะเบียนแย่งสิทธิ์กัน

ลุงบุญโฮม ปลอดไธสง

ลุงบุญโฮม ปลอดไธสง วัย 60 ปี ช่างไม้ชาวนครราชสีมา เขาเช่าห้องพักเดือนละ 2 พันบาท อยู่ใกล้ตลาดกีบหมู แต่ชีวิตช่วงนี้ถือว่าง่อนแง่น เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วเขาไม่ได้งานเลย เพิ่งจะได้งานวันแรกเมื่อวานนี้ ส่วนวันนี้คงจะไม่มีใครมาจ้างแล้ว

“ผมได้ข่าวนะว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือ แต่ไม่รู้เลยว่าจะต้องทำยังไง ปีที่แล้ว ผมไม่ได้ลงทะเบียน ทำไม่เป็น จะไปจ้างคนอื่นทำให้เขาก็เอาตั้ง 500 บาท ต้องจ่ายเงินก่อน ก็เลยไม่ได้ทำ” ลุงบุญโฮมเล่าถึงช่วงรัฐบาลเปิดลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรในเวลาต่อมา ลุงบุญโฮมก็กลายเป็น ‘ผู้ตกหล่น’ เช่นกัน 

มือจับค้อน ไม่ถนัดเทคโนโลยี

แรงงานก่อสร้างอีกหลายคนย่านตลาดกีบหมู ล้วนอยู่ในสภาพไม่ทันเทคโนโลยี ดังนั้น โครงการช่วยเหลือใดก็ตามที่ต้องลงทะเบียน ยืนยันสิทธิ์ ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน พวกเขาก็แทบจะหมดโอกาสไปในทันที ยกเว้นคนที่มีบุตรหลานคอยช่วยลงทะเบียนให้ 

นอกจากนี้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งที่แรงงานก่อสร้างทุกคนจะเข้าถึงได้ง่าย ทั้งการใช้ไม่เป็น สมาร์ตโฟนรุ่นเก่าเกินไป ที่สำคัญคือการไม่มีรายได้ที่แน่นอน และความจำเป็นต้องใช้เงินในด้านอื่นก่อน แรงงานก่อสร้างอิสระเหล่านี้จึงไม่ค่อยเติมเงินค่าอินเทอร์เน็ต เพราะมองว่ามีความจำเป็นน้อยกว่าค่าอาหาร ค่าห้องเช่า ยิ่งในสถานการณ์ที่โควิด-19 ส่งผลต่อการจ้างงานน้อยลง ทำให้ความมั่นคงที่แทบไม่เคยมีอยู่แล้วในตัวแรงงานก่อสร้างอิสระ ยิ่งคลอนแคลนมากขึ้นไปอีก เปรียบดั่งเสาไม้ที่ปักไว้ในเลนโคลน

พวกเขาจึงอยากให้มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเข้าถึงได้ง่าย ช่วยเหลือได้ครอบคลุม ไม่ต้องลงทะเบียนแย่งสิทธิ์กัน เพราะโครงการช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นแล้วว่า แรงงานก่อสร้างอิสระหลายคน ซึ่งถือเป็นอาชีพอิสระที่แท้จริง กลับ ‘ตกขบวน’ การช่วยเหลือจากทุกโครงการ

Tags: ,