มองผ่านกระจกด้านหน้าเข้าไปในห้อง เราจะเห็นเด็ก 4-5 คนประจำอยู่ที่โต๊ะของตัวเอง ติดกาวอุปกรณ์ วัดขนาด ทดลอง ดึงแบบจำลองว่าเคลื่อนไหวได้อย่างที่ตั้งใจไหม เบื้องหน้าของพวกเขาคือสิ่งก่อสร้างจำลองที่รูปร่างพิสดาร หน้าตาแตกต่างกันไป ชวนสะกิดให้เกิดคำถาม ว่าคืออะไรและมีขึ้นมาเพื่ออะไร
KIDative พื้นที่ขนาดกะทัดรัดบนชั้นสองของ The JAS วังหิน เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิกและครีเอทีฟสายโฆษณา มีแกนนำหลักคือ กอล์ฟ–วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ และ ตอง–นพปฎล เทือกสุบรรณ ที่มองเห็นความสำคัญของการเสริมแนวคิดความสร้างสรรค์ให้กับเด็กยุคใหม่ โดยไม่ต้องรอให้เขาเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อไปเรียนการออกแบบโดยเฉพาะเสียก่อน
“เรานำองค์ความรู้ด้านครีเอทีฟของเราไปเป็นส่วนเสริมให้เด็กๆ ในช่วงเวลาที่เร็วกว่าที่พวกเราเจอในมหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นเป็นการเริ่มเรียน creative process ที่ช้ามาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ” ตองเกริ่นนำแนวคิด
ก่อนจะเปิดพื้นที่เป็นดีไซน์แล็บสำหรับเด็กอย่างทุกวันนี้ ทีมงาน KIDative เริ่มต้นจากการจัดเวิร์กช็อป ในงาน งานสถาปนิก ปี ’58 (ASA EXPO) ซึ่งคราวนั้นมีโจทย์หลักของงานเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กว้างไกลไปกว่าคนในวงวิชาชีพสถาปนิก
“ตอนนั้นจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ทำ เช่น บ้านรักสัตว์เลี้ยง ทำโคมไฟ ทำสวนขวด ฯลฯ ต่อมา ผศ.รชต ชมภูนิช คณบดีประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่ากิจกรรมนี้ดี น่าเสียดายถ้าจัดแค่ครั้งเดียว จึงเอื้อเฟื้อสถานที่ให้เราไปทำกิจกรรมลักษณะนี้ในคณะฯ ต่อเป็นครั้งคราวไป” กอล์ฟเล่าต่อขณะจอโทรทัศน์ฉายภาพกิจกรรมในงานสถาปนิกครั้งนั้น
คิดโดยเริ่มจากใจ
ข้าวกล้อง-เด็กชายตัวน้อยตาตี่ ยิ้มบิดตัวเมื่อกอล์ฟบอกเขาว่า ช่วยเล่าเรื่องรามเกียรติ์ให้พี่ๆ ฟังหน่อย
เขาเริ่มอ้าปากเล่าเรื่องกำเนิดของทรพีและเรื่องราวของทรพาด้วยไปหน้ายิ้มแย้มเขินๆ แต่น้ำเสียงกลับฉะฉานมั่นใจ กอล์ฟเล่าว่า ข้าวกล้องชื่นชอบเรื่องรามเกียรติ์มาก ถือว่าเป็นเด็กที่แสดงออกมาชัดเจนว่าชอบอะไร
“เราเป็นดีไซเนอร์ เราจึงเชื่อว่าโลกยุคหน้าขับเคลื่อนด้วย passion ต้องเป็นตัวจริง” ตองกล่าวเพื่อให้เห็นภาพแนวทางในการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ที่ KIDative ตั้งแต่แรกเริ่มที่เด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาที่ดีไซน์แล็บแห่งนี้
“เริ่มจากคุยกับเขา หาความชอบของเขาให้เจอ และชวนคุยต่อไปเพื่อให้รู้ว่าชอบมากแค่ไหน” กอล์ฟกล่าวโดยยกตัวอย่างการพูดคุยกับข้าวกล้องเมื่อครั้งแรกๆ และคราวนี้ ได้มอบหมายให้เขาออกแบบตัวละครทรพีออกมาเป็นของเล่น โดยเริ่มคิดเองตั้งแต่ต้น
“ผมเจอเด็กในมหา’ลัย เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ผมรู้สึกว่าเจอพวกเขาช้าไปจริงๆ นะ” ตองทำหน้าเสียดาย “หลายคนยังไม่รู้เลยว่าเรียนไปทำไม เพื่ออะไร ต้องทำอะไรต่อ เราเลยคิดว่าจะต้องทำกิจกรรมจากองค์ความรู้ของพวกเรา ส่งต่อให้เด็กๆ ดึงความชอบของเขาขึ้นมาตั้งแต่เนิ่นๆ”
แต่ความชอบ ความหลงใหล และ passion โดยลำพังนั้นเพียงพอจริงหรือ ในเมื่อเติบโตขึ้นไป พวกเขายังต้องเจออุปสรรคอีกมากมาย
กอล์ฟนิ่งคิดหนึ่งจังหวะ แล้วยกตัวอย่าง “เคยมีผู้ปกครองมาเดินดูโมเดลใน KIDative เขาเป็นผู้รับเหมา แล้วบอกว่า เฮ้ย เจ๋ง แต่เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะว่าโครงสร้างยื่นออกมาแบบนี้ คำนวณจากหลักวิศวกรรมแล้วไม่คุ้ม” เขาชี้ให้เห็นโมเดลตึกที่มียูนิตรูปร่างยึกยือยื่นออกมาจากแนวอาคาร
“ผมเลยอธิบายว่า มีนวัตกรรมหลายอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ เช่น การสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติหรือถนนโซลาร์เซลล์ที่ชาร์จพลังงานให้รถยนต์ที่แล่นผ่าน สิ่งที่เราพยายามจะบอกเด็กๆ คือ ให้เขาดีไซน์นำหน้าไปเลย เดี๋ยวเทคโนโลยีตามคุณไปเอง แต่ถ้าเรายืนอยู่ตรงนี้แล้วมองแค่เรื่องความเป็นไปได้ เราจะตามโลกไม่ทัน
“สิ่งที่เราสอนอาจไม่ใช่แค่ creativity แต่เป็น vision คือวิสัยทัศน์ การเล่นของเด็กๆ ในทางหนึ่งมันคือการมองโลกอนาคต”
คิดให้เป็นขั้นเป็นตอน
สิ่งที่เจ๋งของ KIDative อันที่จริงอาจไม่ใช่ ‘อะไร’ ที่เด็กๆ ประดิษฐ์ แต่คือชุดคำถามี่พวกเขาถามเพื่อไล่ต้อนให้เด็กๆ ผุดความคิดต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน
“เราไม่อยากให้เด็กๆ เป็นเด็กที่ต้องคอยหลบอยู่ด้านหลังแม่ แล้วบอกว่า ยังไงก็ได้ แล้วแต่แม่” กอล์ฟทำท่าทางประกอบ ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมที่ KIDative จึงไม่เหมือนวิชา กพอ. ที่เราคุ้นเคย ซึ่งอาศัยการตระเตรียมอุปกรณ์มาตามสมุดจดการบ้าน ทำตามขั้นตอนอย่างเนี้ยบ เพราะถ้าอุปกรณ์เหล่านี้เสีย ก็จบกัน แต่มี ‘โต๊ะบุฟเฟต์’ เป็นคลังอุปกรณ์ส่วนกลางที่จะมาหยิบใช้เมื่อไรและเท่าใดก็ได้
“เราทำแบบนี้เพื่อให้เขารู้ว่า เสียก็ไม่เป็นไร เขาจะได้เรียนรู้ว่า ทำแบบนี้มันจะล้มเหลว เราต้องการให้ลองล้มเหลว และกล้าที่จะเริ่มใหม่
เพราะเราไม่ใช่โรงเรียนสอนศิลปะที่จะสอนให้ระบายสีสวยๆ เราต้องการความใหม่ สิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคิดแบบนักออกแบบ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิต” กอล์ฟกล่าว
“KIDative แบ่งรูปแบบกิจกรรมออกเป็น 3 ระดับ
- Intro to Design สนุก ค้นหาตัวเอง การมองของอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง มองสิ่งเดียวกันแต่แตกต่างกัน เช่น ราเมง 30 เจ้าก็ไม่เหมือนกัน
- Basic Design เป็นเรื่ององค์ความรู้ ทักษะ การลงมือทำ การนำเสนอ เช่น การทำสตาร์บั๊กโฮเทล
- Junior Design เป็นกิจกรรมสำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากไปไกลกว่านี้ มีโปรเจ็กต์ที่อยากทำ ก็กลายเป็นโปรเจ็กต์สำหรับทำงานเดี่ยว”
ทว่าระดับกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ถูกจำกัดผ่านกรอบเวลา อย่างการเรียนสี่สัปดาห์แล้วกระโดดสู่อีกขั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับระดับความคิดในเชิงออกแบบว่าพวกเขาไปถึงไหนแล้ว
“เพราะว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ที่นี่เราไม่ได้ใช้อายุเป็นตัวจำกัด เราดูจากศักยภาพ ดูจากการถามชุดคำถามต่างๆ และผ่านวิธีการคิดและการทำงานของเขา” กอล์ฟเล่า
คิดเพื่อคนอื่น
“ที่นี่เป็นโรงเรียนติวไหม ไม่ใช่..เพื่อสอบ แต่เพื่อให้เขาได้ทดลองทำงาน ที่นี่คือสตูดิโอสำหรับทำงาน มันคือการจำลองออฟฟิศออกแบบของมืออาชีพ” ตองกล่าวถึงการนำ Design Thinking Process มาติดอาวุธให้เด็กๆ ผ่านการทำงานจริง
“แล้วมันจะเกิดคำถามต่อไปว่า ทำมา 12 ครั้ง ถ้าต้องทำแบบนี้ไปทั้งชีวิต อยากจะทำต่อไหม ถ้าอยากทำ เราจะบอกให้ว่าต้องไปเรียนอะไรเพิ่มเติมบ้าง หรือถ้าเบื่อ เบื่อเพราะอะไร เพราะฉะนั้นในระดับ Junior จะเป็นพาร์ตที่ส่งพวกเขาไปสู่การประกอบอาชีพที่เขาอยากทำ ซึ่งอาจไม่ได้ไปอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ได้ เพราะมันไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไปแล้ว”
“แต่ โปรเจ็กต์เหล่านี้มันไม่มีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ เราไม่ได้ต้องการให้เด็กเหล่านี้ ในวัยสิบขวบมาเป็นแบบผม ให้เขาเป็นตัวเขา แต่ด้วยกระบวนการคิดที่ใหม่ อย่างเช่นกรณีเด็กคนนี้ชอบทำอาวุธ ทั้งที่มองในมุมผม ก็อาจตั้งคำถามถึงที่มาของงบประมาณ แต่ในเมื่อเขาชอบทำยุทโธปกรณ์ ก็ตอบให้ได้แล้วกันว่าทำมาเพื่ออะไร” ตองกล่าว แล้วยกตัวอย่างโปรเจ็กต์ ‘สถาปัตยกรรมเพื่อสังคม’ หรือ Social Architecture ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ ในห้องกำลังจดจ่อสร้างสรรค์ผลงานกันอยู่ตอนนี้
ภาม เด็กชายร่างสูงโปร่งวัย 14 ปี กำลังคร่ำเคร่งกับการทำตัวเลื่อนของโมเดลที่พักพิงผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งรูปร่างทรงรีและเรียวจะช่วยลดแรงต้านของคลื่นขณะเจอภัยพิบัติ และเมื่อคลื่นสงบ ก็จะสามารถยืดขยายโครงสร้างไว้เป็นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับคนที่สูญเสียบ้านจำนวนหลายร้อยคนได้
วันฉัตร เด็กหญิงวัยเดียวกัน กำลังติดกาวให้กับผืนหญ้าบริเวณอาคารที่เธอออกแบบให้เป็นศูนย์ดูแลคนเร่ร่อนมีอาการทางจิต แบ่งที่พักออกเป็นยูนิต ให้ทั้งรู้สึกมีอิสระ แต่สามารถสอดส่องดูแลได้
บูม เด็กชายวัย 11 ขวบ ท่าทางซุกซน ลองโยกโมเดลเสาป้องกันกัมมันตภาพรังสีจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำจากหลอดพลาสติกและแกนลูกโป่ง ที่แม้จะดูเป็นแนวคิดแบบเด็กช่างฝัน แต่ขณะเดียวกันก็ดูโตเกินคาด
ในขั้นตอนพรีเซนต์ ตองหยอดคำถามให้ไปคิดต่อ เช่นว่า ถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้นมา จะแก้ไขอย่างไร หรือคิดว่ากระบวนการนี้จะเสร็จภายในกี่วัน เพื่อให้เด็กๆ ตอบผู้ชมในตอนนั้น หรือไม่ก็ให้เก็บไปคิดแก้ปัญหา เพื่อมานำเสนอในคราวต่อไป
“พี่บูมลองดูสิว่า เสาพวกนี้ด้านบนมันเชื่อมกันหมดหรือยัง ว่าระบบ air pressure umbrella จะออกมาเป็นแบบไหน” ตองหยอดคำถาม พร้อมทำมือไม้ประกอบอยู่รอบๆ โมเดล
ดูเหมือนไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ มีแต่ปัญหาที่ต้องได้รับการคิดต่อและแก้ไขอยู่เสมอ
แค่ต้องคิด คิด คิด — คิดให้สุด แล้วสร้างผลงานออกมา
“การเรียนให้ได้ดีเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องทำอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สิ่งที่ที่นี่ให้ความสำคัญ” ตองบอกว่า KIDative ไม่ได้ต่อต้านการศึกษาในระบบ เพียงแต่ต้องเสริมความคิดสร้างสรรค์เข้าไปแบบคู่ขนาน
“สายครีเอทีฟเรารู้อยู่แล้วว่าพอร์ตโฟลิโอสำคัญกว่าทรานสคริปต์ มันไม่มีใครเอาพอร์ตโฟลิโอไปบอกลูกค้าว่า ผมจบเกียรตินิยม ให้งานผมทำได้ไหม แล้วยิ่งถ้าคุณได้เห็นผลงานชิ้นนี้ แล้วเขาบอกว่าทำตอน 11 ขวบ คุณจะไม่ทึ่งหรือ”
Fact Box
ติดตามกิจกรรมของ KIDative ได้ที่ https://www.facebook.com/KIDative