นับเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งกับการที่ชนผิวขาวหรือใดๆ ก็ตามที่เป็น nonblack จะหยิบเอารูปลักษณ์แบบผิวสีดำหรือที่เรียกว่า blackface มาเล่น และนักร้องสาว เคที่ เพอรี่ ก็คือผู้พลั้งพลาดคนล่าสุดกับคอลเลคชั่นรองเท้าของเธอ
CNN ระบุว่ารองเท้าคอลเลคชั่นนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2017 มีสองสีด้วยกันคือสีเบจและสีดำ ซึ่งสีหลังนี้เองที่เป็นปัญหา มีผู้ใช้ทวิตเตอร์จุดประเด็นขึ้นมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ว่านี่มันคือ blackface ชัดๆ ล่าสุดทางห้างสรรพสินค้าเช่นวอลมาร์ตได้ถอดสินค้าชิ้นนี้ออกจากรายการขายเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเคที่ เพอรี่ก็ออกมาอธิบายว่าเธอต้องการสื่อถึงศิลปะแบบเซอร์เรียล และแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมยกเลิกการขายสินค้าไลน์นี้ในทันที
มีความคิดเห็นด้านกลับเช่นกัน บทความซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักข่าวออสเตรเลีย www.news.com.au ซึ่งผู้เขียนเป็นคนผิวขาว (ที่น่าจะเขียนไปด้วยอารมณ์อยู่ไม่น้อย) กล่าวว่าบางทีชาวเน็ตก็ดราม่าเกินเรื่อง รองเท้าเพียงแค่เป็นสีดำ และมันก็มีสีอื่นด้วย สิ่งที่เธอทำจึงไม่ใช่ blackface เราไม่ควรมานั่งใส่ใจรองเท้า แต่ควรไปทำอย่างอื่นให้เป็นประโยชน์แทน ส่วนผลตอบรับสำหรับข้อความนี้ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและสะเทือนใจ
ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียก็เพิ่งถูกถล่มจากภาพสมัยเรียนจบของเขาที่แต่ง blackface ซ้ำร้ายยังไปยืนคู่กับคนที่แต่งเป็นกลุ่มคลูคลักซ์แคลนที่ล่าคนผิวดำเสียอีก อีกกรณีหนึ่ง แบรนด์ Gucci ก็เพิ่งถูกดราม่าจากผ้าพันคอสีดำที่คลุมขึ้นมาถึงครึ่งใบหน้าและมีส่วนปากเป็นสีแดง ที่ถูกมองเป็น blackface
ในดราม่ารอบก่อนหน้า เว็บไซต์ vox.com ได้คุยกับ John Strausbaugh นักวิชาการผู้ศึกษา blackface ในเชิงวัฒนธรรม เพื่อถามถึงประวัติศาสตร์ และเหตุผลที่มันกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในอเมริกาจนถึงทั่วโลก
‘Blackface’ คือขนบการแสดงอย่างหนึ่งในยุโรปก่อนที่จะส่งความนิยมมายังอเมริกา ก่อนหน้านั้นการทาหน้าสีขาว-ดำ ในยุโรปมักหมายถึงแสงสว่างและความมืด แต่เมื่อมันมาอยู่ในอเมริกา ที่มีบาดแผลใหญ่เรื่องการค้าทาสชาวแอฟริกัน บริบทของมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นเรื่องของสีผิว และ blackface ก็มักถูกนำมาใช้กับตัวละครที่ดูตลกขบขัน
จากการศึกษา Strausbaugh พบว่า blackface เคยเป็นเครื่องมือของชาวอเมริกันไอริชที่มักจะเป็นชนชั้นล่างที่ยากจนในอเมริกา และเหตุผลของพวกเขาคือ “นี่ไง พวกฉันก็เป็นคนขาวเท่าเทียมกับพวกคุณ เราล้อเลียนคนผิวดำเหมือนๆ กัน” ต่อมา blackface ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 1920s-1930s ที่ Strausbaugh อธิบายว่ามันเป็นกึ่งๆ ระหว่างการล้อเลียนกับความสนใจใคร่รู้กึ่งชื่นชมในตัวชนเชื้อสายแอฟริกัน เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น นักดนตรีผิวขาวก็พยายามเล่นแจ๊ซกันเป็นว่าเล่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็มองว่ามันคือการเหยียดเชื้อชาติอยู่ดี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มคนผิวดำแสดงออกชัดเจนว่าพวกเขาไม่ต้องการให้คนผิวขาวมาล้อเลียน และทำให้ blackface กลายเป็นเรื่องต้องห้ามในที่สุด Strausbaugh ยังเสริมว่ามันก็คล้ายกับเครื่องหมายสวัสดิกะหรือพวก n-word ที่ไม่อาจจะพิจารณาโดยไม่เชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์ของมันได้
และอาจคล้ายกับกรณีไอดอลสาวสวมเสื้อนาซีในบ้านเรา หรือกรณีอื่นๆ อีกมากมายหลายสิ่ง ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ความไม่รู้’ หรือ ‘นึกไม่ถึง’ แต่ผลที่ออกมาก็น่าจะเป็นที่ชัดเจนว่าโลกมีปฏิกิริยาอย่างไรกับบาดแผลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้
ที่มา:
https://www.vox.com/identities/2019/2/11/18215370/blackface-virginia-ralph-northam-american-history