ใครจะนึกว่า ครก เสื้อชั้นใน มีดอีโต้ หรือแผงยาคุมใช้แล้ว จะมีสิทธิ์ได้ตบเท้าเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ ไปปรากฏตัวในฐานะ ‘วัตถุจัดแสดง’ ซึ่งสังคมไทยสักทศวรรษก่อนหน้ามักคาดหมายว่า สิ่งนั้นจะต้องล้ำค่า ไม่ด้วยเงื่อนไขของเวลา มูลค่า บุคคลผู้เป็นเจ้าของก็ต้องมีชื่อจดบันทึกไว้ในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์
แต่สิ่งของเหล่านี้นอกจากไม่ใช่โบราณวัตถุแล้วยังซื้อหาได้ง่ายในท้องตลาด สนนราคาก็ใช่ว่าจะแพง ผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ได้เป็นบุคคลสำคัญไม่ว่าจะวัดด้วยมาตรฐานสังคมข้อใด
ของใช้แสนธรรมดาเหล่านี้เข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ก็ด้วยสิทธิ์เพียงข้อเดียว นั่นคือพวกมัน ‘มีเรื่อง’ จะเล่า ถ้าผู้เข้าชมพร้อมจะถามและรับฟัง ที่สำคัญ—เจ้าของเรื่องเหล่านี้มีตัวตนจริงในสังคม และอาจจะเป็นคุณหรือคนที่คุณรู้จักก็ได้ในนิทรรศการหมุนเวียนครั้งต่อไป
วิธีคิดนี้แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกพิพิธภัณฑ์ แต่ถือว่ามันได้ช่วยผลักพื้นที่พิพิธภัณฑ์ในการรับรู้ของสังคมไทยให้กว้างออกไป เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปของแนวคิดและกระบวนการทำงานทางพิพิธภัณฑ์วิทยาลักษณะนี้ The Momentum จึงขอชวนคุณเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ไปพูดคุยกับ ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมการเรียนรู้อย่าง Lecture Series คลังความรู้ออนไลน์ Museum Core และนิทรรศการหมุนเวียนสนุกๆ เช่น ‘พม่าระยะประชิด’ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน!’ หรือ ‘ชายหญิง สิ่งสมมุติ’ ของมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam: Discovery Museum)
อะไรคือหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์มักเริ่มมาจากการเก็บของ แล้วนำไปสู่การสื่อสารสิ่งที่เก็บไปยังสังคม ไม่ว่าเพื่อการเรียนรู้ หรือเกิดความซาบซึ้งในวัฒนธรรม พูดง่ายๆ คือเกิดความงอกงามทางปัญญา คิดว่าพิพิธภัณฑ์ควรทำหน้าที่นั้น และเป็นหน้าที่ที่คนทำพิพิธภัณฑ์ควรจะตระหนัก งานส่วนหนึ่งคือการเก็บของ แต่ไม่ใช่ในความหมายของคำว่า ‘เก็บ’ แบบเก็บเข้าตู้ แต่คือการรักษาวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ ไม่ว่าของท้องถิ่น ของชาติ หรือของโลก แต่ในช่วงหนึ่งคนให้ความสนใจแต่การเก็บ ไม่ได้นึกถึงว่าจะสื่อสารออกไปอย่างไรให้คนเขาเข้าใจว่าของเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของเขาอย่างไร
คิดว่ามิวเซียมสยามแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นไหม และแตกต่างอย่างไร
ตั้งใจให้ต่างมาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะที่ผ่านมามิวเซียมในบ้านเราจะเน้นที่โหมดการเก็บของ รักษาอนุรักษ์ แต่ไม่ได้คิดเรื่องการสื่อสารและการเรียนรู้เท่าไร รัฐบาลในยุคนั้น (สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ) จึงอยากมีพิพิธภัณฑ์ที่เขาใช้คำว่า ‘สนุก’ แทนที่จะเก็บของและจัดแสดงของ ดังนั้นที่นี่จึงไม่มีของเลย แต่เน้นไปที่กระบวนการสร้างการเรียนรู้อย่างเดียว อันนี้เป็นจุดตั้งต้นของมิวเซียมสยามมาแต่แรก ว่าทำยังไงที่จะมีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับคน คนเข้ามาแล้วสนุก สื่อสารได้ มีเรื่องราว มันจึงใช้ story telling ค่อนข้างเยอะ ของน่ะไม่มีเลย ที่มีจะเป็น props แต่ไม่มีโบราณวัตถุ หรือของล้ำค่าของแผ่นดิน ของราว 70% เป็นของที่ทำขึ้นใหม่ ของเลียนแบบของทั่วๆ ไป ซึ่งในสายมิวเซียมจะไม่เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าคอลเล็กชัน แต่เรียกว่าเป็นพร็อพส์
แสดงว่ามิวเซียมสยามไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจะเป็นผู้เก็บสะสม (Collector)
ไม่ได้เป็น และเป็นไม่ได้ด้วย เพราะถ้าคุณเป็นคอลเล็กเตอร์ในยุคนี้ก็แสดงว่าคุณรับซื้อของโจรน่ะสิ เว้นแต่ของที่เป็นมรดกตกทอดแล้วคนบริจาคให้ ในยุคแรกตั้ง ผู้ใหญ่ก็คุยกันเยอะว่า ควรจะมีของในชุดสะสมไหม แต่เขาก็สรุปกันว่าเราจะมีได้ยังไง ถ้ามี เท่ากับว่าเราต้องไปซื้อของจากตลาดของเก่า แล้วของที่อยู่ในตลาดมาจากไหน ได้มายังไง เราจะรู้ไหม
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของมิวเซียมสยามคือ มันเป็นมิวเซียมหรือเปล่า ถ้าย้อนกลับไปดูที่โครงสร้างองค์กร ชื่อจริงของมันคือ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ซึ่งแยกออกเป็น 6-7 แผนก มิวเซียมสยามเป็นแผนกหนึ่งในนั้น แนวคิดในการทำงานเขาจะบอกเสมอว่า เราไม่ได้ตั้งมาให้เป็นมิวเซียมนะ ตั้งมาให้เป็นหน้าร้าน เป็น Learning Center ผ่านรูปแบบของมิวเซียม แต่ส่วนตัวคิดว่ามิวเซียมไม่ใช่นิทรรศการ การคิดว่านิทรรศการคือรูปแบบของมิวเซียม แล้วเราเรียกตัวเองว่ามิวเซียม มันดูกลับตาลปัตร
ทำไมคุณไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดนี้
มองว่าถ้าคิดแบบนี้ เราไม่จำเป็นต้องมีงานวิจัย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มีการผลิตหนังสือ มีฝ่ายเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ไปเพื่ออะไร ถ้าคิดแค่เรื่องนิทรรศการ คุณสามารถไปจ้างบริษัทอะไรก็ได้มาจัดนิทรรศการหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แล้วให้บริการเหมือนธีมพาร์ก แต่ในเมื่อเราเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ เราต้องมีแกนอะไรบางอย่างที่จะยึดเกาะ
สำหรับตัวเองเห็นว่า เราต้องใช้กระบวนการพิพิธภัณฑ์วิทยา (Museum Process) ในการทำงาน จึงพยายามดึงความเป็นมิวเซียมกลับมา คือจะต้องมีของ แต่เนื่องจากเราไม่ได้มีของของเราเอง และเราทำนิทรรศการหมุนเวียน เราเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ ดังนั้นอะไรล่ะคือของสำหรับคนที่ไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย เราจึงใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เรียกรับของจากคน หรือว่าไปหาของที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมา แล้วจัดแสดงมันในฐานะ artifact ไม่ใช่พร็อพส์สวยๆ แต่ของนั้นต้องมีเรื่องของมัน
การจัดนิทรรศการหลักกับนิทรรศการหมุนเวียน ที่ผ่านมาแบ่งเรื่องอย่างไร
เนื่องจากมิวเซียมสยามอายุยังน้อย (เปิดให้บริการเมื่อ 2 เมษายน 2551) นิทรรศการหลักจึงมีแค่สองเรื่อง อันแรกคือ ‘เรียงความประเทศไทย’ ถัดมาเป็น ‘ถอดรหัสไทย’ เป็นความคิดที่ต่อเนื่องมาจากความสนใจการอธิบายความเป็นไทย เนื่องจากเราเป็นมิวเซียมสยาม ตัวดีเอ็นเอเหมือนว่าต้องอธิบายเรื่องความเป็นไทย แต่นิทรรศการหมุนเวียน เป็นการตีความต่อในประเด็นร่วมสมัย
เนื่องจากตัวนิทรรศการหลักพูดถึงความเป็นไทยที่มีความหลากหลาย เราก็ไม่เล่นเรื่องความเป็นไทยแบบประเพณี แต่อยากให้เห็นความซับซ้อนของความเป็นไทยนั้นในชีวิตเรา หรือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา มันมีมิติไหนบ้าง เช่น ความเป็นไทยของเราที่เกี่ยวข้องกับคนพม่า ความเป็นไทยที่เกี่ยวข้องกับแขก ความเป็นไทยร่วมสมัยแบบ LGBT หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นไทยอย่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งประเด็นนี้เราก็พูดถึงในนิทรรศการต้มยำกุ้ง เหล่านี้ล้วนเกาะเกี่ยวกับความเป็นไทยและเป็นไดอะล็อกทางวัฒนธรรม
นิทรรศการหมุนเวียนแต่ละชุดมีที่มาและการเลือกประเด็นอย่างไร
เนื่องจากเราคิดว่ามิวเซียมไม่ควรตั้งอยู่ลอยๆ แต่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น ก็คิดว่าทำอย่างไรให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรามากที่สุด รวมทั้งเราเข้าไปสัมพันธ์กับคนมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมองในระยะยาว นิทรรศการอย่าง ‘พม่าระยะประชิด’ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน!’ และล่าสุด ‘ชายหญิง สิ่งสมมุติ’ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดแบบนั้น มาจากกระบวนการวิจัยซึ่งต่างจากการทำวิจัยทั่วไป เพราะเป็นการทำเพื่อจะมาเป็นนิทรรศการ
เดิมเขาจะทำควบคู่กันไป 10 เรื่อง แล้วค่อยดูว่าจะหยิบเรื่องไหนมาทำนิทรรศการ แต่เราพบว่าทำแบบนั้นเสียเวลา เพราะถ้าต่างคนต่างทำ สุดท้ายภัณฑารักษ์หรือคิวเรเตอร์อาจจะมีมุมมองที่ต่างไปในเรื่องนั้น ก็ต้องมานั่งทำวิจัยใหม่ จึงเสนอปรับกระบวนการใหม่ โดยเอานิทรรศการเป็นตัวตั้ง มองไปข้างหน้าว่าจะทำเรื่องอะไรแล้วก็ทำงานวิจัยไป วางตัวไว้เลยว่าใครจะมาเป็นคิวเรเตอร์ เขาก็จะต้องลงมาดูงานวิจัยด้วย ก็ช่วยย่นระยะเวลาลงมา ขณะเดียวกัน เราพยายามให้คิวเรเตอร์เองมีความเป็นนักการศึกษาด้วย
ในมิวเซียมใหญ่ๆ ไม่รู้ว่าเขาทำงานกันยังไง แต่ในมิวเซียมขนาดเล็กอย่างเรา คิดว่าคนทำงานต้องมองผ่านเลนส์หลายๆ เลนส์ ฟังดูโหดร้าย แต่คิวเรเตอร์ต้องเป็นนักวิจัยก็เพื่อเขาจะได้เห็นและรู้ตัวเนื้อหาอย่างแตกฉาน และถ้าเขามีสายตาของนักการศึกษาด้วย เขาก็ต้องนึกว่าใครคือผู้ชม และจะสื่อสารกับคนเหล่านั้นอย่างไร นี่คือความเป็นนักการศึกษา และต้องคิดต่อไปว่าทำอย่างไรให้เข้าถึงคนเฉพาะกลุ่มได้ด้วย เช่น เด็ก หรือผู้พิการทางสายตา
มีหลักอย่างไรในการหาของ อย่างที่คุณบอกว่าของต้องไม่ใช่แค่พร็อพส์ แต่ต้องเป็นวัตถุจัดแสดงที่มีเรื่องราว
กว่าจะมาเป็นนิทรรศการ เราต้องคุยและทำวิจัยล่วงหน้า 2-3 ปี อย่างชุด ‘พม่าระยะประชิด’ ความเป็นพม่าที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทยคือคน เราจึงไม่ได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ แต่มีวัตถุประสงค์ว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมมองคนพม่าเป็นมนุษย์ เราก็พยายามดึงสิ่งเหล่านี้ออกมา เช่น เวลาคิดถึงบ้านเขากินอะไร เวลากลับบ้านเขาเอาอะไรไปฝากพ่อแม่เขา แล้วเราพบว่ามันเวิร์ก เรื่องมันเข้าปาก ต้องใช้คำนี้ คนที่ทำเรื่องนี้เขาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นปี จนกระทั่งเขารู้สึกว่า ไม่มีความลังเลในการเขียนข้อมูลประกอบนิทรรศการ ไม่สงสัยเลยในสิ่งที่เขารู้ เพราะมันมาจากประสบการณ์ ซึ่งเขาก็เอามาออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ในนิทรรศการ
ของที่จัดแสดงในนิทรรศการ หลายชิ้นทำขึ้นด้วยความจำเป็นบางอย่าง แต่ส่วนใหญ่เป็นของที่คนเป็นเจ้าของเรื่องให้ยืมมา ส่วนตัวคิดว่าสิ่งนี้คือ authenticity เราทำเรื่องคน คิวเรเตอร์ไม่ได้มีอำนาจในการที่จะพูด อันนี้คือความท้าทาย ถ้าเป็นหอศิลป์ คิวเรเตอร์จะเป็นผู้พูด เพราะมันเป็นงานสร้างสรรค์ แต่อันนี้เราทำเรื่องพม่า ต้มยำกุ้ง LGBT มันคือชีวิตคนทั้งนั้น คุณเป็นใคร คุณจะไปพูดแทนคนที่เขาเป็นเจ้าของประสบการณ์ได้เหรอ ฉะนั้น ทำยังไงให้นิทรรศการเปิดโอกาสให้เสียงของคนที่เป็นเจ้าของเรื่องได้ดังขึ้นมา คิวเรเตอร์คือคนที่ผู้อำนวยให้เสียงเหล่านี้มีพลังขึ้น นั่นก็เป็นที่มาของของ 80 ชิ้นในนิทรรศการชุดล่าสุดนี้
มีกระบวนการหาของอย่างไร
ตอนทำเรื่องต้มยำกุ้งวิทยาฯ เราเปิดเพจชื่อ ‘ลูกหลานต้มยำกุ้ง’ ก็มีคนเข้ามาคุย เราก็คุยกับเขาจนกระทั่งเห็นเรื่อง เห็นของ ชิ้นไหนที่น่าสนใจเราก็ติดต่อ ขอยืมของมา หรืออย่างเรื่อง LGBT เราทำคลิปแล้วให้คนส่งของมา แต่คนส่งมาไม่ค่อยเยอะเท่าไร เราก็หาของจากคนรอบตัวเราด้วย เพื่อนฝูง เครือข่าย LGBT หรือคนที่เรารู้อยู่ว่าเป็นข่าว ยาก และใช้เวลาทีเดียว ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราจะได้ของมา หรือคนจะส่งของมา สมมุติเขาเป็นเลสเบี้ยนและอายุ 50 แล้ว ให้มานั่งนึกว่า อะไรที่เปิดเผยความเป็นตัวฉัน หรือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตฉัน โห…ชีวิตเขาผ่านจุดนั้นมานานมาก เราก็ต้องนั่งคุยกับคนเจ้าของเรื่อง
ของบางอย่างเราจำเป็นต้องทำขึ้น เพราะมันไม่อยู่แล้ว เช่น ครกในนิทรรศการต้มยำกุ้ง ไม่ใช่ของจริง แต่เรื่องเป็นเรื่องจริง ในกรณี ‘ชายหญิง สิ่งสมมุติ’ มีของอันหนึ่งซึ่งไม่มีแล้ว แต่เรื่องมันแรงมาก คือว่าลูกชายอยากเป็นผู้หญิง ก็ไปซื้อเสื้อชั้นในมาใส่ พอแม่รู้ แม่เอามีดอีโต้ฟันฉับเดียวขาดสองท่อน เรื่องมันแรง แต่น้องเจ้าของเรื่องบอกว่าตอนนั้นหนูโมโหแม่มากทิ้งขยะไปแล้ว ทำไงดี เราก็ขออนุญาตน้องคนนั้นว่าขอใช้เรื่องของเขา แต่เราก็ต้องไปหาของมา ทั้งเสื้อชั้นในและอีโต้
อีกชิ้นหนึ่งที่ต้องทำขึ้นใหม่คือพวงหรีด เราเห็นเรื่องราวของเขาจากโพสต์เฟซบุ๊กของเพื่อน บอกว่ามันเป็นพวงหรีดธรรมดา ‘จากภรรยาและครอบครัว’ แต่ไม่ธรรมดาตรงที่ภรรยาคือผู้ชาย และคนที่ตายก็คือผู้ชาย เพื่อนเขียนเล่าว่าสองคนนี้อยู่กันมา 30 ปี แต่ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาอยู่กันด้วยสถานะอะไร คนที่เสียชีวิตก่อนหน้านั้นเขาอยู่มาหกปีโดยเป็นอัมพาตติดเตียง และคู่ของเขาก็ดูแลเขาอย่างดีตลอดหกปี
เรารู้สึกว่าพวงหรีดนี้เป็นตัวแทนของประเด็น พรบ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งเรายังไม่มีเรื่องนี้ในนิทรรศการ แต่รู้สึกว่าสำคัญ จึงติดต่อขอไปสัมภาษณ์ ก็คุยกับเจ้าของพวกหรีดสองชั่วโมง ร้องห่มร้องไห้กันไป เพราะเรื่องมันสะเทือนใจ เขาก็เปิดมาก เล่าว่าเจอกันยังไง ความรักสำหรับเขาหมายความว่ายังไง คนที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ตอนที่ได้ยินเรื่อง พรบ.คู่ชีวิต เขายังบอกว่าถ้า พรบ.นี้ผ่าน เขาอยากเป็นคู่แรกที่จะได้จด แต่เสียดายที่ไม่ได้มีวันนั้น การเขียนบนพวงหรีดอย่างนั้นก็เพื่อบอกให้คนรู้ว่าเขาเป็นอะไรกัน คนคู่หนึ่งอยู่กันมา 30 ปีนะ การจะบอกว่าความรักของคนเพศเดียวกันไร้สาะ ไม่มีค่าเหมือนความรักของผู้ชายผู้หญิง มันไม่ใช่ เพราะเขาดูแลกันมาอย่างดี
ของหลายอย่างเหมือนว่าทำขึ้นใหม่ได้หรือซื้อมาได้ แต่ทำไมพยายามจะใช้ของจริงจากเจ้าของเรื่อง
อย่างที่บอก มันเป็นเรื่องความเป็นของแท้ (authenticity) อย่างเรื่อง LGBT นี้ ได้คุยกับหลาน ถามเขาว่าถ้าป้าจะทำเรื่องนี้ ควรทำให้ใครดู ตอนนั้นเขาอยู่ประมาณ ม. 4 เขาก็บอกว่าทำให้คนอย่างย่าดู ทำให้คนที่ไม่ยอมรับ คนที่มีอคติดู แล้วได้คุยกับเขาว่าในโรงเรียนมีอคติยังไง เขาบอกว่าครูโอเคกับกระเทยแต่ไม่โอเคกับเกย์ ปฏิบัติกับเด็กไม่เหมือนกัน อาจเพราะเกย์ถูกมองเป็นพฤติกรรมทางเพศ กระเทยยังอาจจะดูน่ารัก และเขาเล่าถึงเพื่อนที่เป็นกระเทยว่า เวลาเพื่อนคนนี้มาบ้าน ย่าไม่ชอบ ฉะนั้นคนอย่างย่านั่นแหละควรจะมาดูนิทรรศการนี้
เมื่อได้คุยกับเพื่อนของหลานคนที่ว่า ถามเขามีของอะไรไหมที่เล่าความเป็นตัวเขา เขาก็นึกอยู่นาน จนกระทั่งเล่าว่าเริ่มต้นจากการกินยาคุม เราก็บอกว่า เดี๋ยวนะแล้วยาคุมยังอยู่ไหม พอบอกว่าอยู่ ก็บอกว่าป้าขอยืม เขาก็บอกว่าได้เลย หนูมีเยอะมาก เราก็ประหลาดใจ ทุกวันนี้แม่ก็ยอมรับแล้ว ทำไมยังเก็บ เขาก็บอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหนู หนูทิ้งมันไม่ลง เราจึงขอยืมมาจัดแสดงแทนที่จะไปซื้อยาคุมมาใหม่
อีกชิ้นที่เราพยายามนำของจริงมาตั้งแสดงคือฉัตรใหญ่ในนิทรรศการ ‘พม่าระยะประชิด’ คิวเรเตอร์บอกว่าผมอยากได้ของจริง เพราะคนไทยมักจะมีมายาคติว่าคนพม่าทำลายพระพุทธศาสนา มาขุดมาเผาเอาของเราไป แต่จากการลงพื้นที่เขาพบและได้เห็นว่าคนพม่ามีพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาเหลือล้น ผมไปเจอชุมชนหนึ่งซึ่งอพยพมาอยู่ในวัดไทยที่ทองผาภูมิ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็เมตตาให้อยู่ ซึ่งก็อาศัยอยู่ในเพิงพักแบบคนอพยพ คนเหล่านั้นอยากทำให้ที่นั่นเป็นบ้านของตัวเอง ซึ่งศาสนสถานก็เป็นเรื่องสำคัญ เขาอยากมีเจดีย์ของเขา ซึ่งการทำเจดีย์ของคนพม่าก็ไม่ได้ง่าย ฐานเจดีย์ชั้นหนึ่งก็ต้องใส่เครื่องเพชรพลอยทองหยอง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ก่อขึ้นมา ถามเขาว่าทำไมต้องใส่ด้วย เขาก็บอกว่า อ้าว-ถ้าเผื่อวันหนึ่งเราตายไป แล้วมีคนมาเจอเจดีย์นี้ เขาก็จะได้เอาเพชรพลอยพวกนั้นแหละมาใช้ในการบูรณะเจดีย์ให้คงอยู่ต่อไป
คนพม่าคิดแบบนี้ คิดว่าฉันฝากของมีค่าไว้ให้คนในอนาคต ถ้าฉันตายไป เขาก็จะได้มาบูรณะต่อ แต่จะทำให้เป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะสำหรับคนจน เขาก็รวบรวมเงินกัน แล้วไปซื้อฉัตรมาก่อน เอามาจากพม่าเลย เป็นฉัตรใหม่ ฉัตรเก้าชั้น แล้วก็เอาขึ้นรถบรรทุกออกเรี่ยไรเงินเพื่อจะมาสร้างเจดีย์ ฉะนั้น ฉัตรนี้จึงเป็นตัวแทนหลายอย่าง ทั้งความศรัทธาในพุทธศาสนา และความพยายามที่จะทำให้เมืองไทยเป็นบ้านของเขา คิวเรเตอร์ก็บอกว่า อยากได้ฉัตรนี้มาตั้งแสดง เพื่อจะช่วยเรี่ยไรเงินให้พวกเขาด้วย ก็ต้องไปอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่าอะไรคือพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านก็ยอม
แล้ววันที่เอาฉัตรมากรุงเทพฯ เขายืนประคองฉัตรมาในรถหกล้อจากเมืองกาญจน์ ไม่นั่งเลยนะ การติดตั้งฉัตรก็ต้องให้เขามาทำพิธีเอง เพราะฉัตรนี้ถ้าอยู่ที่วัด เขาจะสวดมนต์ให้ทุกคืน ตั้งแสดงได้ระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายเขาบอกว่าไม่ได้แล้ว เพราะเวลาไปเรี่ยไร ไม่มีฉัตรใหญ่ไปด้วย คนก็คิดว่านี่มันโกง หลอกลวงกันหรือเปล่า สุดท้ายก็ต้องคืนฉัตรเขาไปก่อน และทำป้ายผ้ามาจัดแสดงแทน
การนำเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไม่ว่า ต้มยำกุ้งวิทยา หรือ LGBT ต้องขออนุญาตเจ้าของเรื่องทุกคนไหม
ต้องขอสิคะ ทุกคนเราใช้เวลากับเขานะในการอธิบาย คนบางคนอนุญาตให้ใช้ชื่อจริง คนบางคนแม้จะอนุญาตเราก็ไม่ใช้ เพราะเขาเด็กเกินไป อย่าง LGBT มีเคสเด็กสองคน เขายังอยู่ ม.ต้น เราก็ไม่ใช่นะ เพราะคุณยังเด็ก คุณยังไม่รู้หรอกว่าผลกระทบของสื่อคืออะไร สมมติเรื่องราวออกไปแล้ว คุณจะรับได้หรือป่าว เราเองรับไม่ได้นะ ก็ไม่ใช้
ของทุกชิ้นแม้จะเป็นของในชีวิตประจำวัน แต่จะทำประกันวัตถุให้เขาทุกชิ้น บริษัทประกันก็จะปวดหัวกับเรามาก จะมาประกันอะไรสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง แหม-มันไม่ใช่เครื่องเบญจรงค์ ของเก่าล้ำค่า จะคิดเงินยังไง การตีค่าสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นราคาจึงยากมากสำหรับเขา แต่เราต้องทำ เพราะของทุกอย่างที่เข้ามาอยู่ในมิวเซียม ถ้ามันไม่ใช่พร็อพส์ มันเป็นของจริงที่มีเจ้าของ ฉะนั้น ก็ไม่ควรจะสูญหายหรือเสียหาย เราต้องรับผิดชอบ อย่างสมุดบันทึกของคุณการะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ ซึ่งเป็นต้นฉบับนิยายเรื่อง ‘ปริมณฑลแห่งรัก’ ซึ่งเขาเขียนมาตั้งแต่อายุ 19 แล้วตอนนี้เขาอายุ 47 เขาให้เรายืมมาจัดแสดง อย่างนี้จะหายได้เหรอ
แต่ของบางอย่างที่เรารับผิดชอบไม่ไหว เราก็ทำปลอมนะ อย่างพวกสมุดบัญชีธนาคารในนิทรรศการต้มยำกุ้งฯ อันนั้นทำปลอมขึ้นมา คือเราก็ไม่อยากเสี่ยง มันเป็นของของเขา และการจัดแสดงเราไม่ได้เอากล่องอะครีลิกครอบ เพราะอยากให้คนเห็น
อย่างนิทรรศการชายหญิง สิ่งสมมุติ คิดว่าเด็กมาดูได้ไหม
จริงๆ ไม่มีรูปโป๊เปลือย เพียงแต่อาจจะเป็นนิทรรศการที่มี text เยอะ สำหรับเรื่องเพศ มองว่ายิ่งรู้เร็วยิ่งดี อันนี้ขึ้นกับเพดานความรู้เรื่องเพศในสังคมไทย ส่วนตัวคิดว่าเพดานเรื่องนี้ไม่ควรจะต่ำ แต่ก็พบว่าสังคมไทยเพดานต่ำมากในหลายๆ เรื่อง ชอบคิดว่าอันนี้ยังไม่ควร อันนั้นก็ไม่ใช่ เราหยุดโลกไม่ได้แล้วนะ ผู้ใหญ่เองควรจะเป็นฝ่ายขยายเพดาน ยิ่งเล็กยิ่งดีที่จะเข้าใจ เมื่อรู้เขาจะไม่มีอคติ เพราะสังคมไทยเรามีการลงความเห็นแบบที่เป็นอคติเยอะและเร็วเกินไป โดยไม่ได้ใช้ความรู้ ยกตัวอย่างมีวัตถุจัดแสดงจากผู้กำกับฯ หนังคนหนึ่ง เขาซื้อเสื้อมาจะให้หลานใส่ แล้วหลานบอกว่า “ไม่เอา เสื้อตุ๊ด” หลานยังเล็กอยู่เลย แต่พูดแบบนั้นก็แสดงว่า เขามองว่าการเป็นตุ๊ดมันไม่โอเค ซึ่งโฟเบียอะไรแบบนี้ไม่ควรเกิดกับเด็ก
เสียงตอบรับจากผู้เข้าชมเท่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ดีนะคะ เพราะสิ่งที่อยากเห็นคือคนเข้ามาใช้มิวเซียม และไม่ควรจะเป็นคนกลุ่มเดียว ในประเทศเพื่อนบ้านเราเขาทำมิวเซียมแล้วมีผู้ใช้แรงงานเข้าไปใช้ มันควรจะเป็นแบบนี้สิสำหรับเงินงบประมาณที่ลงไป จึงมีความคิดมาตลอดว่ามิวเซียมต้องเสิร์ฟคนที่หลากหลาย ฉะนั้นก็ต้องเริ่มจากตัวหัวข้อและเนื้อหาด้วย เราจะคาดหวังให้คนพม่าเข้ามาเหรอ ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเขา
อย่างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ของเวียดนามที่ฮานอย มีคนหลายกลุ่มมากที่เข้ามาใช้ เช่น โรงเรียนมาเรียนรู้ คู่แต่งงานมาถ่ายรูปพรีเว็ดดิ้ง หรือกลุ่มชาติพันธุ์เองก็เข้ามาเรียนรู้เรื่องของตัวเอง มันไม่ได้รองรับเฉพาะนักมานุษยวิทยา แต่เป็นที่ของคนฮานอย เด็ก หรือเจ้าของวัฒนธรรมเอง
คิดว่ากลุ่มคนที่มามิวเซียมสยามหลากหลายมากพอหรือยัง
อยากให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาคิดว่าเราประสบความสำเร็จในการจับกลุ่มเยาวชน โรงเรียน และกลุ่มครอบครัว แต่กลุ่มที่เราได้โดยบังเอิญและอยากให้มีมากขึ้น ก็เช่นกลุ่มแรงงานต่างด้าว หรือว่าโรงงานที่มาใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อการเรียนรู้ อย่างตอนทำเรื่องพม่าระยะประชิด ฝ่าย HR ของโรงงานแห่งหนึ่งเขามาดูนิทรรศการแล้วกลับไปทำใบงาน จัดให้พวกหัวหน้างานมาดูนิทรรศการเพื่อที่จะเข้าใจลูกน้องซึ่งเป็นคนพม่า แบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์ไปถึงสังคม คนไม่ได้แค่เข้ามาดู แต่คนใช้พิพิธภัณฑ์
สำหรับกลุ่มครูและโรงเรียน มีอยู่เสมอ และหลายครั้งเราก็ได้เห็นการใช้แบบทำการบ้าน มีการให้โจทย์เด็กมาก่อน หลังจากเด็กดูนิทรรศการแล้ว ก็อาจจะมีกิจกรรมต่อยอดเป็นเกม นิทรรศการ หรือละคร บางทีเราเองก็ไม่คาดคิดว่าเนื้อหานิทรรศการชุดนั้นครูจะนำไปใช้อะไรได้ แต่ตอนที่ทำเรื่องต้มยำกุ้งฯ มีครูจากปัตตานีพาเด็กมาด้วย 4-5 คน บอกว่าขึ้นมากรุงเทพฯ คือมา 2 ที่ ท้องฟ้าจำลองกับมิวเซียมสยาม เราถามว่าครูจะเอาไปใช้อะไรกับเด็ก เขาบอกว่า ใช้ได้เยอะมากเลย เช่นเรื่องการออม การลงทุน หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ช่วยเราได้เวลาเดือดร้อน คือครูคณิตศาสตร์ก็น่าจะได้เรื่องหนึ่ง ครูสังคมก็น่าจะได้อีกเรื่องหนึ่ง คนที่เป็นนักการศึกษาเวลามาเจอข้อมูลแบบนี้ ที่ไม่ใช่ข้อมูลเดิมๆ ซ้ำๆ หรือสิ่งที่เขามีอยู่แล้วในสื่อการสอน เขาจะเอาไปต่อยอดได้
อย่างเรื่อง LGBT เราเชิญครูจาก Thai Civic Education มาคุย ถามว่าถ้าเราทำ มีทางไหมที่เขาจะมาใช้นิทรรศการแบบนี้ได้ เขาบอกว่าสบายมาก เพราะในวิชาสังคมศึกษามีการพูดถึงเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพในความเท่าเทียม การเคารพในความหลากหลาย สามประโยคนี้สำหรับครูที่มีวิสัยทัศน์และเป็นนักการศึกษา เขาใช้นิทรรศการชุดนี้เป็นสื่อการสอนได้เลย ฉะนั้น มันไม่ได้อยู่ที่เราแล้ว อยู่ที่สังคมว่าจะใช้เราไหม แต่เราก็ต้องพยายามทำอะไรที่ไปสัมพันธ์กับเขา
เคยมีเสียงตั้งคำถามจากผู้ชมไหม ว่าทำไมเรื่องแบบนี้มาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือความหลากหลายทางเพศ
ไม่มีมั้งคะ เนื่องจากมิวเซียมสยามทำนิทรรศการแบบนี้มาหลายรอบ เช่นเรื่อง ‘สืบจากส้วม’ ก็เคยมี ‘ไฉไลไปไหน?’ หรือว่าเรื่อง ‘ชาวนา KNOW!’ ที่เขาก็ทำพื้นที่ด้านหน้าเป็นนาข้าวกันเลย ที่นี่เป็นเหมือนห้องทดลองที่เราจะได้ใช้วิชาความรู้ทางพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดง การดีไซน์ หรือแนวทาง Living Museum เข้ามาใช้ แต่ถ้าจะมีคนตั้งคำถามก็คือ มันมีแต่เรื่องที่หนักขึ้นๆ
ก่อนวันเปิดนิทรรศการชายหญิง สิ่งสมมุติ น้องเด็กเสิร์ฟที่ทำงานในนี้มาถามว่า ทำอะไรกันครับ ก็บอกว่ามันเกี่ยวกับเกย์ๆ ทอมๆ ดี้ๆ เลสเบี้ยนนี่แหละ เขาถึงกับบอกว่า โห…นี่มันเรื่องของผมเลยครับพี่ แล้วผมมาดูได้ไหม เราบอกเชิญเลยน้อง น้องจะมาเป็นคนนำชมหรือทำอะไรกับมันก็ได้ ตอนทำต้มยำกุ้งฯ มีพ่อพาลูกมาดูแล้วก็สอน เพราะเด็กไม่รู้หรอกว่าตัวเองโตมาบนเศรษฐกิจที่มีรากฐานแบบไหน ผ่านอะไรมา เด็กบางคนดูแล้วบอกว่าเข้าใจพ่อแม่มากขึ้นว่าทำไมถึงเข้มงวดกับเขาเรื่องวินัยการเงิน
ทุกครั้งที่เราจัดนิทรรศการเรื่องใหม่ เราจะได้คนกลุ่มใหม่ๆ อันนี้ไม่ใช่เรื่องยอดผู้เข้าชม แต่หมายความว่าพิพิธัณฑ์เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนในสังคมมากขึ้น ส่วนตัวรู้สึกว่าพิพิธัณฑ์ นิทรรศการ หรือว่าวัตถุจัดแสดง ควรทำให้เราเห็นตัวเองในนั้น ไม่ควรรู้สึกแปลกแยก ไม่ว่าในความเป็นมนุษย์ การเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรม หรือเรื่องราวใดๆ
คือควรให้คนได้รู้สึกว่ามี ‘ฉัน’ อยู่ในนั้น
Fact Box
- ฆัสราจบปริญญาตรี สาขาวิชาประชาสัมพันธ์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยข้องเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์แม้แต่ฝึกงาน เพราะช่วงที่เรียนอยู่ปี 4 เธอได้ออกไปเป็นครูข้างถนน ในโครงการของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ก่อนกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา ในรั้วมหาวิทยาลัยเดิม
- เธอทำงานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกริกเป็นเวลา 4 ปี ก่อนติดตามสามี-ผศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาและเวียดนาม เป็นเวลารวม 9 ปี โดยระหว่างนั้น ได้ทำงานวิจัยเรื่องตลาดสดในเวียดนาม และเขียนคอลัมน์ลงพิมพ์ในนิตยสาร วิภาษา และคอลัมน์ 108 วิถีทัศน์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งต่อมาร่วมเล่มโดยสำนักพิมพ์วิภาษา ในชื่อว่า เข้านอกออกใน (Stories by a woman in the fields)
- หลังกลับจากเวียดนามระยะหนึ่ง ฆัสราไปทำงานที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ (สมัย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เป็นผู้อำนวยการ)
- ปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
- นิทรรศการ ชายหญิง สิ่งสมมุติ (Gender Illumination) จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2561 ที่มิวเซียมสยาม