เขาเป็นบรรณาธิการภาพของสื่อในเครือ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด และเป็น ‘ช่างภาพหัวหอก’ ของนิตยสาร HAMBURGER หนึ่งในสื่อของบริษัทแห่งนี้

หลังจากจัดแสดงผลงานเดี่ยว Flamingo ไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ‘เชน’ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง ก็ได้ฤกษ์จัดแสดงผลงานศิลปะภาพถ่ายของเขาอีกครั้ง ภาพถ่ายที่บันทึกไว้ระหว่างการทำงานร่วมกันระหว่างเขา ศิลปินพันธนาการ และผู้แสดงแบบ ที่เผยถึงความหลงใหลของตัวช่างภาพซึ่งมีต่อ ‘ศาสตร์แห่งการมัด’

นิทรรศการภาพถ่าย Merge เชนเริ่มต้นจากการมองผ่านศิลปะการใช้เชือกเพื่อความสุขทางเพศ เกิดเป็นความงดงามจากการรัดรึง เมื่อก้าวผ่านช่วงเวลาหนึ่ง เขากลับมองเห็นเป็นความงามของร่างกาย ผลงานภาพจัดแสดงครั้งนี้เผยให้เห็นถึงการเดินทางผ่านเทคนิคและความประณีตของเงื่อน รวมถึงการเติบโตทางความรู้สึกที่เหนือไปกว่าการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ที่เชนต้องการจะสะท้อนความรู้สึกของผู้ถูกมัด ผู้มัด และมุมมองผ่านเลนส์ของเขาเอง เพื่อให้เกิดเป็นคำถาม การค้นหาคำตอบผ่านร่างกาย สายตา และประสาทสัมผัส

คุณเริ่มเข้าสู่ศาสตร์ของการมัดได้อย่างไร

ผมมีโอกาสได้รู้จักกับน้องคนหนึ่ง ที่เขาสนใจเรื่องเกี่ยวกับ ‘คินบากุ’ (Kinbaku) ซึ่งเป็นศาสตร์ของการมัด และมีเรื่องของเซ็กซ์และความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อีกคำหนึ่ง ‘ชิบาริ’ (Shibari) จะเป็นเรื่องของเส้นของความสวยงามมากกว่า ผมเห็นเขาทำ ก็เลยสนใจ พอดีว่าเคยสนใจศิลปินญี่ปุ่นที่เขาถ่ายรูปแนวนี้มาก่อนแล้ว ก็คือ อารากิ โนบุโยชิ (Araki Nobuyoshi) เป็นศิลปินยุคเก่าที่งานของเขาจัดเป็นมาสเตอร์พีซที่แรงที่สุดในโลก

อารากิเป็นเหมือนไอดอลของช่างภาพ เขาเป็นช่างภาพแนวหน้าของญี่ปุ่น แต่ถ้าดูงานของเขาแบบลึกๆ จะเห็นถึงวัฒนธรรมในเรื่องเซ็กซ์ของญี่ปุ่น แต่ความสนใจของผมคือ ผมรู้สึกว่าตัวเองอยากทำงานที่มันสะท้อนวัฒนธรรมของคนไทย ความจริงตอนแรกก็รู้สึกได้ถึงเรื่องเซ็กซ์ แต่พอทำไปทำมาประมาณสองปี เรื่องเซ็กซ์กลับหายไป การมัดนี่มันไม่ได้พูดถึงเรื่องเซ็กซ์เลย ไม่ได้พูดถึงความอยาก ความต้องการทางเพศ ที่เห็นแล้วรู้สึกโอ้โห…มันมีความเร้าอารมณ์ ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแล้ว

ขั้นตอนการทำงานชุดนี้เป็นอย่างไร

เราจะมีศิลปินที่เรียกว่า ‘Rope Master’ ซึ่งเขาก็เริ่มจากศูนย์เหมือนกัน ผมถ่ายรูปการทำงานของเขาคล้ายเป็น documentary เราจะเห็นวิวัฒนาการในการมัดของเขา ที่ค่อยๆ เริ่มกล้ามัดมากขึ้น เริ่มที่จะใส่ความสร้างสรรค์ในงาน เราจะไม่ได้เห็นเรื่องของผู้หญิงที่โป๊แล้วมามัด แต่เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นร่างกายที่แสดงความแข็งแรงของผู้หญิง ซึ่งทนต่อการถูกมัด ยิ่งทำไปเรากลับรู้สึกว่า จริงๆ แล้วมันเหมือนสันดานหรือความรู้สึกของคนทุกคน ที่มองเรื่องนี้เป็นความท้าทายหรือการบำบัดของเขา มันเป็นการใช้สมาธิของคนที่ถูกมัด คนไฮเปอร์แบบผม ถ้าให้ไปมัดแบบนั้น ผมรู้เลยว่าผมทำไม่ได้ การที่เราถูกมัดแล้วถูกขยับตัวบ่อยๆ เชือกมันจะยิ่งรัดแน่นมาก จริงๆ แล้วประวัติของการมัดมันมาจากการทรมานเชลยในญี่ปุ่น

ในฐานะช่างภาพ คุณรู้สึกอย่างไรกับภาพที่เห็นผู้หญิงถูกมัด

ผมมองเหมือนเป็น subject ในงานศิลปะจัดวางนะ เหมือนเรามองวัตถุ แต่

เป็นวัตถุที่มีชีวิต ผมเลยเล่นเรื่องของอารมณ์ลงไปตอนทำงาน ผมอยากให้งานชิ้นนี้มันออกมาแล้วตั้งคำถามกับคนดูว่ารู้สึกอะไร ชอบ ไม่ชอบ คุณยี้ แต่ใจจริงแล้วคุณอยากลองหรือเปล่า ลองทำเหมือนกับการเล่นโยคะ จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องโป๊ก็ได้ ใส่เสื้อผ้ามัดก็ได้ งานผมอยากจะเล่นกับอารมณ์ของคนที่มาดูมากกว่า ว่าเกิดความรู้สึกอยากหรือไม่อยาก ยิ่งคนที่ไม่ชอบ ผมว่ามันก็ตอบโจทย์งานของเราแล้วว่าเขายี้

งานแบบนี้ ถ้าไม่เกี่ยวกับศิลปะการถ่ายภาพแล้ว คุณคิดอย่างไรกับเรื่องที่ว่า มันคือการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ

จริงๆ ตอนแรกในความรู้สึกของการเริ่มทำ ผมมองว่ามันคือผู้หญิงที่ตอบสนองในเรื่องของอารมณ์ งานนี้มันเริ่มจากไอเดีย…เหมือนเราดูหนังโป๊ญี่ปุ่น ที่เขาไม่ได้ถูกฝืนให้มีเซ็กซ์ หรือถูกข่มขืน แต่เขาคือนักแสดง เขาเป็นดาราที่มีคนยอมรับและให้เกียรติ หรือผู้หญิงที่เป็นเกอิชา เรารู้สึกว่าเขามีบทบาทตรงนั้น เราไม่ได้มองเขาเป็นวัตถุทางเพศ แต่กลับรู้สึกว่าเขาแข็งแรง ผู้ชายจะมาทำอย่างนี้ไม่ได้ ในเรื่องของการถูกมัดหรืออะไร ไม่เหมือนผู้หญิง ผู้ชายเคยมาลองก็มี แต่พอมาทำจริงๆ แล้วเขารู้สึกว่ามันหนักเหมือนกัน

ผู้หญิงที่ถูกกระทำอย่างนี้ (ถูกมัด) เขาแข็งแรงมาก แต่เราไม่ได้มองเขาเป็นวัตถุทางเพศ เรามองเขาเป็นงานศิลปะหรืองาน installation มากกว่า เรามองเขาที่เชพ หรือเส้นสายของตัวเขา

งานนี้ก็เป็นการที่ให้คุณเสพสิ่งที่มันมีอยู่ในสังคมบ้านเรา แต่คุณกลับมองมันเป็นเรื่องของความน่าอับอาย ทำไมในยุโรปถึงฟรีเซ็กซ์กัน หรือทำไมเซ็กซ์ช็อปถึงมีอยู่ทั่วโลก คุณกลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ ผมเลยอยากจะสะท้อนออกมาให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเราควรจะเปิดหรือยอมรับมันเหมือน ‘กามสูตร’ ที่เป็นบทเรียนอีกแบบหนึ่ง

หลังจากเห็นน้องเขาเพอร์ฟอร์ม ก็เริ่มมีคนสนใจ เช่นมีคู่รักไปให้มัด หัดมัด

กันสองคน เพื่อที่จะบำบัดในเรื่องของชีวิตคู่ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องของความรุนแรงที่ใช้ลงไปในการตีหรือทำให้เจ็บตัว ซึ่งนั่นคืออีกขั้นหนึ่งของรสนิยมในการเสพ

เคยพูดคุยกับผู้แสดงแบบบ้างไหมว่าเขารู้สึกอย่างไร

เคยคุยครับ เพราะความจริงแล้วผมก็มาจากสายพอร์เทรท ถ่ายคน ผมอยากทำงานที่พูดถึงอารมณ์มากกว่าเรื่องของแสง หรือความสวยงาม อันนั้นมันเป็นแค่เทคนิคที่มาเสริม แต่ผมพูดถึงเรื่องอารมณ์ของรูป การเล่นกับความรู้สึกของคนดู

ชื่องานนิทรรศการว่า Merge  คุณต้องการสื่อถึงอะไร

Merge ในที่นี้คือการรวมกัน ผมพูดถึงอารมณ์ทั้งสามอย่างที่มารวมกัน อารมณ์ของคนที่ถูกมัด ตื่นเต้นหรือเปล่า เขียนออกมาในเชิงความรู้สึกของตัวเอง คนมัดคือการสัมผัส เขาชอบที่จะได้กลิ่นเหงื่อของคนที่ถูกมัดหรือเปล่า อีกอย่างคือการดูการมองเห็น ก็คือตัวผมเองที่รู้สึกอย่างไร ซึ่งตอนแรกอาจจะรู้สึกถึงอารมณ์ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ความรู้สึกตรงนั้นมันค่อยๆ หายไป กลายเป็นยกย่องมากกว่า

ความยากของขั้นตอนการมัดอยู่ตรงไหน

ขั้นตอนการมัดไม่ได้ยากนะ จะยากที่การดีไซน์มากกว่า เพื่อให้เห็นเป็นภาพและฟอร์ม อย่างที่พูดถึงดาราหนังโป๊ว่า แอ็กติงเขาจะพูดถึงอะไร แต่ผู้แสดงแบบที่มาร่วมงานกับเรา เขาไม่ได้เป็นดาราหรือเรียนแอ็กติงมา แต่อินเนอร์ของเขาตอนที่ถูกถ่าย มันออกมาเองโดยตัวเขาเอง บางคนเหมือนเขามีเรื่องอะไรแบบนี้อยู่แล้ว นึกออกไหม ชีวิตเด็กสมัยนี้ที่ชอบถ่ายรูปตัวเองลงใน Facebook เล่นกับอารมณ์ตัวเอง เซ็กซี่บ้าง อะไรบ้าง เขาจะมีอินเนอร์ในแบบของเขา นี่คือสังคมปัจจุบันของประเทศเรา แต่เราแค่รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่ยังไม่เปิด

ยอมรับว่า ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าภาพในงานชุดนี้แรง เพราะมันเป็นภาพ

สำหรับจัดแสดง เหมือนงานถ่ายภาพ แค่ความที่บางภาพเห็นนมขึ้นมา ก็อาจจะดู

แรง แต่นั่นละ มันก็คือบทบาทของภาพถ่าย มันคือธรรมชาติของคน

นิทรรศการ Flamingo ครั้งแรกของคุณ แตกต่างจากงานแสดงครั้งนี้ไหม

ครั้งนั้นผมพูดถึงเรื่องที่ว่า…ทำไมการแสดงงานครั้งหนึ่งจะต้องมีกรอบของสิ่งที่เราต้องการจะบอกเกี่ยวกับตัวเรา ผมรู้สึกว่ามันวุ่นวาย งานนั้นเลยดูเหมือนจะมิกซ์ทุกสิ่งอย่างที่มันเป็น ก็เลยแตกต่างจากงานครั้งนี้

ครั้งนี้เป็นการเพอร์ฟอร์มตัวเราเอง งานชุดนี้ผมทำมาประมาณสองปี ผมถ่ายงานแบบนี้อยู่แล้ว มันเลยเป็นงานที่ค่อนข้างส่วนตัวมาก เก็บไว้ส่วนตัว งานนี้ผมพยายามที่จะใช้พวกแสงหรือสีเข้ามา ใส่ความเป็นแฟชั่นลงไปหน่อย ทำให้มันไม่ดูเป็นนู้ดแบบโหดร้ายที่แสงเงาชัด แต่ให้มันสะท้อนถึงเรื่องของคน หรือมู้ดในแววตา

ความจริงผมเรียนสายอาร์ตมามากกว่าภาพถ่าย เวลาไปต่างประเทศ ผมชอบเข้าแกลเลอรี่มาก นอกจากภาพถ่ายแล้วผมก็ดูภาพวาดด้วย แล้วก็รู้สึกแปลกที่แกลเลอรีในเมืองไทยเข้ายากกว่า (ยิ้ม) หรือว่ามันไม่น่าสนใจ

หรือเพราะมันไม่มีแรงดึงดูดให้เข้าไปดู

ด้วย…แล้วงานบางทีมันไม่ได้น่าสนใจ ไม่หลากหลายพอ อย่างที่เบอร์ลิน มีสตรีทอาร์ตเยอะ และมีแกลเลอรีเล็กๆ ยิบๆ ย่อยๆ คนในเมืองรับกับงานศิลปะได้ แต่พอคนไทยทำ ทำแล้วก็ลืมน่ะ ผ่านไปแล้วก็ลืม

ในฐานะช่างภาพแฟชั่นด้วย คุณมองว่าภาพถ่ายแฟชั่นไทยตอนนี้มีความเคลื่อนไหวหรืออะไรที่แปลกใหม่บ้างไหม

ก็มีครับ เขาก็เริ่มมีสไตล์ที่ชัดเจนกันทุกคน โดยเฉพาะเด็กสมัยใหม่ เริ่มมี

ตลาดที่ชัด คนเลือกใช้ชัด ลูกค้าจะใช้แบบไหน ทางไหน โอเค ในสื่อสิ่งพิมพ์อาจ

จะดูยากหน่อย เพราะมันมีน้อย ต้องไปดูออนไลน์ ที่ตอนนี้เขาแข่งกันเรื่องของสไตล์

ถ้าคาแรกเตอร์ของช่างภาพชัดและเห็นวิวัฒนาการที่ดีขึ้น เขาก็จะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง แต่ช่างภาพที่มาแล้ว วิวัฒนาการยังไม่ถึงไหน ไม่มีจุดที่ชัดเจน เขาก็จะหายไปเอง เพราะตอนนี้ช่างภาพมีเยอะเหลือเกิน มันก็อยู่ที่ว่าตัวเรามีแอททิจูดอะไรที่ชัดเจน

ทุกวันนี้ผมยังถ่ายแฟชั่นอยู่ เป็นช่างภาพประจำของ HAMBURGER คือผมอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวของยุคฟิล์มกับดิจิทัล ผมเกิดกับแมกกาซีนในยุคที่บูมที่สุด ถ้าถามในระดับของตัวผม ผมก็ว่ามันมีมาตรฐานในตัวตั้งแต่แรก แต่อาจจะไม่เหมือนช่างภาพรุ่นพี่ๆ ที่เขาใช้งบฯ ที่เยอะๆ แบบสมัยก่อน สมัยนี้ถ้าคุณอยากจะใช้เยอะจริง คุณก็ต้องเลือกเอาว่าช่างภาพคนนี้สไตล์แบบนี้ โปรดักชั่นเต็มที่ คุณก็ต้องยอมรับว่าคุณเลือกที่จะใช้เขา ซึ่งมันดีมาก จริงๆ มันก็เป็นพื้นฐานของการทำงานในวงการ

แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไป ลูกค้ามีแค่งบฯ ค่าใช้จ่ายก้อนหนึ่ง เอาใครถ่ายก็ได้ ให้มันรันไปแค่สองเดือน แล้วมันค่อยๆ หายไป และต้องถ่ายใหม่ เขาคิดกันอย่างนั้นไง มันก็เลยเกิดคำหนึ่งที่ว่า งานมันไม่เป็นมาสเตอร์ ไม่เหมือนงานสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ใครถือกล้องถ่ายรูปได้ก็เรียกตัวเองเป็นช่างภาพได้ มันเลยกลายเป็นแบบนี้ (ยิ้ม)

ทำงานถ่ายภาพมาเกือบยี่สิบปี เคยรู้สึกถึงภาวะ ‘ถึงทางตัน’ แบบที่คนทำงานศิลปะมักจะเป็นกันบ้างไหม

มันก็มีครับ มันมีเรื่องของความรู้สึกที่หายไป แต่ว่ามันก็จะกลายเป็นแรงขับ อย่างเช่นผมอยากทำหนังสือทำมือตั้งแต่สมัยทำงานใหม่ๆ ตอนนั้นอยากทำ photobook ทำมืออยู่แล้ว ก็เหมือนนักเขียนที่อยากพิมพ์งานของตัวเอง ไม่ต้องง้อสำนักพิมพ์ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถทำเองได้ง่ายกว่าสมัยก่อน

ผมรู้สึกว่า เราเกิดจากสิ่งพิมพ์ ยังรักสิ่งพิมพ์ ผมว่าสิ่งพิมพ์ยังไม่ตายหรอก

แล้วรู้สึกอย่างไรกับช่องทางออนไลน์ หรือดิจิทัลมีเดียในยุคนี้

ผมว่ามันมีทั้งดีและไม่ดี เราแค่ใช้ให้เป็น อยู่ให้เป็น ไม่ใช่ไม่รับมันเลย แต่ยอมรับว่าช่องทางออนไลน์ทำให้คนอ่านหนังสือเร็วและน้อยลง การสัมผัสหายไป ความรู้สึกหายไป แต่พูดถึงการสัมผัส ผมเองยังดูหนังสือพวก photobook หรือนิตยสารอะไรอยู่ แต่ก็ยอมรับว่าตัวเราเองก็ถูกออนไลน์ทำให้มันหายไป เมื่อก่อนเวลาหาเรฟเฟอเรนซ์ก็หาจากหนังสือ ตัดเก็บ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นต้องหาด้วยการ เสิร์ชแล้วเซฟไฟล์ ฉาบฉวยขึ้น และอย่างที่บอก เวลาทำงานอะไรที่ไม่เป็นมาสเตอร์ สักพักมันก็จะผ่านไป จะไม่ได้เห็นมันอีก และจะรู้สึกว่ามันก็อยู่แค่ในออนไลน์แล้วหายไป

ทราบมาว่าคุณเพิ่งแต่งงานไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างไหม

มันก็ปกติครับ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิต เพราะเราก็อยู่ด้วยกันมาก่อนอยู่แล้ว

แล้วคิดอย่างไรถึงอยากแต่งงานขึ้นมา

อายุ และคิดว่ามันถึงเวลาในชีวิต…เราโตขึ้นก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ดีกว่าที่จะใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แต่จริงๆ แล้วการแต่งงานก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรขนาดนั้น  

ให้ความสำคัญเรื่องพิธีรีตองหรืองานพิธีไหม

อ้อ…มีพิธีครับ เป็นการให้เกียรติทั้งบ้านเราและบ้านเขา ก็จัดเต็มที่ เป็นงานแต่งที่เพื่อนช่วยทำให้มันเกิดขึ้น เราจัดเป็นแบบงานเทศกาลของสเปน ให้คนแต่งตัวกันมา สนุกดี ทำให้งานดูมีสีสันขึ้น

คุณวางแผนเกี่ยวกับครอบครัวไว้อย่างไรต่อไป

คงจะมีลูก เพราะอยากมี วางแผนไว้เรื่องนั้น พยายามที่จะมีให้ได้ และเร็วเท่าที่จะทำได้ เพราะว่ามันถึงเวลาแล้ว ไม่อย่างนั้นก็ไม่ทัน (หัวเราะ) เดี๋ยวไม่มีแรงเลี้ยง

ทุกวันนี้ยังไม่มีลูก แต่เลี้ยงหมาอยู่ แต่ก่อนเคยมีหกตัว คอนนี้เหลือแค่สี่ตัวพันธุ์เฟรนช์ บูลด็อกอย่างเดียว เฟรนช์ บูลด็อกเป็นหมาที่มีอารมณ์ในหน้าตามากกว่า มีความอ้อน ความตลก และมีปัญหาแบบที่พอเรารู้จักแล้วเราไม่อยากเปลี่ยนไปเลี้ยงพันธุ์อื่น เลี้ยงพันธุ์นี้แล้วเราจะรู้ว่า มันมีปัญหาอะไร เราจะให้กินอาหารหรือดูแลอย่างไร แล้วพอเรารู้ไปเยอะๆ มันก็เกิดความรู้สึกว่า มันน่าสงสาร

ผมเคยพูดให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ หมามันเหมือนแฟชั่น อยู่ดีๆ คนไปทำให้มันฮิต เหมือนแต่ก่อนพันธุ์ชิวาวาฮิต ก็ผสมกันออกมาเยอะ ในท้องตลาดเยอะมาก จนกลายเป็นหมาหัวเน่า พอมันหมดความนิยม ก็ไปผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมา พันธุ์นี้ก็ไม่มีใครเอา มันน่าสงสาร หรือพวกการผสมที่เยอะเกินไปก็น่าสงสาร มันเหมือนโรงงานผลิตลูกเพื่อมาทำการค้า

แต่พอเลี้ยงหมาแล้วดีอย่าง จริงๆ แล้วหลักการสอนหมาเอามาสอนเด็กได้ เช่น สอนเด็กว่าอย่า เสียงดุ และใช้นิ้วชี้ เขาจะรู้ว่าอย่าทำ แล้วใช้คำสั่งให้เป็นคำสั่งเดียวกันทั้งหมดทั้งบ้าน หรือตีหมา ไม่ใช้ไม้ตี แต่ใช้กระดาษตีให้ดัง ต่อไปมันจะกลัวเสียงกระดาษ หรือถามเสียงดุว่าใครทำ มันก็จะรู้ว่าตัวผิด แล้วจะเดินเข้ามุม ต้องฝึกให้มันชิน

กลับมาที่เรื่องงานแสดงภาพถ่ายอีกครั้ง หลังจากจบนิทรรศการ Merge แล้ว ความสนใจของคุณจะเปลี่ยนไปเรื่องไหนอีก

ถ้าจบงานนี้แล้ว ใจจริงผมอยากจะกลับไปพูดถึงเรื่องพอร์เทรทที่ตัวเองสนใจ อาจจะเป็นการรวมภาพพอร์เทรทของคนสักร้อยคน จริงๆ แล้วการแสดงมันกลายเป็นสิ่งหลักของเราที่จะเอาความตั้งใจของเรา คือการโชว์ attitude หรือตัวตนของตัวเองที่ทำงานถ่ายรูป ไม่เคยคาดหวังกับการขายงาน แต่ถ้าขายได้ก็เป็นผลดี (ยิ้ม)

ผมต้องการแค่อยากให้มาดูงาน ดูว่าหกปีที่ผ่านไป ความสนใจของเราคืออะไร มันก็ยังพูดในเรื่องของเซ็กซ์อยู่ ในงานครั้งแรกก็มีเซ็กซ์ของเด็กนิวเจนฯ ครั้งนี้อาจจะให้ความสนใจเรื่องพรินต์ เรื่องของการโปรเซสมากกว่าคราวที่แล้ว ตอนนี้เราอาจจะโตขึ้น แต่ว่าหัวข้ออาจจะยังแรงอยู่ ทั้งที่จริงเรื่องพวกนี้มันก็มีอยู่นานแล้วนะ แค่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง หรือคนที่ออกมาพูดก็ไม่กล้าที่จะเปิดตัว

งานภาพถ่ายพอร์เทรท คุณให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด

เรื่องของอารมณ์ครับ อารมณ์ของคนที่ถูกถ่าย เพราะผมรู้สึกว่ารูปถ่าย เวลาเราดูในจอคอมพิวเตอร์มันจะแค่รู้สึกนิดหนึ่ง แต่เมื่อภาพถูกพรินต์เป็นภาพขนาดใหญ่ขึ้นมา พลังงานมันจะเยอะมาก ผมเคยไปดูงานพอร์เทรทในแกลเลอรี ภาพวาดกษัตริย์หรือคนในราชสำนักที่มีขนาดใหญ่หน่อย จะเห็นแววตา ความรู้สึกในภาพ ตอนดูผมรู้เลยว่าตัวเองชอบทางนี้จริงๆ ภาพมันบอกถึงพลัง

เหมือนรูปของพี่ศักดิ์วุฒิ (วิเศษมณี) บุคคลในแต่ละภาพจะมีแววตาที่เต็มไปด้วยพลัง เราจะดึงตรงนั้นออกมาอย่างไรในภาพถ่าย ผมมาทางสายบันเทิง เวลาถ่ายภาพพีอาร์มักจะเป็นภาพยิ้ม ยิ้มแบบคอมเมอร์เชียล แต่เราอยากได้ยิ้มที่มันจริงใจและเป็นเขาจริงๆ  เวลาคนยิ้มจริงใจมากๆ แววตามันบอกถึงความรู้สึกได้ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ถึงผมถ่ายงานแฟชั่น แต่ผมก็อยากให้มันมีเรื่องของอารมณ์ออกมา

เคยรู้สึกว่าการถ่ายภาพดารานักแสดงสมัยนี้เป็นเรื่องยากขึ้นไหม

มันไม่ยากหรอก แต่ว่ามันเริ่มที่จะมี…เขาเรียกอะไรละ ยุคสมัยมันเปลี่ยน การที่ทุกคนมีกล้องถ่ายรูปในมือถือหรือโลกโซเซียลส่วนตัว เขาจะมีความเชื่อของตัวเองแบบที่ว่า เขาเป็นอย่างนี้แล้วเขาจะดูดี

คือมีมุมสวยมุมหล่อของตัวเอง

ใช่ กลายเป็นว่าคุณมีหน้านี้หน้าเดียว ไม่ว่าจะไปถ่ายสื่อที่ไหนคุณก็โพสหน้านี้หน้าเดียว นี่แหละปัญหา มันไม่ใช่ปัญหาว่าถ่ายยาก แต่เป็นปัญหาเรื่องของความเชื่อ

อาจจะเป็นไปได้ว่าเราไม่เจ๋งพอที่เขาจะเชื่อใจ ไม่เปิด ไม่กล้าทำ อยากให้เราถ่ายแต่ในมุมมองของเขา อันนี้ละที่เป็นปัญหา จริงๆ แล้วทุกคนถ่ายอย่างไรก็สวยได้ แต่เวลาไปเจอดาราบางคนที่เขาเชื่อใจ เขาจะส่งพลังกลับมาแบบสนุกน่ะ แต่ก่อนผมใช้พลังงานในการทำงานเยอะ ทั้งกระตุ้น ทั้งส่ง เดี๋ยวนี้ก็ต้องเริ่มหาแนวทางใหม่ๆ

ในอนาคตคิดอยากทำอะไรอีกไหม นอกเหนือจากการถ่ายรูป ทำงานศิลปะ เลี้ยงหมา และมีลูก

ผมอยากมีร้านอาหารกับบาร์เล็กๆ เป็นของตัวเอง แบบบาร์ญี่ปุ่นเล็กๆ มีห้าคนนั่ง (ยิ้ม) ผมน่ะเพี้ยน เคยนั่งคิดว่าอยากเป็นพนักงานร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ขายของในร้านตอนดึกๆ ได้เจอคนแปลกๆ หรือบางทีก็อยากเป็นพนักงานอัดรูป ใครไปเที่ยวไหนมา เวลาเราอัดรูปเราก็จะได้เห็น เหมือนในหนังเรื่อง The Final Cut ตัวละครเป็นพนักงานล้างรูปในบูธ มีอยู่ครอบครัวหนึ่งที่พนักงานคนนี้เห็นตั้งแต่เขาเริ่มจีบกัน จนวันหนึ่งแต่งงาน มีลูก เขาก็เอารูปมาแปะติดไว้ เหมือนคนโรคจิต

นึกภาพออกไหมครับ ทำงานในห้องมืดอยู่ในร้านปิดเงียบ แล้วเราได้เห็นคน เห็นสถานที่ต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องออกไปไหน (หัวเราะ) โอ๊ย…อีกหลายอย่างที่อยากทำ

แล้วยังมีเรื่อง photobook ทำมืออีกที่อยากทำ คิดไว้ว่าจะทำหลังจากแสดงงานนี้เสร็จ เป็น photobook ที่ผมอยากรวบรวมเอางานเด็กๆ น้องๆ แล้วมาประกอบกัน ใช้ชื่อหนังสือว่า ‘First Light แสงแรก’ และพลิกอีกหน้าเป็น ‘Last Light แสงสุดท้าย’ ใช้เล่นคำแบบนั้น

ตั้งใจจะทำขายในเทศกาลหนังสือทำมือช่วงเดือนกันยายนนี้ครับ  

Fact Box

ช่างภาพวัย 40 เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรม (ปัจจุบันคือ คณะศิลปะและการออกแบบ) มหาวิทยาลัยรังสิต

เริ่มงานอาชีพช่างภาพที่นิตยสาร Katch ในสังกัดของ Bakery Music ก่อนออกมารับงานอิสระ ถ่ายภาพแฟชั่นให้กับนิตยสารชั้นนำหลายเล่ม อาทิ Harper’s Bazaar, Wallpaper, Seventeen, ELLE ฯลฯ และกลับเข้าทำงานประจำอีกครั้งที่บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด  

ปัจจุบัน คเชนทร์เป็นบรรณาธิการภาพของสื่อในเครือ เดย์ โพเอทส์ (a day / a day Bulletin / HAMBURGER) และเป็นช่างภาพแฟชั่นประจำ HAMBURGER

นิทรรศการภาพถ่าย Merge ของคเชนทร์ วงศ์แหลมทอง จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 ถึง 26 สิงหาคม 2561 ที่ YELO House

Tags: , , , , , , ,