ครั้งหนึ่ง การคิดค้นพลาสติกเคยเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลก และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยต่อยอดเทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แต่กระแสการลดใช้พลาสติกแล้วหันมาใช้ถุงผ้ากำลังเป็นที่นิยม จน ‘พลาสติก’ เริ่มถูกมองเป็นตัวร้าย แปรผันไปตามวิกฤตสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะทะเล

แต่แม้การลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (single-use) เป็นเรื่องจำเป็น เราต่างรู้กันอยู่แก่ใจว่าแค่นี้คงไม่พอ เพราะเราแทบเลี่ยงการใช้พลาสติกไม่ได้เลย เราใช้พลาสติกทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ ทั้งแบบที่มองเห็นและมองไม่เห็นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงคือ การจัดการระบบแยกทิ้งขยะ และหาทางทำให้สามารถนำพลาสติกกลับมารีไซเคิล นำเข้าสู่ระบบการผลิตได้อีกครั้ง เพื่อให้เหลือขยะตกค้างให้ลดน้อยลงที่สุด ตามหลักคิดแบบ circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

แต่เรื่องไม่ได้ง่ายแบบนั้น นอกจากปัญหาที่เรายังไม่มีระบบแยกขยะกันจริงจังแล้ว เวลานี้ การใช้งานพลาสติกผ่านรูปแบบแพ็คเกจจิงหรือสิ่งของต่างๆ ก็ไม่ใช่ทุกแบบที่จะสามารถรีไซเคิลได้

สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นตัวผลักดันให้ต้องพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งาน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าเดิม ซึ่งดูเหมือนว่า ความท้าทายนี้ล้วนอยู่ในใจผู้ผลิตพลาสติกแทบทุกราย ที่มาเข้าร่วมงาน K2019 งานประชุมทางการค้าด้านพลาสติกและยางที่มีบรรษัทและนวัตกรเข้าร่วมประชุมมากที่สุดในโลก

‘พลาสติกสร้างอนาคต’ ธีมหลักของงานท่ามกลางกระแสลดใช้พลาสติก

งาน K 2019 จัดขึ้นเมื่อว้นที่ 16 – 23 ตุลาคม 2562 ที่ดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เป็นงานที่ภาคอุตสาหกรรมจะนำนวัตกรรมที่ตัวเองคิดค้นหรือกำลังทดลองมาแชร์ไอเดียและหาความร่วมมือ โดยงาน K จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1952 และจะจัดขึ้นทุกๆ สามปีที่เมืองนี้

ทั้งนี้ วัสดุที่เป็นพระเอกตลอดกาลของอุตสาหกรรมด้านวัสดุ ก็คือ พลาสติกและยาง จนมีแท็กไลน์ว่า Plastics Shape the Future หรือ พลาสติกสร้างอนาคต ที่ฟังแวบแรกแล้วอาจรู้สึกสวนกระแสโลกปีนี้ ที่กำลังวิตกกับปัญหาขยะทางทะเลจนมาสู่การรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด

The Momentum เข้าร่วมงานประชุมทางการค้า K2019 ครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนโดยเอสซีจี งานใหญ่นี้แบ่งพื้นที่งานออกมามากถึง 19 ฮอลล์ โดยฮอลล์ที่คึกค้กที่สุดอยู่ที่ฮอลล์ 6 ซึ่งมีโชว์พิเศษที่เล่านวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และทีมผู้บริหาร ก็ไปร่วมแสดงเปิดบูทแสดงนวัตกรรมด้วย

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า งาน K2019 เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง โดยปีนี้ บูทของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เล่นกับธีม ‘Passion for a Better World’ ซึ่งบอกถึงหลักคิดพื้นฐานที่คาดหวังให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มเคมีภัณฑ์นี้ช่วยทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยสายเคมีภัณฑ์เองก็มีทีมนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทาง สร้างสิ่งของที่เมื่อใช้งานแล้วสามารถนำกลับเข้าสู่ระบบการผลิตได้อีกครั้งตามหลัก circular economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน

ดังนั้น โจทย์ของคนทำงานสายเคมี โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านพลาสติก จึงกำลังคิดหนัก ที่จะผลิตสินค้าที่ทนทานเพื่อจะได้ reuse หรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานๆ และเมื่อจำเป็นจะต้องทิ้งแล้ว ก็ให้สิ่งของนั้นสามารถนำกลับมา recycle ได้ใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จได้ก็ต้องจับมือกันหลายส่วน ที่ช่วยกันแยกขยะจากครัวเรือน และต้องเรียกร้องให้มีระบบจัดการขยะที่ดี เพื่อเก็บกวาดของที่ไม่ใช่แล้วเข้ามาสู่ระบบใหม่ได้สำเร็จเต็มกระบวน

โจทย์ของคนทำงานสายเคมี โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านพลาสติก จึงกำลังคิดหนัก ที่จะผลิตสินค้าที่ทนทานเพื่อจะได้ reuse หรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานๆ และเมื่อจำเป็นจะต้องทิ้งแล้ว ก็ให้สิ่งของนั้นสามารถนำกลับมา recycle ได้ใหม่

Post-consumerism กับนิยาม Food Grade ความท้าทายของงานรีไซเคิล

พลาสติกที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาหลอมคืนเป็นเม็ดพลาสติกแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ธนวงษ์ ยกตัวอย่างฝาขวดพลาสติก ว่าสามารถนำมารีไซเคิลให้มันมาเกิดใหม่เป็นฝาขวดได้อีก ซึ่งตอนนี้สามารถทำได้โดยใช้พลาสติกที่ใช้แล้ว 30% มาผสมกับพลาสติกเวอร์จิ้น ซึ่งบริษัทระดับโลกพยายามตั้งมาตรฐานให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลที่ 30% และกำลังพยายามผลักดันให้ดันไปถึง 50%

ทั้งนี้ พลาสติกรีไซเคิลก็มีมาตรฐานหลากหลายประเภท เช่นพลาสติกที่ชาติที่แล้วเคยเป็นขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ หรือผงซักฟอก แกลลอนน้ำมันเครื่อง พลาสติกเหล่านี้เมื่อนำมารีไซเคิล ก็จะไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน Food Grade หรือเป็นพลาสติกที่สามารถนำมาสัมผัสอาหารได้ นั่นจึงเรียกร้องขั้นตอนการแยกขยะ ที่จะต้องพิถีพิถัน ที่ก่อนนำไปรีไซเคิลก็จำเป็นต้องรู้อดีตของพลาสติกใช้แล้วแต่ละชิ้น

“เม็ดพลาสติกแบบเวอร์จิ้น (หรือแบบใหม่) มันเป็นฟู้ดเกรดอยู่แล้ว แต่สำหรับเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ความยากคือจะแยกขยะอย่างไร และจะมีวิธีทำความสะอาดอย่างไร ที่จะสามารถการันตีได้ กระบวนการกว่าที่จะผ่านเป็นฟู้ดเกรดได้มันต้องใช้เวลา นี่เป็นความยากของการเป็นพลาสติกฟู้ดเกรด”

ธนวงษ์ย้ำว่า “ปัญหาใหญ่ที่ผมบอกก็คือเรื่องแยกขยะ พลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ ถ้ามันอยู่ถูกที่ มันจะไม่เรียกว่า ‘ขยะ’”

ซองแชมพูนั้นง่ายๆ ที่ยากคือ ถุงมันฝรั่งกรอบและถุงกาแฟ

แต่การจัดการขยะโดยเฉพาะขยะแพ็คเกจจิงที่อยู่ใกล้ตัวเรานั้น จะจัดการอย่างไร คนมักพูดกันถึงสองทางหลักๆ แบบแรก คือ นำขยะมารีไซเคิล และแบบสอง เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้เพื่อให้มันละลายกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่พลาสติกที่เราใช้งานกันอาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้

แต่พลาสติกหีบห่อเหล่านี้ที่ถูกออกแบบมาใช้บรรจุสิ่งของ ต่างก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป มันไม่ใช่แค่ตัวห่อหุ้มเท่านั้น แต่มันยังต้องทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันหรือเป็น ‘แบร์ริเออร์’ (barrier) ป้องกันอากาศและของเหลวจากภายนอกไม่ให้ซึมผ่านแบร์ริเออร์เหล่านี้ แพ็คเกจจิงจำนวนมากจึงไม่ได้เป็นพลาสติกล้วน แต่ต้องเคลือบไปกับโลหะ เช่น อะลูมิเนียม ดังเช่นซองมันฝรั่งทอดที่เราเห็นผิวด้านในเป็นสีเงินวาว คือเป็นหีบห่อที่ใช้วัสดุผสมหลายอย่าง หรือ multi-material อะลูมิเนียมบนซองมันฝรั่งนั้นช่วยเก็บความกรอบให้มันฝรั่งทอดมีชีวิตอยู่บนชั้นวางสินค้าได้ระยะหนึ่ง

“แบร์ริเออร์ทำหน้าที่ป้องกันบรรยากาศข้างนอกไม่ให้ไปยุ่งกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ข้างใน ของข้างนอกที่ระวังกันก็คือ ออกซิเจน กับ น้ำ ว่าจะทำอย่างไรที่จะป้องกันได้มากที่สุด วัตถุประสงค์ก็คือการสร้าง shelf life หรือทำให้ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคสามารถวางขายได้นานกว่าเดิม” สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และหัวหน้าสายงานเทคโนโลยี อธิบายให้เราฟัง

สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และหัวหน้าสายงานเทคโนโลยี

“สิ่งที่แข่งกันอยู่นั้น พูดง่ายๆ อย่างซองกาแฟนั้น แบร์ริเออร์จะต้องป้องกันให้ดีมากเลย ไม่ให้ทั้งน้ำเข้า และไม่ให้ออกซิเจนเข้า ไม่งั้นกลิ่นกาแฟมันจะเพี้ยน แต่ถ้าเป็นซองแชมพู มันอาจจะป้องกันแค่ออกซิเจนก็พอ น้ำนั้นไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวยังไงแชมพูก็ต้องผสมน้ำเวลาสระผมอยู่แล้ว” สุรชากล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรจุภัณฑ์หีบห่อส่วนใหญ่ จึงเป็นพลาสติกที่ประกอบจากชั้นฟิล์มหลายชั้นประกบกัน และเมื่อชั้นที่เคลือบเหล่านั้นมาจากวัสดุหลากหลาย ก็สร้างปัญหาตามมา เพราะแม้ครัวเรือนจะแยกทิ้งและทำความสะอาดแล้ว แต่เมื่อมันทำมาจากวัสดุมัลติแมททีเรียล จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ความท้าทายเวลานี้คือ หากจะผลิตพลาสติกที่นำมารีไซเคิลได้ ก็ต้องทำให้ฟิล์มทุกๆ ชั้นมาจากวัสดุเดียวกัน หรือเป็น mono-material packaging

“เมื่อคุณดูถุงพลาสติกที่เป็นแพ็คเกจ มันจะมีของหลายแบบมาก บางอันมันเป็นมัลติแมททีเรียล ซึ่งตอนนี้ก็พยายามเปลี่ยนให้มันเป็นโมโนแมททีเรียล เพื่อที่เวลารีไซเคิลจะได้ไม่ต้องมาแยกให้มันวุ่นวาย” สุรชากล่าว

ในงาน K-2019 ครั้งนี้ เอสซีจีได้พัฒนาพลาสติกที่เป็น mono-material packaging เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย โดยใช้สารเติมแต่ง CIERRA® – Barrier ซึ่งเอสซีจีพัฒนาขึ้นสำหรับทดแทนพลาสติกแบบมัลติเลเยอร์ ที่มักเคลือบชั้นฟิล์มด้วยอะลูมิเนียมเพื่อป้องกันไม่ให้ออกซิเจนและน้ำผ่าน

สุรชากล่าวว่า ตอนนี้ สายเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีสามารถผลิตโปรโตไทป์หรือตัวอย่างพลาสติกแบบโมโนแมททีเรียลได้แล้ว โดยมีแบร์ริเออร์ระดับ very high แต่ยังไปไม่ถึงระดับ ultra high ที่จะใช้งานกับผลิตภัณฑ์อย่างกาแฟ เรียกได้ว่าถ้านำไปใช้ ผลิตภัณฑ์ภายในก็จะเสี่ยงกับความชื้นอยู่

“ถ้าพัฒนาโมโนแมททีเรียลได้ มันจะเปลี่ยนโลกของแพ็คเกจจิงไปเลย” นิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี ธุรกิจโพลีโอเลฟินส์และไวนิล ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าว เขาอธิบายยกตัวอย่างซองมันฝรั่งทอดที่เก็บให้กรอบรสชาติใหม่เสมอ เพราะที่ซองมีโลหะที่เคลือบบนพลาสติก เป็นนวัตกรรมที่คุณภาพดี ราคาถูก สะดวก แต่ไม่ดีต่อโลก ขณะที่แพ็คเกจจิงแบบกระป๋องนั้นมีราคาแพงกว่า แต่ก็สามารถนำมารีไซเคิลได้

สุรชา เสริมความเห็นเรื่องนี้ว่า เวลาที่คิดเรื่องนวัตกรรมวัสดุ นอกจากเรื่องการทำให้มันรีไซเคิลได้แล้ว ยังต้องคำนึงเรื่องประสิทธิภาพ และคาร์บอนฟุตปรินท์ด้วย เช่นหากจะเปลี่ยนจากพลาสติกมาใช้วัสดุธรรมชาติแทน เช่น แก้ว แต่สิ่งที่ต้องแลกคือ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น นั่นแปลว่าก็จะมีต้นทุนการขนส่งก็จะเพิ่มขึ้น และนำมาสู่คาร์บอนฟุตปรินท์ที่เพิ่มตามไปด้วย

เราสงสัยว่า แล้วอย่างประเทศที่ได้ชื่อว่ารีไซเคิลกันเก่งมากๆ นั้น ซองมันฝรั่งทอดเคลือบเงา เขาทำกันอย่างไร “ก็ยังแยกชั้นมารีไซเคิลไม่ได้นะ” นิวัฒน์ตอบ “รีไซเคิลไม่ได้ แล้วสุดท้ายคือแยกไปเผา เป็นวิธีที่ดีที่สุดตอนนี้ แม้จะไม่ใช่ทางออกที่ดีแต่มันก็ดีกว่าการฝัง” พร้อมเสริมว่า ปัญหาของการฝังในบ้านเรานั้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังทำได้ไม่ดี ด้วยสภาพอากาศชื้นฝน การฝังขยะไม่เกินสิบปีก็จะถูกชะล้างลงแม่น้ำแล้วไปสู่ทะเลในที่สุด

ข้อคิดที่ต้องทบทวน ในเรื่องไบโอดีเกรดเดเบิล

นิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ อธิบายว่า พลาสติกมีเกรดหลากหลาย นอกจากลักษณะของฟิล์มที่เอามาประกอบเป็นแพ็คเกจจิงแล้ว ยังมีดีเทลอย่างเช่น แสงผ่านได้แค่ไหน เก็บกลิ่นได้ขนาดไหน ฯลฯ นอกจากนี้ เวลานี้ยังมีความไม่เข้าใจ ความหมายของคำว่า พลาสติกชีวภาพ และคำว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้

“คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า biopolymer หรือ bioplastic (พลาสติกชีวภาพ) กับ biodegradable (พลาสติกที่ย่อยสลายได้)”

“ไบโอโพลีเมอร์ ก็คือพลาสติกปกตินั่นเอง เพียงแต่ทำมาจาก renewable sources คือ ไม่ได้ทำมาจากน้ำมันหรือปิโตร แต่มาจากการปลูกพืชแล้วนำพืชนั้นมาผ่านกระบวนการ แล้วกลายเป็นโพลีเมอร์ หรือกลายเป็นพลาสติกหรือโพลีเอทิลีนปกติ พลาสติกประเภทนี้ก็จะรีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้ตามปกติ แต่มีปัญหาว่า ต้นทางต้องไปปลูกพืช ต้องไปแย่งน้ำ”

“ส่วน biodegradable (พลาสติกที่ย่อยสลายได้) หรือคล้ายๆ กับ biocompostable นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหา ซึ่งเป็นวัสดุที่บางประเทศแบนแล้ว เพราะปลายทางเป็นพลาสติกชนิดใหม่ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ลองนึกถึงว่าเราเก็บขยะมาเต็มเลยแล้วมีไบโอดีเกรดเดเบิลปนเปื้อนก็จะลำบาก” นิวัฒน์กล่าว

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายลักษณะนี้ เช่นที่ครั้งหนึ่งเคยมีความพยายามทำถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ จึงมีถุงพลาสติกบางประเภทที่เก็บไว้สักพักแล้วมันจะกลายสภาพเปื่อยยุ่ย ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะแต่ก่อนเราคิดว่ามัน compost หายไป เข้าใจว่ามันสลายหมดสิ้น แต่จริงๆ แล้วมันไม่หาย มันแค่เล็กลงแบบที่ตาเรามองไม่เห็น และเมื่อกลายเป็นขยะ พอลงทะเลไปแล้วมันจะกลายเป็นเศษเล็กๆ

“ตามหลักการแล้ว พลาสติกแบบไบโอดีเกรดเดเบิลจะย่อยสลายได้เมื่อไปทิ้งไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งอนุภาคพลาสติกจะไม่หายจนกว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่หากมันหลงไปลงทะเลเมื่อไร ก็จะคงสภาพเป็นเม็ดเล็กๆ ไปตลอดกาล ไม่ย่อยสลาย” นิวัฒน์กล่าว

“แม้ของดี แต่กระบวนการไม่ดี ก็จะปลายทางไม่ดี ของดีในกรณีนี้หมายถึงของที่รีไซเคิลได้ กระบวนการที่ดีก็คือ waste management ซึ่งบ้านเรากระบวนการไม่ดี คือของปนมั่ว ก็จะรีไซเคิลไม่ได้”

ลดสัดส่วนเม็ดพลาสติกสำหรับ single-use

 พลาสติกมีหลายเกรด ซึ่งเมื่อเทรนด์ตลาดเปลี่ยนไป สัดส่วนของธุรกิจที่ทุ่มให้กับการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวก็ลดลงด้วย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีนโยบายลดสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว (single-use) มาอย่างต่อเนื่อง โดยลดจากร้อยละ 46 ในปี 2551 และมีเป้าหมายลดลงเหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2563

ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกประเภทคงทน (durable plastic) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้า HVA (high value added – สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม)

เราถามว่า ถ้าเน้นพลาสติกแบบใช้ทน แปลว่าจะขายเม็ดพลาสติกได้น้อยลงหรือไม่ ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีตอบว่า การพัฒนาคุณภาพต่างหากที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้สินค้าได้ และแนวทางนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้าและลูกค้าแล้ว และยังหวังว่าจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าวัสดุประเภทอื่นๆ

“เอสซีจีมีงานวิจัยและพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยในปี 2561 เอสซีจีลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 4,600 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในธุรกิจเคมิคอลส์ ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากว่า 2,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของเอสซีจี มีบุคลากรด้าน R&D กว่า 690 คน โดยมีแนวทางการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาในหลายรูปแบบ ได้แก่ การคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง การร่วมมือกับคู่ค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ” รุ่งโรจน์กล่าว

ทีมผู้บริหารธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี (จากซ้ายไปขวา: ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ, รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส, สุรชา อุดมศักดิ์, ธนวงษ์ อารีรัชชกุล, ชลณัฐ ญาณารณพ และมงคล เฮงโรจนโสภณ)

 

* The Momentum เข้าร่วมการดูงานครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจี

Fact Box

  • งาน K 2019 เทรดแฟร์ที่ว่าด้วยนวัตกรรมด้านวัสดุ โดยเฉพาะพลาสติกและยาง จัดขึ้นเมื่อว้นที่ 16 - 23 ตุลาคม 2562 ที่ดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ในแต่ละปีจะมีบริษัทต่างๆ มากกว่า 3,330 แห่งทั่วโลกที่มาออกบูทที่กินพื้นที่ทั้งหมด 19 ฮอลล์ บน 178,000 ตารางเมตร เพื่อเผยนวัตกรรมใหม่ๆ และถือเป็นหนึ่งในงานเทรดแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

Tags: , , , , ,