“แกยังใช้ Window 95 อยู่ปะล่ะ”

ประโยคสะดุดหูในภาพยนตร์โฆษณาเปิดตัวแอปพลิเคชัน K PLUS ใหม่ ที่ตัวละครโต้ตอบการตัดพ้อของอีกฝ่าย เมื่อคนที่คุ้นเคยเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ ทำให้เราย้อนคิดถึงวันที่มะงุมมะงาหราอยู่หน้าจอวินโดว์เวอร์ชันใหม่ๆ หรือการเพิ่งเริ่มใช้แอปอะไรเป็นครั้งแรก

แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราต้องเริ่มร่วมเรียนรู้ใหม่ไปด้วยกัน ก็เพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิม เหมือนกับแอป K PLUS ที่วันนี้หน้าตาเปลี่ยนไปทุกส่วน

#เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น

เวอร์ชันใหม่ของแอป K PLUS เปิดให้ลูกค้าทั่วไปได้อัพเดทตั้งแต่บ่ายสองโมงของวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สิ่งแรกที่สะดุดตา คือ โลโก้ใหม่ และถ้าได้ทดลองเข้าไปในแอป จะเห็นว่า เปลี่ยนไปเยอะ และอาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคย (ในช่วงแรกๆ)

การเปลี่ยนระบบทำธุรกรรมด้วยแอปนี้เป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญ แต่สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยของเวอร์ชันใหม่ ก็คือการเปลี่ยนจากแอปธนาคารให้เป็นแอปที่ใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน มีบริการอื่นๆ ที่ไปไกลกว่าธนาคาร และไม่จำเป็นต้องมาจากธนาคารกสิกรไทยเพียงอย่างเดียว ด้วยการเสนอฟังก์ชันด้านไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับผู้ใช้งานเป็นรายบุคคล (Personalization) ด้วย คอนเซปต์ ‘เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น’

“ความตั้งใจของเราก็เพื่อให้สะดวกสบาย แต่การใช้คำว่ารู้ใจ คำคำนี้ถ้าข้ามไปอีกนิดเดียว มันจะสร้างความรำคาญใจทันที เพราะฉะนั้นเราจะดูแลเส้นนี้ให้ดี ไม่พร่ำเพรื่อด้วยการขายของทุกอย่างให้ทุกคน เป็นแค่การอำนวยความสะดวกด้วยเทคโนโลยีเอไอเท่านั้น” พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย อธิบาย

พัชร เล่าต่อว่า ทุกวันนี้มีคนใช้งานแอป K PLUS ไปกับเรื่องไลฟ์สไตล์เพียง 1% ส่วน 99% ใช้งานธุรกรรมเป็นหลัก (125 ล้านรายการต่อเดือน)

เมื่อเปลี่ยนมาเป็น K PLUS เวอร์ชันที่ ‘โมหน้ามาใหม่’ นี้ ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้ไลฟ์สไตล์ขึ้นเป็น 5-10% ได้ภายในหนึ่งปี

สิ่งที่ K PLUS เวอร์ชันนี้ตีโจทย์ออกมาได้เป็นรูปธรรมสำหรับการเป็น Lifestyle App ที่ #เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น

โอนเงิน

K PLUS เวอร์ชันใหม่ ย้ายปุ่มโอนมาด้านซ้ายบนของตัวเลือกทั้งหมด ตามตำแหน่งที่สายตาของคนอ่านภาษาไทยจะโฟกัสไปเป็นจุดแรกโดยอัตโนมัติ

ที่ดีมากๆ สำหรับยุคแห่งการโอนเงินออนไลน์ก็คือ การโอนเงินผ่านแอป K PLUS ใช้  สลิปแบบใหม่ที่มี QR Code ทำให้ผู้รับโอนเอาไปเช็กได้ว่าตรงกับรายการใดที่ได้รับโอนมาจริงๆ และเป็นรายการใด ป้องกันการส่งสลิปปลอมที่ตัดต่อมาเนียนๆ ลอกเลียนลายน้ำของธนาคาร เพิ่มความปลอดภัยขึ้นอีกชั้น

เปิดใช้ผ่าน Wi-Fi ได้ตลอดเวลา

ฟังก์ชันนี้มีตั้งแต่ในแอปเวอร์ชันเก่า แต่หลายๆ คนไม่รู้ และเป็นฟังก์ชันที่ผู้ใช้เรียกร้องกันมานาน โดยเวอร์ชันใหม่มาพร้อมกับความรู้ใจชาวเน็ต คือ สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมากดใหม่ทุก 90 วัน และใช้ได้กับทุกธุรกรรม

ถอนเงินจากตู้โดยไม่ต้องใช้บัตร

ในที่สุด K PLUS ก็ผนวกตัวเองให้เชื่อมโยงกับการกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม แต่มาแบบเหนือชั้น เพราะไม่ใช่การคีย์ตัวเลขยืนยันรหัสให้ตรงกันอย่างเดียว แต่ใช้วิธีเปิดแอปแล้วส่องกล้องไปที่ QR Code ที่อยู่บนจอของเอทีเอ็ม เพื่อยืนยันว่าเจ้าของบัญชียืนอยู่หน้าตู้นั้นจริงๆ แล้วใส่ PIN เพื่อยืนยันอีกครั้ง

K+ Market ตลาดช้อปออนไลน์

และที่น่าจะโดนใจสายช้อปคือฟีเจอร์ K+ Market ตลาดออนไลน์ที่มีสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ดังต่างๆ ทั้งอาหาร แก็ตเจต บริการ ฯลฯ ที่เมื่อเราใช้งานไปเรื่อยๆ มันจะเรียนรู้และแนะนำสิ่งที่เราน่าจะสนใจได้ตรงใจในอนาคต แถมการซื้อผ่าน K+ Market ยังเปิดโอกาสให้เราเลือกระหว่างจ่ายด้วยการตัดเงินจากบัญชี หรือ ‘หักแต้มบัตรเครดิต’ ก็ได้ ผสานเอาบริการของธนาคารที่มีอยู่แล้วเข้ามาใช้ในแพลตฟอร์มใหม่ได้อย่างชาญฉลาด

เพิ่มบัตรสมาชิก

อีกส่วนที่โดดเด่นมากและลดปัญหาคนยุคนี้ที่มีบัตรสมาชิกเต็มไปหมด K PLUS ทำให้ง่ายขึ้นโดยสามารถเพิ่มบัตรสมาชิกมาใส่ในแอป ตอนนี้ที่ K PLUS ทำได้แล้วคือ เพิ่มบัตรสมาชิก The 1 Card และ PTT Blue card ซึ่งบอกรายละเอียดแต้มคงเหลือได้ชัดเจน และใช้ยื่นเพื่อรับส่วนลดแทนบัตรได้เลย แถมขั้นตอนผูกบัตรก็ง่ายดาย ไม่ต้องกรอกอะไรให้ยุ่งยาก

ไปให้ถึงฝัน 100 ล้านคน ด้วยคอนเซปต์ K PLUS Intelligence Platform

สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า การตั้งเป้าหมายขยายฐานผู้ใช้แอป จาก 9.4 ล้านคนในปัจจุบัน ให้เป็น 100 ล้านคน อาจจะดูไกล แต่เส้นทางที่จะทำให้เป็นไปได้ก็คือ ต้องออกแบบแอปให้ตอบสนองลูกค้าทุกด้าน กลายมาเป็นแนวคิดพัฒนาแอป K PLUS ให้เป็น ‘K PLUS Intelligence Platform’ ที่เน้นในสามด้านหลักๆ ได้แก่ บริการที่หลากหลายจากเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจต่างๆ, ง่ายและปลอดภัย และมีเอไอเป็นพื้นฐานของการบริการ

“ผมคิดว่า เอไอจะเป็นอาวุธสำคัญของคนที่ให้บริการในอนาคต ไม่ว่าจะธุรกิจอะไร” สมคิด กล่าว พร้อมแนะนำให้รู้จัก KADE (KPLUS AI-Driven Experience) หรือ ‘เกด’ ปัญญาประดิษฐ์ชื่อไทยๆ ที่พัฒนาโดย KBTG นำมาใช้เรียนรู้ ทำความรู้จักผู้ใช้งาน K PLUS เป็นรายบุคคล และในอนาคตอาจเป็นผู้ช่วยส่วนตัวได้เลย

“เกดจะเข้ามารู้จักเพื่อรู้ใจ เข้าถึงบริการใหม่ๆ ที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องเป็นบริการของกสิกรก็ได้ เพื่อไปตอบโจทย์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การท่องเที่ยว หรือการทำธุรกิจต่างๆ”

แต่ก็เหมือนคนเพิ่งรู้จักกัน บทสนทนาแรกๆ ที่เกดชวนเราคุยอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจจริงๆ แต่เมื่อรู้จักกันไปนานอีกนิด เกดก็จะเข้าใจเรามากขึ้น

เกดยังจะไปอยู่ในแอป K PLUS Shop แอปธนาคารสำหรับคนค้าขาย ที่เมื่อเกดได้เป็นลูกมือช่วยงานในร้าน ได้เห็นยอดขายและกระแสเงินสด ก็อาจมาช่วยคิดช่วยขาย เสนอสินเชื่อในช่วงที่ธุรกิจน่าขยายกิจการ และนำสินค้าของเราขึ้นไปสู่ K+ Market สู่สายตาคนที่น่าจะสนใจ เกดจึงแอบทำหน้าที่แม่สื่ออยู่กลายๆ

“คนมีเงินเยอะๆ อาจจะไปจ้างที่ปรึกษาทางการเงินได้ แต่อย่างพวกเรา จะบริหารเรื่องเงิน เราทำอย่างไร เราจึงสร้างเกดให้รู้จักคุณมากขึ้น อนาคตของเกดคือที่ปรึกษาทางการเงิน รู้เป้าหมายทางการเงินของคุณ แล้วแนะนำเรื่องการออมและการลงทุน”

สมคิดยังเผยฟีเจอร์อื่นๆ ในอนาคตที่ขณะนี้ยังทดสอบอยู่ในแล็บ อย่างการสั่งงานด้วยเสียงและการใช้ใบหน้าทำรายการโอนเงิน ซึ่งทำให้แอปใช้งานสะดวกขึ้น โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน อย่างการเติมบัตร easypass

ที่สำคัญ K PLUS จะต้องกลายเป็นแอประดับโลก  

“ถ้าไม่ฝัน เรื่องดีๆ มันก็ไม่เกิด” เขากล่าว

Fact Box

สถิติผู้ใช้ K PLUS

ข้อมูล255925602561
จำนวนผู้ใช้บริการ K PLUS (ล้านราย)4.67.39.4 (ก.ย.)
ปริมาณธุรกรรมผ่าน K PLUS (ล้านรายการต่อปี)1,6463,0523,634
(ม.ค.–ก.ย.2561)

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kasikornbank.com/kplus

Tags: , , , , , ,