ความต้องการรับประทานเมนูเด็ดร้านดังของชาวกรุงเทพฯ ได้รับการตอบสนองมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่สารพันแอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ผุดขึ้นมา ช่วยเชื่อมโยงการนำส่งจากมือปรุงถึงท้องหิวๆ โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาฝ่าอากาศร้อนหรือจราจรติดขัดไปซื้อด้วยตัวเอง

ยิ่งช่วงงานรัดตัวหรือขี้เกียจจ่ายตลาดทำกับข้าวด้วยแล้ว การรออยู่ที่ออฟฟิศ คอนโด หรือบ้านพัก ให้อาหารเดินทางมาหา ช่างเป็นเรื่องง่ายและแสนสบาย…ใครล่ะจะไม่ชอบ

แม้ยังจำกัดพื้นที่ให้บริการอยู่เฉพาะเขตเมืองใหญ่ แต่แอปฯ เหล่านี้ก็ขยายตัวเลือกร้านอาหารออกไปอย่างกว้างขวาง จากเดิมที่มีเฉพาะร้านใหญ่สาขาเยอะเท่านั้นที่ให้บริการเดลิเวอรี่ด้วยพนักงานของตัวเอง มาเดี๋ยวนี้พนักงานของแต่ละแอปฯ สามารถจัดส่งอาหาร ขนม และเครื่องดื่มหลากหลายชนิดจากภัตตาคาร ร้านในห้าง ไปจนถึงร้านเล็กข้างทาง

ฝั่งเราก็ได้สั่งอาหารกันอย่างเพลิดเพลิน ฝั่งร้านค้าก็ได้เพิ่มช่องทางการขาย ดูจะแฮปปี้ทุกฝ่าย เสียก็แต่เศษขยะกองย่อม ซึ่งขั้นต่ำอาจนับได้เกือบสิบชิ้นต่อหนึ่งความอิ่มของหนึ่งคน

เริ่มตั้งแต่ถุงหูหิ้วชั้นนอกสุด ทั้งกระดาษและพลาสติก ถัดมาคือกล่องบรรจุอาหาร อาจเป็นกระดาษเคลือบมัน พลาสติก โฟม บางทีก็รองแผ่นฟอยล์มาด้วย หากมีน้ำจิ้ม น้ำซุป น้ำกะทิ ต้องแยกมาในถ้วยพลาสติกพร้อมฝาปิดหรือถุงร้อนมัดหนังยาง ซอสหรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ในซองพลาสติกหรือซองฟอยล์ ปิดท้ายด้วยอุปกรณ์การกินอย่างช้อน ส้อม มีด ฯลฯ

เกือบทั้งหมดเป็นพลาสติกไม่ย่อยสลาย ส่วนใหญ่ถูกโยนโครมลงถังขยะ อาจมีบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์การกินบางชิ้นที่ผู้บริโภคบางรายเลือกหยิบขึ้นมาล้างทำความสะอาดเพื่อเก็บไว้ใช้ซ้ำ แต่หากประเมินกันตามตรงก็ยังเป็นสัดส่วนกระจิริด และอาจกลายเป็นของรกบ้านที่มีแต่จะเพิ่มพูน เพราะสั่งอาหารครั้งใหม่ก็ได้อีก…ได้อีก…ได้อีก

อาจมีบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์การกินบางชิ้นที่ผู้บริโภคบางรายเลือกหยิบขึ้นมาล้างทำความสะอาดเพื่อเก็บไว้ใช้ซ้ำ แต่หากประเมินกันตามตรงก็ยังเป็นสัดส่วนกระจิริด

ขยะพลาสติกที่มาพร้อมความสะดวกกินผ่านช่องทางสั่งอาหารออนไลน์ไม่ใช่ปัญหาของบ้านเราเท่านั้น หากดูเฉพาะประเทศจีนซึ่งสตาร์ตอัปในกลุ่มออนไลน์ฟู้ดเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมสูงสุด ข้อมูลของปี 2559 แสดงให้เห็นว่า ยอดการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่มากกว่าห้าล้านครั้งต่อวัน ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกพุ่งพรวดราวกับการเพิ่มประชากรสิ่งมีชีวิตแบบเอ็กซ์โพเนนเชียล (exponential growth) หรือเพิ่มในอัตราทวีคูณกันเลย

สำหรับกรณีนี้ อำนาจการลดละขยะพลาสติกแทบไม่อยู่ในมือเรา ต่างจากการซื้ออาหารกลับบ้านด้วยตัวเอง ที่เราสามารถหิ้วปิ่นโตหรือภาชนะส่วนตัวไปใส่ได้ เพราะนอกเหนือจากความอร่อย ผู้ประกอบการย่อมปรารถนาให้อาหารเดินทางถึงลูกค้าในสภาพน่ารับประทาน บรรจุภัณฑ์พลาสติกซึ่งค่อนข้างแข็งแรง น้ำหนักเบา ต้นทุนถูก จึงตอบโจทย์การใช้งานชั่วคราวอย่างพอดิบพอดี รวมไปถึงช้อนและส้อมที่มาให้พร้อมตักกิน

ส่วนการแยกขยะรีไซเคิล หากนึกภาพภูเขาขยะพลาสติกจากออนไลน์ฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน การจัดการที่ปลายทางเป็นเรื่องยากและเห็นผลช้าเข้าขั้น ‘ไม่ทันการณ์’ เนื่องจากมันประกอบด้วยพลาสติกหลายประเภท ไม่ใช่ทั้งหมดจะส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ หรือถึงรีไซเคิลได้ แต่ถ้าลุงซาเล้งที่ตระเวนแถวบ้านเราไม่รับซื้อก็จบ

…แล้วใครควรขยับเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่หลายพื้นที่ทั่วโลก (รวมทั้งเมืองไทย) ยังนิ่งเฉย ‘Just Eat’ ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารออนไลน์รายใหญ่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มเคลื่อนก้าวสีเขียวด้วยการประกาศลด-เลิกอุปกรณ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 หลังจากสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของนักกินเทค อะเวย์ ไม่ต้องการมีด ส้อม และช้อนพลาสติก รวมทั้งหลอด ซอสบรรจุซอง แถมยังยินดีให้ส่งอาหารโดยปราศจากข้าวของพวกนี้

เกรแฮม คอร์ฟิลด์ กรรมการผู้จัดการของ Just Eat ไม่เพียงรับรู้ว่า ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่กำลังก่อปัญหาในมหาสมุทร เป็นขยะจากการกินดื่มของผู้คน เขายังตระหนักด้วยว่า อำนาจการต่อรองกับร้านอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทางขยะพลาสติกก็อยู่ในมือของเขาเอง

“ในฐานะผู้นำตลาดของกลุ่มสั่งอาหารออนไลน์ เรากำลังจะผลักดันให้ร้านอาหารคู่ค้ารวมถึงกลุ่มลูกค้าปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

เขาวางแผนงานสามระยะที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนี้

ระยะสั้น – เลิกขายข้าวของพลาสติกใช้แล้วทิ้งจากร้านอาหารคู่ค้าของ Just Eat

ระยะกลาง – ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับร้านอาหารคู่ค้า 28,000 แห่งเพื่อลดการใช้พลาติก

และระยะยาว – ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนและสามารถรักษาความสดใหม่ของอาหารได้

งานแรกของแผนระยะยาวที่เริ่มแล้ว คือการร่วมมือกับสตาร์ตอัปในอังกฤษ ‘Skipping Rocks Lab’ ผลิตซองบรรจุซอสหรือซองเครื่องปรุงจากส่วนประกอบของสาหร่ายทะเล ซึ่งสามารถกินได้และย่อยสลายได้ภายในหกสัปดาห์ เพื่อทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง โดยจะนำร่องใช้งานจริงกับร้านอาหารคู่ค้าบางแห่งในเร็วๆ นี้

ทั้งหมดสะท้อนว่า การเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจบริการสั่งและจัดส่งอาหารออนไลน์ของ ‘Just Eat’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ได้รับความนิยมจากลูกค้ามาก หรือผลประกอบการดีเยี่ยม แต่ยังหมายรวมถึงความกล้าหาญที่จะก้าวออกมาทำสิ่งที่ควรจะทำ เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่น (โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน) ลงมือหรือขยับเดินตามด้วย

นอกจากภาคเอกชนตื่นตัวแล้ว ภาครัฐยังใส่ใจเรื่องนี้ไม่แพ้กัน

เพราะในวันเดียวกันนั้น ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ก็เขียนจดหมายถึงบริษัทเจ้าของแอปฯ สั่งอาหารออนไลน์รายใหญ่ๆ เพื่อขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการให้ช่วยกันลดการสร้างขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย

…รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งต้องรับภาระจัดการขยะโดยตรงก็เป็นอีกตัวละครที่เหมาะจะเป็นผู้ก่อการ

หรือถ้าใครๆ เงียบกริบกันหมด ผู้บริโภคตัวเล็กคงต้องเป็นฝ่ายรวมพลังริเริ่มอะไรบ้าง

รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่อย่างน้อยที่สุด หากสามารถเรียกร้องให้แอปฯ สั่งอาหารในบ้านเรามีช่องกดเลือก ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ บรรดาช้อน ส้อม มีดพลาสติก ตะเกียบ หลอด ฯลฯ ได้สำเร็จ เหมือนกับที่แอปฯ Just Eat ของลอนดอนมี ก็จะถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากทีเดียว

Tags: , , , , ,