หากพูดถึงสตาร์ตอัปแนวเทคโนโลยีในทวีปแอฟริกาหลายคนคงพูดว่าไม่รู้จัก หรือบางคนอาจคิดเลยเถิดไปว่ามีด้วยหรือ คำตอบคือมีและปรากฎการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาคือมีเทคโนโลยีสตาร์ตอัปจากทวีปแอฟริกาที่ชื่อ Jumia เสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มีชื่อลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (!) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เลยทีเดียว

Jumia เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) หรือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายของออนไลน์คล้ายแอมะซอนเวอร์ชันทวีปแอฟริกา บริษัทดำเนินงานอยู่ใน 14 ประเทศของทวีปแอฟริกาโดยที่ตลาดหลักอยู่ในประเทศอียิปต์ โมร็อกโก ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ เคนยา และไอวอรีโคสต์ มีพ่อค้าแม่ค้าในแพลตฟอร์มอยู่ประมาณ 80,000 ราย โดยที่ส่วนหนึ่งอาศัยเครดิตที่ Jumia ปล่อยให้กับร้านค้าเหล่านี้เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ สาเหตุที่ Jumia ต้องช่วยก็เพราะว่าไม่มีแหล่งเงินจากธนาคารให้ร้านค้าเหล่านี้ได้กู้ยืม

แพลตฟอร์ม Jumia ถูกก่อตั้งขึ้นโดยอดีตที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสจากบริษัทชื่อดังอย่าง McKinsey และได้เงินลงทุนสนับสนุนจากนักลงทุนชื่อดังหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Rocket Internet จากเยอรมัน บริษัทการสื่อสารในแอฟริกาใต้อย่าง MTN บริษัทประกันภัย AXA จนถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่าง Goldman Sachs ปัจจุบันถึงแม้ว่าตลาดและลูกค้าส่วนใหญ่ของ Jumia จะอยู่ในทวีปแอฟริกาแต่ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า Jumia ถือเป็นสตาร์ตอัปของแอฟริกาจริงหรือไม่ เพราะว่าด้วยโครงสร้างการทำงานปัจจุบันที่บริษัทมีทีมงานหลักด้านเทคโนโลยีอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส แถมผู้บริหารระดับสูงยังอาศัยอยู่ที่ประเทศดูไบ จึงทำให้หลายคนอาจมองว่า Jumia เอารัดเอาเปรียบประชาชนหรือทรัพยากรในทวีปนี้ Sacha Poignonnec Co-CEO ของบริษัทได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าตัวเองตั้งใจจริงที่จะสร้างแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์และก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจร้านค้าและผู้บริโภคในพื้นที่แถบนี้

เมื่อมองที่โมเดลธุรกิจของ Jumia ซึ่งเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด หากมองไปที่พี่ใหญ่อย่างแอมะซอนที่ IPO ในประเทศสหรัฐอเมริกาไปในปี 1997 หรือกว่า 22 ปีที่แล้ว หรือพี่รองอย่าง Alibaba ที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกันโดยเริ่มจากประเทศจีนก่อนได้ IPO ไปใน 2014 หรือประมาณ 5 ปีที่แล้ว ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ส่วนในตลาดที่น่าจับตาอีกตลาดหนึ่งคืออินเดียที่ยังไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นผู้ยึดครอง ตอนนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างยักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอนและ Flipkart ที่โดนซื้อหุ้นไปโดย Walmart คู่รักคู่แค้นด้านค้าปลีกของแอมะซอนจากอเมริกาที่ตามมาแข่งขันถึงอินเดีย ในส่วนของ Jumia นั้นต้องยอมรับว่าอาจเป็นม้านอกสายตาของตลาด อีคอมเมิร์ซในเวทีโลกด้วยขนาดของบริษัทเอง สภาพตลาด และโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคที่ยังด้อยกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอื่นของโลก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจของ Jumia คงหนีไม่พ้นจำนวนผู้บริโภคที่จะเข้ามาในเว็บไซต์และจำนวนร้านค้าที่มาขายของในแพลตฟอร์มนี้ แนวโน้มสำคัญคือใน 14 ประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่มีประชากรรวมกันประมาณ 700 ล้านคน และโดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดค่อนข้างสูง ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งจากสถิติพบว่าหากสมมติว่าในพื้นที่ sub-Sahara ของทวีปแอฟริกามีประชากรอยู่ 100 คน จะพบว่าประชากรครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 19.5 ปี

นอกจากนี้ Poignonnec ยังกล่าวอีกว่าในตลาดของเขา ปัจจุบันมีคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ประมาณ 400 ล้านคน ในปีที่แล้วมีผู้บริโภคที่ใช้แพลตฟอร์มเขาอยู่เพียง 4 ล้านคน ถือได้ว่ายังมีโอกาสขยายธุรกิจของ Jumia อีกหลายเท่าในช่วงปีข้างหน้า แต่ปัจจัยสำคัญที่ Jumia อาจจะควบคุมไม่ได้คือประชากรส่วนใหญ่เหล่านี้จะมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยบนแพลตฟอร์มของ Jumia หรือไม่ ตัวอย่างเช่นแค่ในประเทศไนจีเรียประเทศเดียวมีประชากรเกือบ 90 ล้านคนที่อยู่ในสภาพยากไร้เป็นจำนวนมากที่สุดในโลกใบนี้

ปัจจัยอีกด้านหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจของบริษัทคือพฤติกรรมหรือแนวความคิดในการซื้อของออนไลน์ของผู้บริโภค ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนามักเจอกับอุปสรรคนี้ที่ผู้บริโภคกลัวโดนหลอก ซื้อสินค้าแล้วของไม่มาส่งทำให้เสียเงินไป หรือของที่ซื้อไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณาไว้ในเว็บไซต์ ช่องทางการจ่ายเงินที่เรียกว่า cash on delivery ได้ถูกคิดค้นเพื่อนำมาตอบโจทย์นี้โดยผู้ซื้อของยังไม่ต้องจ่ายเงินจนกว่าของจะมาส่งถึงที่ อย่างไรก็ตามแนวความคิดนี้ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากระบบการจัดการและโครงสร้างการคมนาคมที่ยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะในเมืองไคโรประเทศอียิปต์ หรือ เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ที่มีการจราจรติดขัดอย่างหนัก การส่งสินค้าล่าช้าจากเวลาที่นัดหมาย หรือส่งผิดแทบจะกลายเป็นเรื่องที่คนซื้อของบน Jumia พบเจอได้เรื่อยๆ

ในระหว่างที่ Jumia ยังต้องปรับปรุงและแก้ไขวิธีการดำเนินงานในหลายๆ จุด บริษัทเองก็มีแผนที่จะขยายบริการให้ครอบคลุมรองรับกับพฤติกรรมของผู้โภคมากขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มซื้อขายของเท่านั้นแต่ Jumia ยังได้ขยับขยายไปด้านการท่องเที่ยวสามารถจองโรงแรมเที่ยวบินในราคาถูก บริการส่งอาหารตามสั่ง ธุรกิจขายตั๋วอีเวนต์หรือภาพยนตร์ จนไปถึงบริการด้านการจ่ายเงินที่ทำให้ประชากรจำนวนมากเข้าถึงการกู้ยืมเงินขนาดย่อม หรือ Microloan ได้

ในภาพรวมแล้วการขยายธุรกิจของ Jumia ให้ครอบคลุมทุกประเทศในทวีปแอฟริกาย่อมเป็นความใฝ่ฝันสูงสุด หรือเป็น ‘End Game’ ของ Jumia ที่จะให้ประชากรทั้งหมดอยู่บนแพลตฟอร์มของบริษัท ซึ่งนั่นหมายถึงจำนวนคนกว่า 1 พันล้านคนทั่วทวีปแอฟริกา แต่ประชากรเหล่านี้กระจายอยู่ใน 54 ประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของกฎหมาย สภาพแวดล้อมหรือความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ แถมเรื่องสำคัญที่สุดคือนโยบายการเมืองท้องถิ่นของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ปัจจัยมหภาคเหล่านี้มีผลโดยตรงกับการดำเนินกิจการของแพลตฟอร์ม

เส้นทางของ Jumia ที่ได้เริ่มต้นสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้มาตั้งแต่ปี 2012 ใช้เวลาประมาณ 7 ปีในการนำพาตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นการสร้างความหวังและเป็นข้อพิสูจน์ของใครหลายคนที่อยากทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ทวีปแอฟริกาให้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามการ IPO ของ Jumia เป็นเพียงก้าวแรกของหนทางที่ยาวไกลและไม่ง่ายเลย คงต้องติดตามกันต่อไปแบบยาวๆ ว่า Jumia จะไปถึง End Game ที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่

Tags: , ,