Dare Mighty Things

จากบทสัมภาษณ์สองคนไทยที่ทำงานใน JPL เราเกริ่นไปแล้วว่า ห้องแล็บแห่งนี้มีมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกการเดินทางสู่อวกาศ และอยู่เบื้องหลังการเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรอง นี่คือห้องแล็บหัวขบถที่เต็มไปด้วยกลุ่มวิศวกรในเสื้อฮาวาย ใส่ขาสั้น หนวดเฟิ้ม ผมหางม้า ที่เป็นคนสร้างหุ่นยนต์นับสิบไปแตะพื้นผิวดวงจันทร์ล่วงหน้าเพื่อสำรวจให้แน่นอนว่านักบินอวกาศจะสามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้ปลอดภัยจริง

Jet Propulsion Laboratory (JPL) ตั้งอยู่ที่พาซาดีน่า (Pasadena) รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้เขียนได้รับคำเชิญให้เข้าเยี่ยมชมและไม่รีรอที่จะตอบตกลง ในวันนั้นมีผู้นำชมคือ เต็นท์—ปุณณทัศน์ บดีนิธิเกษม นักวิจัยหลังปริญญาเอกด้านการพัฒนาวัสดุและกระบวนการผลิตยานอวกาศ และป๋อม—ศุทธินี สุจิตโตสกุล วิศวกรโลหะผสมของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหุ่นยนต์และดาวเทียม 

ในฐานะศูนย์วิจัยด้านอวกาศของสหรัฐฯ ที่นี่เต็มไปด้วยความลับสุดยอด ปกติแล้ว JPL จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น นอกเวลานั้น ผู้มาเยือนทุกคนต้องนัดเข้าชมล่วงหน้าก่อนหลายเดือน ผ่านการเช็คประวัติล่วงหน้า

ผู้เขียนและช่างภาพยื่นพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ตรวจรับรอง ใจเต้นตุบๆว่าจะโดนไล่กลับบ้านตั้งแต่เริ่มเลยหรือไม่ โชคดีที่ประเทศไทยถือเป็นพันธมิตรหนึ่งของนาซ่า พวกเราเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านในได้ โดยต้องห้อยป้ายกำกับ และต้องมีเจ้าหน้าที่ประกบตลอดระยะเวลาที่พวกเราอยู่ที่นี่ และเมื่อผ่านด่านตรวจเข้มเข้ามาด้านในได้ก็ต้องแปลกใจ เพราะบรรยากาศภายใน JPL ตรงกันข้ามกับด่านตรวจเข้มด้านหน้าโดยสิ้นเชิง

ผู้เขียนพบตัวเองอยู่ในลานกลาง (The Mall) ของที่นี่ รอบตัวเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมโค้งเว้าสไตล์แคลิฟอร์เนียยุค 1950s ราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Incredibles 2 ของพิกซาร์ บรรยากาศเป็นกันเองคล้ายบรรยากาศของมหาวิทยาลัยมากกว่าห้องแล็บความปลอดภัยสูงของรัฐบาล ต้นสนเรียงรายส่งกลิ่นหอมทั่วบริเวณ คละกลิ่นกาแฟยามเช้าของคนทำงาน พนักงานหลายคนใส่กางเกงขาสั้น เสื้อฮาวายชมพูแจ๊ดมาทำงาน หลายคนหนวดเคราเฟิ้มเป็นซานตา คลอส ผมยาวเป็นฮิปปี้ผูกเป็นหางม้า คนเซอร์ๆ เหล่านี้แหละคือคนที่สร้างหุ่นยนต์ราคาเป็นพันล้านเหรียญไปดาวอังคาร

ทำไมที่นี่ถึงได้ชิลล์ขนาดนี้? ผู้เขียนถามออกไป

“ที่นี่เป็นแล็บเดียวของนาซ่าที่ไม่ได้เป็นของรัฐบาล แต่เป็นศูนย์วิจัยทุนรัฐบาล (Federally funded research and development center (FFRDC) เป็นการร่วมมือกันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology หรือ CalTech) กับนาซ่า ทำให้หน่วยงานมีความกึ่งๆ ระหว่างหน่วยงานราชการ และแคมปัสมหาลัยฯ” เต็นท์เป็นผู้ให้คำตอบกับเรา 

การเป็นหน่วยงานมหาวิทยาลัยมากกว่าเป็นหน่วยงานราชการเต็มตัวทำให้ JPL ไม่ต้องยึดกฎระเบียบล้านแปดตามหน่วยงานรัฐบาลทั่วไป บรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้นทำให้คนที่นี่มีความสุขในการทำงาน กล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างงานวิทย์และศิลป์ จนทำให้ห้องแล็บนี้ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน

Von Karman Auditorium and Museum 

เรื่องราวของ JPL เริ่มขึ้นในปี 1936 เมื่อ แฟรงค์ มาลินา (Frank Malina) นักเรียนปริญญาเอกจาก Caltech ขอพบ ธีโอดอร์ ฟอน คาร์มัน (Theodore von Karman) ที่ปรึกษาของเขาในตอนนั้น

แฟรงค์เผยความในใจกับอาจารย์ที่ปรึกษา—ถ้าเขาจะขอทำปริญญานิพนธ์เรื่องการขับดันด้วยจรวด และแทนที่จะเขียนวิทยานิพนธ์เฉยๆ เขาจะสร้างจรวดขึ้นมาจริงๆ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของเขา อาจารย์จะอนุญาตให้เขาทำไหม?

ธีโอดอร์กุมขมับ การทดลองด้วยจรวดเป็นเรื่องอันตรายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าเขาห้ามไม่ให้ลูกศิษย์ทำในสิ่งที่เขาต้องการ แล้วคนเราจะค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ กันไปทำไม

ในที่สุดธีโอดอร์ก็อนุญาติให้แฟรงค์เริ่มทดลองได้ แฟรงค์เลยชวนเพื่อนป.เอกอย่าง แจ็ค พาร์สันส์ (Jack Parsons) เอ็ดเวิร์ด เอส ฟอร์แมน (Edward S. Forman) และ เฉียนชู่เฉิน (Qian Xuesen) มาสร้างจรวดด้วยกัน

แฟรงค์และเพื่อนเริ่มทดลองระบบขับดันในโรงเรียน การทดลองอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเพื่อนนักเรียนเริ่มเรียกแก๊งของแฟรงค์ว่า ‘The Suicide Squad’

สุดท้ายความอันตรายของการทดลองก็ไปถึงหูผู้ใหญ่ใน Caltech ธีโอดอร์เลยขอให้แฟรงค์ย้ายการทดลองออกไปนอกมหาวิทยาลัย แฟรงค์เลือกสถานที่ใหม่เป็นภูเขาห่างไกลผู้คนในพาซาดีน่า 

หลังทดลองอยู่ 2 ปี ผลการทดลองของแฟรงค์ไปเข้าตากองทัพสหรัฐฯ ซึ่งกำลังมองหาเทคโนโลยีทางการทหารใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางกองทัพได้ให้ทุนวิจัยกับทีม จนออกมาเป็นเทคโนโลยี Jet-Assisted Takeoff (JATO) หรือการติดจรวดขับดันบนเครื่องบินใบพัดเพื่อเพิ่มแรงส่งด้วยเจ็ต ทำให้เครื่องบินต่างๆ สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่าปกติ จนเป็นที่มาของชื่อแล็บทดลอง Jet Propulsion Laboratory และที่ตั้งของใหม่ของแล็บ JPL ก็คือภูเขาที่แฟรงค์และผองเพื่อนทดลองจรวดกันเป็นครั้งแรกๆ นั่นเอง 

JPL เริ่มเข้ามาบทบาทหลักในสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ปี 1957 สหภาพโซเวียตช็อคคนทางโลกด้วยการส่งดาวเทียม Sputnik 1 และ 2 ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกได้เป็นครั้งแรกในระวัติศาสตร์ แซงหน้าสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศชั่วข้ามคืน 

ทางรัฐบาลสหรัฐฯ รีบสั่งให้ JPL ร่วมมือกับทีมของแวร์เนอร์ ฟอน บรอน (Wernher von Braun —ผู้ที่ในภายหลังเป็นคนออกแบบจรวด Saturn V ที่ส่ง Apollo ไปดวงจันทร์) สร้างดาวเทียมเพื่อไล่กวดโซเวียตให้ทัน จนเกิดเป็นดาวเทียม Explorer 1 เป็นดาวเทียมแรกของโลกตะวันตกที่เข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1958 และเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันทางอวกาศของสองประเทศมหาอำนาจนับแต่นั้น

และที่พิพิธภัณฑ์ภายใน JPL ผู้เขียนก็ได้เห็นดาวเทียม Explorer 1 ขนาดเท่าของจริง รวมถึงหุ่นจำลองหุ่นยนต์บางส่วนที่ JPL เคยสร้างมา 

ยาน Explorer 1

แบบจำลองดาวเทียม Mariner

ตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ในพิพิธภัณฑ์

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์

หลังปล่อย Explorer 1 ขึ้นสู่อวกาศ นาซ่าก็เริ่มเห็นความสำคัญของ JPL ในการแข่งขันทางอวกาศที่กำลังเกิดขึ้น JPL ถูกโอนให้เป็นส่วนหนึ่งของนาซ่าในปลายปี 1958 และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สร้างหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับทั้งหมดของนาซ่าเพื่อภารกิจต่อไปของการสำรวจอวกาศ นั่นคือการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์นั่นเอง

ย้อนไปก่อนหน้าที่ยานสำรวจของทั้งโซเวียตและนาซ่าไปแตะดวงจันทร์ ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วพื้นผิวดวงจันทร์มีสภาพเป็นอย่างไร ถึงภาพจากกล้องโทรทรรศน์จะทำให้ดวงจันทร์ดูเหมือนก้อนหินแข็งๆ แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนในตอนนั้นสันนิษฐานว่า มีโอกาสเหมือนกันที่ดวงจันทร์กลมๆ ที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่หินแข็งแต่เป็นแค่ก้อนฝุ่นที่จับตัวกันเป็นก้อนในอวกาศ ยานอวกาศที่ลงจอดอาจจะทะลุลงไปในฝุ่นออกมาโผล่อีกด้านก็เป็นได้

หน้าที่เลยตกเป็นของ JPL ที่เป็นผู้สร้างยานนำร่องส่งมนุษย์อวกาศอเมริกันไปเหยียบดวงจันทร์ด้วยการส่งหุ่นยนต์ Ranger และ Surveyor ไปสำรวจพื้นผิวล่วงหน้า 

หุ่น Ranger 7 บินผ่านดวงจันทร์ระยะใกล้เพื่อส่งรูปถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์กลับมายังโลกก่อนพุ่งชนผิวดวงจันทร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นพื้นผิวบนดวงจันทร์อย่างละเอียดเป็นครั้งแรก 

หลังจากนั้น JPL ก็สร้างหุ่นรุ่น Surveyor ขึ้นมาเพื่อทดลองการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เมื่อยาน Surveyor 1 ลงจอดสำเร็จในปี 1966 นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ จึงมั่นใจว่าสามารถส่งยาน Apollo ไปดวงจันทร์ได้ จนเกิดเป็นความสำเร็จของโครงการ Apollo 11 ในที่สุด   

หลังส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้ในที่สุด นาซ่าก็เริ่มมองไปยังดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะโดยเฉพาะดาวพุธ ศุกร์ และดาวอังคาร ทาง JPL เริ่มด้วยการส่งยาน Mariner ไปโคจรรอบดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคารเพื่อเก็บภาพพื้นผิวของทั้งสามดาวเคราะห์ และยาน Viking เพื่อทดลองการลงจอดและเก็บข้อมูลบนดาวอังคารในยุค 1970 และส่งรถหุ่นยนต์ไปยังดาวอังคารในปี 1999 ด้วยโครงการ Mars Pathfinder นำมาสู่หุ่นบนดาวอังคารในปัจจุบัน

และที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้าห้องจัดแสดง ก็คือตัวอย่างหุ่น Mars Pathfinder ที่มีสองส่วนคือตัวยานลงจอด กับรถหุ่นยนต์ Sojourner และหุ่น Spirit / Opportunity 

หุ่น Sojourner ส่วนหนึ่งของโครงการ Pathfinder

หุ่นจำลอง Spirit / Opportunity Rover

ผู้เขียนแอบประหลาดใจเล็กน้อยเมื่อได้เห็นหุ่น Sojourner ของจริง เพราะจากรูปที่เคยเห็นมาตอนเด็กๆ ผู้เขียนนึกว่าตัวหุ่นยนต์มีขนาดเท่ารถเก๋ง แต่เมื่อมาเห็นของจริงถึงได้เห็นว่าตัวรถจริงๆ แล้วมีขนาดเล็กนิดเดียว 

หลังภารกิจบนดาวอังคาร ทางนาซ่าก็เปลี่ยนเป้าหมายไปยังดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะดาวพฤหัสและดาวเสาร์ เกิดเป็นโครงการกาลิเลโอ (Galileo) ที่นาซ่าส่งไปยังดาวพฤหัส และแคสสินี (Cassini) ที่นาซ่าส่งไปยังดาวเสาร์ ซึ่งที่นี่มีหุ่นตัวอย่างขนาดเท่าของจริงของทั้งสองโครงการ และตัวอย่างย่อส่วนของกล้องโทรทัศน์อวกาศต่างๆ เช่น กล้องสปิตเซอร์ (Spitzer Telescope) ที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ยานกาลิเลโอ

โมเดลยานแคสสินี ขนาด ½

หลังจากนั้น เต็นท์กับป๋อมก็พาผู้เขียนเข้ามาในห้องประชุมที่อยู่ข้างๆ กัน และตรงนี้นี่เองที่ผู้เขียนได้พบกับยานในดวงใจขนาดเท่าของจริง นั่นคือยาน Voyager 

นอกจากการสำรวจดาวเคราะห์ระยะไกลเช่นดาวพฤหัสหรือดาวเสาร์แล้ว JPL มีอีกภารกิจหนึ่งคือการส่งยานสำรวจออกไปนอกระบบสุริยะของเรา ซึ่งในปัจุจุบันมียานของ JPL ทั้งหมด 4 ลำที่กำลังออกไปนอกระบบสุริยะ นั่นคือ Pioneer 10 และ 11 และ Voyager 1 และ 2 

เต็นท์เล่าถึงโครงการ Voyager ที่เกิดขึ้นเพื่อสำรวจดาวหลายดวงในคราวเดียว เนื่องจากสบโอกาสจากปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบร้อยปี

“ตอนนั้นดาวเคราะห์ต่างๆ ที่ไกลไปจากดาวอังคารกำลังเรียงตัวในแนวเดียวกัน เราส่งไปยานเดียวเราสามารถเก็บดาวเคราะห์เหล่านั้นได้หมดเลย เขาเลยสร้างยานนี้ขึ้นมา ติดกล้อง ติดเครื่องมือ แล้วก็ยิงออกไป เริ่มจาก voyager 2 ก่อน แล้วค่อยยิง voyager 1 ตามไป เราได้ภาพใหญ่ของดาวพฤหัส ดาวเสาร์แบบใกล้ๆ ชัดๆ เป็นครั้งแรกก็เพราะโครงการนี้ ตอนนี้ยังใช้งานยานสองลำนี้อยู่เลย ตอนนี้ผ่านไป 42 ปี ทั้งสองยานออกจากนอกระบบสุริยะไปแล้ว” 

ยาน Voyager อันลำโพงมีที่ตักยื่นออกไป

ความพิเศษคือยานทั้งสองลำนี้มีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย 

นาซ่าได้ติดแผ่นเสียงทองคำไว้บนตัวถังของยานแต่ละลำ โดยแต่ละแผ่นเสียงบันทึกรูปถ่ายและเสียงของสิ่งต่างๆบนโลก และบนตัวแผ่นสลักแผนที่อวกาศนำทางมายังโลก เผื่อว่าสิ่งมีชีวิตอื่นในอวกาศหรือแม้แต่มนุษย์ในอีกหลายพันปีในอนาคตอาจจะค้นพบดาวเทียมนี้ พวกเขาจะได้รู้ว่าเคยมีมนุษย์โลกอยู่ในจักรวาล 

“เราเคยอ่านว่าตอนที่คนที่ผลิตแผ่นเสียง เขาต้องตัดสินใจว่าจะใส่อะไรลงไปในแผ่นเสียงบ้าง” ป๋อมเล่าให้ “เขาต้องเลือกว่า จะนำเสนอมนุษยชาติต่อสายตาสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาลยังไง จะบอกว่าพวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีทั้งด้านดีและด้านมืด มีทั้งความเมตตาเกื้อกูลและการฆ่าแกงทำสงครามในเผ่าพันธ์ุเดียวกัน หรือเราจะนำเสนอภาพของเราให้ลั้นลา ดูดีอย่างเดียว”

“แล้วเขาก็สรุปว่า หน้าที่จริงๆ ของแผ่นนี้ไม่ใช่การตัดสินว่ามนุษย์เราเป็นยังไง แต่สิ่งที่แผ่นนี้ทำได้ดีที่สุดคือการบอกจักรวาลว่า “มีมนุษย์อยู่บนโลกนะ” เขาเลยเริ่มแผ่นด้วยเสียงสวัสดี จาก 55 ภาษาบนโลก” 

รูปแผ่นเสียงทองคำ

ซึ่งส่วนหนึ่งของคำสวัสดีทักทายนั้นก็มีคำทักทายในภาษาไทยอยู่ด้วย ว่า

“สวัสดีค่ะ สหายในธรณีโพ้น พวกเราในธรณีนี้ขอส่งมิตรจิตมาถึงท่านทุกคน”

เสียงนี้เป็นของคุณรุจิรา เมนดิโอเนส (Ruchira Mendiones) ศิษย์เก่ารุ่น 3 ของคณะอักษรศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์​ (Cornell University) ในยุคนั้น 

และนี่ก็คือประวัติศาสตร์ทั้งหมดของ JPL นับมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนี้เราจะไปสำรวจโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และโครงการในอนาคตของที่นี่กัน 

ก่อนออกจากอาคาร ผู้เขียนก็เหลือบไปเห็นอะไรน่ารักๆ ที่หน้าต่างของโต๊ะต้อนรับของพิพิธภัณฑ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความขี้เล่นของคนที่ JPL ได้ดีมากๆ นั่นคือตุ๊กตา Porg จากสตาร์วอร์สภาคล่าสุดแปะหราอยู่ที่กระจกหนึ่งตัว

Spacecraft Assembly Facility : ‘Mars 2020’ High Bay

หลังออกจากพิพิธภัณฑ์ สองผู้นำชมก็พาพวกเราไปยังตึกเล็กๆ เรียบๆ หลังหนึ่ง ขึ้นบันไดด้านหลัง ทะลุออฟฟิศต่างๆ ผู้เขียนแอบสงสัยว่าพวกเรากำลังไปไหน จนพวกเราขึ้นบันไดสูงไปอีกชั้น เข้าไปในห้องที่มีหน้าต่างกระจกบานยักษ์เรียงแถวยาว ผู้เขียนเลยถึงได้รู้ว่านี่ไม่ใช่ตึกออฟฟิศธรรมดา แต่นี่คือดาราเด่นประจำทัวร์วันนี้ ห้องประกอบหุ่น ‘Mars 2020’ 

ห้องนี้เป็นห้องสีขาวยาวประมาณ 20 เมตร ยานอวกาศแทบทั้งหมดที่ผ่านมือ JPL ล้วนประกอบขึ้นที่นี่ บนผนังมีโลโก้ของทุกโครงการที่ผ่านห้องนี้ติดเป็นเกียรติ ทุกคนที่เข้ามาในห้องนี้ต้องใส่ชุดกันเชื้อหัวจรดเท้าและพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนยานอวกาศและดาวเคราะห์ที่ยานอวกาศเหล่านั้นจะไปถึง  

ส่วนที่ตรงกลางห้องก็คือดาวเด่นประจำทัวร์ของเรา รถหุ่นยนต์ Mars 2020 (โดยชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้ชั่วคราว จนกว่าจะได้ผลจากงานประกวดตั้งชื่อโครงการที่ให้เด็กทั่วประเทศส่งชื่อเข้ามาร่วมแข่งขัน โดยทางนาซ่าจะประกาศผลชื่อจริงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) 

ภารกิจหลักของโครงการ Mars 2020 คือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของดาวอังคารว่าในอดีตเคยสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตได้หรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ ก็ค้นหาร่องรอยการเคยมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารไปด้วย ข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้นอกจากจะมีส่วนช่วยในการศึกษาประวัติศาสตร์ของดาวอังคารแล้ว ยังถือเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อใช้พัฒนาภารกิจส่งมนุษย์อวกาศไปดาวอังคารในอนาคตของนาซ่าอีกด้วย 

ตัวโครงการเองมีสามส่วนหลักด้วยกัน นั่นคือ Cruise Stage ขณะจรวดบรรทุกยานออกจากโลกไปดาวอังคาร Entry, Descent & Landing System หรือส่วนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร และตัว Rover หรือรถหุ่นยนต์ปฏิบัติการที่เราได้เห็นกันในวันนี้ 

แต่นอกจากทั้งสามส่วนหลักด้านบนแล้ว สิ่งที่ทำให้รถหุ่นยนต์รุ่นนี้ไม่เหมือนรถรุ่นก่อนๆของ JPL ก็คือ ‘Mars Helicopter Scout’ หรือเฮลิคอปเตอร์นำทาง ที่ตัวรถจะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเพื่อทดลองเทคโนโลยีเฮลิคอปเตอร์ในสภาวะนอกโลก  

ถ้าภารกิจ Mars 2020 ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ นี่จะถือเป็นหุ่นยนต์ตัวที่สามบนดาวอังคารที่เป็นผลงานของ JPL เคียงคู่ยาน Insight และ Curiosity ที่ยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในปัจจุบัน 

หลังจากนั้น ป๋อมก็ชี้ให้เห็นกล้องวิดีโอตัวหนึ่งที่ตั้งหลบมุมอยู่ในห้อง “นั่นคือกล้องไลฟ์สดของที่นี่ เราสามารถดูขั้นตอนการประกอบยานทั้งหมดได้จากบนยูทูป ดูสดได้เดี๋ยวนี้เลย”

 

In-Situ Instrument Laboratory

พวกเราขึ้นบันไดไปด้านบนของห้องแล็บไปยังห้องสังเกตการณ์คล้ายๆ กับของห้องที่แล้ว แต่เมื่อมองลงไปด้านล่าง เราไม่เห็นยานรุ่นใหม่ แต่เห็นหุ่นจำลองยาน Insight และ Curiosity ที่ปฏิบัติการอยู่บนดาวอังคารในปัจจุบันขนาดเท่าของจริงตั้งอยู่ที่ด้านล่าง บนพื้นผิวคล้ายดาวอังคาร 

ทำไมต้องมียานจำลองอยู่ในอาคารนี้?

“นี่คือห้องแล็บ In-Situ Instrument Laboratory เค้าเอาไว้เผื่อยานที่ดาวอังคารมีปัญหา จะแก้อะไรทีมันไม่มีโอกาศครั้งที่สอง ก่อนจะซ่อมอะไรเค้าเลยจะทดลองซ่อมกับหุ่นจำลองที่นี่ก่อน ก่อนไปบู๊กับของจริง” เต็นท์เล่าให้เราฟัง “JPL สร้างอะไร ต้องมีสองก็อปปี้เสมอ”

ผู้เขียนมองไปรอบๆ แอบเห็นว่าจริงๆแล้วที่นี่ยังใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เก่าๆ จากยุค 2000 ต้นๆ หลายอย่างเหมือนของที่คนทั่วไปใช้ ทำไมที่ๆ ควรมีเทคโนโลยีล่าสุดถึงมีแต่ของเก่าเต็มไปหมด?  

“เพราะยานข้างบน (อวกาศ) มันสร้างมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จริงๆ หลายโครงการวางแผนล่วงหน้ากัน 20-30 ปีก่อนส่ง พอถึงเวลา เทคโนโลยีบนโลกเลยอาจจะก้าวนำสิ่งที่มีอยู่บนยานไปแล้ว แต่ถึงเทคโนโลยีจะเก่า ก็ไม่ผิดอะไร เพราะหน้าที่ของยานอวกาศไม่ใช่การเป็นโชว์รูมเทคโนโลยี แต่หน้าที่ของมันคือต้องอึดพอแค่ทำภารกิจให้สำเร็จ บางทีเราก็ใช้ของบ้านๆ ซื้อจากร้านคอมฯ แถวนี้แหละ แค่มันใช้ได้ก็พอแล้ว” ป๋อมบอก “เทคโนโลยีอะไรที่เราพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้อยู่ เราก็ยังใช้อยู่ อะไรที่ไม่ได้พังไม่ได้ผิดพลาดเราก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรมัน”

แล้วเราก็มาถึงจุดพีคของทริปนี้ นั่นคือ Space Flight Operations Facility หรือศูนย์ควบคุมกลางของ JPL

Space Flight Operations Facility / Mission Control / Center of the Universe 

พวกเราเดินมาถึงตึกขนาดยาวท่ามกลางต้นสน ที่หน้าประตูมีป้ายขนาดใหญ่ติดไว้ว่า “ผู้ใดบุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต จะโดนลงโทษทางกฎหมายขั้นสูงสุด” บรรยากาศภายในตึกเคร่งขรึมผิดจากบรรยากาศของ JPL โดยรวม ซึ่งพอไกด์ทัวร์สแกนบัตรเปิดประตูบานหนาพาพวกเราเข้าไปในห้องที่มืดสนิทตรงหน้า พวกเราก็ได้เห็นกันว่าทำไมต้องเข้มกันขนาดนี้

จอภาพขนาดยักษ์นับสิบวางเรียงรายเต็มผนังด้านหนึ่งของห้อง แต่ละจอเต็มไปด้วยข้อมูลจากยานและหุ่นยนต์ต่างๆ ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ของ JPL พร้อมภาพจำลอง 3 มิติให้เห็นภาพตลอดเวลาว่ายานแต่ละลำกำลังอยู่ในจุดไหนของระบบสุริยะ หรือในจักรวาล 

ศูนย์ปฏิบัติการนี้มีหน้าที่ดูแลยานและหุ่นยนต์ทั้งหมดของ JPL ทั้งหุ่นยนต์บนดาวอังคาร ไปจนถึงยานรุ่นคลาสสิคอย่างยาน Pioneer หรือ Voyager ที่นาซ่าปล่อยสู่อวกาศไปเกือบ 50 ปีก่อนจนตอนนี้ลอยออกไปนอกระบบสุริยะจักรวาลแล้ว แต่ยังคงส่งข้อมูลกลับมาที่นี่อย่างสม่ำเสมอ

ทาง JPL มีจานรับสัญญาณสามแห่งทั่วโลกที่ทำงานร่วมกันเพื่อรับส่งสัญญาณจากยานทุกลำ ทั้งที่โคจรอยู่รอบโลก อยู่บนดาวเคราะห์ต่างๆ และลอยอยู่ในอวกาศ เป็นโครงข่ายร่วมกันที่เรียกว่า Deep Space Network โดยแต่ละจานต้องมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อรองรับการรับส่งสัญญาณระยะไกลนับล้านกิโลเมตรไปในห้วงลึกของอวกาศ โดยจานทั้งสามอยู่ที่บาร์สโตว แคลิฟอร์เนีย กรุงแมดริด สเปน และกรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย เพื่อครอบคลุมทุกองศารอบโลกได้ครบถ้วน จานทั้งสามนอกจากจะทำหน้าที่รับส่งสัญญาณแล้วยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำรวจอวกาศด้วยคลื่นวิทยุและเรดาร์ได้อีกด้วย ซึ่งในห้องควบคุมนี้ก็จะแสดงภาพจำลอง 3 มิติของแต่ละจานรับสัญญาณให้ผู้มาเยี่ยมชมเห็นว่าแต่ละที่หน้าตาเป็นอย่างไรด้วย

หลังมองจอด้านหน้า ผู้เขียนก็เหลือบไปเห็นบ้างอย่างทางซ้าย นั่นคือห้องควบคุมอีกห้องหนึ่งที่ว่างเปล่าไม่มีใครใช้งานอยู่

“ห้องนี้เป็นห้องที่เซ็ตขึ้นมาเพื่อการถ่ายทอดสดโดยเฉพาะ มีป้ายติดครบว่าแต่ละคนที่นั่งอยู่ทำหน้าที่อะไร เป็นใครบ้าง เพื่อให้ผู้ชมทางบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ สร้างขึ้นมาเพื่อให้วางกล้องได้โดยเฉพาะเลย”  ป๋อมบอกพวกเรา

ภาพจากวิดีโอถ่ายสดการลงจอดของโครงการ Insight (NASA/JPL)

การถ่ายทอดสดการลงจอดของยานอวกาศต่างๆ ของ JPL ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป การลงจอดแต่ละครั้งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ที่วิจัยนานนับสิบปี ที่นี่เลยเป็นสนามอารมณ์ที่บางทีเข้มข้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“บางคนทำงานกับบางโปรเจ็คต์มาเป็นสิบๆ ปี งานเดียวทำมาทั้งชีวิต ตอนจบบางภารกิจบางคนร้องไห้ เหมือนเสียลูกไปคนนึง คือเขาผูกพันมากเลยนะ” เต็นท์เล่า “บางทีเราทำเรื่องนี้มา 30 ปี แล้วโครงการมันหมดหน้าที่แล้ว ต้องทำลายมัน อย่างโครงการ Cassini ที่ผ่านมา ถ้าไปดูจะเห็นนักวิทยาศาสตร์ร้องไห้เต็มไปหมด เพราะว่า Cassini ไปเจอดวงจันทร์ดวงนึง มีน้ำอยู่ ถ้าปล่อยให้ยานหมดสภาพไปเอง มันมีโอกาสที่ตัวยานจะกระเด็นลงไปในชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์นี้ แล้วอาจจะเอาแบคทีเรียจากโลกไปเจือปนสิ่งที่อาจจะมีชีวิตอยู่ที่นั่นได้ เขาเลยตัดสินใจเอายานยิงเข้าไปในดาวเสาร์ เผามันทิ้ง เพราะในดาวเสาร์มีแต่แก๊ส ไม่มีสิ่งมีชีวิตแน่นอน” 

“คิดดูว่า ถ้าเป็นโปรเจกต์ที่เราทำมา 20-30 ปี แล้วอยู่ดีๆ สัญญาณก็หายไป เหมือนดึงเครื่องช่วยหัวใจ มันก็เศร้าเหมือนกันนะ” ป๋อมเสริม

นอกจากอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน การนำเสนอการจอดยานของที่นี่ก็ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ถึงขั้นที่การถ่ายทอดสดขณะยาน Cassini กำลังพุ่งลงชั้นบรรยากาศดาวเสาร์และการลงจอดของยาน Insight ทำให้ JPL ได้รางวัล Emmy ถึงสองปีซ้อน

หลังชมห้องถ่ายทอดสดเสร็จ พี่ป๋อมก็พาพวกเราเดินไปที่ตรงกลางห้อง Mission Control ที่ใช้งานจริงที่มีป้ายกำกับไว้ว่า ‘Center of the Universe’ หรือศูนย์กลางจักรวาล

“ข้อมูลทุกอย่าง จากหุ่นทุกรุ่นของเรา ต้องผ่านที่นี่หมด เขาเลยเรียกที่นี่ว่าศูนย์กลางจักรวาล” ป๋อมพูดติดตลก ซึ่งเกร็ดเล็กๆ อีกอย่างหนึ่งของศูนย์กลางจักรวาลนี้ก็คือ มีคู่รัก หลายคู่เลือกที่จะขอแต่งงานกันที่นี่

เสร็จแล้วพวกเราก็ขึ้นไปที่ห้องเยี่ยมชม หรือ Viewing Platform ด้านบนของห้อง ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างไว้รองรับแขกสำคัญๆ ที่มาเป็นสักขีพยานการปล่อยหรือลงจอดยาน โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เขียนแอบใช้โอกาสนี้นั่งลงบนเก้าอี้ของประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีคนล่าสุดที่ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ก็คือประธานาธิบดีบารัค โอบาม่านั่นเอง

B180 Lobby Area

หลังออกจากศูนย์ควบคุมแล้ว ไกด์ทัวร์ก็พาเรามายังจุดหมายสุดท้ายของทัวร์ นั่นคือ ห้องโถง B180 หรือแกลเลอรีแสดงงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภารกิจของ JPL 

ในห้องนี้มีโมเดลของรถหุ่นยนต์ดาวอังคาร Curiosity ให้พวกเราได้เข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ 

ยาน Curiosity

เกร็ดเล็กๆ อย่างหนึ่งของหุ่นรุ่นใหม่ที่คนไม่ค่อยรู้คือ เดิมทาง JPL ใส่ชื่อแล็บของตัวเองลงไปบนล้อรถ แต่ทางนาซ่าไม่ยอม กลัวว่าทาง JPL จะดูเด่นเกินไป ทางแล็บเลยแปลงชื่อตัวเองเป็นรหัสมอร์สใส่ลงไปบนล้อ แล้วบอกนาซ่าว่าเป็น ‘รูระบายเศษหิน’ แทน 

ส่วนอีกด้านมีผลงานศิลปะที่เป็นเส้นหลอด LED ห้อยลงมาจากเพดานเหมือนเป็นท่อส่งข้อมูล ตัวไฟ LED จะจุดประกายขึ้นทุกครั้งที่มีการส่งข้อมูลจากศูนย์ควบคุมไปยังยานในอวกาศ หรือข้อมูลจากยานถูกส่งกลับมาที่โลก โดยสับเปลี่ยนยานไปเรื่อยๆ 

และที่อีกด้านของห้องโถงก็เป็นทางด้านยาวที่มีโปสเตอร์ของดาวต่างๆ ที่ทาง JPL จำลองขึ้นมาตามแบบฉบับโปสเตอร์นำเที่ยวสมัยก่อน 

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความสงสัยของผู้เขียน ว่าทำไม JPL ถึงได้กล้านำเสนอภารกิจของตัวเองในรูปแบบต่างๆ มากมายขนาดนี้ ทั้งตัวพิพิธภัณฑ์ ทางเดินกระจกที่ผู้เขียนได้ดูยาน Mars Rover 2020 หรือ In-Situ Lab ห้องปฏิบัติการควบคุมที่สร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดสดโดยเฉพาะ และห้องแสดงงานศิลปะที่พวกเรายืนอยู่ในปัจจุบัน ไม่หวงข้อมูลตัวเอง ราวกับว่าที่นี่เป็นสวนสนุกมากกว่าห้องแล็บของรัฐบาล

“ก็เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่มาจากภาษีประชาชน” เต็นท์ตอบ “JPL เลยเหมือนโครงงานวิทยาศาสตร์ของคนอเมริกันทุกคน” 

“งานอวกาศมันดูเป็นเรื่องไกลตัวทั้งๆ ที่มันมีผลกระทบกับชีวิตของพวกเราหลายอย่าง แต่คนทั่วไปมักจะรู้สึกว่ามันดูเข้าใจยาก จับต้องไม่ได้ โดยเฉพาะ JPL ที่เหมือนเป็นห้องแล็บที่อยู่ในนาซ่าอีกที คนเลยไม่ค่อยรู้จัก ที่นี่เลยเอาเรื่องเข้าใจยากมาทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะพวกเราอยากทำให้คนเห็นว่าผลงานของพวกเราไม่ใช่แค่ตัวหุ่นเหล็กที่พวกเราสร้าง แต่ยังมีเรื่องราวของคนที่อยู่เบื้องหลังแต่ละภารกิจ และอารมณ์ความรู้สึก ความอินของพวกเรา ที่อยากให้ทุกคนรู้ว่าเรากำลังทำเพื่อทุกคนอยู่”

“งานพวกนี้ไม่ได้ทำไว้เพื่อแค่ตอนคนนอกเข้ามาเยี่ยมชมนะ” ป๋อมบอก “งานพวกนี้คนที่เห็นมากที่สุดก็คือคนทำงานด้วยกันเนี่ยแหละ บางวันเรามาที่นี่รู้สึกเหมือนไม่ได้มาทำงาน เหมือนมาสวนสนุกมากกว่า เลยมีแรงใจที่จะทำงานต่อ เพราะเราได้เห็นสิ่งที่เราทำในรูปแบบที่คอยเตือนใจว่าเรากำลังทำสิ่งที่ทำอยู่เพื่อคนทั้งโลกเลยนะ” 

แกลเลอรีนี้จึงเหมือนเป็นตัวอย่างตัวอย่างของการบูรณาการกันระหว่างวิทยาศาสตร์ ความกล้าบ้าบิ่นและความคิดสร้างสรรค์ ในรูปแบบที่ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ JPL เป็นห้องแล็บที่ประสบความสำเร็จไม่เหมือนใคร  

และทั้งหมดนี้ก็คือการทัวร์ JPL ห้องแล็บในตำนานของนาซ่า ที่อยู่เบื้องหลังภารกิจอันน่าตื่นเต้นหลายต่อหลายชิ้น ที่ทำให้เรารู้จักจักรวาลแห่งนี้ได้มากขึ้นอีกสักนิด